สวัสดีค่ะ คุณผู้อ่าน เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2568 กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Greenpeace South East Asia – GPSEA) ได้เฉลิมฉลองหมุดหมายสำคัญ นั่นคือกิจกรรมครบรอบ 25 ปีของการขับเคลื่อนสิ่งแวดล้อมโดยพลังของประชาชน
เราได้จัดงานเสวนาออนไลน์ เป็นเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง ในชื่องาน “Hope in Action” โดยมีผู้บริจาค อาสาสมัคร กว่า 100 คนจากทั่วภูมิภาค มาร่วมย้อนมองความสำเร็จที่ได้ทำร่วมกัน เพื่ออนาคตของสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมและยั่งยืน

ความหวังสู่การลงมือทำ
กิจกรรมเริ่มต้นด้วยการต้อนรับอย่างอบอุ่นโดย Cici (จีจี้) ทีมงานจากกรีนพีซอินโดนีเซีย ตามด้วยการแนะนำตัวสนุก ๆ ที่เต็มไปด้วยรอยยิ้ม เช่น คุณเข้าร่วมกับกรีนพีซมานานแค่ไหน หรือร่วมแชร์ไอเดียรักษ์โลกที่คุณทำในชีวิตประจำวัน (ซึ่งคุณสามารถดาวน์โหลดได้ฟรีท้ายบทความนี้ !)
จากนั้น Jasper (แจสเปอร์) ผู้อำนวยการบริหารของเรา ก็ได้วีดีโอคอลเข้ามาหาเราจากรถไฟในเยอรมนีเพื่อสื่อสารโดยตรงกับผู้บริจาคและอาสาสมัคร

“เราขอขอบคุณผู้บริจาคและอาสาสมัคร พวกคุณคือส่วนหนึ่งของผู้สนับสนุนกว่า 3 ล้านคนของกรีนพีซทั่วโลก ที่ช่วยตอกย้ำความเชื่อที่ว่าอนาคตที่เปี่ยมหวังในโลกที่สวยงามนั้น เป็นไปได้จากความร่วมมือของพวกเรา”
กิจกรรมดำเนินต่อไปด้วยการเน้นย้ำความสำเร็จที่เราร่วมสร้าง ไม่ว่าจะเป็นการปกป้องป่าฝนในอินโดนีเซีย ส่งเสริมอากาศสะอาดในมาเลเซีย ปกป้องมหาสมุทรในไทย และรณรงค์เพื่อความเป็นธรรมด้านสภาพภูมิอากาศในฟิลิปปินส์
สิ่งเหล่านี้คือ “ความสำเร็จร่วมกัน ที่ทำให้พวกเรารู้สึกภูมิใจและเชื่อมโยงกันอย่างลึกซึ้ง” ตามที่ Amit (อามิท) ผู้อำนวยการฝ่ายระดมทุน ได้กล่าวขึ้นในช่วงแลกเปลี่ยนกับทุกคน พร้อมเน้นบทบาทสำคัญของผู้สนับสนุนทุกคนที่อยู่ในเบื้องหลังของทุกความสำเร็จ – แน่นอนค่ะ หากไม่มีคุณ พวกเราอาจไม่สามารถขับเคลื่อนงานรณรงค์ได้ !

เรื่องราวจากแนวหน้า
หนึ่งในไฮไลต์ของงาน Hope in Action คือวงพูดคุยจากตัวแทนทั้ง 4 ประเทศ

- Belgis (เบลจิส – อินโดนีเซีย) เน้นเล่าเรื่องการต้านทานการรุกล้ำพื้นที่ป่าและสิทธิชุมชน
- Heng (เฮง – มาเลเซีย) แชร์ความคืบหน้าเรื่องการเรียกร้องอากาศสะอาดและการปกป้องป่า
- Vigie (วีจี้ – ฟิลิปปินส์) ย้ำถึงพลังของขบวนการเปลี่ยนแปลงที่นำโดยชุมชน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- Isa (หนึ่ง อิซา – ไทย) แบ่งปันเรื่องราวการทำงานเพื่อปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและงานรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก
“แม้จะมีความพยายามในการปิดปากพวกเรา แต่ทุกคน โดยเฉพาะทีมนักรณรงค์ ยังคงเดินหน้าพูดความจริงด้วยความเข้าใจและพลังที่ส่งถึงพวกเราได้จริง”
— Firdha Y., อินโดนีเซีย (อาสาสมัครตั้งแต่ปี 2568)
“การได้เห็นว่าสมาชิกในประเทศอื่นทำอะไร และมีโอกาสได้แลกเปลี่ยนกัน ช่วยให้ฉันรู้สึกมั่นใจและยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งกับกรีนพีซ”
— Mary M., มาเลเซีย (อาสาสมัครตั้งแต่ปี 2567)
ขอบคุณ และก้าวต่อไป
ช่วงท้ายของงานเต็มไปด้วยความสนุกสนาน ทั้งช่วงการลุ้นรางวัลสุดเซอร์ไพรส์ ถาม – ตอบที่เป็นปลายเปิด ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสามารถร่วมสนุกได้อย่างเต็มที่ เช่น หากกรีนพีซมีเรือปฏิบัติการอีกหนึ่งลำ เราน่าจะตั้งชื่อว่าอะไรดีนะ ? หรือ คุณจะมีส่วนร่วมในการปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างไรบ้างในอีก 5 ปี ? ซึ่งแม้จะเกินเวลาเล็กน้อย แต่ทุกคนยังคงมีพลังร่วมกันจนถึงนาทีสุดท้าย โดยที่ผู้เข้าร่วมกว่า 80% อยู่ตั้งแต่ต้นจนจบการเสวนาออนไลน์ – ขอบคุณมาก ๆ นะคะ

นอกจากผู้โชคดีแล้ว เรายังมีของที่ระลึกดิจิทัลมอบให้ผู้เข้าร่วมทุกคน เช่น
- ใบประกาศนียบัตร
- วอลเปเปอร์สุดพิเศษ
- คู่มือฉบับพกพา 79 วิธีว่าด้วยเทคนิกกรีน ๆ ในชีวิตประจำวัน (ดาวน์โหลดเลย!)
“เห็นสภาพแวดล้อมแย่ลงเรื่อย ๆ แล้วอดคิดไม่ได้ว่าลูกหลานเราจะเหลืออะไรบ้าง… ในตอนนั้นเองผมรู้ว่าผมต้องเริ่มลงมือแล้ว”
— อัฐวิชญ์ ป., ประเทศไทย (อาสาสมัครตั้งแต่ปี 2563)
“การปกป้องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่หน้าที่ของคนใดคนหนึ่ง แต่คือความรับผิดชอบร่วมกันของทั้งสังคม”
— Emily B., ฟิลิปปินส์ (ผู้บริจาคตั้งแต่ปี 2561)
จากใจผู้จัดงาน : พลังแห่งความร่วมมือ
ในฐานะหนึ่งในทีมผู้จัด ฉันกล้าพูดได้เลยว่า ในช่วงการวางแผนงานนี้ สนุกและฮีลใจได้ดีไม่แพ้วันงานเลย
เพราะไม่ใช่แค่ได้ร่วมมือกับเพื่อนร่วมงานจากทั้งไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ยังได้ฟังเสียงของผู้สนับสนุนอย่างพวกคุณจริง ๆ ว่าพวกคุณอยากเห็นอะไรในงาน เราได้ส่งแบบสอบถามไปยังผู้บริจาคและอาสาสมัคร ช่วงก่อนจัดงานไม่กี่เดือน และได้รับการตอบรับอย่างดีจากทุก ๆ คนที่ช่วยชี้แนะทั้งรูปแบบกิจกรรม คำถามที่คุณสนใจ หัวข้อการสนทนา และรูปแบบการมีส่วนร่วม

มันไม่ใช่แค่งานของกรีนพีซ แต่มันคือ “งานของพวกเราทุกคน” ขับเคลื่อนโดยพลังของฉัน ของคุณ และชุมชนที่ยืนหยัดปกป้องสิ่งแวดล้อม และนั่นคือสิ่งที่ทำให้งานครั้งนี้มีความหมายมาก มาก ค่ะ
Content by Ellisha Rosli (เอลลิส) – ผู้ประสานงานหลักจากทีมงานดูแลผู้บริจาค กรีนพีซประเทศมาเลเซีย