เชื่อว่าหลายๆคนอาจเคยได้ร่วมกิจกรรมเก็บขยะ ไม่ว่าจะเป็นตามแม่น้ำ คูคลอง หรือเก็บขยะตามชายหาด เคยสังเกตไหมว่าในการเก็บขยะแต่ละครั้ง ขยะที่เราพบส่วนใหญ่คือบรรจุภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และของใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งถ้าเราตรวจสอบได้ว่า ขยะเหล่านี้เป็นของบริษัทใดมากที่สุด เราก็หวังว่าข้อมูลที่ได้จะสะท้อนและผลักดันให้บริษัทมีความรับผิดชอบต่อมลพิษพลาสติกที่เป็นปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เพราะมีที่น่ากังวลเกี่ยวกับการรีไซเคิลก็คือ ขยะพลาสติกสามารถนำไปรีไซเคิลได้เพียงแค่ร้อยละ 9 จากขยะพลาสติกทั่วโลกเท่านั้น ดังนั้น สิ่งสำคัญที่สุดในตอนนี้ คือการลดขยะพลาสติกจากต้นทาง 

Brand Audit หรือการตรวจสอบแบรนด์จากขยะพลาสติก เป็นการเก็บข้อมูลว่าขยะพลาสติกเหล่านี้มาจากแบรนด์อะไรบ้าง และเราจะพบขยะชนิดไหนบ้างในการเก็บขยะหนึ่งครั้ง ซึ่งการสำรวจแบรนด์ในลักษณะนี้จะช่วยให้เรารู้ว่าต้นทางของมลพิษพลาสติกคือบริษัทใดบ้าง

Plastics Brand Audit at Wonnapa Beach in Chonburi. © Chanklang Kanthong / Greenpeace

Plastics Brand Audit at Wonnapa Beach in Chonburi. © Chanklang Kanthong / Greenpeace

คำถามแรก Brand Audit คืออะไร?

Brand Audit คือ การตรวจสอบขยะเพื่อดูว่ามี “แบรนด์” ใดบ้างที่เราพบจากขยะต่าง ๆ ที่เราเก็บได้

กิจกรรมนี้สร้างขึ้นเพื่ออะไร?

การตรวจสอบแบรนด์(Brand Audit) ทำขึ้นเพื่อสำรวจว่าขยะเหล่านี้เป็นของบริษัทใดมากที่สุด เพื่อสะท้อนเชิงข้อมูล และสถิติการใช้ของผู้บริโภค และผลักดันให้บริษัทมีความรับผิดชอบต่อมลพิษพลาสติก จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายในการทำบรรจุภัณฑ์

คนทั่วไปสามารถรวมกลุ่มทำ Brand Audit ได้ไหม? 

ทำได้แน่นอน เพียงแค่รวมกลุ่มเพื่อนๆ สำรวจพื้นที่ที่จะลงไปทำกิจกรรมแล้วทำตามขั้นตอนนี้ได้เลย

ขั้นตอนการตรวจสอบแบรนด์(Brand Audit) มีดังนี้

การเตรียมงาน 

  • เลือกพื้นที่ที่มีความเป็นไปได้ในการตรวจสอบแบรนด์ โดยพื้นที่นั้นต้องเป็นพื้นที่ที่ไม่มีการจัดการขยะอย่างเหมาะสม ซึ่งสามารถเป็นได้ตั้งแต่ถังขยะในบ้าน สนามหญ้าในมหาวิทยาลัย ทางเดิมริมถนน ชายหาด ภูเขา เป็นต้นเมื่อได้พื้นที่แล้ว ก็เตรียมอุปกรณ์และเครื่องมือ ได้แก่ แบบฟอร์มตรวจสอบขยะ ปากกา ถังขยะสำหรับเก็บขยะ ถุงมือ ผ้ารองปูตอนตรวจสอบแบรนด์ ฯลฯ 

การตรวจสอบแบรนด์ขยะ (Brand Audit) 

1. ลงมือเก็บขยะทั้งหมดในพื้นที่

2. แยก “ขยะพลาสติกที่ระบุแบรนด์ได้” ออกมาจากกองขยะ

3. แยกขยะที่เป็นแบรนด์เดียวกันกองรวมกัน 

4. ลงมือตรวจสอบทีละแบรนด์ และกรอกรายละเอียดตามแบบฟอร์ม ซึ่งข้อมูลที่ระบุในแบบฟอร์ม มีดังนี้ 

  • ชื่อแบรนด์ 
  • ประเภทของผลิตภัณฑ์ (Type of Product) 
    • บรรจุภัณฑ์อาหาร FP (Food Packaging)
    • ของใช้ส่วนตัว PC (Personal Care)
    • อุปกรณ์สำหรับการสูบบุหรี่ SM (Smoking Materials)
    • ของใช้ในครัวเรือน HP (House Products)
    • เครื่องมือประมง  FG (Fishing Gear)
    • บรรจุภัณฑ์หีบห่อ PM (Packing Material)
  • ประเภทของวัสดุ (Type of Material) 
    • โพลีเอทิลีน เทเรฟทาเลต PET (Polyethylene terephthalate) พลาสติกประเภทนี้คือขวดพลาสติกใสๆ มองทะลุได้ เช่น ขวดน้ำเปล่า ขวดน้ำอัดลม ขวดน้ำมันพืช และขวดเครื่องปรุงอาหารสัญลักษณ์ เบอร์ 1 และ PET
    • โพลีเอทิลีนความหนาแน่นสูง HDPE (High-density polyethylene) บรรจุภัณฑ์พลาสติกสีขาวและสีอื่นที่เป็นสีทึบ (ให้นึกถึงพวกขวดนมสีขุ่นๆ) ขวดชนิดนี้จะเหนียวและทนทานกว่า PET ยกตัวอย่างเช่น ขวดนม ขวดแชมพู ขวดน้ำยาปรับผ้านุ่ม ผลิตภัณฑ์ซักผ้า กระปุกยา เป็นต้น สามารถสังเกตสัญลักษณ์ เบอร์ 2 และ HDPE/HD-PE
    • โพลีไวนิล คลอไรด์ PVC (Polyvinyl chloride) หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า พีวีซี เป็นวัสดุที่เป็นแบบแข็งหรือเป็นยาง นอกจากท่อพีวีซีที่ใช้เป็นอุปกรณ์ก่อสร้างแล้ว พวกของเล่นเด็ก ผ้าม่านห้องน้ำ แฟ้มใส่เอกสาร บัตร หลอดพลาสติกแบบแข็ง ก็ผลิตจากพีวีซีทั้งสิ้น ทั้งนี้ทั้งนั้น พลาสติกชนิดนี้สารประกอบคลอรีนเป็นองค์ประกอบสามารถตกค้างเป็นมลพิษต่อสุขภาพเราและสิ่งแวดล้อมได้ และเป็นพลาสติกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดอีกด้วย ส่วนสัญลักษณ์ของ พีวีซี คือเบอร์ 3 หรือ PVC/V
    • พอลิเอทิลีนความหนาแน่นต่ำ LDPE (Low-density polyethylene) พลาสติกเบอร์ 4 นี้ เป็นฟิล์มพลาสติกที่ยืดหยุ่นได้ เช่น ถุงพลาสติกมีหูหิ้ว หลอดพลาสติก พลาสติกสำหรับห่ออาหาร
    • โพลีโพพีลีน PP (Polypropylene) พลาสติกแข็ง ถูกใช้เป็นบรรจุภัณฑ์อาหาร เช่น ถ้วยโยเกิร์ต ถ้วยบะหมีกึ่งสำเร็จรูปแบบแข็ง สัญลักษณ์ของพลาสติกชนิดนี้คือ เบอร์ 5 หรือ PP
    • โพลีสไตรีน PS (Polystyrene) สัญลักษณ์เบอร์ 6 หรือ PS เป็นพลาสติกมีลักษณะแข็งและมันวาว แต่เปราะแตกง่าย ยกตัวอย่างเช่น ช้อน ส้อมพลาสติกตามร้านสะดวกซื้อ ภาชนะโฟม ฝาแก้วกาแฟ
    • พลาสติกอื่นๆ O (Other/unknown) มีสัญลักษณ์เบอร์ 7 หรือมีคำว่า OTHER กำกับไว้ เป็นพลาสติกแข็งใช้ซ้ำได้ และเป็นพลาสติกที่นอกเหนือจาก 6 ประเภทข้างต้น ยกตัวอย่างเช่น แผ่นโพลีคาร์บอเนต ไนลอน  
  • ลักษณะของบรรจุภัณฑ์
    • Multi-Layered Plastic พลาสติกชนิดนี้จะซ่อนอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่มีลักษณะไม่เหมือนพลาสติก โดยเป็นพลาสติกหลายชั้นประกอบกับวัสดุชนิดอื่น เช่น กล่องนม กล่องน้ำผลไม้ ซองขนม และหลอดยาสีฟัน เป็นต้น
    • Single-Layered Plastic เป็นฟิล์มพลาสติกที่ยืดหยุ่นได้และเป็นฟิล์มบาง ๆ เพียงชั้นเดียว เช่น ถุงพลาสติกมีหูหิ้ว หลอดพลาสติก พลาสติกสำหรับห่ออาหาร

5. นับจำนวนทั้งหมด แล้วบันทึกผลลงในแบบฟอร์มตรวจสอบขยะ (Brand Audit)

Plastics Brand Audit at Wonnapa Beach in Chonburi. © Chanklang Kanthong / Greenpeace

Plastics Brand Audit at Wonnapa Beach in Chonburi. © Chanklang Kanthong / Greenpeace

สำหรับผู้ที่สนใจ ต้องการร่วมกิจกรรมสำรวจแบรนด์ขยะ สามารถลงทะเบียนหรืออ่านข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.breakfreefromplastic.org/  

Brand Audit นั้นเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้ในการตรวจสอบขยะ เพื่อให้เห็นว่าขยะส่วนใหญ่แล้วที่เราพบนั้นเป็นขยะประเภทอะไร และผู้ผลิตคือใคร เพื่อผลักดันให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบต่อวิกฤตพลาสติกมากขึ้น

ทั้งนี้เรายังเชื่อว่าทางออกที่ยั่งยืนจริงๆ ของการจัดการมลพิษพลาสติกคือ การลดตั้งแต่ต้นทาง ซึ่งก็คือ การปรับพฤติกรรมการบริโภคของพวกเราทุกคนที่เราต้องลดใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงส่งเสียงผลักดันให้บริษัทมีความรับผิดชอบต่อมลพิษพลาสติก จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในเชิงนโยบายในเรื่องการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ของบริษัทจากพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งเป็นวัสดุที่มีความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

#BreakFromPlastic

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม