ปัญหาพลังงานสกปรกและไม่ยั่งยืนอย่างฟอสซิลก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อนและผลกระทบตามมา ไม่ว่าจะเป็นภัยทางธรรมชาติที่รุนแรง อย่างเช่น เฮอร์ริเคน พายุไต้ฝุ่น ซึ่งคร่าชีวิตและสร้างความเสียหายที่ไม่อาจประเมินค่าได้ แต่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2553-2573 (หรือพีดีพี 2010) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 มีแนวทางการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์กำลังผลิต 2,000 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าถ่านหินกำลังผลิต 4,400 เมกะวัตต์ ซึ่งอันที่จริงแล้ว ยุคเฟื่องฟูของพลังงานนิวเคลียร์กำลังสิ้นสุดลงในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกกับการที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่างทะยอยกันปิดตัวลง และโครงการก่อสร้างเดิมที่ยังไม่เสร็จหลายโครงการก็กลายเป็นโครงการร้างที่ไม่มีแผนดำเนินการต่อ
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556 ที่ผ่านมา อนุกรรมาธิการเสริมสร้างธรรมาภิบาลด้านพลังงาน ในกรรมาธิการตรวจสอบทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาลวุฒิสภา ร่วมกับกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และ มูลนิธีไฮน์ริคเบิลล์ จัดสัมนาเรื่อง ปฏิรูปนโยบายพลังงาน ประสบการณ์ของไทยและเยอรมนี โดยมี นายฮานส์-โจเซฟ เฟลล์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคกรีนเยอรมนี และ นายวลาดิเมียร์ สลัฟยัค ประธานกรรมการกลุ่ม Eco-Defense จากรัสเซีย มาร่วมบอกเล่าประสบการณ์ถึงความล้มเหลวของพลังงานนิวเคลียร์และการหาทางออกของปัญหาพลังงานของโลกด้วยพลังงานหมุนเวียน โดย วลาดิเมียร์ สลัฟยัค กล่าวถึงมหันภัยจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ว่า อุบัติเหตุนิวเคลียร์ฟูกูชิมาไดอิชิ ทำให้หลายประเทศหันไปหาพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ถึงเหตุการณ์นั้นจะทำให้ทั่วทั้งโลกตระหนักถึงความน่าสะพรึงกลัวของพลังงานนิวเคลียร์แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับภัยพิบัติเชอร์โนบิล ซึ่งถือเป็นอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดที่เคยเกิดขึ้น ส่งผลกระทบรุนแรงครอบคลุมร้อยละ 50 ของทวีปยุโรป ซึ่งมีประชากรได้รับผลกระทบ 400 ล้านคน โดยในจำนวนนั้นประชากรกว่า 336,000 คนจำเป็นต้องอพยพออกจากพื้นที่ และถึงแม้เหตุการณ์จะผ่านไปแล้วเกือบ 30 ปี แต่เด็กที่เกิดหลังจากเหตุการณ์นั้นมีสุขภาพแข็งแรงเพียงร้อยละ 20 จากเดิมที่เคยมีถึงร้อยละ 80 ส่วนคนทั่วไปมีสุขภาพแข็งแรงเพียงร้อยละ 29 จากเดิมมีถึงร้อยละ 67.7 ทั้งนี้ยังไม่รวมถึงจำนวนคนที่เสียชีวิตไปจากภัยพิบัติที่ไม่มีวันจะลบล้างความเจ็บปวดและความสูญเสียได้
ในเดือนมีนาคมนี้เองเป็นวันครบรอบสองปีของอุบัติเหตุนิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิชิ โดยเหตุการณ์ครั้งนั้นมีที่มาจากการหลอมละลายของแกนปฏิกรณ์ ซึ่งเดิมทีอุตสาหกรรมนิวเคลียร์อ้างว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นมีเพียง 1 ครั้งในล้านปี แต่ตามสถิติแล้วเกิดขึ้นแทบจะทุก 15 ปี หลังจากอุบัติเหตุนี้ วลาดิเมียร์ สลัฟยัค กล่าวว่า เยอรมนีเดินหน้าปิดโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์แล้วครึ่งหนึ่ง และมีแผนจะปิดทั้งหมดภัยในปีพ.ศ. 2556 นี้ พร้อมลงทุนอีกประมาณ 7,890 พันล้านบาท* กับพลังงานหมุนเวียน ในประเทศจีนเองก็ไม่มีโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ใหม่เกิดขึ้นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2554 และกำลังลงทุนมหาศาลกับพลังงานหมุนเวียนเช่นกัน ขณะเดียวกันที่สหรัฐอเมริกาโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ต่างๆ กำลังพากันปิดตัวลงพร้อมกับบริษัทผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ที่สุด ดุ๊ก เอเนอร์จี ก็ประกาศเตรียมปิดกิจการหลังจากดำเนินการมาถึง 36 ปี ถือเป็นการยืนยันคำตัดสินชะตากรรมของพลังงานนิวเคลียร์จากนิตยสารฟอร์บส์ ฉบับวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2555 ว่า “โรงงานนิวเคลียร์ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีใหม่ของยุคนี้แล้ว“
ไม่ใช่เพียงแค่ดุ๊ก เอเนอร์จี จากสหรัฐอเมริกาเท่านั้น แต่กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่จากทั่วทวีปยุโรปต่างประสบปัญหาหนี้สิน อาทิ บริษัทอีเนล จากอิตาลี ที่มีหนี้สินประมาณ 1,975 พันล้านบาท* บริษัทอีดีเอฟ จากอังกฤษ มีหนี้สินประมาณ 1,466 พันล้าน*บาท บริษัทอเรวา จากฝรั่งเศส มีความเสียหายปี 2544 ถึงประมาณ 105 พันล้านบาท* รวมถึงบริษัทโรซาตอม จากรัสเซียก็มีปัญหาหนี้สินเป็นทวีคูณขึ้นทุกปีเช่นกันหลังจากต้องหยุดการก่อสร้างเตาปฏิกรณ์นิวเคลียร์แห่งใหม่ เนื่องจากมีการออกแบบโครงสร้างเดียวกันกับเตาที่เกิดการระเบิดที่ฟุกุชิมะไดอิชิ เช่นเดียวกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ซีเมนส์ ของเยอรมนี เองก็ได้ประกาศปิดกิจการพลังงานนิวเคลียร์หลังจากเกิดอุบัติเหตุที่ฟุกุชิมะขึ้นไม่นาน เช่นเดียวกับอีกหลายธุรกิจที่ปิดตัวลงเนื่องจากไม่มีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ
นอกจากนี้วลาดิเมียร์ สลัฟยัค ยังแสดงความกังวลต่อโครงการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่เวียดนามร่วมกับบริษัทโรซาตอมจากรัสเซียว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากการผลิตของรัสเซียนั้นมีชื่อเสียงในแง่ลบเรื่องคุณภาพของวัสดุเตาปฏิกรณ์ รวมถึงเวียดนามยังไม่มีหน่วยงานที่จะมาควบคุมดูแลเรื่องนิวเคลียร์ และเมื่อพิจารณาจากพื้นที่ที่จะมีการก่อสร้างแล้ว ถือเป็นพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดภัยพิบัติ ซึ่งเวียดนามเองก็ขาดประสบการณ์ในการป้องกันภัยธรรมชาติอย่างสึนามิหรือไต้ฝุ่นอีกด้วย ลองคิดดูสิว่าหากเกิดอุบัติเหตุเช่นเดียวกับภัยพิบัติเชอร์โนบิลและฟูกูชิมาจะส่งผลกระทบวงกว้างต่อภูมิภาคและประเทศไทยมากเพียงใด บทเรียนจากเชอร์โนบิลและฟุกุชิมะคงบอกเล่าได้เป็นอย่างดีว่าเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นไม่มีหน่วยงานใดๆ สามารถรับผิดชอบความเสียหายได้ และสิ่งที่สูญเสียไปก็ไม่สามารถเยียวยาให้กลับมาดังเดิมได้ ล่าสุดมีการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเกี่ยวกับโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ โดยผลออกมาว่าประเทศเดียวที่เห็นด้วยกับการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ คือ โปแลนด์ (ร้อยละ 52) นอกนั้นเสียงส่วนมากคือปฏิเสธ หรือเรียกได้ว่ามีเพียง 3 ใน 10 ของประเทศทั่วโลกเท่านั้นที่ยังคงสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ แล้วไทยล่ะจะยังคงเลือกเดินสวนทางสนับสนุนพลังงานนิวเคลียร์ที่ทั้งราคาสูง สร้างมลพิษ และเป็นอันตรายอยู่หรือ???
ฮานส์-โจเซฟ เฟลล์ กล่าวเพิ่มเติมถึงยุทธศาสตร์ใหม่ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาสภาพภูมิอากาศว่า น้ำมันและนิวเคลียร์ทำให้เกิดปัญหาระดับโลกต่างๆ เช่น ปัญหาโลกร้อน วิกฤตน้ำมัน สิ่งแวดล้อม ความขัดแย้ง และสงครามน้ำมัน การกลับมาก่อสร้างโรงงานนิวเคลียร์แห่งใหม่มีแต่จะก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจ ทางออกที่ยั่งยืนคือเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่สามารถสร้างพลังงานให้โลกได้ร้อยละ 100 โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาพลังงานที่อันตรายและสกปรก นอกจากนี้พลังงานหมุนเวียนยังสร้างการจ้างงานมากขึ้นด้วย โดยในประเทศเยอรมันปี 2543 มีอัตราการจ้างงาน 30,000 ตำแหน่ง สิบปีต่อมาในปี 2554 มีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นเป็น 370,000 ตำแหน่ง และคาดว่าในปี 2563 นี้จะสูงถึง 500,000 ตำแหน่ง พลังงานหมุนเวียนจะก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วได้หากรัฐบาลให้การสนับสนุน เพื่อให้ธุรกิจพลังงานหมุนเวียนเติบโตขึ้น ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปที่จะสร้างพลังงานหมุนเวียน อีกทั้งการพูดว่าพลังงานหมุนเวียนมีราคาแพงนั้นก็ไม่จริงและล้าสมัยไปแล้ว ฮานส์-โจเซฟ เฟลล์ ยกตัวอย่างการศึกษาล่าสุดจากสำนักข่าวบลูมเบิร์ก ปีพ.ศ. 2556 ที่ศึกษาเปรียบเทียบราคาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติ (เปรียบเทียบโรงไฟฟ้าสร้างใหม่) ซึ่งพบว่า ในประเทศออสเตรเลีย การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนมีราคา 2,400 บาท* ต่อเมกะวัตต์ แต่ถ้าผลิตด้วยถ่านหิน จะมีราคา 4,290 บาท* ต่อเมกะวัตต์ และด้วยก๊าซธรรมชาติจะมีราคา3,480 บาท* ต่อเมกะวัตต์ ทั้งๆที่ประเทศออสเตรเลียมีเชื้อเพลิงฟอสซิลอย่างถ่านหินจำนวนมหาศาลและส่งออกถ่านหินอีกด้วย การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียนกลับมีราคาถูกกว่ามาก ซึ่งชี้ให้เห็นเช่นกันว่าการกล่าวว่าพลังงานหมุนเวียนมีราคาแพงนั้นไม่จริงเลย
วิกฤตพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไม่ใช่ปัญหาของประเทศใดประเทศหนึ่ง ดังนั้นการรักษาสภาพภูมิอากาศจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน ทุกประเทศทั่วโลกที่จะร่วมมือกันช่วยดูแลโลกของเรา หันมาเลือกทางเดินของพลังงานที่ยั่งยืนสู่อนาคตสีเขียว ช่วยกันกู้วิกฤติโลกร้อนด้วยการนำความร้อนจากดวงอาทิตย์และพลังงานหมุนเวียนอื่นๆ มาเป็นพลังงานที่ช่วยให้โลกหมุนไปโดยไม่สร้างมลพิษและภัยพิบัติ หรือประเทศไทยจะยังหลงเชื่อมายาคติพลังงานนิวเคลียร์และปล่อยให้ประวัติศาสตร์จากเชอร์โนบิลและฟุกุชิมะซ้ำรอย
*หมายเหตุ: จำนวนเงินเป็นการเทียบกับสกุลเงินบาท โดยอัตราเงินตามสกุลเดิม คือ
7,890 พันล้านบาท เท่ากับ 263 พันล้านเหรียญฯ
1,975 พันล้านบาท เท่ากับ 44.9 พันล้านยูโร
1,466 พันล้าน เท่ากับ 33.33 พันล้านยูโร
105 พันล้านบาท เท่ากับ 2.4 พันล้านยูโร
2,400 บาท เท่ากับ 80 เหรียญฯออสเตรเลีย
4,290 บาท เท่ากับ 143 เหรียญฯออสเตรเลีย
3,480 บาท เท่ากับ 116 เหรียญฯออสเตรเลีย
ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป
มีส่วนร่วม