ทราบหรือไม่ว่า ในแต่ละปีโรงพยาบาลรัฐหลาย ๆ แห่งต้องนำงบประมาณที่ได้รับมาจ่ายค่าไฟฟ้าปีละหลายล้านบาทเพื่อการดูแลรักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วย ด้วยเหตุนี้จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้กองทุนแสงอาทิตย์เล็งเห็นถึงความจำเป็นที่โรงพยาบาลรัฐเหล่านี้ต้องมีโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงาน ช่วยประหยัดค่าไฟฟ้า ทั้งนี้ยังเป็นการสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ลดการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

 

และหลังจากที่กองทุนแสงอาทิตย์ได้เริ่มติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาลรัฐไปแล้ว 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลแสงอาทิตย์แก่งคอย จังหวัดสระบุรี และโรงพยาบาลแสงอาทิตย์หลังสวน จังหวัดชุมพร ตอนนี้เรามีข่าวดีจากอีสานมาบอกนั่นคือ การเปิดตัวโรงพยาบาลแสงอาทิตย์ทั้ง 3 แห่งในภาคอีสาน ได้แก่ 

  • รพ.ทุ่งศรีอุดม อำเภอทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานี 
  • รพ.ภูสิงห์ อำเภอภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ
  • โรงพยาบาลชุมแพ อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น

โดยแต่ละโรงพยาบาลได้รับการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์จากการระดมทุนจากทั่วประเทศโดยกองทุนแสงอาทิตย์ ไปแต่ละแห่ง แห่งละ 30 กิโลวัตต์ ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลทั้ง 3 ประหยัดค่าไฟฟ้าไปได้ถึงแห่งละ 200,000 บาทต่อปี และยังเป็นการลดการพึ่งพาการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลอีกด้วย

 

แพทย์หญิงดวงพร อัศวราชันย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น  ได้มีโอกาสพูดคุยกับกองทุนแสงอาทิตย์ไว้ว่า การติดแผงโซลาร์เซลล์ในโรงพยาบาลนั้น เรียกได้ว่ามีประโยชน์ต่อโรงพยาบาลมาก ทั้งในแง่ของการประหยัดภาระค่าไฟฟ้า และในแง่ของสิ่งแวดล้อม 

โรงพยาบาลจะต้องนำงบประมาณที่ได้รับในแต่ละรอบปีงบประมาณมาใช้จ่ายค่าไฟฟ้าปีละหลายล้านบาทเพื่อการดูแลรักษาและช่วยชีวิตผู้ป่วย การบริจาคของประชาชนทั่วประเทศให้กับโรงพยาบาลในภาคอีสานทั้ง 3 แห่งในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี ศรีสะเกษและขอนแก่นเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์กำลังผลิตติดตั้งแห่งละ 30 กิโลวัตต์ จะทำให้แต่ละโรงพยาบาลสามารถลดค่าไฟฟ้าอย่างน้อยปีละ 2 แสนบาทตลอดอายุการใช้งานของแผงโซลาร์เซลล์ และโรงพยาบาลตั้งเป้าหมายที่จะระดมทุนเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มอย่างต่อเนื่อง 

ด้าน นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษก็เห็นด้วยว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่โรงพยาบาลจะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลได้ 

นพ.กิตติภูมิ จุฑาสมิต ผอ.โรงพยาบาลภูสิงห์

นพ.กิตติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ อ.ภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ ร่วมเปิดตัวโรงพยาบาลแสงอาทิตย์ภูสิงห์ โรงพยาบาลแห่งที่ 4 ของกองทุนแสงอาทิตย์

“ทางโรงพยาบาลภูสิงห์ขอขอบคุณเงินระดมทุนจากกองทุนแสงอาทิตย์ที่ทำให้โรงพยาบาลภูสิงห์มีสามารถประหยัดค่าไฟและได้ใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด อย่างที่เราทราบดีกันว่า สิ่งแวดล้อมที่ดีนำมาซึ่งสุขภาพที่ดีของประชาชน การติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ในโรงพยาบาลนี้ก็ถือเป็นก้าวแรกที่จะทำให้ประชาชนมีสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีสุขภาพที่ดี ทั้งนี้ค่าไฟฟ้าที่เราประหยัดได้ เราก็จะได้มารักษาผู้ป่วยหรือจ้างเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลผู้ป่วยเพิ่มเติม ถือว่าได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย”

18 ตุลาคม “พระอาทิตย์ยิ้มแฉ่ง”  เปิดตัวโรงพยาบาลแสงอาทิตย์ทุ่งศรีอุดม อ.ทุ่งศรีอุดม จ.อุบลราชธานี

บุคลากร นักเรียนจากโรงเรียนทุ่งศรีอุดม ชาวอำเภอทุ่งศรีอุดมและกลุ่มนักปั่นจักรยานอิสระร่วมเปิดตัวโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งแรกของภาคอีสานและแห่งที่ 3 ของกองทุนแสงอาทิตย์ที่มาจากการบริจาคของประชาชนทั่วประเทศและร่วมถ่ายภาพแปรอักษรมนุษย์รูปดวงอาทิตย์เป็นที่ระลึก

19 ตุลาคม แสงอาทิตย์เพื่อทุกคน “แสงอาทิตย์เพื่อชาวศรีสะเกษ”

นพ.กิติภูมิ จุฑาสมิต ผู้อำนวยการโรงพยาบาลภูสิงห์ร่วมต้อนรับขบวนจักรยานระดมทุนที่ปั่นจากอุบลราชธานีมายังโรงพยาบาลภูสิงห์ จ.ศรีสะเกษ และมอบผ้าขาวม้าเป็นของขวัญ ทั้งนี้ได้ร่วมงานเปิดตัวโรงพยาบาลแสงอาทิตย์ภูสิงห์กับกองทุนแสงอาทิตย์ บุคลากรในโรงพยาบาล และชาวอ.ภูสิงห์

22 ตุลาคม “มาแล้วเด้อ!” โรงพยาบาลแสงอาทิตย์ชุมแพ โรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งแรกของขอนแก่น

ผู้ว่าราชการจังหวัดขอนแก่น คณะโรงพยาบาลชุมแพ ขบวนนักปั่นจักรยานอิสระ และคณะกรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ ร่วมยินดีในการเปิดตัวโรงพยาบาลแสงอาทิตย์ชุมแพ อ.ชุมแพ จังหวัดขอนแก่น โดยแผงโซลาร์เซลล์ทั้งหมด 30 กิโลวัตต์พร้อมผลิตพลังงานและลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับโรงพยาบาลชุมแพ ปีละ 200,000 บาท

กองทุนแสงอาทิตย์ สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน ลดการพึ่งพาพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล

จุดเริ่มต้นของกองทุนแสงอาทิตย์นั้นเกิดจากประกายความคิดของพระครูวิมลที่มองเห็นว่า พลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานหมุนเวียนที่ช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับหน่วยงานต่าง ๆ ได้จริง และยังมีประโยชน์ในด้านสิ่งแวดล้อม นั่นคือช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการผลิตพลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดภาวะโลกร้อน รวมทั้งลดมลพิษทางอากาศด้วย

ดังนั้น พระครูจึงได้เริ่มศึกษาและพบว่า มีหน่วยงานหลายหน่วยงานที่มีความพร้อมในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์เข้ามาสนับสนุนการทำงาน เช่น หน่วยงานด้านสาธารณะสุข หน่วยแพทย์ หรือโรงพยาบาล เป็นต้น เนื่องจากใช้ไฟฟ้าตอนกลางวันมาก ซึ่งพระครูก็มองว่าถ้าเราสามารถลดภาระค่าไฟฟ้าที่โรงพยาบาลต้องแบกรับ โรงพยาบาลก็จะเอางบที่ประหยัดได้มาทำประโยชน์อย่างอื่น ก็เลยตัดสินใจมาระดมทุนเพื่อติดแผงโซลาร์เซลล์ พระครูระดมทุนโดยอิสระมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้พูดคุยกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายก็เห็นตรงกันว่าเป็นแนวคิดที่ดี จึงมีแผนจะขยายโครงการออกไปตามพื้นที่ต่าง ๆ จึงกลายเป็นกองทุนแสงอาทิตย์

villagers join opening solar hospital event in Thung Sri Udom

พระครูวิมลปัญญาคุณ ประธานกองทุนแสงอาทิตย์ ร่วมถ่ายภาพส่งมอบแผงโซลาร์เซลล์ร่วมกับคณะกรรมการกองทุนแสงอาทิตย์ และเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลทุ่งศรีอุดม อ.ทุ่งศรีอุดม จ.อุบลราชธานี

ภารกิจของกองทุนแสงอาทิตย์ยังเดินหน้าต่อและเราจะไม่หยุดเพียงแค่นี้ เพราะจุดหมายถัดไปของกองทุนแสงอาทิตย์คือการผลักดันโรงพยาบาลแสงอาทิตย์แห่งที่ 6และ7 เพื่อการเข้าถึงพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนและเป็นธรรมของทุกคน

การขับเคลื่อนนโยบายพลังงานหมุนเวียนโดยภาครัฐ เป็นสิ่งจำเป็น

ปัจจุบันมีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่สนใจติดตั้งโซลาร์เซลล์ในครัวเรือน เพื่อผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ใช้ ด้วยต้นทุนการติดตั้งที่มีราคาถูกลงและสามารถใช้งานได้ในระยะเวลานาน ยกตัวอย่างเช่นการติดตั้งโซลาร์เซลล์ภายในวัด หลังคาโรงเรียน ตลาดเทศบาล และตามบ้านเรือนมากขึ้น 

การขับเคลื่อนในลักษณะนี้โดยภาคประชาชนกำลังเกิดขึ้นทั่วประเทศ ดังนั้นภาครัฐจึงควรสนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนในครัวเรือนให้มากขึ้นกว่าเดิม ไม่ว่าจะเป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ รวมทั้งยังจะต้องสนับสนุนระบบการซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตได้จากครัวเรือนของภาคประชาชน ด้วยการใช้มาตรการNet Meteringการหักลบหน่วยซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาของครัวเรือนและการกำหนดราคารับซื้อที่เป็นธรรม

ซึ่งปัจจุบันมีการการตั้งโควต้ารับซื้อ “โซลาร์ภาคประชาชน” ที่มีราคารับซื้อพลังงานแสงอาทิตย์จากประชาชนอยู่ที่ 1.68 บาท/หน่วย ในขณะที่ประชาชนต้องจ่ายค่าไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฯหน่วยละ 3.80 บาท 

จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซประเทศไทย ให้ความเห็นเกี่ยวกับมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปในภาคครัวเรือนของภาครัฐว่า “มาตรการการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อปของครัวเรือนที่มีอยู่ขาดเจตนารมย์ที่มุ่งมั่นของของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)ในการส่งเสริมให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและขายคืนส่วนที่เกินเข้าสายส่งในราคาที่เป็นธรรม การเพิกเฉยดังกล่าวสะท้อนถึงการจัดการพลังงานที่ยังคงผลักภาระต้นทุนให้กับประชาชน”

์Greenpeace-Net Metering Explanation

จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซประเทศไทย กำลังอธิบายการทำงานของระบบ Net Metering

เพื่อให้ประชาชนอย่างเราเข้าถึงการผลิตพลังงานได้อย่างเสรี เราจึงจำเป็นจะต้องบอกกับภาครัฐให้เป็นผู้ขับเคลื่อนและออกมาตรการการรับซื้อไฟฟ้าอย่างเป็นธรรม นั่นก็คือการออกมาตรการการหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ผลิตใช้เองจากโซลาร์เซลล์บนหลังคากับไฟฟ้าที่ครัวเรือนใช้จากการไฟฟ้า (Net Metering) มาทดแทนมาตรการเดิมคือระบบหักลบบิลค่าไฟฟ้า (Net Billing) ซึ่งไม่นำมาตรการการหักลบหน่วยไฟฟ้ามาใช้ และการกำหนดค่าไฟฟ้าด้วยราคาซื้อ-ขายไฟฟ้าที่ไม่เป็นธรรม

หากภาครัฐมองเห็นความสำคัญของมาตรการนี้แล้ว ก็จะทำให้ประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และเปลี่ยนตัวเองจากการเป็นผู้ใช้และต้องแบกภาระค่าไฟฟ้าทุกเดือนมาเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าและสามารถขายไฟฟ้ากลับเข้าสู่ระบบสายส่ง 

ร่วมเป็นหนึ่งเสียงบอกกับภาครัฐว่าเราต้องการมาตรการการซื้อขายไฟฟ้าในราคาที่เป็นธรรม

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม