กรุงเทพฯ, 17 มกราคม 2565 – มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLaw) และกรีนพีซ ประเทศไทย เดินทางไปกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม เพื่อทวงสิทธิอากาศสะอาดของประชาชน และผลักดันหน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบให้แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 โดยเร่งด่วน

ตัวแทนจากทั้ง 2 องค์กร รวมถึงนักกิจกรรมที่แต่งตัวในชุดมาสคอทมลพิษทางอากาศ ได้เดินทางไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้แก่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะที่เป็นผู้กำหนดนโยบาย มีอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบโดยตรงต่อการจัดการมลพิษทางอากาศของประเทศ พร้อมเรียกร้องให้ปฏิบัติตามแผน “การแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศด้านฝุ่นละออง” ปี 2562 

สุรชัย ตรงงาม เลขาธิการ มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมกล่าวว่า “อากาศสะอาดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน แต่ตลอดเวลาที่ผ่านมา แม้ว่าจะประกาศแผนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศเป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ 3 ปีที่แล้ว แต่หน่วยงานรัฐกลับแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ได้ล่าช้ามาก จนทำให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าอุปกรณ์ป้องกันตนเองจากฝุ่น”

“เราคาดหวังว่าหน่วยงานรัฐจะมีการชี้แจงอย่างชัดเจน และมีแผนการปฎิบัติอย่างรวดเร็วและตรวจสอบได้ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังนิ่งเฉย เราจำเป็นต้องดำเนินการตามกระบวนการของกฎหมายเพื่อให้หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่รับผิดชอบปฎิบัติตามหน้าที่ของตัวเอง” สุรชัย ตรงงาม กล่าว

คนไทยทั่วประเทศกำลังเผชิญกับปัญหามลพิษทางอากาศเป็นประจำทุกปี ฝุ่นส่งผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่ได้ศึกษาการเจ็บป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษอากาศของคนไทย ตั้งแต่ปี 2560 – 2563 พบว่าผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) เจ็บป่วยด้วย 4 โรคหลักมากที่สุดอันได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคมะเร็งปอด

อัลลิยา เหมือนอบ ผู้ประสานงานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “ไม่มีมลพิษทางอากาศในระดับใดเลยที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของประชาชน เพราะฉะนั้นค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศในปัจจุบันไม่เพียงพอต่อการปกป้องสุขภาพของคน ดังนั้นการปรับค่ามาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทยให้เข้มงวดขึ้นจะช่วยแสดงข้อเท็จจริงของสถานการณ์มลพิษทางอากาศ และยังเป็นการยกระดับการเตือนภัยให้ประชาชนต้องป้องกันตนเองมากขึ้น รวมถึงกระตุ้นให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาวิธีลดปริมาณฝุ่นจากแหล่งกำเนิด” 

มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อมและกรีนพีซ ประเทศไทย มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลเพื่อแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 ดังนี้

1.คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติต้องปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 ที่เข้มงวดขึ้นโดยคำนึงถึงสุขภาพประชาชนเป็นหลัก ข้อมูลการวิจัยจากทั่วโลกเกี่ยวกับผลกระทบของ PM2.5 ทำให้พบว่าค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศของประเทศไทยเดิมยังไม่เพียงพอต่อการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากฝุ่นละอองได้ โดยควรปรับค่ามาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศทั่วไป เป็น 37 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และ 15 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรสำหรับค่าเฉลี่ยรายปี

2. กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการกำหนดค่ามาตรฐานการระบายมลพิษทางอากาศจากโรงงานอุตสาหกรรมและกิจการประเภทอื่นๆที่เป็นแหล่งกำเนิด PM2.5 ให้เทียบเท่ามาตรฐานสากล และหน่วยงานรัฐจะต้องประกาศการค่ามาตรฐานปลายปล่องของ PM2.5 เพื่อเป็นการจำกัดการปล่อยฝุ่นละอองชนิดที่อันตรายต่อสุขภาพมากที่สุด

3. กระทรวงอุตสาหกรรมต้องดำเนินการจัดทำทำเนียบการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register) และเผยแพร่ข้อมูลแก่สาธารณะ ซึ่งจะช่วยให้หน่วยงานรัฐสามารถประเมินปริมาณสารพิษ (รวมถึง PM2.5) ที่ถูกปล่อยสู่บรรยากาศได้อย่างแม่นยำ ดำเนินนโยบายในการแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงภาคประชาสังคมและประชาชนจะสามารถเข้าถึงข้อมูลเพื่อมีส่วนร่วมในการป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมได้ 

หากภาครัฐยังคงเพิกเฉยต่อการแก้ปัญหามลพิษทางอากาศของประเทศไทย ประชาชนสามารถร่วมสนับสนุนการฟ้องร้องหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินหน้าที่ตามกฎหมาย และให้แก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ PM2.5 อย่างเป็นรูปธรรม หยุดละเมิดสิทธิในการเข้าถึงอากาศสะอาดอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน ได้ที่ https://act.seasia.greenpeace.org/th/right-to-clean-air

#RightToCleanAir #ขออากาศดีคืนมา

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารองค์กร กรีนพีซ ประเทศไทยโทร 091 770 3523 อีเมล wkingwat@greenpeace.org