จากเจตจำนงร่วมกันของประชาคมโลก ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อรับมือกับภัยคุกคามจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ทำให้หลายประเทศปรับเปลี่ยนตัวเองใหม่ด้วยการลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้า แล้วหันมาขยายการลงทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดกว่า ส่งผลกระทบต่อโลกน้อยกว่า ไม่ว่าจากแสงอาทิตย์ ลม น้ำ หรือชีวมวล

ประเทศไทยเองก็ได้มีการประกาศเป้าหมายเดินหน้าสู่พลังงานหมุนเวียน ในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2567-2580 หรือ ‘PDP 2024’  แต่จนแล้วจนรอด ร่างแผน PDP 2024 (ที่กำลังจะต้องเปลี่ยนไปเป็นแผน PDP 2025 เพราะความล่าช้า) ก็ยังคงไม่มีความชัดเจนในการกำหนดสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน

ทั้งยังมีข้อถกเถียงถึงสิ่งที่ปรากฏในร่างฉบับนี้ที่ผิดไปจากความคาดหวังและโจทย์ที่ตั้งเอาไว้ปลายทาง แสดงถึงความไม่จริงใจต่อการสนับสนุนการเข้าถึงการผลิตไฟฟ้าจากพลังแสงอาทิตย์ภาคประชาชน หนึ่งในนั้นคือการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ที่เปรียบเสมือนการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดย่อมบนหลังคาเพื่อใช้งานในระดับครัวเรือน ซึ่งเป็นหนทางหนึ่งในการเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างมั่นคง เป็นธรรมและยั่งยืน หนำซ้ำยังปิดกั้นโอกาสการเข้าถึงด้วยกฎกติกาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้งานรายย่อย เอื้อประโยชน์ให้กับโครงการขนาดใหญ่มากกว่า ไม่รวมถึงการให้การสนับสนุนโครงการโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ยังอยู่ในแผนพัฒนาเดิม ซึ่งแสดงถึงความล้าหลังและสวนทางกับปฏิญญาที่ให้ไว้ต่อประชาคมโลก ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 

เพื่อเน้นย้ำถึงศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับครัวเรือนของประเทศไทย ที่จะพาประเทศไปสู่เป้าหมายดังกล่าว จากการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรม ในสัปดาห์สิ่งแวดล้อมโลก เดือนมิถุนายน 2568 กรีนพีซ ประเทศไทย จัดกิจกรรม ‘Just Energy for All : เปลี่ยนเมืองด้วยพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรม’ ขึ้นที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร 

นอกจากการนำเสนอชุดข้อมูล “ฉะเชิงเทรา: โอกาสและศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์บน 300,000 หลังคาเรือน” จากการศึกษาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับครัวเรือนจังหวัดฉะเชิงเทรา พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายแล้วเพื่อส่งเสริมโครงสร้างระบบพลังงานแบบกระจายศูนย์  ยังมีการจัดเสวนาวิชาการ “พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรม: ความหวังของเมือง กับโจทย์นโยบายรัฐที่ยังไม่เปลี่ยน” เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองจากนักวิชาการและภาคประชาชน ถึงโอกาสและอุปสรรคในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืน ภายใต้บริบทของนโยบายภาครัฐที่ยังไม่เอื้อต่อความเป็นธรรมและการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง

จะเป็นอย่างไรหากมีการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาเรือนได้มากกว่า 300,000 หลัง

1,524 เมกะวัตต์ คือตัวเลขของกำลังการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาบ้าน ที่มาจากการคำนวณศักยภาพการผลิตไฟฟ้าบนหลังคาเรือน หรือโซลาร์รูฟท็อป (Solar Rooftop) ร้อยละ 80 ของ 313,586 หลังคาเรือน ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ทั้งการติดตั้งขนาดเล็ก 3 กิโลวัตต์ และขนาดใหญ่ 5 กิโลวัตต์ โดยบวกรวมระบบการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ไม่มีการกักเก็บพลังงาน กับการมีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) เข้าด้วยกัน ซึ่งอัตราการผลิตนี้จะทำให้ฉะเชิงเทราสามารถพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าในพื้นที่ได้มากกว่าร้อยละ 50 ภายในปี 2573 และหากมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง จะทำให้จังหวัดนี้สามารถผลิตไฟฟ้าได้เพียงพอต่อความต้องการทั้งหมดภายในปี 2581 และอาจมีศักยภาพมากพอที่จะส่งออกไฟฟ้าส่วนเกินไปยังพื้นที่ใกล้เคียงได้

ตัวเลขดังกล่าวคือข้อค้นพบที่เกิดจากการศึกษาศักยภาพการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ในระดับครัวเรือนจังหวัดฉะเชิงเทรา ของชุดข้อมูล “ฉะเชิงเทรา: โอกาสและศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์บน 300,000 หลังคาเรือน” (1) ซึ่งนำเสนอโดย อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล ผู้จัดการฝ่ายงานรณรงค์ กรีนพีซ ประเทศไทย ด้วยเป้าหมายที่ต้องการแสดงให้เห็นโอกาสและความเป็นไปได้ในการพัฒนาระบบโซลาร์แบบกระจายศูนย์การผลิตพลังงาน (Decentralized Energy) เพื่อให้ประชาชนสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าเองได้ โดยใช้ Growth Model ในการคำนวณ 

ทั้งนี้ ฉะเชิงเทราเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาระบบพลังงานแสงอาทิตย์แบบกระจายศูนย์ โดยเฉพาะในระดับครัวเรือน เพราะมีทรัพยากรธรรมชาติและภูมิประเทศเป็นต้นทุนเดิม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็เป็นพื้นที่ที่ดึงดูดภาคอุตสาหกรรมและพลังงานจากการเป็นเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor: EEC) ที่หลายโครงการเกิดขึ้นโดยไม่ได้มองถึงผลกระทบที่มีต่อชุมชนในภาพรวม โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าที่มีแผนงานอยู่ใน EEC หลายโครงการ หนึ่งในนั้นคือโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซบูรพาพาวเวอร์ ซึ่งได้ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นระยะเวลา 25 ปี สะท้อนถึงความย้อนแย้งของนโยบายรัฐที่ประกาศส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนและการมีส่วนร่วมของประชาชนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม แต่ในทางปฏิบัตินั้น การผลิตยังคงกระจุกอยู่ในกลุ่มทุนขนาดใหญ่

เช่นเดียวกับอุปสรรคในเชิงโครงสร้างที่ยังเป็นข้อจำกัดสำคัญในการดันศักยภาพดังกล่าวอย่างน่าเสียดาย ทั้งระบบโครงข่ายการจ่ายไฟฟ้าหลักที่ไม่เอื้อต่อการเชื่อมต่อระบบพลังงานหมุนเวียน กระบวนการอนุมัติที่ซับซ้อน ข้อกำหนดทางเทคนิคที่ไม่เหมาะสมกับครัวเรือนทั่วไป การขาดกลไกทางการเงินสนับสนุน นโยบายด้านพลังงานของประเทศที่ยังมุ่งสนับสนุนภาคเอกชน โดยเฉพาะโรงงานขนาดใหญ่ เช่น โซลาร์ฟาร์ม และผลักภาระด้านราคามาสู่ผู้บริโภคผ่านต้นทุนรวมกำไรของผู้ผลิตรายใหญ่ 

จากการศึกษาและข้อค้นพบดังกล่าว นำมาสู่ข้อเสนอเชิงนโยบายทั้งในระดับจังหวัดและระดับประเทศ โดยในระดับจังหวัดนั้นได้เสนอให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการพลังงานหมุนเวียนเบ็ดเสร็จ (One-Stop Service) และจัดตั้งกองทุนหมุนเวียนพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดระดับจังหวัด (Provincial Clean Energy Fund) พัฒนามาตรฐานและระบบรับรองผู้ให้บริการติดตั้งในท้องถิ่น จัดให้มีโครงการนำร่องในอาคารสาธารณะและชุมชนต้นแบบ จัดทำแผนพัฒนาระบบกักเก็บพลังงานระดับจังหวัด และพัฒนาระบบข้อมูลพลังงานแบบเปิด เพื่ออำนวยการเข้าถึงการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในครัวเรือนของประชาชนให้มากยิ่งขึ้น

ส่วนในระดับประเทศนั้น อัญชลี ชี้ว่า จะต้องมีการปฏิรูปกรอบกฎหมายเพื่อเสริมอำนาจให้ท้องถิ่นในการจัดการพลังงานของจังหวัด ปฏิรูปโครงสร้างค่าไฟฟ้าและระบบรับซื้อไฟฟ้า มีการลงทุนพัฒนาโครงข่ายอัจฉริยะ (Smart Grid) มีมาตรการส่งเสริมกลไก Net Billing (ประชาชนสามารถนำกระแสไฟฟ้าที่เหลือจากที่ผลิตได้ขายให้การไฟฟ้า) เพื่อรองรับพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชน มาตรการด้านการเงินและภาษี รวมถึงการเปิดเสรีตลาดพลังงาน (Liberalization) ซึ่งทั้งหมดนี้จะสามารถใช้เป็นแนวทางผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่เป็นธรรม มีความยั่งยืน และเข้าถึงได้สำหรับทุกคน 

“พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาไม่ใช่แค่ทางเลือกด้านเทคโนโลยี แต่คือเครื่องมือสำคัญในการคืนสิทธิในการผลิตพลังงานให้กับประชาชน และสร้างระบบพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนและเป็นธรรม รัฐต้องยุติการเอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่ผ่านโครงสร้างระบบพลังงานแบบรวมศูนย์ และหันมาออกแบบนโยบายที่กระจายอำนาจอย่างแท้จริง ให้ประชาชนสามารถเป็นเจ้าของพลังงานของตนได้จริง”

เป้าหมายและความท้าทายที่ประเทศไทยต้องไปให้ถึง

วงเสวนา “พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรม: ความหวังของเมือง กับโจทย์นโยบายรัฐที่ยังไม่เปลี่ยน” เริ่มต้นด้วยสถานการณ์ร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หรือ “ร่าง พ.ร..โซลาร์เซลล์” ที่กำลังถูกตั้งคำถามว่า เอื้อผลประโยชน์ให้ใคร ประชาชนหรือผู้ประกอบการรายเล็กอยู่ตรงไหนในร่างฉบับนี้ เพราะขั้นตอนต่างๆ ในการติดโซลาร์รูฟท็อปของประชนชน ยังคงเป็นอุปสรรคก้อนโตที่ขวางอยู่ บุญยืน ศิริธรรม ประธานสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์จากการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ให้ความเห็นอย่างตรงไปตรงมาว่า ร่างฉบับล่าสุดนั้น “เกินเยียวยา ถ้าจะมีกฎหมายควรเป็นกฎหมายที่อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงการติดตั้งได้ หากไม่อย่างนั้นแล้ว ไม่ต้องมี”

อรชา จันทร์เดช หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนด้านพลังงานหมุนเวียนในภาคตะวันออก เชื่อว่า “ถ้ารัฐอำนวยความสะดวก ประชาชนก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง ตอนนี้จากในแผน PDP ฉบับเก่า เราพบว่าไฟฟ้าภาคตะวันออกมีล้นเกินแล้ว โรงไฟฟ้าก๊าซไม่อยู่ในความต้องการของคนภาคตะวันออกแล้วเพราะมันทำให้เกิดภาระค่าไฟในระยะยาว และสายไฟฟ้าแรงสูงที่ต้องพาดผ่านพื้นที่เกษตรกรรม ก็สร้างผลกระทบกับชุมชน ซึ่งยังมีคดีที่ฟ้องศาลปกครองกันอยู่”

นอกจากโรงไฟฟ้าก๊าซจะไม่จำเป็นในภาคตะวันออกอีกต่อไปแล้ว รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ จากศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ได้กล่าวสำทับอีกว่า “ประเทศเรามีโรงไฟฟ้าล้นเกินอยู่มาก มีโรงไฟฟ้าก๊าซขนาดใหญ่ที่แทบไม่ได้เดินเครื่องเลยแทบทั้งปีอีกหลายโรง และยังจะสร้างอีกหนึ่งโรง สร้างเสร็จก็อาจไม่ได้รันการผลิตอยู่ดี กลายเป็นภาระค่าไฟไม่รู้จบสิ้น”

เมื่อฉายภาพลึกลงไปในปัญหาและอุปสรรค ที่ทำให้ประเทศไทยยังมีสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรมอยู่น้อย ดร.ชาลี กล่าวว่า “พลังงานหมุนเวียนที่เราอยากเห็นไม่ใช่เพียงสะอาด แต่ต้องเป็นพลังงานที่เป็นธรรมด้วย ความเป็นธรรมอาจมองได้หลายมิติ คือ ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ มีราคาที่เหมาะสม ชุมชนรอบโรงไฟฟ้าต้องมีส่วนร่วม และสุดท้าย ต้องมีความสามารถในการพึ่งพาตัวเองได้ รัฐควรช่วยสนับสนุน ไม่ใช่ปิดกั้นและสร้างขั้นตอนมาให้เป็นอุปสรรค”

ในขณะที่ประเทศไทยมีศักยภาพเกินพอในการผลิตพลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะแสงแดด ลม หรือชีวมวล แต่พลังงานเกิน 80 เปอร์เซ็นต์ของประเทศไทยยังมาจากฟอสซิล ซึ่งสวนทางกับศักยภาพที่เรามีอยู่ ดร.ชาลี ชี้ถึงอุปสรรคดังกล่าวว่า “หนึ่งคือ เราถูกสร้างมายาคติที่ผิด ๆ มากมาย เช่น พลังงานหมุนเวียนมีราคาแพง ถ้าจะเปลี่ยนเป็นพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด รับค่าไฟที่แพงขึ้นได้ไหม สอง พลังงานหมุนเวียนไม่เสถียร แต่เขาลืมไปว่าพลังงานหมุนเวียนสามารถบริหารจัดการร่วมกับพลังงานชนิดอื่นให้เกิดความมั่นคงได้ และพลังงานหมุนเวียนยังถูกปิดกั้นด้วยข้อบังคับและขั้นตอนกฎหมายต่าง ๆ และสุดท้ายคือ การถูกผูกขาดด้วยนโยบายและสายส่ง เพราะพลังงานฟอสซิลใช้สายส่งเต็มหมดแล้ว ส่วนแผน PDP ที่เราเห็นว่าดูเหมือนจะส่งเสริมพลังงานสะอาด แต่พอถึงขั้นตอนดำเนินการก็กลับไม่ได้นำไปสู่นโยบายนั้น ท้ายที่สุดเราก็ต้องไปแก้กันที่แผน PDP ด้วย”

ดร.อกณิฐ กวางแก้ว นักวิจัยศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ขยายความถึงความเสถียรภาพของไฟฟ้าในระบบพลังงานหมุนเวียนว่า “ความมั่นคงในระบบไฟฟ้า คือไฟต้องไม่ดับ ซึ่งโซลาร์เซลล์ภาคประชาชนเป็นการเพิ่มการผลิต มันไม่ได้ทำให้ไฟดับอยู่แล้ว แต่ถ้าพูดในทางเทคนิคของระบบไฟฟ้า หนึ่งในเหตุผลที่คนกังวลว่าทำให้กริดไม่มั่นคง เพราะมีการวิ่งกลับของพลังงานไปสู่ต้นทางมากขึ้น ซึ่งค่อนข้างกระทบการออกแบบในระบบเดิมที่คิดมาตั้งแต่มีการส่งไฟฟ้าจากส่วนกลางมาสู่บ้านเรือน แต่ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวหน้าไปมาก ไฟฟ้าวิ่งกลับมาเท่าไร ระบบต่าง ๆ ก็สามารถทำงานได้อย่างอัจฉริยะ ก็ขึ้นอยู่ที่มายด์เซตของรัฐบาลว่าจะทำให้ระบบไฟฟ้ารองรับได้หรือไม่ ทุกอย่างทำได้หมดถ้ารัฐบาลสนับสนุน 

“เมื่อมาดูเรื่องความมั่นคงของพลังงาน หากดูผิวเผินเราเถียงไม่ได้เลยว่ารัฐบาลไม่ได้สนับสนุนพลังงานหมุนเวียน แต่เมื่อแตกใจความสำคัญออกมา จะเห็นว่ามีการสนับสนุนการติดโซลาร์รูฟท็อปแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ของความต้องการในการใช้เท่านั้นเอง ด้วยเหตุผลว่าเป็นลักษณะการผลิตตอนกลางวัน กลางคืนผลิตไม่ได้ วิธีแก้ไขที่ใครก็รู้คือควรมีระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) และรัฐควรมองถึงประเด็นนี้ เมื่อไรก็ตามที่เราสามารถบริหารจัดการพลังงานบนหลังคาให้ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เราอาจผลิตไฟฟ้าขายให้เพื่อนบ้านได้อย่างที่หลายประเทศในโลกทำกัน”

เผยงานวิจัยของบลูมเบิร์ก ชี้ชัดว่าไทยมีศักยภาพสูงมากในการเปลี่ยนผ่าน

จากรายงานล่าสุดของ BloombergNEF ที่จัดทำขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2568 “Thailand:Turning Point a Net-Zero Power Grid” (ประเทศไทยบนทางแยกที่จะไปสู่การมีกริดที่ทำให้เกิดความเป็นกลางทางคาร์บอน) ชี้ชัดว่าประเทศไทยมีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะแสงอาทิตย์และลม ต่ำที่สุดกลุ่มหนึ่งในโลก และมีศักยภาพสูงในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบการผลิตไฟฟ้าแบบคาร์บอนต่ำ ในต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้เมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานแบบเดิม  แต่กระบวนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานกลับชะงักอยู่กับโครงสร้างของระบบพลังงานแบบรวมศูนย์ ทั้งการวางแผน ระบบสายส่ง และกลไกการกำกับดูแล 

“รายงานเล่มนี้ออกมาตรงกันข้ามหักล้างกับความเชื่อที่เรามีอย่างสิ้นเชิง” ดร.ชาลี กล่าว และชวนเราย้อนกลับไปดูแผน PDP ฉบับล่าสุด กับความพยายามในการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ของรัฐไทย “เคลมกันว่านิวเคลียร์ทั้งสะอาด มั่นคง และมีราคาถูก แต่ความสะอาดของนิวเคลียร์มีแค่มิติเดียว คือปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อย เพราะไม่มีการเผา แต่ความสะอาดในมิติที่ต้องดีกับสิ่งแวดล้อมและไม่มีมลพิษนั้น เรารู้กันดีถึงพิษสงของกากนิวเคลียร์ กากกัมมันตภาพรังสี ที่แค่ได้ยินก็ไม่อยากเข้าใกล้ 

“ในรายงานของบลูมเบิร์กยังบอกอีกว่า โรงไฟฟ้านิวเคลียร์มีสองแบบ คือ แบบ Conventional คือโรงงานนิวเคลียร์ขนาดใหญ่ มีต้นทุนราคา 204 ดอลลาร์ต่อพันหน่วย หรือคิดเป็นหน่วยละ 6.68 บาท แต่ของไทยที่จะสร้างเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก แบบ SMR ราคา 372 ดอลลาร์ต่อพันหน่วย หรือ 12.18 บาท เมื่อเทียบกับพลังงานแสงอาทิตย์ที่บลูมเบิร์กคาดการณ์อนาคตมาให้ดู ของปี 2030 อยู่ในระดับต่ำที่สุด ปี 2050 ยิ่งถูกลง เหลือเพียง 16-24 ดอลลาร์ต่อพันหน่วยเท่านั้น ต้นทุนการผลิตจึงต่ำกว่า 1 บาทแน่นอนในอนาคต

“และในแผน PDP ที่ระบุว่า เราต้องลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ แผนคือโรงไฟฟ้าก๊าซจะใช้ไฮโดรเจนผสมเพื่อให้คาร์บอนไดออกไซด์ลดลง โรงไฟฟ้าถ่านหินก็จะใช้แอมโมเนียผสมเพื่อลดการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ แต่การผสมนั้นจะยิ่งทำให้ต้นทุนราคาสูงขึ้นไปเรื่อย ๆ ค่าไฟฟ้าก็จะแพงขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่พลังงานหมุนเวียนผลิตคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ ดังนั้นการจะเปลี่ยนผ่านพลังงานไม่ใช่แค่เราผลิตคาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง แต่ยังมีต้นทุนการผลิตที่ถูกลงด้วย

“ความท้าทายหลักในวันนี้จึงไม่ใช่การเข้าถึงเทคโนโลยี แต่คือการออกแบบนโยบายและกลไกที่ส่งเสริมการกระจายอำนาจ กระจายความเสี่ยง และกระจายประโยชน์อย่างเป็นธรรม โดยเฉพาะในระดับชุมชน ที่สามารถมีบทบาทมากกว่าการเป็นเพียงผู้บริโภค”

ข้อเสนอจากภาคประชาชน ต่อการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรม

จากปัญหา อุปสรรคและความท้าทาย ในการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรม การเสวนานี้ชวนปิดท้ายด้วยข้อเสนอจากภาคประชาชน เพื่อส่งเสียงไปถึงภาครัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

“ถ้ารัฐบาลมีความตั้งใจจริง มีนโยบายในการสนับสนุน การเปลี่ยนผ่านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรมจะเกิดขึ้นได้เร็ว การกระจายไฟฟ้าไปอยู่บนทุกหลังคาเรือนคือความมั่นคงของประชาชน และเป็นความมั่นคงของพลังงาน ที่หากเกิดอะไรกับโรงไฟฟ้า ทำให้ไฟดับ แต่ไฟฟ้าจากหลังคาเรายังมี ดังนั้นควรมีกองทุนกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำให้ประชาชน เราต้องการ BOI ภาคประชาชนบ้าง เพราะเวลาที่นักลงทุนมาลงทุน BOI มีการลดภาษีมากมาย เมื่อประชาชนจะลงทุนทำธุรกิจกับหลังคาบ้านตัวเองบ้าง ทำไมจะให้ไม่ได้ การลดค่าไฟก็เท่ากับเป็นการเพิ่มรายได้แล้ว” บุญยืน ให้ความเห็น 

ในขณะที่ ดร.อกณิฐ มีมุมมองว่า “ความมั่นคงเป็นสิ่งสำคัญ แต่การที่เรายังยึดความมั่นคงเดิม ๆ โดยใช้ไฟฟ้าจากส่วนกลางส่งให้บ้านเรือน และพยายามทำให้ดูดีขึ้นโดยมีนโยบายในแผนต่างๆ แต่ถ้าใจความสำคัญยังคงใช้ความเชื่อมั่นแบบเดิม เราก็ยังเป็นแบบเดิม ถ้ารัฐเปลี่ยนความเชื่อมั่นในการพึ่งพาพลังงานไฟฟ้า ที่ผลิตได้จากพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรมจากประชาชนเป็นหลัก อุปสรรคและปัญหาทุกอย่างจะหมดไปอย่างแน่นอน”

อรชา เสนอว่า “กองทุนต่าง ๆ ของรัฐควรมาสนับสนุนพลังงานโซลาร์ภาคครัวเรือนเพื่อให้ชุมชนผลิตไฟฟ้าใช้ได้เอง สนับสนุนให้เกิดช่างชุมชนซึ่งจะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้เกิดโซลาร์รูฟท็อปในระดับพื้นที่ และสนับสนุนเรื่อง Net Billing หรือ Micro Grid เพื่อให้ทุกอบต. ทุกเทศบาล ทุกหมู่บ้าน และทุกคน ได้เป็นเจ้าของพลังงานของตัวเอง ซึ่งจะเป็นความมั่นคงอย่างแท้จริง”

ทิ้งท้ายด้วย ดร.ชาลี เสนอนโยบายที่ควรทำอย่างเร่งด่วนว่า “บ้านเรือนขนาดเล็กที่ใช้ไฟไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ควรให้เขาทำ Net Metering  (ผู้ใช้ไฟจ่ายค่าไฟเฉพาะส่วนต่างจากการส่งไฟฟ้าส่วนเกินที่ผลิตได้เข้าสู่ระบบไฟฟ้า) ได้เลย ในเงื่อนไขการติดตั้งไม่เกิน 3-5 กิโลวัตต์ ซึ่งไม่กระทบเรื่องความมั่นคงใดๆ ทั้งสิ้น ส่วนธุรกิจหรือภาคบริการ เช่น ร้านสะดวกซื้อ สำนักงาน รวมถึงภาคอุตสาหกรรม ให้ใช้ Net Billing โดยการซื้อไฟกลับคืนในราคาที่เป็นธรรม คือราคาเดียวกับที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตขายให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคโดยไม่จำกัดโควต้า ส่วนการขยายสายส่งให้เป็นการลงทุนของรัฐ” 

ทั้งนี้ กรีนพีซ ประเทศไทย มีข้อเสนอถึงภาครัฐและทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องว่า ควรเร่งปฏิรูปนโยบายพลังงาน และกำหนดยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง โดยเริ่มจากการยกเลิกข้อจำกัดเชิงโครงสร้างที่กีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน  สร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจสำหรับครัวเรือนและชุมชนที่ต้องการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน และลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อระบบพลังงาานแบบกระจายศูนย์ เช่น ระบบกักเก็บพลังงานและสมาร์ตกริด เพราะการกระจายอำนาจด้านพลังงาน ไม่ใช่เพียงการลดคาร์บอนที่นำไปสู่ผลกระทบด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่คือรากฐานของความเป็นธรรม ความมั่นคง และความยั่งยืนของประเทศในระยะยาว

หมายเหตุ

[1] ชุดข้อมูล “ฉะเชิงเทรา: โอกาสและศักยภาพพลังงานแสงอาทิตย์บน 300,000 หลังคาเรือน”

[2] ไฟล์สไลด์วิทยากร