ปัญหาฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ “พีเอ็ม 2.5” ได้กลาย เป็นประเด็นที่สังคมไทยให้ความสนใจอย่างมาก ในช่วงต้นปี พ.ศ. 2562 ที่เกิดวิกฤตคุณภาพอากาศในกรุงเทพมหานคร ทำให้อากาศขมุกขมัวจนรบกวนการใช้ ชีวิตของผู้คน และมีระดับฝุ่นพีเอ็ม 2.5 สูง จนอยู่ในขั้นที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประชาชนจำนวนมากตื่นตัวด้วยความวิตกกังวลว่าจะเกิดผลกระทบสุขภาพ โดยเฉพาะผลกระทบที่จะเกิดกับเด็ก คนชรา และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง นอกจากนั้น โรงเรียนและสถาบันการศึกษาได้มีการประกาศหยุดการเรียน การสอน และหลายหน่วยงานได้เข้ามาร่วมแก้ไข ความวิตกกังวลต่อฝุ่น พีเอ็ม 2.5 ทำให้หน้ากากอนามัย N-95 และเครื่องฟอกอากาศขาดตลาด อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 นับเป็นเรื่องใหม่สำหรับสังคมไทย ที่เริ่มมีการกล่าวถึงกันมากขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเท่านั้น ประกอบกับ ข้อมูลเรื่องฝุ่นพีเอ็ม 2.5 บางครั้งมี ความขัดแย้งกันทำให้ยิ่งเพิ่มความสับสนแก่ประชาชน เพื่อป้องกันการสับสนที่เกิดขึ้น หน่วยราชการและองค์กรวิชาชีพที่ เกี่ยวข้องต้องออกมาให้ความรู้ ออกแถลงการณ์ และเผยแพร่ความรู้ให้กับ ประชาชนผ่านช่องทางต่าง ๆ ถึงอันตรายร้ายแรงและวิธีการป้องกันตนเอง จนกระทั่งรัฐบาลได้ประกาศให้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 เป็นวาระแห่งชาติในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562 ที่ผ่านมา
ท่ามกลางสถานการณ์ดังกล่าว นอกจากหน่วยงานรัฐแล้ว ยังมีนักวิชาการ บุคลากรวิชาชีพ และภาคประชาชนออกมาให้ความรู้และให้ ข้อเสนอแนะเพื่อการจัดการปัญหา รวมถึงมีการรวมตัวกันเพื่อร่วมกันคิด และทำความเข้าใจกับปัญหาและหาทางออกทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และ ระยะยาวอย่างยั่งยืน มีการจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานและสถาบันต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ ได้มีการจัดเวทีที่มีความต่อเนื่องและเน้นการมี ส่วนร่วมที่หลากหลาย เรียกว่า “ไทยพร้อมล้อมวง” ที่เป็นที่มาของการรวมกัน เป็นเครือข่ายที่เรียกว่า “เครือข่ายอากาศสะอาด” ที่เป็นเครือข่ายเปิดที่จะมีการขยายตัวออกไปอย่างต่อเนื่องเพื่อเชื่อมประสานกับทุกภาคส่วนโดยมีความเห็นว่าวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ไม่ได้เป็นปัญหาของกรุงเทพมหานครเท่านั้นแต่เป็นปัญหาร่วมของทุกคนที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
อย่างไรก็ตามปัญหามลพิษทางอากาศที่เกิดจากฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 มีความซับซ้อนอย่างมาก การทำความเข้าใจปัญหา เพื่อกำหนดแนวทางแก้ไข ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องและต้องการองค์ความรู้ จากนักวิชาการหลากหลายสาขา รวมถึงบุคลากรวิชาชีพด้านสุขภาพ รวมถึง ประสบการณ์และความเห็นจากภาคประชาชน “สมุดปกขาวอากาศสะอาด” (Clean Air White Paper) ฉบับนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมกันกำหนดทิศทาง และวางแนวทางการทำงานร่วมกัน โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ใน “9 ประเด็นพื้นฐานเพื่อเข้าใจและแก้ไขปัญหาฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5 ใน ประเทศไทย” และหลังจากนี้ ทางเครือข่ายอากาศสะอาด จะมีกระบวนการ ในการจัดทำ“สมุดปกฟ้าอากาศสะอาด” (Clean Air Blue Paper) และ “สมุดปกเขียวอากาศสะอาด” (Clean Air Green Paper) ที่จะมีข้อมูลองค์ความรู้สมบูรณ์ขึ้นตามลำดับทั้งในเชิงวิชาการและประสบการณ์ตรงจากประชาชนและปราชญ์ชาวบ้านในพื้นที่เพื่อสนับสนุนกระบวนการดำเนินการร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อนำพาสังคมไทยก้าวไปสู่การมีอากาศสะอาดให้ทุกคนได้หายใจอย่างเท่าเทียมกัน
ที่มา : Thailand Clean Air Network https://thailandcan.org

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่
มีส่วนร่วม