ผลกระทบของสภาวะโลกร้อนที่ไม่ได้อยู่แค่เพียงในอาร์กติก
IPCC ย้ำมนุษย์เป็นสาเหตุหลักของโลกร้อน
ล่าสุดเมื่อปลายเดือนกันยายน 2556 รายงานการประเมินสถานการณ์สภาพภูมิอากาศฉบับที่ 5 ของ IPCC (Fifth Assessment Report) ซึ่งเป็นองค์กรทางวิชาการและวิทยาศาสตร์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลักของโลก มีนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกเข้าร่วมในการประมวลและสังเคราะห์รายงานดังกล่าว กว่า 800 คน นับเป็นรายงานการประเมินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่น่าเชื่อถือ ที่สุดในขณะนี้ รายงานดังกล่าวย้ำและชี้ชัดว่ามนุษย์และกิจกรรมของมนุษย์เป็นสาเหตุหลักที่ ทำให้ก๊าซเรือนกระจกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กิจกรรมของมนุษย์นั้นรวมถึงการเสพติดและพึ่งพาพลังงานฟอสซิล ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ซึ่งหากเราไม่มีมาตรการอย่างเร่งด่วนและเข้มข้นในการลดการปล่อยก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ลง โลกเราก็จะเดินหน้าไปสู่การมีอุณหภูมิสูงขึ้นเกินกว่า 2 องศาเซลเซียสภายในศตวรรษนี้ และส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ขณะนี้กำลังเผชิญกับ วิกฤตการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นในรูปแบบของมรสุมพายุ ปริมาณน้ำทะเลที่สูงขึ้น การกัดเซาะชายฝั่ง และสภาพอากาศที่แปรปรวนไม่ตรงตามฤดูกาล
หากโลกอุณหภูมิถึง 4 องศา เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ซึ่งเป็นภูมิภาคหนึ่งที่ยิ่งเสี่ยงและเปราะบางมากยิ่งขึ้น
รายงานของคณะกรรมการติดตาม ภูมิอากาศ กล่าวเตือนว่า หากรัฐบาลและทุกภาคส่วนยังขาดความร่วมมือกันในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศของโลกดังที่เป็นอยู่นี้ ในปี พ.ศ.2643 อุณหภูมิของโลกจะเพิ่มสูงขึ้นอีก 4 องศาเซลเซียส ข้อมูลจากธนาคารโลกได้คาดการณ์ออกมาว่า 4 องศานี้ ไม่ใช่เป็นเพียงการเพิ่มขึ้นของตัวเลขอุณหภูมิ แต่หมายถึงสภาพภูมิอากาศของโลกที่จะเปลี่ยนแปลงไปและส่งผลกระทบกับระบบนิเวศ โดยรวมทั้งหมด เป็นมหันตภัยที่คุกคามประชากรโลกในระยะยาว จากแผนที่คาดการณ์ผลกระทบในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หากอุณหภูมิของโลกสูงขึ้น 4 องศาเซลเซียส แสดงให้เห็นว่า หากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้น 4 องศาเซลเซียส จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมการเกษตร การประมง ปริมาณน้ำจืด ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ภาวะแล้ง และผลกระทบต่อสุขภาพอันเกิดจากอากาศร้อน คุณภาพอากาศแย่ และโรคระบาดจากแมลงพาหะต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับประเทศอินโดนีเซียที่มีอาชีพประมงหล่อเลี้ยงประชากร กว่า 5 ล้านคน เกาะบอร์เนียวที่มีโอกาสเกิดไฟป่าบ่อยขึ้น ประเทศสิงคโปร์ที่อาจประสบปัญหาน้ำท่วม การสูญเสียพื้นที่ชายฝั่ง และปัญหาปริมาณน้ำจืดเนื่องจากการรุกล้ำของน้ำเค็ม ประเทศไทยเองก็จะได้รับผลกระทบต่อการปลูกข้าว ซึ่งจะอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ และการรุกล้ำของน้ำเค็มในพื้นที่เพาะปลูก ประเทศฟิลิปปินส์อาจต้องเผชิญกับพายุหมุนเขตร้อนที่รุนแรงยิ่งขึ้นและอาจ คร่าชีวิตประชากรจำนวนมาก ซึ่งขณะนี้เราได้เห็นผลกระทบบางส่วนเหล่านี้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และประเทศไทยบ้างแล้ว
โลกร้อนเกิดขึ้นจริง และชุมชนในประเทศไทยกำลังพยายามอย่างมากในการปรับตัว
ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเกิดขึ้นอย่างชัดเจนในหลายพื้นที่ ของประเทศไทยทั้งในด้านความถี่ความรุนแรง และความแปรปรวนและผิดปกติของฤดูกาล จนกระทั่งทำให้ประชาชนที่มีวิถีชีวิตพึ่งพาและขึ้นอยู่กับธรรมชาติต้องสูญ เสียวิถีชีวิตความเป็นอยู่ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม แต่ชุมชนเหล่านี้ก็ไม่ได้นิ่งเฉย ได้มีความพยายามในการปรับตัวเพื่อรับมือและดำรงชีวิตอยู่ให้ได้ท่ามกลางสภาพ ภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป โดยตัวอย่างที่เห็นชัดถึงผลกระทบและการปรับตัวสามารถพบได้ในพื้นที่ต่างๆ เช่น พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทยตอนบน และแม้แต่ในเมืองใหญ่อย่างบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดกรุงเทพฯ รวมไปถึงพื้นที่ลุ่มน้ำยมตอนล่าง จังหวัดสุโขทัย และพื้นที่จังหวัดพิษณุโลก ที่นโยบายของรัฐกำลังเป็นอุปสรรคต่อความพยายามในการปรับตัวของชุมชน เพื่อรับมือกับการแปรปรวนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบเหล่านี้จะยิ่งทวีความรุนแรงขึ้นจนไม่สามารถคาดเดา อีกทั้งความพยายามในการปรับตัวก็จะยิ่งยากขึ้นไปอีก หากเรายังคงเดินหน้าใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และขุดเจาะน้ำมัน
พลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ทางออกเพื่อปกป้องอาร์กติก
หายนะของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นเกิดขึ้นจริง และเป็นผลมาจากพฤติกรรมมนุษย์อย่างเราทุกคนที่กำลังพึ่งพาพลังงานสกปรกและ ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ถึงเวลาแล้วที่รัฐบาลของเราควรจะตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และผลกระทบรุนแรงที่กำลังเกิดขึ้นและที่จะเกิดขึ้นอีกต่อประเทศไทยและ ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เด่นชัดนี้ รายงานทางวิทยาศาสตร์ต่างๆที่ออกมาล้วนเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าเรากำลังก้าว มาสู่จุดที่โลกอาจไม่สามารถฟื้นตัวได้อีก และเป็นสัญญาณว่าถึงเวลาแล้วที่เราต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน จริงจัง และเข้มข้น เพื่อเยียวยาสภาพภูมิอากาศเสียที และหันไปสู่ทางออกเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนอย่างการใช้พลังงานหมุนเวียน ยุติการเผาไหม้พลังงานสกปรก ที่เป็นตัวการทำให้น้ำแข็งละลายส่งผลกระทบต่ออาร์กติก

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้
มีส่วนร่วม