กรุงเทพฯ, 19 พฤษภาคม 2563 – เป็นเวลาเกือบสามปีแล้ว ที่บริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ปและกรีนพีซได้ทำข้อตกลงครั้งสำคัญเพื่อต่อกรกับการประมงผิดกฎหมาย การประมงเกินขนาด และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของแรงงานประมงในห่วงโซ่อุปทานให้ดีขึ้น ทั้งนี้ผลการตรวจสอบโดยหน่วยงานภายนอกได้ระบุให้เห็นถึงความคืบหน้าในหลายด้านของบริษัทไทยยูเนี่ยน ซึ่งถือเป็นยักษใหญ่ในวงการอาหารทะเลแปรรูป ทว่าก็ยังมีอีกหลายด้านที่ต้องปรับปรุงเพื่อให้บรรลุคำมั่นด้านสิ่งแวดล้อม และด้านสิทธิมนุษยชน

การตรวจสอบดำเนินการโดย หน่วยงานชื่อ Marine Resources Assessment Group  (MRAG) ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งทางบริษัทไทยยูเนี่ยนเป็นผู้ว่าจ้าง ผลการตรวจสอบพบว่า บริษัท ไทยยูเนี่ยน ผ่านการประเมินหลักๆ ในด้านการปรับปรุงนโยบาย และปรับเปลี่ยนข้อกำหนดการจัดซื้อกับบริษัทคู่ค้า รวมถึงแสดงความมุ่งมั่นในการทำงานร่วมกับองค์กรการจัดการประมงในระดับภูมิภาค (Regional Fisheries Management Organisations หรือ RFMOs) และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการประมงผ่านโครงการปรับปรุงการประมง (Fishery Improvement Projects หรือ FIPs)  อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีงานในอีกหลายด้านที่ทางบริษัทฯ  ยังไม่สามารถบรรลุตามเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ เช่น การจัดให้มีเจ้าหน้าที่สังเกตการณ์ หรือติดตั้งอุปกรณ์ตรวจสอบบนเรือประมงให้ครบ 100% และการลดจำนวนการใช้อุปกรณ์ อุปกรณ์ล่อปลาหรือซั้งกอ( Fish Aggregating Devices หรือ FADs) บนเรือหาปลา

“กรีนพีซยินดีกับบริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ที่สามารถบรรลุเป้าหมายหลายข้อตามที่ได้ทำข้อตกลงร่วมกัน หลังจากในช่วงระหว่างปี 2558-2560 ทางกรีนพีซได้เริ่มงานรณรงค์ระดับโลก เพื่อกระตุ้นให้บริษัทหันมาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวิธีการทำประมง ถึงอย่างนั้นก็ตาม ผลจากการตรวจสอบก็ทำให้เห็นชัดว่า มีอีกหลายด้านที่บริษัทไทยยูเนี่ยนยังสามารถทำให้ดีขึ้นกว่านี้ได้ จากพันธกิจที่บริษัทตั้งไว้ที่ต้องการเปลี่ยนแปลง และเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารทะเล จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทางไทยยูเนี่ยนจะต้องเร่งทำงานสานต่อสิ่งที่ทำไว้อย่างจริงจัง ให้บรรลุเป้าหมายใหญ่ที่ตั้งไว้ และเพื่อให้แน่ใจว่าห่วงโซ่การผลิตของบริษัทนั้นปราศจากการใช้แรงงานบังคับ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเลได้จริง” อารีฟชาห์ นาสุชัน ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อปี 2558 มีรายงานระบุถึงการละเมิดสิทธิมนุษยชนในอุตสาหกรรมอาหารทะเล ที่เชื่อมโยงมาถึงบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ซึ่งผลการตรวจสอบของ MRAG ก็แสดงให้เห็น สัญญาณที่ดี และความก้าวหน้าของกระบวนการจัดการด้านสิทธิมนุษยชน  (Human Rights Due Diligence) ของบริษัท แต่เพื่อให้เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นว่า บริษัท ไทยยูเนี่ยนควรต้องเปิดเผยถึงจำนวนการละเมิดสิทธิมนุษยชนที่ลดลง และแผนการบำบัดฟื้นฟูผู้ถูกละเมิดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

บริษัท Fong Chun Formosa (FCF) เป็นบริษัทผู้จัดหาปลาทูน่าที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน ซึ่งปลาทูน่าส่วนหนึ่งถูกส่งป้อนให้กับบริษัท ไทยยูเนี่ยน โดยล่าสุด บริษัทดังกล่าวถูกกล่าวหาว่าพัวพันกับการทำประมงผิดกฎหมาย และการใช้แรงงานบังคับบนเรือประมง เราเรียกร้องให้บริษัท ไทยยูเนี่ยน ทำงานร่วมกับบริษัท FCF เพื่อตรวจสอบและหามาตรการหยุดยั้งการละเมิดสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่การผลิตปลาทูน่า รวมไปถึงลดการทำประมงแบบเบ็ดราว ที่ส่งผลต่อความยั่งยืนของทะเล

“เบื้องหลังปลาทูน่าทุกกระป๋องเต็มไปด้วยห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลที่โยงใยอย่างสลับซับซ้อน และคนงานที่เป็นกลุ่มเปราะบางจำนวนมาก ในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 นี้ ความต้องการปลาทูน่ากระป๋องเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก เป็นความรับผิดชอบของบริษัทไทยยูเนี่ยนที่ต้องจัดหาอาหารทะเลคุณภาพสูง และเป็นธรรมทั้งต่อสิ่งแวดล้อมและต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน” อารีฟชาห์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร ของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ย้ำ 

“เมื่อบริษัทไทยยูเนี่ยนประกาศว่า มุ่งมั่นที่จะเป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารทะเลที่ยั่งยืนและรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น เราก็ปรารถนาที่จะเห็นบริษัทพยายามผลักดันอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้น  นักกิจกรรม ผู้บริโภคและบริษัทอื่น ๆ อีกมากมายทั่วโลกต่างยังคงจับตาดูบริษัทไทยยูเนี่ยนต่อไป และความคาดหวังว่า บริษัท ไทยยูเนี่ยน จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ขยายไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมการทำประมงให้เกิดขึ้นได้จริง”

หมายเหตุ 

สามารถดูผลการประเมินความก้าวหน้าของบริษัท ไทยยูเนี่ยน ที่จัดทำโดย MRAG ตามข้อตกลงระหว่างกรีนพีซ และบริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ได้ที่นี่ หากต้องการดู เอกสารรายงานการตรวจสอบข้อตกลงระหว่างกรีนพีซ และบริษัทไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป ฉบับเต็ม สามารถยื่นคำขอมาได้ที่ทางกรีนพีซ