กรุงเทพฯ, 27 พฤศจิกายน 2561– ชมรมอนุรักษ์มวกเหล็ก ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม และกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดงานเสวนา “EHIA พลังงานมวกเหล็ก ต้นทุนที่ต้องจ่าย?” มวกเหล็กเป็นพื้นที่โรงไฟฟ้าขยะที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทยและกำลังอยู่ในขั้นตอนรอคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) พิจารณาอนุมัติโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็กอันเป็นขั้นตอนสุดท้ายเพื่อนำไปสู่การดำเนินการก่อสร้างในที่สุด

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็ก 150 เมกะวัตต์เป็นของบริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน)และขายไฟฟ้าเข้าสู่สายส่งให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ถือเป็นโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เชื่อมต่อกับผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่อันเป็นมรดกทางธรรมชาติของโลก ของอาเซียนและไทย โดยที่มวกเหล็กเป็นเส้นทางการเชื่อมต่อการใช้ประโยชน์ทางทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งป่าไม้ ต้นน้ำ สัตว์ป่าและอากาศพญ. ศิรดา ภูริวัฒนพงศ์   ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมวกเหล็ก กล่าวว่า “มวกเหล็กยังมีพื้นที่สีเขียวอันอุดม เปรียบเหมือนปอด ที่ช่วยฟอกอากาศให้ผู้คนที่ใกล้กรุงเทพฯที่สุดแห่งหนึ่ง ธุรกิจและการพัฒนาที่อยากเติบโตต้องมีความพอดี เคารพธรรมชาติและเข้าใจชุมชน  EHIA เป็นเรื่องยากซับซ้อนแต่ก็ไม่เกินกำลังหากพวกเราลุกขึ้นช่วยกันทำความเข้าใจถามหาความจริง และที่สำคัญกระบวนการเรียนรู้ในชุมชนจะเกิดขึ้น การเกิดขึ้นของโครงการฯดังกล่าวอาจจะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพผู้คนในชุมชนโดยเฉพาะการสะสมของโลหะหนักในอาหารและอากาศย่อมมีผลต่อต้นทุนระยะยาว นั่นคือค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในอนาคตที่มหาศาล”

การประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ(EHIA) ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็กที่ไม่ครอบคลุมและก่อให้เกิดความไม่ชอบธรรมในกระบวนการดังกล่าว(1) ย่อมจะส่งผลต่อภาระต้นทุนทางเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่อประชาชนในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสี่ยงต่อศูนย์กลางโคนมและแหล่งน้ำนมดิบที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย(2) มีเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมกว่า1,200ครัวเรือนซึ่งสามารถผลิตน้ำนมดิบได้เฉลี่ยวันละ700กว่าตัน คิดเป็นมูลค่ากว่า 400ล้านบาทต่อเดือนโดยเฉลี่ยปีละ 5พันล้านบาท และนอกจากนี้ยังมีสหกรณ์โคนมของภาคเอกชนอื่นอีกหลายสิบแห่ง ซึ่งรวมรายได้ของธุรกิจโคนมมวกเหล็กกว่า2,000ล้านบาทต่อปี นอกจากนี้เศรษฐกิจของมวกเหล็กยังคงพึ่งพาทรัพยากรทั้งด้านเกษตรอินทรีย์และการท่องเที่ยว

ผศ.ดร. ธนพล เพ็ญรัตน์     คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า “EHIA ที่ดีต้องเป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ต้องสามารถระบุความเสี่ยงต่อกลุ่มเสี่ยงต่างๆ และวางมาตรการลดผลกระทบ พร้อมทั้งระบบประกันความเสียหายให้แก่ภาคส่วนต่างๆได้ ไม่ว่าจะอยู่ในกรอบรัศมี 5 กิโลเมตร รอบโครงการหรือไม่ สำหรับโครงการนี้ EHIA ไม่เป็นที่ยอมรับของผู้มีส่วนได้เสียที่สำคัญ อาทิ ผู้เลี้ยงโคนม และเกษตรอินทรีย์ สะท้อนถึงปัญหาในกระบวนการจัดทำและพิจารณา EHIA การตีกรอบผู้มีส่วนได้เสียแค่ 5 กิโลเมตร นั้นไม่เหมาะสมตามหลักวิชาการ ด้วยมลพิษที่ปลดปล่อยจากโรงไฟฟ้าถ่านหินนั้นเคลื่อนที่ไปกับอากาศและอาจตกสะสมเกินรัศมี 5 กิโลเมตรได้ ตามสภาวะทางภูมิศาสตร์ของพื้นที่ เช่นการตกสะสมเมื่อลมปะทะกับภูเขา ในทำนองเดียวกัน การประเมินว่ามลพิษจะส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือไม่ต้องทำการประเมินผลกระทบของมลพิษต่อโคนม และเกษตรอินทรีย์ด้วย แม้จะยังไม่มีกฎหมายกำหนดไว้สำหรับประเทศไทย แต่ผลกระทบมีอยู่จริงและมีงานศึกษาวิจัยที่ EHIA ควรนำมาใช้ในการประเมินและประกันความเสี่ยง โครงการใดๆที่ยั่งยืนต้องไม่ใช่โครงการการผลิตที่ได้กำไร เพราะผลักภาระมลพิษไปให้ชุมชนรอบๆ ที่อยู่อาศัยดำรงชีวิตมาก่อน มิฉะนั้นโครงการดังกล่าวก็มิใช่การพัฒนา แต่เป็นการรุกราน ”

โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินมวกเหล็กกำหนดการใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินราว 6ล้านตันต่อปี โดยจะขนถ่านหินทางเรือมาจากพื้นที่การทำสัมปทานเหมืองถ่านหินที่ประเทศอินโดนีเซียสู่เกาะสีชังและอำเภอนครหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยาและขนทางรถบรรทุกสู่โรงไฟฟ้าฯ และมีการระบุทางเลือกการใช้เชื้อเพลิงจากขยะที่มาจากหลายจังหวัดทั่วประเทศไทย

“ความล้มเหลวจึงไม่ใช่เพียงกระบวนการจัดทำEHIA เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึงหน่วยงานพิจารณาอนุญาตการประกอบกิจการพลังงานอย่างคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)เช่นกัน หากกกพ.จะยังคงพิจารณาอนุญาตให้โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินสามารถดำเนินการได้ ทั้งๆที่กระบวนการEHIAของโครงการดังกล่าวไม่ชอบธรรมและการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพต่ำกว่ามาตรฐานตั้งแต่ต้นจะถือเป็นความล้มเหลวขั้นสูงสุดของการจัดการพลังงานของประเทศไทย อีกทั้งจะส่งผลให้เกิดต้นทุนที่ต้องจ่ายทั้งค่าไฟฟ้าสำรองในระบบที่สูงเกินจำเป็นและภาวะความเสื่อมลงทางสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตของประชาชน ” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว

“การพัฒนาที่ไม่ลืมหูลืมตาอาจนำมาซึ่งหายนะของชุมชน นับเป็นเรื่องน่าเศร้าสำหรับประเทศไทยที่อุดมสมบูรณ์พลังงานหมุนเวียนทั้งแดด ลมและ ชีวมวล แต่ไม่สามารถเข้าถึงและพึ่งตนเองได้ทางพลังงาน ผลกระทบของถ่านหินคงไม่เลือกว่าเป็นคนเมืองหรือคนชนบท เพราะภาวะโลกร้อนนั้นเป็นวาระที่ทุกคนต้องร่วมกันสู้” รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวปิดท้าย

 

ข้อมูลอ้างอิง

  1. รายงาน EHIA โครงการ โรงไฟฟ้า พลังความร้อน ขนาด 150 เมกะวัตต์
  2. วิถีชีวิตกับธรรมชาติกับปรากฎการณ์ที่มวกเหล็ก&สระบุรี กรณีศึกษาวิถีชีวิตบนผืนป่าและพื้นที่ชุ่มน้ำมวกเหล็กกับผลกระทบโรงไฟฟ้าถ่านหินและมลภาวะ, เครือข่ายชมรมอนุรักษ์มวกเหล็ก
  3. สำรองไฟฟ้าล้น ต้องแก้แผน PDP ด่วน

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ศิริพล บรรเทา โทร. 095-462-4493, 084-444-1515