กรุงเทพฯ, 15 มีนาคม 2566 – ในการเลือกตั้งระดับชาติที่จะมีขึ้นในปี 2566 นี้ กรีนพีซ ประเทศไทยได้เปิดตัวแคมเปญ #VoteForClimate เข้าคูหากาสิ่งแวดล้อม พร้อมกับชูประเด็น “ข้อเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมต่อพรรคการเมือง” [1] กรีนพีซ ประเทศไทยเห็นว่าเป็นโอกาสสำคัญที่พรรคการเมืองซึ่งเป็นตัวแทนของประชาชนในการดำเนินการทางการเมืองผ่านแนวนโยบายของพรรค จะมีบทบาทสำคัญในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและก่อรูปนโยบายสิ่งแวดล้อมที่สร้างความมั่นคงและเข้มแข็ง(Resilience) ของชุมชนและสังคมบนรากฐานของความเป็นธรรมและเคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

ไทยถูกจัดให้เป็นประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่สุดอันดับที่ 9 ของโลกที่รับผลกระทบระยะยาวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รายงาน Global Climate Risk Index 2021 [2] ระบุว่าในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ประเทศไทยเผชิญกับเหตุการณ์สภาพภูมิอากาศสุดขั้ว 146 ครั้ง สร้างความสูญเสียต่อชีวิต 0.21 ต่อประชากร 1 แสนคน และเกิดความเสียหาย 7,719.15 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 0.82% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) แต่นโยบายสภาพภูมิอากาศของไทยกลับเปิดช่องให้มีการฟอกเขียวโดยกลุ่มผู้มีอำนาจทางเศรษฐกิจและการเมือง

ข้อมูลจาก Climate Action Tracker[3] ซึ่งทำการจัดอันดับนโยบายสภาพภูมิอากาศของประเทศทั่วโลก ระบุว่า ประเทศจัดอยู่ในอันดับที่ “ไม่เพียงพออย่างยิ่ง(Critically insufficient)” ทั้งในแง่ของปฏิบัติการที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและพันธกรณีด้านสภาพภูมิอากาศ และความสอดคล้องกับเป้าหมายความตกลงปารีส

แม้วิกฤตสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แต่การจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมของประเทศไม่คงที่และไม่ได้สัดส่วน ข้อมูลจากสำนักงบประมาณชี้ให้เห็นว่า ระหว่างปี 2560 – 2565 งบประมาณด้านสิ่งแวดล้อมค่อยๆ เพิ่มขึ้นระหว่างปี 2561- 2564 และในปี 2565 กลับลดลงต่ำสุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา  [3] 

ภายใต้แคมเปญ #VoteForClimate เข้าคูหากาสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทยหยิบยกประเด็นความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice) เพื่อนำเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมต่อพรรคการเมืองเข้าด้วยกัน ดังนี้

  • การให้ความสำคัญและรับรององค์ความรู้และภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่นในการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศและการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม ขณะที่กำหนดจุดยืนในเวทีโลกที่หนักแน่นในการจัดตั้งและดำเนินการกองทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) เพื่อกลุ่มประเทศที่เปราะบางจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
  • การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) และประชาธิปไตยทางพลังงาน (Energy Democracy)
  • มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก (PM2.5)
  • มลพิษพลาสติก
  • มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง
  • สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า

“ในการเลือกตั้ง 2566 นี้ ไม่ว่านโยบายสิ่งแวดล้อมจะเป็นจุดขายของพรรคการเมืองต่าง ๆ หรือไม่อย่างไร แต่หากปราศจากการรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดี (right to a healthy environment) ซึ่งเป็นสิทธิมนุษยชน นโยบายสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นก็ถูกใช้เป็นกลไกในการฟอกเขียว ขยายความเหลื่อมล้ำทางสังคมเพิ่มขึ้น และสร้างความขัดแย้งในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่มีที่สิ้นสุด”

กรีนพีซเชื่อว่าการเมืองที่ทำให้สิ่งแวดล้อมดีต้องอยู่บนรากฐานของความเป็นธรรมทางสังคมและประชาธิปไตยที่เปิดกว้างให้กับความหลากหลายทางความคิดและเปิดพื้นที่ให้กับการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจและกำหนดนโยบายอย่างแข็งขันและมีความหมาย

#VoteForClimate เข้าคูหากาสิ่งแวดล้อม


หมายเหตุ

[1]ข้อเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซ ประเทศไทย ต่อพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2566 ฉบับเต็มสามารถดาวน์โหลดได้ที่ https://act.gp/VoteForClimatePolicy

[2] https://www.germanwatch.org/en/19777

[3] https://climateactiontracker.org/countries/thailand/ 

[4] https://www.greenpeace.org/thailand/story/20281/environment-budget-2021-analysis

ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ

สมฤดี ปานะศุทธะ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย

อีเมล. [email protected]  โทร. 081 929 5747 


สรุปข้อเสนอนโยบายสิ่งแวดล้อมของกรีนพีซ ประเทศไทย ต่อพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2566

การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในปี 2566 นี้ กรีนพีซ ประเทศไทย ในฐานะเป็นองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมได้ติดตามการพัฒนาวิสัยทัศน์และออกแบบนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่นำมาใช้ ในการหาเสียงเลือกตั้งที่จะมีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายสิ่งแวดล้อมซึ่งรับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสุขภาวะของประชาชนทุกคนในประเทศ

กรีนพีซ ประเทศไทยมีข้อเสนอต่อพรรคการเมือง ผู้กำหนดนโยบาย และรัฐบาลไทย ดังนี้

ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Justice)

  • ให้จัดตั้งคณะกรรมาธิการรัฐสภาว่าด้วย “ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ” โดยมีตัวแทนที่หลากหลาย และออกแถลงการณ์ “ภาวะฉุกเฉินสภาพภูมิอากาศ” 
  • ให้ความสำคัญและเปิดพื้นที่อย่างกว้างขวางต่อองค์ความรู้และภูมิปัญญาชุมชนท้องถิ่น ในการต่อกรกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรม
  • กำหนดจุดยืนในเวทีโลกที่ชัดเจนและหนักแน่นในการจัดตั้งและดำเนินการกองทุนว่าด้วยความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) เพื่อกลุ่มประเทศที่เปราะบางจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
  • ยึดเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ตามความตกลงปารีส เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์อย่างแท้จริง (real zero) 
  • ป้องกันการครอบงำของบรรษัทข้ามชาติเหนือสิทธิบัตรพันธุ์พืช พันธุ์สัตว์และสิ่งมีชีวิต
  • ปฏิเสธแนวทางการชดเชยคาร์บอน (carbon offset) ที่เป็นเรื่องการฟอกเขียว (greenwash)

การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) และประชาธิปไตยทางพลังงาน (Energy Democracy)

  • ปลดระวางถ่านหินเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมในประเทศไทยอย่างเร็วที่สุดภายในปี 2570 หรืออย่างช้าที่สุดภายในปี 2580
  • สนับสนุนมาตรการ Net Metering ซึ่งเป็นนโยบายหักลบกลบหน่วยไฟฟ้าที่รับประกันถึงสิทธิของประชาชนเพื่อผลิตไฟฟ้าในระดับครัวเรือนจากแหล่งพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด และส่งไฟฟ้าขายเข้าระบบสายส่งได้ก่อนโดยไม่จำกัดจำนวน
  • หยุดเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPAs) ใดๆ จนกว่าจะมีการทบทวนค่าพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าในระยะยาว และกระบวนการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าเสียใหม่ 
  • ปรับปรุงกระบวนการวางแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) โดยคำนึงถึงหลักความรับผิดชอบ เป้าหมายภายใต้แผนที่นำทางลดก๊าซเรือนกระจก และใช้กระบวนการที่เป็นประชาธิปไตยที่มีส่วนร่วมของประชาชน

มลพิษทางอากาศจากฝุ่นละอองขนาดเล็กมาก (PM2.5)

  • ผลักดันให้เกิดเครื่องมือทางกฎหมาย เพื่อให้มีการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ดังนี้
    • (ร่าง) พระราชบัญญัติการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษ พ.ศ…. (PRTR) 
    • กฎหมายกำหนดค่ามาตรฐานการปลดปล่อย PM2.5 จากแหล่งกำเนิดมลพิษหลัก (Emission standard) 
    • กฏหมายว่าด้วยการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม (EIA) ที่คำนึงถึงความสามารถในการรองรับของมลพิษในพื้นที่และผลกระทบข้ามพรมแดน
    • กฏหมายกำหนด ‘ระยะแนวกันชน’ ระหว่างแหล่งกำเนิดมลพิษกับแหล่งชุมชน
    • นำหลักเศรษฐศาสตร์เข้ามาใช้เพื่อจัดการปัญหามลพิษ เช่นมาตรการภาษีสิ่งแวดล้อม
  • ตั้งเป้าหมายเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองอย่างน้อย 9 ตารางเมตรต่อคน
  • ผลักดันนโยบายกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น-จังหวัด เพื่อให้เกิดการบริหาร จัดการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ เช่น สนับสนุนให้จังหวัดทั่วประเทศเป็น ‘เมืองปลอดฝุ่น’
  • การประกาศนําร่องพื้นที่ทดสอบนวัตกรรมสร้างสรรค์หรือแซนด์บ็อกซ์ (sandbox) เป็นเขตพื้นที่ปลอดฝุ่น

มลพิษพลาสติก

  • ผลักดันกฎหมายการจัดการขยะบรรจุภัณฑ์อย่างยั่งยืนบนหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิต (EPR) 
  • สนับสนุนสนธิสัญญาพลาสติกระดับโลก (Global Plastic Treaty)
  • ยกเลิกพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งโดยกำหนดเป้าหมายระดับประเทศและท้องถิ่น
  • ยุติการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหมดและระงับการอนุญาตทั้งในส่วนของการขยาย ธุรกิจปิโตรเคมีเพื่อจัดหาซัพพลายให้กับอุตสาหกรรมพลาสติก และในส่วนของโรงงานแปรขยะเป็นเชื้อเพลิงและขยะเป็นพลังงานทันที
  • ยกเลิกการส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจพลังงานจากเชื้อเพลิงขยะพลาสติก และการอนุญาตนำเข้าเศษพลาสติกเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า รวมถึงการรีไซเคิลพลาสติกเชิงเคมี
  • รับรองว่าชุมชนท้องถิ่น กลุ่มผู้มีรายได้น้อย กลุ่มแรงงาน  กลุ่มคนเก็บขยะ ซึ่งได้รับผลกระทบจากขั้นตอนใด ๆ ก็ตามในกระบวนการผลิตพลาสติกจะมีส่วนร่วมในการ ออกแบบและได้รับประโยชน์จาก ระบบเศรษฐกิจที่สามารถฟื้นฟูได้และมีผลิตภาพ ซึ่งมิใช่เพียงการรีไซเคิลให้ได้มากขึ้น และเร็วขึ้นเท่านั้น

มลพิษทางอากาศข้ามพรมแดนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง

  • ผลักดันให้มีกลไกทางสังคมเพื่อตรวจสอบให้กลุ่มบริษัทอุตสาหกรรมมีความโปร่งใสและมีภาระความรับผิดชอบต่อความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่อุปทาน
  • ผ่าน (ร่าง) พรบ.คุ้มครองและส่งเสริมสิทธิวิถีชีวิตชนพื้นเมืองชาติพันธุ์ รับรองสิทธิชุมชนในการจัดการป่าที่ครอบคลุมการอนุรักษ์ ฟื้นฟูดูแลและการใช้ประโยชน์
  • ผลักดันนโยบายแก้ไขปัญหาความมั่นคงในที่ดินทำกินอยู่อาศัยในเขตป่า และรับรองสิทธิชุมชนในการจัดการป่าที่ครอบคลุมการอนุรักษ์
  • ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์แห่งชาติ พ.ศ. 2560-2564 ภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนและเกษตรกรรมยั่งยืน 
  • มีแผนระยะยาวเพื่อลดพื้นที่การผลิตพืชเชิงเดี่ยว 
  • ใช้มาตรการที่เข้มงวดให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทาน ยุติการรับซื้อผลผลิตที่มาจากการเผาทั้งในประเทศ และประเทศเพื่อนบ้าน และการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยน การพัฒนาเทคโนโลยีในการจัดการเศษซาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อฟื้นฟูพัฒนาดิน
  • ผลักดันนโยบายกระจายอำนาจสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น-จังหวัด เพื่อให้เกิดการบริหาร จัดการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่

สิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่ง

  • ยุติโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในพื้นที่ชายฝั่งทะเลทั้งหมด และผลักดัน ให้มีการออกแบบยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่ทะเลและชายฝั่งร่วมกับชุมชน
  • ทบทวนนโยบายการจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งในประเทศไทย ที่คุ้มครองและสนับสนุนสิทธิชุมชนและประชาชนในการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศทะเล พื้นที่ชุ่มน้ำและชายฝั่งที่เป็นรากฐานของเศรษฐกิจแบบเกื้อกูล (supportive economy) และแหล่งความมั่นคงทางอาหารของชุมชนและประเทศ