ปารีส ฝรั่งเศส – ภาคประชาสังคมและนักวิทยาศาสตร์กว่า 150 กลุ่มทั่วทุกมุมโลก รวมถึงนักชาติพันธุ์วิทยา นักมานุษยวิทยาและดร.เจน กู๊ดดอลล์ ทูตสันติภาพของสหประชาชาติได้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงสหประชาชาติให้จับตามองอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลระหว่างการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก เพื่อให้การเจรจาครั้งนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีและมีประสิทธิภาพ จดหมายดังกล่าวถูกส่งไปยังสหประชาชาติก่อนหน้าการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลก (INC2) รอบที่สองซึ่งจัดขึ้นที่กรุงปารีสประเทศฝรั่งเศสในวันที่ 29 พฤษภาคมถึง 2 มิถุนายน พ.ศ. 2566

นับตั้งแต่เริ่มมีการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่มีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมลงนามในข้อตกลงที่มีผลในทางกฎหมายเพื่อยุติมลพิษพลาสติกภายในปี 2567 อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลได้ล็อบบี้อย่างหนักเพื่อให้การเจรจาในครั้งนี้ไม่สัมฤทธิ์ผลผ่านหลายช่องทาง ทั้งผ่านสมาคมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกโดยตรง และ American Chemistry Council (ACC) ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีเอกสารรั่วไหลเกี่ยวกับความพยายามที่จะลดทอนข้อเสนอด้านการลดการผลิตพลาสติก

ในทางกลับกันภาคประชาสังคมทั่วโลกและนักวิทยาศาสตร์เห็นพ้องต้องกันว่าสหประชาชาติจำเป็นที่จะต้องร่วมมีส่วนมาผลักดันให้สนธิสัญญาพลาสติกโลกเกิดขึ้นจริงและบังคับใช้ในทันทีเพื่อยุติมลพิษพลาสติก

หลุยส์ เอดจ์ นักรณรงค์โครงการยุติมลพิษพลาสติกระดับโลก กรีนพีซ สหราชอาณาจักร กล่าวว่า “สนธิสัญญาพลาสติกโลกเป็นโอกาสครั้งเดียวเท่านั้นที่เราจะยุติมลพิษพลาสติกได้ ไม่ว่าการเจรจาครั้งนี้จะสำเร็จหรือล้มเหลวขึ้นอยู่กับว่ารัฐบาลจะมีการเข้มงวดกวดขันให้แน่ใจและเชื่อมั่นในนักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายว่าเราควรค่อย ๆ ลดการผลิตและการใช้พลาสติกและยุติไปในที่สุด”

“มาตรการดังกล่าวอาจถูกต่อต้านอย่างรุนแรงจากอุตสาหกรรมฟอสซิลและปิโตรเคมีที่ทำกำไรจากการผลิตพลาสติก จากจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ เราเรียกร้องให้สหประชาชาติรับฟังเสียงของภาคประชาสังคมหลายล้านคนทั่วโลกที่ต้องการยุติมลพิษพลาสติกมากกว่าการแสวงหารายได้และล็อบบี้จากอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซ”

แม้ว่าผลกระทบของมลพิษพลาสติกจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้คนด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีการผลิตพลาสติกอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ ปี มีรายงานว่าบริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลยักษ์ใหญ่อย่าง  ExxonMobil, Dow, Shell และอื่น ๆ อีกมากมายหันมาลงทุนเพิ่มโดยการเพิ่มกำลังการผลิตและสร้างโรงงานปิโตรเคมีเพิ่มเติม หากเป็นเช่นนี้ภายช่วง 10-15 ปีข้างหน้า มลพิษพลาสติกอาจเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าและเป็นสามเท่าภายในปี 2593

เดลฟีน ลีวาย อัลวาเลส ผู้ประสานงานรณรงค์โครงการปิโตรเคมีระดับโลกของ #BreakFreeFromPlastic กล่าวว่า “วิทยาศาสตร์ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนกับเราแล้วว่าพวกเราไม่มีวันยุติมลพิษพลาสติกได้หากไม่ลดการผลิตพลาสติกที่ต้นทาง อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลกำลังพยายามทำให้การเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกครั้งนี้ไม่เป็นไปตามที่คาดไว้เนื่องจากพลาสติกและปิโตรเคมีอื่น ๆ เปรียบเสมือนเส้นทางหลักสำคัญที่จะช่วยพยุงอุตสาหกรรมนี้ เราจะไม่ยอมให้กลยุทธ์อย่าง “การปฏิเสธการเจรจา การเบี่ยงเบนความสนใจ หรือการทำให้เกิดความล่าช้า” มาทำให้การเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกถูกปัดตกไปแบบเดียวกันกับการเจรจาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

การยอมอ่อนข้อให้กับการเจรจาในครั้งนี้ อาจส่งผลกระทบอย่างมากต่อชุมชนเปราะบางที่กำลังเผชิญกับมลพิษพลาสติก ชนพื้นเมืองและชุมชนอื่น ๆ รวมถึงผู้คนในซีกโลกใต้ก็ได้รับผลกระทบจากมลพิษพลาสติกมากที่สุดเช่นกัน แต่พวกเขาก็มีความเชี่ยวชาญที่จะวางแนวทางไปสู่อนาคตที่ปลอดพลาสติก ดังนั้น การเจรจาครั้งนี้ ต้องคำนึงถึงกลุ่มคนเหล่านี้ด้วย มากกว่าเจ้าของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มุ่งแต่จะแสวงหาผลประโยชน์

จดหมายฉบับนี้ได้ส่งถึงแอนเดอร์สัน ผู้อํานวยการบริหารของโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ( UNEP) และมาร์เธอร์ ฟิลิปป์ เลขานุการบริหารของสํานักเลขาธิการ คณะกรรมการเจรจาระหว่างประเทศ โดยเรียกร้องให้: 

  • ตระหนักว่าผลประโยชน์ของสาธารณชนต้องไม่ทับซ้อนกับประโยชน์ของบริษัทที่ใช้ถ่านหินและปิโตรเคมีในการผลิตพลาสติก
  • สนับสนุนให้มีนโยบายป้องกันผลประโยชน์ทับซ้อนหรือความขัดแย้งทางผลประโยชน์ เพื่อให้บริษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลและปิโตรเคมีไม่สามารถลดทอนการเคลื่อนไหวยุติมลพิษพลาสติกในระดับโลกได้
  • ป้องกันไม่ให้คณะกรรมการเจราจาระหว่างประเทศถูกกดดันจากอิทธิพลของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลและปิโตรเคมี โดยการไม่รับเงินสนับสนุนจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลและปิโตรเคมี หรือการเปิดให้อุตสาหกรรมดังกล่าวเข้าร่วมอย่างเป็นทางการ เหมือนรัฐบาลสหราชอาณาจักรเคยปฏิเสธการมีส่วนร่วมของบริษัทน้ำมันในการประชุม COP26
  • ให้โอกาสการเข้าร่วมโต๊ะเจรจาสหประชาชาติแก่ชนพื้นเมืองและชุมชนที่ได้รับผลกระทบพลาสติกอย่างรุนแรง เช่น หมู่บ้านที่อยู่ติดกับต้นน้ำหรือทะเลที่เต็มไปด้วยพลาสติก และนักวิทยาศาสตร์อิสระที่ศึกษาผลกระทบของมลพิษพลาสติกที่ส่งผลต่อโลกและสุขภาพของเรา

จดหมายจากกรีนพีซถึง โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme หรือ UNEP) และ INC

ติดต่อเพิ่มเติมได้ที่: 

Angelica Carballo Pago หัวหน้าผู้ประสานงานโครงการรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติกระดับโลก, กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา

อีเมล [email protected]

โทรศัพท์ +639171124492