กรุงเทพฯ, 15 ตุลาคม 2567 – เครือข่ายประชาชนเสริมสร้างความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและหยุดคาร์บอนเครดิตรวมตัวกันกว่า 200 คน บริเวณหน้าอาคารสหประชาชาติ ถนนราชดำเนินนอก และส่งตัวแทนยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงเลขาธิการบริหารกรอบอนุสัญญาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (UNFCCC Executive Secretary) ระบุ การเงินด้านสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) [1] ต้องยึดหลักความรับผิดชอบทางประวัติศาสตร์ในการก่อโลกเดือดของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมร่ำรวยโดยการชําระคืน “หนี้นิเวศ” ให้กับกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและยากจนในซีกโลกใต้ และจากนั้นได้เคลื่อนขบวนไปยังกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเรียกร้องรัฐบาลยุติการฟอกเขียวให้กับยักษ์ใหญ่คาร์บอน

ไทยเป็นหนึ่งในประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้ 10 อันดับต้นของโลกที่มีความเสี่ยงสูงจากผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศในระยะยาว [2] แม้ว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคิดเป็นประมาณ 1% ของทั้งโลก แต่จากรายงาน Carbon Majors [3] ชี้ให้เห็นว่า บริษัทอุตสาหกรรมฟอสซิลของไทยจัดอยู่ในอันดับ 96 จากจำนวนกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน ก๊าซฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุด 122 แห่งของโลก บริษัทดังกล่าวเป็นสมาชิกของ International Association of Oil and Gas Producers (IOGP) ซึ่งมีส่วนร่วมในนโยบายสภาพภูมิอากาศทางลบโดยสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานและการลงทุนเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้น [4]
การประชุมสมัชชาภาคีอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพสมัยที่ 16(CBD COP16) ณ ประเทศโคลอมเบีย และการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 29 (COP29) ณ สาธารณรัฐอาเซอร์ไบจาน ที่กำลังจะเกิดขึ้นในเดือนตุลาคม และ พฤศจิกายน 2567 ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า“เป็นโอกาสสำคัญที่รัฐบาลไทยจะแสดงจุดยืนที่ชัดเจนต่อผู้คนในประเทศและประชาคมโลกเพื่อสอดประสานอนุสัญญา 2 ฉบับนี้เข้าด้วยกัน ว่าจะเลือกความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศที่รับรองสิทธิในสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีสุขภาวะของประชาชน หรือการล่มสลายทางนิเวศวิทยาจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิล อุตสาหกรรมอาหาร/เนื้อสัตว์ และอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติที่ปัดภาระรับผิดต่อผลกระทบจากโลกเดือดและมลพิษในระดับพื้นที่ตลอดห่วงโซ่อุปทานทั้งในอดีตและปัจจุบัน”
ณัฐวุฒิ กรมภักดี ตัวแทนขบวนสภาชุมชนริมรางเมืองขอนแก่น กล่าวว่า “วิกฤตโลกเดือดคือการก่อมลพิษของบริษัทขนาดใหญ่ซึ่งเป็นคนไม่กี่เปอร์เซ็นต์ของโลกใบนี้ แต่กลุ่มคนที่ต้องแบกรับผลกระทบจากโลกร้อนมากที่สุดคือคนจน มีปัจจัยซับซ้อนที่ทำให้โลกเดือดมีความรุนแรง ตั้งแต่ผังเมือง นโยบายการจัดการเมืองที่ไม่มีคนจนอยู่ในนั้นด้วย สิ่งที่รัฐบาลต้องปรับตัวคือ ยกเลิกกฎหมายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่สั่งให้คนตัวเล็กต้องปรับตัวโดยที่บริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ไม่ต้องรับผิดชอบ คาร์บอนเครดิตสัมพันธ์โดยตรงกับการแย่งยึดพื้นที่ของคนจน รัฐบาลต้องหยุดส่งเสริมคาร์บอนเครดิต และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ที่ส่งเสริมสิทธิในการกำหนดชะตากรรมของตนเองของชุมชนท้องถิ่น”
ระหว่างกิจกรรมยื่นจดหมายเปิดผนึก นักกิจกรรมกรีนพีซ ประเทศไทยกางป้ายผ้า ขนาด 10×10 เมตร ข้อความ “People Before Profit – หยุดฟอกเขียวยักษ์ใหญ่คาร์บอน” ที่อาคารสำนักงานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวปิดท้ายว่า “แทนการเปิดประตูให้กลุ่มอุตสาหกรรมฟอสซิล อุตสาหกรรมเกษตร/เนื้อสัตว์รายใหญ่ และอุตสาหกรรมขุดเจาะทรัพยากรธรรมชาติทำการฟอกเขียวผ่านกลไกตลาดคาร์บอน รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร ต้องสร้างบทบาทนำในอาเซียนและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเสี่ยงสูงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศเพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถเข้าถึงกองทุนความสูญเสียและความเสียหาย(loss and damage) เพื่อฟื้นฟูวิถีการดำรงชีวิตจากวิกฤตโลกเดือด“
หมายเหตุ :
[1] การเงินด้านสภาพภูมิอากาศเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ และจะเป็นหัวข้อหลักในการประชุม COP29 เนื่องจากเป้าหมายทางการเงินหลังปี 2025 ที่เรียกว่า เป้าหมายเชิงปริมาณที่เกี่ยวกับการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกันใหม่ (New Collective Quantified Goal: NCQG) จะถูกตกลงกัน ประเทศต่าง ๆ ที่ลงนามในความตกลงปารีสได้ตัดสินใจว่าเป้าหมายนี้ควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของ “เงินทุนขั้นต่ำที่ 100,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี โดยคำนึงถึงความต้องการและลำดับความสำคัญของประเทศกำลังพัฒนา” https://www.cisl.cam.ac.uk/cop29-what-expect
[2] https://germanwatch.org/sites/germanwatch.org/files/publication/16411.pdf สองทศวรรษที่ผ่านมาจนถึงปี 2565 ประเทศไทยเผชิญกับเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว 146 ครั้ง สร้างความสูญเสียต่อชีวิต 0.21 ต่อประชากร 1 แสนคน และสร้างความเสียหาย 7,719.15 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 0.82% ของ GDP การคาดการณ์อนาคตโดยใช้แบบจำลองสภาพภูมิอากาศระบุว่า เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นเป็น 1.5 องศาเซลเซียส จำนวนวันแห้งแล้งในประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.6 และความรุนแรงจากอุทกภัยจะเพิ่มร้อยละ 3 แต่เมื่ออุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกเพิ่มขึ้นเป็น 3 องศาเซลเซียส จำนวนวันแห้งแล้งจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 10 และความรุนแรงจากอุทกภัยจะเพิ่มร้อยละ 13 https://www.emdat.be/
[3] https://carbonmajors.org/Entity/PTTEP
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
สมฤดี ปานะศุทธะ กรีนพีซ ประเทศไทย โทร.081 929 5747 อีเมล[email protected]
Discussion
เราต้องการ ความบริสุทธิ์ของอากาศจากธรรมชาติ ที่มีระบบนิเวศที่สมบูรณ์ของป่าไม้ นั้น ๆ ทั่วประเทศไทย