อัมสเตอร์ดัม, เนเธอร์แลนด์ – รายงาน Emissions Gap ปี 2567 ของ UNEP ได้เตือนว่า หากประเทศต่างๆ ไม่ดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น โอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายตามความตกลงปารีสในการจำกัดอุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกให้ต่ำกว่า 1.5°C จะหมดลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
เทรซี่ คาร์ที ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซสากล กล่าวว่า
“เป็นเวลา 15 ปีแล้วที่ UNEP ได้ส่งสัญญาณเตือนถึงช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างเจตจำนงทางการเมืองในปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ และแนวโน้มการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เลวร้ายลงและนำไปสู่วิกฤตโลกเดือด รายงานนี้คือประวัติศาสตร์แห่งความละเลยของผู้นำโลกในการจัดการวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน แต่ยังไม่สายเกินไปที่จะลงมือแก้ไข”
“UNEP ได้เตือนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่านโยบายสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันจะนำไปสู่วิกฤตโลกเดือดที่เกินกว่าเป้าหมายของความตกลงปารีสซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบธรรมชาติและชุมชนทั่วโลก ผู้นำทางการเมืองของเราอ่านรายงานเหล่านี้หรือไม่? จากแผนและนโยบายในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ดูเหมือนไม่สนใจถึงความเร่งด่วน”
“เราท้าทายให้ผู้นำทำการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในแผนการด้านสภาพภูมิอากาศปี 2578 เตรียมพร้อมสำหรับการเจรจา COP29 เพื่อจัดหาเงินทุนด้านสภาพภูมิอากาศ และชดเชยเวลาที่สูญเสียไป การตัดสินใจในการเจรจาที่ COP28 ว่าด้วยการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต้องนำไปสู่การวางแผนยุติถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อให้โลกกลับสู่เส้นทางที่เราต้องการ วิกฤตสภาพภูมิอากาศอยู่ตรงหน้าเราแล้ว และเป้าหมาย 1.5°C กำลังอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง”
รายงาน Emissions Gap ปี 2567 พบว่า ยังคงเป็นไปได้ในทางเทคนิคที่จะกลับเข้าสู่เส้นทางสู่เป้าหมาย 1.5°C ด้วยระบบพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรม รวมถึงการปกป้องระบบนิเวศป่าไม้ ควบคู่กับการลดความต้องการใช้พลังงาน อย่างไรก็ตาม ความล้มเหลวในการเพิ่มความทะเยอทะยานของการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDCs (Nationally Determined Contributions) ของประเทศต่างๆ ยังคงทำให้โลกเสี่ยงต่อการเพิ่มอุณหภูมิขึ้นอีก 2.6-3.1°C ภายในสิ้นศตวรรษนี้ UNEP ยังเรียกร้องให้ประเทศต่างๆ อธิบายว่า แผน NDCs ปี 2578 จะช่วยขยายการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้สามเท่าและเพิ่มอัตราประสิทธิภาพพลังงานประจำปีเป็นสองเท่าภายในปี 2573 ซึ่งตกลงกันที่ COP28 ในปี 2566 ที่ผ่านมาเพื่อเปลี่ยนผ่านไปจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้อย่างไร
แอน แลมเบรนช์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายความหลากหลายทางชีวภาพ กรีนพีซสากล ซึ่งเข้าร่วมการประชุมเจรจาด้านความหลากหลายทางชีวภาพ COP16 ที่เมืองกาลี โคลอมเบีย กล่าวว่า
“สิ่งที่มากไปกว่าการลดการทำลายป่า(reduced deforestation) การปลูกป่าใหม่ (reforestation) และการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน(sustainable forest management) เป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์ระบุไว้ นั่นคือ การปกป้องระบบนิเวศที่มีคาร์บอนสูงและมีความสมบูรณ์สูง เช่น ผืนป่าดั้งเดิมซึ่งส่วนใหญ่ดูแลโดยกลุ่มชนพื้นเมืองและชุมชนท้องถิ่นทั่วโลก ถือเป็นมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีคุณค่าสูงสุดในภาคการใช้ที่ดิน และการรักษาความสมบูรณ์ของระบบนิเวศก็มีความสำคัญไม่แพ้กันสำหรับการปรับตัวจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รัฐบาลต่างๆ ควรเริ่มดำเนินการตามเป้าหมายเพื่อยุติการทำลายป่าและการเสื่อมสภาพของป่าภายในปี 2573 ที่ตกลงกันในเวทีเจรจา COP28 ปี 2566 ที่ผ่านมาอย่างเร่งด่วน“
“ในการประชุมเจรจาด้านความหลากหลายทางชีวภาพที่ COP16 รัฐบาลต้องตอบรับข้อเรียกร้องที่ชัดเจนในการปกป้องความสมบูรณ์ของระบบนิเวศ และเห็นด้วยกับอาณัติในการทำงานร่วมกันระหว่างอนุสัญญาสหประชาชาติด้านสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ด้วยวิธีนี้ รัฐบาลที่เข้าร่วมการประชุมเจรจา COP29 ที่บากู อาเซอร์ไบจานจะสามารถตอบสนองและกำหนดแนวทางสำหรับความก้าวหน้าที่แท้จริงทันเวลาสำหรับ ‘การประชุม COP ด้านสภาพภูมิอากาศและธรรมชาติ’ ในบราซิลที่ COP30 การดำเนินการที่ประสานกันและทันทีในทั้งสองด้านเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อแก้ไขวิกฤตสองด้านของความหลากหลายทางชีวภาพและสภาพภูมิอากาศ”
“แต่ละระบบนิเวศผืนป่าจะกักเก็บคาร์บอนในลักษณะที่แตกต่างกัน ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์บ่งชี้ว่าผืนป่าดั้งเดิมกักเก็บคาร์บอนได้มากกว่าอย่างมหาศาล การปกป้องระบบนิเวศที่มีความสมบูรณ์สูงเหล่านี้ต้องมีความสำคัญในลำดับต้น”
หมายเหตุ :
Greenpeace’s COP29 briefing