บากู,อาเซอร์ไบจาน, 24 พฤศจิกายน 2024 –การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 29 (COP29) สิ้นสุดลงด้วยข้อตกลงเกี่ยวกับการกำหนดเป้าหมายทางการเงินในกองทุนด้านสภาพภูมิอากาศที่ 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งถือเป็นเป้าหมายที่ค่อนข้างต่ำ
แจสเปอร์ อินเวนเทอร์ หัวหน้าคณะตัวแทนของกรีนพีซ สากลใน COP29 กล่าวว่า “เป้าหมายทางการเงินที่ตกลงกันไว้นั้นยังไม่เพียงพอ และยิ่งทำให้ความหวังริบหรี่ลง เมื่อเทียบกับสิ่งที่ต้องลงมือทำในระดับใหญ่ ความร่วมมือระหว่างประเทศครั้งนี้แสดงให้เห็นทั้งจุดแข็งและจุดอ่อนผ่านการเจรจาที่เต็มไปด้วยอุปสรรคและการต่อต้านจากบางฝ่าย ซึ่งทำให้การเปลี่ยนแปลงแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ข้อตกลงจึงเกิดขึ้นได้ในนาทีสุดท้ายเท่านั้น”
“คู่ต่อสู้ที่แท้จริงของเราคือบรรษัทอุตสาหกรรมฟอสซิลที่ทำลายธรรมชาติอย่างไม่ยั้งคิด แถมยังซ่อนตัวอยู่ภายใต้เป้าหมายอันเลื่อนลอยของรัฐบาลที่ไร้ความมุ่งมั่นด้านสภาพภูมิอากาศนักล็อบบี้ของพวกเขาต้องถูกจำกัดอิทธิพล และถึงเวลาแล้วที่ผู้นำจะต้องกล้าตัดสินใจเลือกอยู่ฝั่งที่ถูกต้องของประวัติศาสตร์”
“ผู้คนรู้สึกท้อแท้และหมดหวัง แต่เราจะยังคงต่อสู้และท้าทายต่อไป เพราะนี่คือการต่อสู้เพื่ออนาคตของพวกเรา! เราจะไม่ยอมแพ้ เมื่อเรามองไปข้างหน้าที่การประชุม COP30 ที่เบเล็ม ประเทศบราซิล เราต้องยึดมั่นในความหวัง ซึ่งขับเคลื่อนโดยพลังของประชาชนที่เรียกร้องเป้าหมายสภาพภูมิอากาศที่จริงจัง”
เทรซี่ คาร์ตี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากกรีนพีซสากล กล่าวว่า “ฉันรู้สึกผิดหวังเป็นอย่างมากกับเป้าหมายการเงินใหม่ในกองทุนด้านสภาพภูมิอากาศที่ตั้งไว้เพียง 300,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 ซึ่งถือว่าเป็นเป้าหมายที่น้อยเกินไปและช้าเกินไป ประเทศที่พัฒนาแล้วมาที่นี่โดยปราศจากงบประมาณและได้กลับกดดันประเทศกำลังพัฒนาให้ยอมรับข้อตกลงอย่างไร้ความละอาย ขณะเดียวกันเป้าหมายการเงินนี้ไม่ได้ให้การรับประกันว่าจะใช้เงินทุนสาธารณะแบบให้เปล่า ซึ่งเป็นสิ่งที่ประเทศกำลังพัฒนาต้องการอย่างเร่งด่วน แทนที่จะเป็นเงินกู้หรือเงินทุนจากภาคเอกชน”
“ถ้าประเทศพัฒนาแล้วยังกังวลกับความสามารถในการจ่ายเงิน ควรนึกถึงผลกำไรหลายพันล้านดอลลาร์ที่บริษัทพลังงานฟอสซิลได้รับทุกปี และส่งบิลไปให้พวกเขารับผิดชอบ ย แต่ยังคงได้รับผลประโยชน์อย่างเต็มที่ หนึ่งในความหวังเล็กน้อยจากการประชุมครั้งนี้คือข้อตกลงในการพัฒนาแผนงานการเงินภายในการประชุม COP30 ซึ่งแผนงานนี้จะต้องเป็นแผนงานที่บังคับให้ผู้ปล่อยมลพิษต้องจ่าย”
มาร์เทน เดอ เซอูว์ นักรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศและพลังงานจากกรีนพีซ เนเธอร์แลนด์ กล่าวถึงการบรรเทาผลกระทบว่า “ปัญหาสำคัญคือผู้ผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ขัดขวางความก้าวหน้า เป็นเรื่องน่าตกใจที่ความก้าวหน้าในการบรรเทาผลกระทบกลับหยุดชะงัก แต่ถึงแม้จะมีผู้มีอิทธิพลจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลเดินไปมาในห้องนี้ เราก็ยังสามารถป้องกันไม่ให้การตัดสินใจของการประชุม COP28 ถูกยกเลิก ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลได้’
“ท่ามกลางพายุหมุนเขตร้อนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ไฟป่าที่ทำลายสถิติ ความแห้งแล้งครั้งประวัติศาสตร์ และอุณหภูมิของมหาสมุทรที่สูงขึ้นอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน การขับเคลื่อนด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศทั่วโลกยังคงมีความมุ่งมั่นมากขึ้นกว่าเดิม อนาคตของเรากำลังตกอยู่ในความเสี่ยง! แผนการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศที่มีกำหนดเส้นตายในปีหน้า คือ ปี 2578 จะต้องเป็นจุดเปลี่ยนในการต่อสู้กับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เพื่อบรรลุเป้าหมายในโอกาสครบรอบความตกลงปารีสที่เต็มไปด้วยความหวัง”
อัน ลัมเบรชท์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองความหลากหลายทางชีวภาพจากกรีนพีซ สากล ให้ความเห็นต่อข้อตกลงในมาตรา 6 ว่า “กลไกตลาดคาร์บอนที่ตกลงกันในการประชุม COP29 ไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาทางการเงินเพื่อแก้ไขวิกฤตสภาพอากาศ และจะเป็นเพียงเส้นทางช่วยให้อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อมลพิษสามารถชดเชยการปล่อยมลพิษได้”
“กลไกตลาดคาร์บอนนี้เป็นการแก้ปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่หลอกลวง และผู้ที่ก่อมลพิษควรถูกบังคับให้จ่ายค่าความเสียหายและชดใช้จากสิ่งที่พวกเขาได้ก่อขึ้น แต่แทนที่พวกเขาจะถูกบังคับให้รับผิดชอบ พวกเขากลับได้รับใบเขียวให้รอดพ้นจากความรับผิดชอบ การประชุม COP29 ที่บากู กลายเป็นการประชุมที่ขึ้นชื่อในเรื่องการซื้อขายคาร์บอนที่มีช่องโหว่ขนาดใหญ่และขาดความโปร่งใสอย่างเห็นได้ชัด
“แต่เรายังมีหวัง เราเห็นถึงแรงผลักดันในการจัดทำแนวทางการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพระดับโลกให้สอดคล้องกัน ในการประชุม COP30 ที่เมืองเบเล็ม ในแอมะซอน ถึงเวลาแล้วที่จะเชื่อมโยงการต่อสู้ด้านวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพเข้าด้วยกัน”
เหยา เจ้อ ที่ปรึกษานโยบายระดับโลก กรีนพีซ เอเชียตะวันออก กล่าวว่า “การตัดสินใจของจีนมีความสำคัญ การประชุม COP29 แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการเป็นผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศ แต่คำถามที่สำคัญที่สุดคือ จีนมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนจุดแข็งด้านเทคโนโลยีของตัวเองให้กลายเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีพลังงานสะอาดหรือไม่
“ระหว่างตอนนี้จนถึงการประชุม COP 30 ที่เบเล็ม จีนมีศักยภาพที่จะฟื้นฟูกระบวนการพหุภาคีโดยการนำเสนอนโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (NDC) ที่แข็งแกร่งและระบุแผนการเปลี่ยนแปลงผ่านพลังงานจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้ นโยบายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (NDC) นี้สามารถนำทางไปสู่การต่อสู้กับปัญหาวิกฤตสภาพภูมิอากาศได้”
ราอิสซา เฟอร์เรรา ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ของกรีนพีซ บราซิล กล่าวว่า “การบรรลุข้อตกลงเรื่องการเงินเพื่อวิกฤตสภาพอากาศในการประชุมครั้งนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อเตรียมความพร้อมล่วงหน้าก่อนการประชุม COP30 เราขอเรียกร้องให้ประธานาธิบดีลูลา ของบราซิลรับไม้ต่อ พัฒนาการทำงานร่วมกันที่ดีขึ้นระหว่างสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ และแสดงความเป็นผู้นำด้านสภาพภูมิอากาศระดับโลกอย่างแท้จริง เราจะยืนหยัดตามข้อเรียกร้องของเราต่อไป”
เฟรด เนจู นักยุทธศาสตร์การเมืองแพน-แอฟริกัน กรีนพีซ แอฟริกา กล่าวว่า “ประเทศในซีกโลกเหนือช่างมีน้ำใจขนาดไหนที่ยอมรับความต้องการเงินทุน 1.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐของเรา แต่กลับให้ความช่วยเหลือเพียงเล็กน้อย เปรียบเหมือนกับการตกลงว่ามีคนต้องการน้ำเต็มอ่างเก็บน้ำเพื่อการอยู่รอด แต่เขากลับได้แค่หลอดหยดน้ำเพื่อนำมาเติมน้ำในอ่าง พร้อมกับบอกว่า โชคดีนะ!”
“ข้อตกลงด้านการเงินนี้ไม่เพียงแต่ละเมิดต่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ แต่ยังทำให้หลักการ “ผู้ก่อมลพิษจ่าย” กลายเป็นเรื่องตลกอีกด้วย ประเทศเดียวกันที่สร้างความมั่งคั่งจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล กลับเสนอมาตรการเพื่อแก้ไขแบบชั่วคราว ในขณะที่คาดหวังให้เราแบกรับภาระค่าใช้จ่ายหลายล้านล้านดอลลาร์จากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของพวกเขา
“นี่ไม่ใช่เป้าหมายด้านการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่มันคือการล่าอาณานิคมทางสภาพภูมิอากาศ แต่จิตวิญญาณของแอฟริกายังคงไม่ถูกทำลาย เราจะนำข้อเรียกร้องด้านความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศไปยัง COP30 เบเล็ม โดยยืนยันว่า ผู้ก่อมลพิษจะต้องจ่ายส่วนแบ่งสำหรับการทำลายล้างในสิ่งที่พวกเขาได้ก่อขึ้น”
สำหรับสื่อมวลชน
ดาวน์โหลดรูปภาพของกรีนพีซจาก COP29 ที่นี่
ติดต่อ :
Aaron Gray-Block, Climate Politics Communications Specialist, Greenpeace International, [email protected]
Gaby Flores, Communications Coordinator, Greenpeace International, +1 214 454 3871, [email protected]
Greenpeace International Press Desk, +31 (0)20 718 2470 (available 24 hours), [email protected]