คำกล่าวข้างต้นเป็นของมหาตมะ คานธี ผู้ต่อสู้กับการกดขี่อย่างสันติ ท่านคือสัญลักษณ์แห่งสันติภาพ เป็นแบบอย่างให้พวกเรา ในการต่อสู้กับการถูกรุกรานจากบริษัทเอกชนที่จะพยายามเข้ามาขุดเหมืองแร่ถ่านหินซึ่งจะกระทบกับวิถีชีวิตและทรัพยากรที่พวกเรา ดูแลรักษาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษอย่างต่อเนื่อง ดังคำกล่าวของผู้สูงอายุกะเหรี่ยงที่กล่าวว่า

“โอ้ ที๊ง แฌ แซ ที๊ง เจ่ ทเคแกล้ กแบแฌแซอ้ะ ดื่มน้ำให้รักษาน้ำ ใช้ป่าเราต้องรักษาป่า”

เนื่องในโอกาสครบรอบ 5 ปี พวกเราชุมชนบ้านกะเบอะดิน ตำบลอมก๋อย อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และชุมชนเส้นทางขนส่งแร่ ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคประชาชนทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ได้ร่วมกันต่อสู้คัดค้านโครงการเหมืองแร่ถ่านหิน ซึ่ง หลังจากชุมชนได้ฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ขอเพิกถอนรายงาน EIA ไปเมื่อสองปีที่แล้ว ปัจจุบันศาลปกครองได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ไม่ให้นำรายงาน EIA ไปออกประทานบัตรได้จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาหรือมีคำสั่งเป็นอย่างอื่นนั้น

ในวันนี้ พวกเราได้ร่วมกันจัดกิจกรรม “โลกเย็นที่เป็นธรรม: 5 ปีแห่งการต่อสู้ของคนอมก๋อยสู่ความท้าทายในวิกฤตโลกเดือด” เพื่อตอกย้ำถึงวิถีชีวิตของกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง คนอยู่กับป่า ดูแลรักษาป่า รักษาสายน้ำและรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ตอกย้ำถึงกระบวนการ EIA ที่ไม่ถูกต้อง รวมทั้งการส่งเสียงต่อรัฐบาลให้ทบทวนนโยบายของรัฐที่เกี่ยวข้องและเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทเอกชนมากกว่าชุมชน ท้องถิ่นที่กำลังเผชิญกับผลกระทบที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันเกิดจากการส่งเสริมพลังงานฟอสซิล โดยเฉพาะพลังงาจากถ่านหิน และชุมชนขอเสนอให้รัฐบาลยุติการใช้พลังงานจากถ่านหินอย่างถาวรตามข้อเสนอแห่งสหประชาชาติ

พวกเราที่มารวมตัวกัน ณ สถานที่แห่งนี้ ขอประกาศแถลงการณ์ต่อจิตวิญญาณอันทรงเกียรติว่า พวกเราชาวบ้านกะเบอะดิน พร้อมภาคีเครือข่ายจะร่วมกันปกป้องบ้านเกิด วิถีชีวิต ที่ทำกินเลี้ยงชีพ รวมถึงทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ให้บริษัทแย่งยึดไปเพื่อหาประโยชน์ ให้ตนเอง โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ข้อ 1 จุดยืน ดังนี้

  1. เนื่องจากกระบวนการพิจารณาคดีเพิกถอนอีไอเอของศาลปกครองมีความล่าช้าเป็นอย่างมากจึงขอให้ศาลปกครองเร่งดำเนินการพิพากษา
  2. ขอให้รัฐบาลถอนพื้นที่เหมืองแร่ถ่านหินของหมู่บ้านกะเบอะดินออกจากพื้นที่เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมืองในแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ฉบับที่ 2 ของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เพื่อไม่ให้บริษัทเอกชนรายใดสามารถยื่นขอสัมปทานได้อีก
  3. ชุมชนต้องมีอำนาจในการจัดการที่ดิน ที่อยู่อาศัย และทรัพยากรธรรมชาติด้วยตนเอง โดยกระจายอำนาจให้ชุมชนมีสิทธิจัดการพื้นที่ ของตนเองได้อย่างแท้จริงเพื่อโอกาศในกำรเติบโตและคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งสอดคล้องกับวัฒนธรรมประเพณีท้องถิ่น รวมถึงต้องสามารถ เข้าถึงสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน การศึกษาและสาธารณสุขต่าง ๆ เช่น ถนน น้ำประปา ไฟฟ้าที่ดีได้

“จุดยืนหนึ่งเดียวของพวกเราคือ ไม่ต้องการโครงการเหมืองแร่ถ่านหินอมก๋อย”

ด้วยจิตคารวะ ณ โบสถ์บ้านกะเบอะดิน 7 ธันวาคม 2567


ดาวน์โหลด แถลงการณ์จากกลุ่มเฝ้าระวังอมก๋อย ครบรอบ 5 ปี การต่อสู้ของคนอมก๋อย