ข้อสรุปจากรายงาน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีต่อปริมาณน้ำท่า (runoff) พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม (flood risk areas) และพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม (landslide risk areas) บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำติดต่อระหว่างประเทศไทย เมียนมา และสปป.ลาว

ในบรรดาหายนะจากสภาพอากาศสุดขั้วปี 2567 ในประเทศไทย เหตุการณ์น้ำท่วมดินถล่มที่อำเภอแม่สาย และเมืองเชียงรายมีลักษณะเฉพาะที่เชื่อมโยงกับเหตุปัจจัยที่เป็นผลสืบเนื่องต่อกันและกันทั้งที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศโดยตรง(climate related) และโดยอ้อม(non-climate related)

เหตุปัจจัยต่างๆ นี้ รวมถึงผลจากหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรง (low pressure area) จากมหาพายุใต้ฝุ่นยางิ (2024 Super Typhoon Yagi) การสูญเสียพืชพรรณปกคลุมดิน(tree cover loss)จากการทำเหมือง(mining) [1] และการปลูกพืชเศรษฐกิจเป็นสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อส่งออก (Commodity-driven deforestation) และโครงสร้างแข็งกั้นสายน้ำ

ในบทวิเคราะห์นี้ เราเน้นไปที่การค้นหาความเชี่อมโยงว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อุตสาหกรรมซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์เพื่อส่งออก (Commodity-driven deforestation) เป็นหนึ่งในปัจจัยหลักของหายนะน้ำท่วมดินถล่มที่เชียงราย-เชียงใหม่หรือไม่อย่างไร?

การค้นหาความเชื่อมโยงดังกล่าวนี้ใช้ข้อมูลปริมาณน้ำท่า (runoff) [2] พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม (flood risk areas) และพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม (landslide risk areas) จากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่าไม้ บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำติดต่อระหว่างประเทศไทย เมียนมา และสปป.ลาว (ลุ่มน้ำกก(Nam Mae Kok Basin)และลุ่มน้ำคำ(Nam Mae Kok Basin)) เปรียบเทียบ 3 ช่วงเวลา(พ.ศ. 2557 2562 และ 2567) มาวิเคราะห์แบบแผนความเชื่อมโยงระหว่างการปรับเปลี่ยนจากพืชธรรมชาติเป็นระบบเกษตรเชิงเดี่ยวและหายนะน้ำท่วมดินถล่มที่เชียงราย [3]

พื้นที่ป่าลด ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่ม ปริมาณน้ำท่าเพิ่ม

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา(ปี 2557-2567) พื้นที่ป่าในเขตลุ่มน้ำกก(Nam Mae Kok Basin) และลุ่มน้ำคำ (Nam Mae Kok Basin) [4] กลายเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 214,349.63 ไร่ ในขณะที่มีการขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์โดยในเขตลุ่มน้ำกกเพิ่้มขึ้น 95,729 ไร่ และพื้นที่ลุ่มน้ำคำมีข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น 39,713 ไร่

กราฟเปรียบเทียบพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และปริมาณน้ำท่า (runoff) จากการจำลองสถานการณ์ปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยเท่ากันทุกปีบริเวณลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำคำ

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม

พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมระดับมากและมากที่สุดที่เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2557 มีพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม 1,877,684 ไร่ ปี 2562 เพิ่มเป็น 1,883,603 ไร่ และปี 2567 เพิ่มเป็น 1,885,444 ไร่

อนึ่ง การวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม (flood risk areas) ทั้งสถานการณ์จริงและสถานการณ์จำลองของปี 2567 ในลุ่มน้ำกก(Nam Mae Kok Basin) และลุ่มน้ำคำ (Nam Mae Kok Basin) ได้ระบุพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวัง 2 โซนในจังหวัดเชียงราย คือ อำเภอเมืองเชียงราย(ครอบคลุมพื้นที่ตำบลริมกก ตำบลเวียง ตำบลรอบเวียง ตำบลแม่ข้าวต้ม ตำบลสันทราย และบางส่วนของตำบลป่าอ้อดอนชัย ตำบลท่าสาย ตำบลบัวสลี ตำบลบ้านดู่ ตำบลนางแล ตำบลท่าสุด ตำบลแม่ยาว ตำบลบัวสลี) และอำเภอแม่สาย(ครอบคลุมพื้นที่ตำบลบ้านด้าย ตำบลศรีเมืองชุม ตำบลเกาะช้าง ตำบลแม่สาย และบางส่วนของตำบลโป่งผา ตำบลโป่งงาม ตำบลห้วยไคร้ ตำบลเวียงพางคำ) ส่วนพื้นที่เฝ้าระวังในเขตอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ จะครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของตำบลแม่นาวาง ตำบลแม่อาย ตำบลมะลิกา ตำบลท่าตอน ตำบลแม่สาว และตำบลสันต้นหมื้อ

กราฟเปรียบเทียบพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม (flood risk areas) จากการจำลองสถานการณ์ปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยเท่ากันทุกปีบริเวณลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำคำ

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และดินถล่ม

พื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับผลการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม(land slide risk areas) ระดับมากและมากที่สุดที่เพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2557 มีพื้นที่เสี่ยงดินถล่มประมาณ 5,149,196 ไร่ ปี 2562 เพิ่มเป็น 5,218,401 ไร่ และปี 2567  เพิ่มเป็น 5,236,757 ไร่

อนึ่ง การวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม (land slide risk areas) ทั้งสถานการณ์จริงและสถานการณ์จำลองของปี 2567  ในลุ่มน้ำกก(Nam Mae Kok Basin) และลุ่มน้ำคำ (Nam Mae Kok Basin) ได้ระบุพื้นที่ที่ต้องเฝ้าระวังโดยนำพิกัดการเกิดดินโคลนถล่มจริงที่เกิดขึ้นในปี 2567 ที่รวบรวมโดยกรมทรัพยากรธรณีมานำเสนอให้เห็นความสัมพันธ์กับผลการวิเคราะห์ด้วย คือ อำเภอแม่ฟ้าหลวง (ครอบคลุมพื้นที่เกือบทั้งอำเภอแม่ฟ้าหลวง ประกอบไปด้วยตำบลเทอดไทย แม่สลองใน แม่สลองนอก และแม่ฟ้าหลวง) ในปี 2567 จากการบันทึกข้อมูลการเกิดดินถล่มพบว่าเกิดขึ้นจำนวน 7 ครั้ง ส่วนอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ครอบคลุมพื้นที่บางส่วนของอำเภอ โดยเฉพาะทางทิศเหนือบริเวณตำบลแม่อาย ท่าตอน และมะลิกา โดยในปี 2567 เกิดเหตุการณ์ดินโคลนถล่มจำนวน 2 ครั้ง

กราฟเปรียบเทียบพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม(land slide risk areas)จากการจำลองสถานการณ์ปริมาณฝนสะสมเฉลี่ยเท่ากันทุกปีบริเวณลุ่มน้ำกกและลุ่มน้ำคำ

ผลการวิเคราะห์ชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงของการขยายพื้นที่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า แบบแผนการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำท่าที่เป็นตัวกำหนดสถานการณ์น้ำท่วมดินถล่ม นอกเหนือไปจากวิกฤตฝุ่นพิษข้ามพรมแดน การส่งเสริมการขยายตัวของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้าน และเอื้อแก่อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ในการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ด้วยภาษี 0% ตามความตกลงภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียนของรัฐบาลไทยยิ่งจะเร่งเร้าให้วิกฤตน้ำท่วมดินถล่มและฝุ่นพิษข้ามพรมแดนหนักหน่วงยิ่งขึ้นไปอีก

กรีนพีซประเทศไทยเรียกร้องให้รัฐบาลลงมือแก้วิกฤตสภาพภูมิอากาศด้วยเจตจำนงที่มุ่งมั่น โดยตั้งเป้าหมายลดพื้นที่การผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ เพราะนอกจากผลตอบแทนจะต่ำกว่าการผลิตรูปแบบอื่นหลายเท่าตัวแล้ว ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพเป็นวงกว้าง  ที่สำคัญ ผู้ได้ประโยชน์จากระบบการผลิตเหล่านี้กลับไม่ใช่เกษตรกรรายย่อย แต่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ 

ขณะเดียวกันรัฐบาลไทยสามารถดำเนินยุทธศาสตร์การพัฒนาเกษตรอินทรีย์ระดับภูมิภาคภายใต้กรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนและเกษตรกรรมยั่งยืน โดยให้ความสําคัญกับความหลากหลายทางชีวภาพ ความเป็นธรรมระหว่างเกษตรกรรายย่อยกับผู้ประกอบการ

วิกฤตน้ำท่วมโคลนถล่ม 2567 ที่เชียงรายสร้างความสูญเสียและเสียหายครั้งใหญ่ต่อผู้คนและชุมชนมากพอแล้ว  


ร่วมสนับสนุนการทำงานของกรีนพีซ

เราทำงานรณรงค์เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชนหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่การวิจัยข้อมูล รายงานทางวิทยาศาสตร์ และรณรงค์กับประชาชนด้วยข้อมูลเหล่านี้


หมายเหตุ

[1] มูลนิธิสิทธิมนุษยชนไทใหญ่ (Shan Human Rights Foundation ; SHRF) เปิดผลการศึกษาล่าสุด ว่าด้วย “การขยายตัวของเหมืองแร่ในรัฐฉาน เมียนมา กับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในเมียนมาและไทย” โดยตั้งข้อสังเกตว่า เหมืองแร่บริเวณลุ่มน้ำกก น้ำรวก และน้ำเลน รัฐฉาน เมียนมา เป็นสาเหตุของเหตุการณ์โคลนถล่ม

[2] น้ำท่า(runoff) คือน้ำผิวดิน (surface water) ที่ไหลอยู่ตามธารน้ำ โดยธรรมชาติของน้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำเสมอหรือโดยส่วนใหญ่จะไหลจากเทือกเขาสูงลงสู่แหล่งน้ำต่างๆ และมหาสมุทร ความเร็วของน้ำในแต่ละที่ไหลเร็ว-ช้าต่างกัน ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของธารน้ำ 3 ประเด็นหลักๆ คือ 1)ความชันของธารน้ำ (gradient) ธารน้ำชันสูงบริเวณ ต้นน้ำ ชันลดลงทาง ปลายน้ำ ดังนั้นน้ำจะไหลเร็วบริเวณต้นน้ำมากกว่าปลายน้ำ 2)ขนาดร่องน้ำ (channel size) ปกติต้นน้ำจะมีร่องน้ำแคบกว่าบริเวณปลายน้ำ อันเนื่องมาจากธรรมชาติของการกัดกร่อนของน้ำในแต่ละพื้นที่ จึงทำให้น้ำบริเวณต้นน้ำ น้ำจะไหลเร็วกว่าปลายน้ำ 3) ความหยาบธารน้ำ (stream roughness) ต้นน้ำจะมีตะกอนขนาดใหญ่ตกทับถมอยู่มาก เนื่องจากหินเพิ่งผุพังลงมา ท้องน้ำแถบต้นน้ำจึงหยาบมากกว่าปลายน้ำน้ำบริเวณปลายน้ำจึงไหลได้เร็วและราบเรียบกว่าบริเวณต้นน้ำ

[3] อ่านเพิ่มเติมได้จาก รายงาน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้เป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีต่อปริมาณน้ำท่า (runoff) พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม (flood risk areas) และพื้นที่เสี่ยงดินโคลนถล่ม(landslide risk areas) บริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำติดต่อระหว่างประเทศไทย เมียนมา และสปป.ลาว

[4] ใช้ระบบลุ่มน้ำจาก Greater Mekong Subregion โดยลุ่มน้ำกกมีพื้นที่ครอบคลุมประเทศไทยและเมียนมา มีเนื้อที่ทั้งหมด 6,621,235.32 ไร่ ในขณะที่ลุ่มน้ำคำมีพื้นที่ครอบคลุมประเทศไทย เมียนมา และสปป.ลาว มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,555,419.50 ไร่