
วันพุธที่ 2 เมษายน 2568, เวลา 09.30 น. ที่ว่าการอำเภอพนมสารคาม, จังหวัดฉะเชิงเทรา – พี่น้องที่ได้รับผลกระทบจากโครงการประกาศกำหนดเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าโดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ได้เข้ามาดำเนินการสำรวจที่ดินเบื้องต้นในพื้นที่ ตำบลเกาะขนุน อำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งอยู่ในแนวเขตเกี่ยวข้องกับการสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าจำนวนประมาณ 500 กิโลโวลต์ ของโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติของบริษัท บูรพา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด ทั้งนี้เขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่กำหนดมีความยาว 14.18 กิโลเมตร และความกว้าง 60 เมตร ผ่านท้องที่จำนวน 4 ตำบล 2 อำเภอของจังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งส่งผลให้พื้นที่ทำกินของประชาชนอาจได้รับผลกระทบจากการถูกริดรอนสิทธิ์ในที่ดินทำกินกว่า 531.75 ไร่
การดำเนินโครงการก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าดังกล่าว ได้สร้างความห่วงกังวลอย่างยิ่งในกลุ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง เนื่องจากอาจนำไปสู่การสูญเสียสิทธิในที่ดินทำกินโดยเฉพาะเมื่อกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายยังไม่ครอบคลุมและทั่วถึงต่อกลุ่มบุคคลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรงที่มีข้อกังวลต่อการมีส่วนร่วมในครั้งนี้ เนื่องจากกระบวนการไม่ได้มีการชี้แจงข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วนและไม่ได้มีการเปิดเวทีรับฟังอย่างเป็นทางการตามเจตนารมณ์ของหลักการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายและมีประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างน้อย 62 คนที่ไม่ได้รับการแจ้งข้อมูลข่าวสารอย่างครบถ้วนล่วงหน้า ส่งผลให้ประชาชนกลุ่มนี้ไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารที่จำเป็นต่อการพิจารณาผลกระทบต่อ สิทธิและการดำรงชีวิตของตนเองได้อย่างเหมาะสม ซึ่งขัดต่อหลักการที่แท้จริงของสิทธิกำหนด “เจตจำนงการพัฒนาของตนเอง”
สุปราณี ศรีสวัสดิ์ หนึ่งในผู้ได้รับผลกระทบในที่ดินทำกินประมาณ 6 ไร่ ได้กล่าวในขณะพูดคุยกับนายอำเภอประจำพนมสารคาม ว่า “เรากำลังสูญเสียสิ่งที่เราได้ดูแลมาทั้งชีวิตไป จากแผนการดำเนินงานของรัฐที่จะก่อสร้างระบบโครงข่าย หรือสายส่งไฟฟ้านี้มันส่งผลกระทบที่เราไม่ได้มีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นเลย กฟผ. ยังไม่ได้มาจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นแต่มาออกประกาศให้เรายอมรับในสิ่งที่เรากำลังจะถูกริดรอนสิทธิ์ที่ดินทำกินไป มันไม่มีความยุติธรรมกับเรา”

นายสุพจน์ รัตนนุกูล นายอำเภอพนมสารคามกล่าวว่า “ผมจะรับเรื่องและโทรคุยกับท่านผู้ว่าให้รับทราบถึงข้อกังวลพี่น้องโดยตรง ส่วนตัวผมจะขออนุญาตศึกษาเรื่องราวความเป็นมาเพิ่มเติมก่อน เนื่องจากพึ่งได้มาเริ่มทำงานที่นี่ เลยต้องศึกษาถึงเรื่องที่พี่น้องได้รับความเดือดร้อนและได้รับผลกระทบจากสายส่งไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซโดยบริษัท บูรพา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด เท่าที่ทราบในวันนี้คือพี่น้องไม่ได้เข้าร่วมกระบวนการรับฟังความเห็น ผมยืนยันว่าเรื่องจะไม่เงียบจะติดตามส่งเรื่องให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดรับทราบ”

ต่อมาในเวลา 10.30 น. ประชาชนผู้ร่วมคัดค้านระบบโครงข่ายไฟฟ้า เดินหน้าเข้ากรุงเทพมหานคร เพื่อยื่นหนังสือต่อคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานโดยในหนังสือสำเนาถึงการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริเวณอาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 19 ถนนพญาไท โดยมีข้อเสนอและข้อเรียกร้องดังนี้
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท บูรพา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัทฯ ที่อาจมีส่วนก่อให้เกิดผลกระทบดังกล่าว ให้ชี้แจงถึงกระบวนการจัดการรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้า ไปยังโรงไฟฟ้าบูรพา พาวเวอร์ ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียยืนยันว่าไม่ได้รับการเชิญให้เข้าร่วมกระบวนการรับฟังความคิดเห็นในโครงการดังกล่าวมาก่อนและมีข้อกังวลต่อการสูญเสียสิทธิในที่ดินทำกินให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท บูรพา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัทฯ ที่อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อกังวล เปิดเผยกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อนหน้านี้เพื่อชี้เเจงต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเนื่องจากประเด็นเรื่องระบบโครงข่ายไฟฟ้าเป็นเรื่องสาธารณะที่ประชาชนต้องมีสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลอย่างครบถ้วนและโปร่งใส
- ยกเลิกการใช้ข้อมูลเดิมในเวทีรับฟังความคิดเห็นก่อนหน้านี้ เนื่องจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วมในการะบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างมีความหมายเกี่ยวกับโครงการกำหนดเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าในแปลงสำรวจเลขที่ A179 และ A183 ซึ่งอาจทำให้การแสดงความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่ได้รับการรับฟังถึงผลกระทบอย่างรอบด้านโดยเฉพาะสิทธิในการมีส่วนร่วมในการกำหนดเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่จะพาดผ่านที่ดินของประชาชนและสิทธิในที่ดินทำกิน
- การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท บูรพา พาวเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด และบริษัทฯ ที่อาจมีส่วนก่อให้เกิดผลกระทบในด้านสิทธิมนุษยชนต้องยกเลิกโครงการระบบโครงข่ายไฟฟ้า ไปยังโรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ ตามเจตนารมณ์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ และต้องหยุดยั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่อาจจะรุนแรงขึ้นจากการใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติหรือก๊าซฟอสซิลในการผลิตไฟฟ้าและหันมาทบทวนนโยบายส่งเสริมด้านพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรม เพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศ
- ให้หน่วยงานภาครัฐในระดับท้องถิ่นและภาคธุรกิจทบทวนแผนการพัฒนาที่คำนึงถึงความยั่งยืน และอยู่บนหลักการด้านสิทธิสิ่งแวดล้อม ความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและความหลากหลายทางชีวภาพ ที่สอดคล้องกับสิทธิในการพัฒนาอันเป็นสิทธิมนุษยชนของทุกคน