• รายงาน  “เส้นทางแรงงานบังคับกลางทะเล: ลูกเรือประมงชาวอินโดนีเซีย คือรายงานล่าสุดโดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ตีแผ่ความโหดร้ายกลางทะเลที่แรงงานประมงชาวอินโดนีเซียต้องเผชิญ  
  • ในช่วงเวลา 6 ปี (พ.ศ. 2557-63) สหภาพแรงงานประมงของอินโดนีเซียได้รับข้อร้องเรียนของแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อการบังคับใช้แรงงานกลางทะเล 338 ฉบับ โดยปีที่ผ่านมาถือว่าการร้องเรียนมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา จำนวนถึง 104 กรณีในจำนวนนี้กว่า 87% ทำงานโดยไม่ได้ค่าจ้าง และกว่า 82% มีสภาพการทำงานและที่อยู่อาศัยที่เลวร้าย
  • ข้อร้องเรียนที่มากขึ้น  อาจตีความได้ทั้งในแง่บวกที่ว่า ชาวประมงที่ตกเป็นเหยื่อเหล่านี้ ตระหนักถึงสิทธิ์ในการร้องเรียนของตนเอง หรือก็อาจแปลได้ว่า สถานการณ์การใช้แรงงานบังคับยังคงไม่ได้รับการแก้ไข  ทั้งนี้ ภาครัฐและทุกฝ่าย ควรต้องเร่งแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้แล้ว

ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ. 2557 ถึงกรกฎาคม พ.ศ. 2563 สหภาพแรงงานประมงอินโดนีเซีย (Indonesian Migrant Workers Union – SBMI) ได้รับคำร้องเรียนกรณีแรงงานตกเป็นเหยื่อถูกบังคับใช้งานกลางทะเลทั้งสิ้น 338 ฉบับ โดยในปีพ.ศ. 2563 มีคำร้องเรียนสูงถึง 104 ฉบับ ซึ่งถือเป็นจำนวนตัวเลขมากที่สุดที่เคยมีมา โดยเพิ่มขึ้นจากคำร้องเรียนปี 2562 ซึ่งมี 86 ฉบับ

รายงานฉบับล่าสุดของ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้วิเคราะห์คำร้องเรียนจากชาวประมงข้ามชาติชาวอินโดนีเซียเป็นเวลากว่า 13 เดือน โดยพบข้อบ่งชี้ที่แสดงให้เห็นว่ามีการบังคับใช้แรงงานเพิ่มขึ้น

แรงงานก่อสร้างที่สมัครไปเป็นชาวประมงที่เมืองเตกัล จังหวัดชวากลาง ประเทศอินโดนีเซีย © Jurnasyanto Sukarno / Greenpeace

คำร้องเรียนมีอะไรบ้าง

จากการตรวจสอบเอกสาร บทสัมภาษณ์ผู้ร้องเรียน และการตรวจเช็คหลักฐานอย่างละเอียด อ้างอิงจากรายงานของสื่อหลายฉบับ  กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้พบว่ามีการบังคับใช้แรงงานดังนี้ 

  • 87% : การไม่จ่ายค่าจ้าง (withholding of wages)
  • 82% : สภาพการทำงานและที่อยู่อาศัยที่มีความทารุณ (abusive working and living conditions)
  • 80% : การหลอกลวง (deception)
  • 67% : การใช้อำนาจข่มเหง (abuse of vulnerability) การใช้สถานะความเสี่ยงภัยจากการค้าแรงงานโดยมิชอบ

คำร้องเรียนมาจากไหนบ้าง

คำร้องเรียน 62 ฉบับมาจากชาวประมงอินโดนีเซียบนเรือประมง 41 ลำ และเรือขนส่งเย็นหรือที่เรียกกันว่า ตู้ขนส่งสินค้าเย็น (reefers) อีก 4 ลำ โดยเรือที่ต้องสงสัยว่ามีการบังคับใช้แรงงาน ประกอบด้วย 

  • เรืออวนล้อมจำนวน 14 ลำ มีข้อร้องเรียนจำนวน 55 ฉบับ
  • เรือตกปลาที่ใช้เบ็ดมือ จำนวน 11 ลำ มีข้อร้องเรียน 16 ฉบับ
  • เรือลากอวนจำนวน 10 ลำ มีข้อร้องเรียน 11 ฉบับ 
  • เรือ 6 ลำ ที่มีอุปกรณ์ตกปลาที่ไม่เป็นที่รู้จัก มีข้อร้องเรียน 16 ฉบับ 
  • ตู้ขนส่งสินค้าเย็น 4 ตู้ มีข้อร้องเรียน 20 ฉบับ 
  • บริษัทนายหน้า สัญชาติอินโดนีเซีย 20 บริษัทและเจ้าของเรือ 26 คน ต้องสงสัยว่าเกี่ยวพันกับการบังคับใช้แรงงาน

ข้อแนะนำจากรายงาน 

เพื่อคุ้มครองสิทธิของชาวประมงข้ามชาติและหยุดการบังคับใช้แรงงาน กรีนพีซแนะนำประเด็นที่ควรนำไปดำเนินการโดยเรียงลำดับตามความสำคัญดังนี้

1.รัฐบาลที่เกี่ยวข้องกับการประมงควรให้สัตยาบันและดำเนินการตามอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO C-1883 and ILO fundamental Conventions)

2. รัฐบาลควรให้สัตยาบันและดำเนินการตามข้อตกลงมาตรการรัฐเจ้าของท่าตามที่องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติว่าไว้ไปใช้ (FAO Port State Measures Agreement)

3. รัฐบาลควรให้สัตยาบันและดำเนินการตามข้อตกลงเคปทาวน์ (IMO Cape Town Agreement) ตามที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศว่าไว้ 

4. รัฐบาลถิ่นเดิมของชาวประมงข้ามชาติควรจัดตั้งและดำเนินนโยบายเพื่อคุ้มครองสิทธิ แรงงาน รวมถึงแต่ไม่จำกัดเพียง

ก) การจ้างงานของแรงงานผ่านช่องทางที่เป็นทางการ

ข) การไม่เก็บค่าธรรมเนียมการจ้างงาน การปฏิบัติงานของการประมงอวนล้อมจับ

5. บริษัทประมงที่ว่าจ้างชาวประมงข้ามชาติควรรับรองว่า ชาวประมงจะได้มีเวลาพักผ่อนไม่ต่ำกว่า 10 ชั่วโมงในทุกวัน 

6. บริษัทประมง ผู้ค้า ผู้ดำเนินการ และแบรนด์สินค้า ควรรับรองว่าแรงงานสามารถเข้าถึงกลไกการร้องเรียนที่ปลอดภัย ไม่ระบุตัวตน เป็นความลับที่มีการคุ้มครองสูงต่อการตอบโต้กลับ

7. บริษัทประมง ผู้ค้า ผู้ดำเนินการ และแบรนด์สินค้าควรยึดมั่นต่อความรับผิดชอบและความเคารพต่อสิทธิมนุษยชน ตามหลักการแนวทางปฏิบัติว่าด้วยการดำเนินธุรกิจและสิทธิมนุษยชน : การดำเนินการให้เป็นไปตามกรอบขององค์การสหประชาชาติ (UNGPs)

8. ผู้ซื้อควรรับซื้อสินค้าจากเรือที่ใช้เวลาในน่านน้ำเป็นเวลาไม่เกิน 3 เดือน ก่อนกลับเข้าท่าและอนุญาตให้ลูกเรือสามารถเข้ารับบริการที่ท่าเรืออย่างมีอิสระไม่น้อยกว่า 10 วัน    

9. ผู้ซื้อควรจัดลำดับให้ความสำคัญในการรับซื้อสินค้าจากเรือที่เข้ารับการตรวจสอบจากการท่าของรัฐ และแสดงให้เห็นว่าได้ทำตามระเบียบปฎิบัติตามอนุสัญญาหลักขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ  (C-1888 and the ILO fundamental conventions)

10. บริษัทประมง ผู้ค้า ผู้ดำเนินการ แบรนด์สินค้า ผู้ซื้อ และนักลงทุน ควรเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะเกี่ยวกับห่วงโซ่อุปทาน รวมถึงเจ้าของเรือ ชื่อเรือ อุปกรณ์ประมง และพันธุ์ปลาที่จับได้

ความร่วมมืออย่างจริงจังของหน่วยงานภาครัฐในการแบ่งปันข้อมูลระหว่างผู้มีบทบาทสำคัญทั้ง ภาครัฐและที่ไม่ใช่ภาครัฐ เช่น หน่วยงานบริหารจัดการประมงและแรงงาน ภาคเอกชน ชาวประมงข้ามชาติและองค์กรของพวกเขา เป็นการร่วมกดดันรัฐบาลให้จัดตั้งมาตราการเร่งด่วนเพื่อหยุดยั้งแรงงานทาสและสนับสนุนการต่อสู้กับการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและการควบคุม 

สรุปและคำแนะนำ

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เปรียบเทียบคำร้องเรียนกับ รายงาน  “เส้นทางการบังคับใช้แรงงานของลูกเรือประมงในโลกยุคใหม่” และพบว่า ในระยะเวลา 13 เดือน (พฤษภาคม 2562 – มิถุนายน 2563) มีเคสที่ได้รับการรายงานเรื่องการบังคับใช้แรงงานทั้งสิ้น 62 เคส ขณะที่รายงานฉบับแรกมีจำนวน 34 เคส จากช่วงเวลา 8 เดือน (ธันวาคม 2561-กรกฎาคม 2562) โดยคำร้องเรียนของรายงานสองฉบับนี้ไม่มีซ้ำกันเลย

 สหภาพแรงงานประมงอินโดนีเซีย (Indonesian Migrant Workers Union – SBMI)  และกรีนพีซ อินโดนีเซีย ร่วมทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์หน้าทำเนียบประธานาธิบดี ในกรุงจาการ์ตา เพื่อเรียกร้องและกดดันให้รัฐบาลรับอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 188 ว่าด้วยการทำงานในภาคประมงทะเล (C188) © Adhi Wicaksono / Greenpeace

เมื่อเปรียบเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน เรือประมงที่ต้องจับตาเพิ่มขึ้นเป็น 45 ลำเมื่อเทียบกับ 13 ลำในช่วงก่อนหน้า ยิ่งไปกว่านั้น มีข้อบ่งชี้ว่ามีการบังคับใช้แรงงานเพิ่มขึ้น ทั้งการหลอกลวง การค้างค่าจ้าง ไปจนถึงการให้ทำงานล่วงเวลามากเกินไป และมักจะปรากฎอยู่เสมอๆว่าเป็นข้อบ่งชี้ลำดับต้นๆ ทั้งในรายงานก่อนหน้าและรายงานฉบับนี้  

ข้อบ่งชี้อื่นๆที่เป็นที่น่าสนใจได้แก่ การใช้อำนาจข่มเหงแรงงานโดยมิชอบ สภาพการทำงานและที่อยู่อาศัยที่มีความทารุณ ซึ่งมีเรือจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งเข้าข่ายเกี่ยวพันในเรื่องเหล่านี้

ไม่ว่าจะเป็นเพราะชาวประมงที่ถูกบังคับใช้แรงงานตระหนักว่าพวกเขามีสิทธิ์ร้องเรียนได้  หรือเพราะมีการบังคับใช้แรงงานเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่จำนวนข้อร้องเรียนเหล่านี้เผยถึงการที่ชาวประมงเป็นผู้เปราะบางถูกเอารัดเอาเปรียบ ตอนนี้ควรมีมาตราการดำเนินการอย่างทันท่วงทีเพื่อป้องกัน คุ้มครอง และเอาผิดกับการบังคับใช้แรงงาน ต้องมีการจัดการโดยทุกๆฝ่ายในห่วงโช่ที่เกี่ยวข้อง เริ่มจากนายหน้าจัดหาแรงงาน เรือประมง ผู้ดำเนินการ ไปจนถึงผู้ซื้อและผู้ค้า