บัมเบิล บี (Bumble Bee) บริษัทอาหารทะเลจากสหรัฐฯ ที่เป็นหนึ่งในบริษัทปลาทูน่ากระป๋องชั้นนำในตลาด โดยมีระดับการรับรู้ของผู้บริโภคเกือบ 90% และฝง ชุน ฟอร์โมซา ฟิเชอรี คอมปานี (Fong Chun Formosa Fishery Company ที่ต่อจากนี้จะกล่าวถึงในชื่อ เอฟซีเอฟ) บริษัทแม่จากไต้หวัน ซึ่งเป็นหนึ่งในสามผู้จัดจำหน่ายปลาทูน่ารายใหญ่ที่สุดในโลกนั้นมีบทบาทสำคัญในอุตสาหกรรมปลาทูน่าในระดับโลก และด้วยเหตุนี้จึงต้องรับผิดชอบต่อความสมบูรณ์ของมหาสมุทรที่เราทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน ต่อการปฏิบัติต่อผู้ที่ทำงานในห่วงโซ่อุปทานปลาทูน่า และต่อตัวเลือกของผู้บริโภค ทั้งสองบริษัทมีนโยบายว่าด้วยความยั่งยืนและความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรที่ควรจะครอบคลุมไปถึงห่วงโซ่อุปทานของบริษัท แต่ตามข้อมูลการวิเคราะห์ในรายงานฉบับนี้ชี้ให้เห็นว่าทั้งสองบริษัทไม่ได้ปฏิบัติตามขอบเขตความรับผิดชอบของตน

รายงานฉบับนี้พบว่าข้อมูลของบัมเบิล บีในเว็บไซต์ “Trace My Catch” ที่จะช่วยให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบถึงแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่าของตนตั้งแต่การจับจนมาถึงเป็นกระป๋องนั้น มีไม่เพียงพอและในบางกรณีก็ไม่ถูกต้อง การวิเคราะห์ของกรีนพีซเอเชียตะวันออกพบว่าในหลายกรณีบัมเบิล บี ใช้ปลาที่มีแหล่งที่มาจากเรือประมงที่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือต้องสงสัยว่ามีส่วนเกี่ยวข้องกับการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (llegal, Unreported and Unregulated – IUU fishing) การบังคับใช้แรงงาน และ/หรือการละเมิดสิทธิมนุษยชน ดังนั้น บัมเบิล บีจึงอาจไม่ปฏิบัติทั้งตามขอบเขตความรับผิดชอบและพันธกรณีต่อความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อมและสิทธิมนุษยชน และอาหารทะเลที่เกี่ยวข้องกับการประมงการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม และการบังคับใช้แรงงานอาจเข้ามาอยู่ในตลาดสหรัฐฯ แล้วโดยที่ผู้บริโภคไม่รู้ตัว

รายงานฉบับนี้พบว่า จากรหัสสินค้าปลาทูน่า 73 รายการของบัมเบิล บี ที่ใช้ตรวจสอบข้อมูลได้ ปลาทูน่าของบัมเบิล บี มีที่มาจากจากเรือประมง 290 ลำ โดยเกือบครึ่งหนึ่งเป็นเรือประมงน้ำลึกที่จดทะเบียนในไต้หวัน (119 ลำ) หรือมีเจ้าของเป็นชาวไต้หวัน (22 ลำ) ตามข้อมูลใน Trace My Catch นอกจากนั้น ข้อมูลบางประการในเว็บไซต์ Trace My Catch ของทางบริษัทยังขัดแย้งกับข้อมูลทางการของสำนักการประมงแห่งไต้หวัน (Taiwan Fishery Agency – TFA)  ที่ว่าด้วยพื้นที่ที่เรือเหล่านั้นได้รับอนุญาตให้ทำประมง การตรวจสอบตำแหน่งของเรือกับแหล่งข้อมูลแหล่งที่สามคือข้อมูลจากระบบระบุอัตลักษณ์อัตโนมัติ (Automatic Identification System – AIS) ของโกลบอล ฟิชชิง วอตช์ (Global Fishing Watch) เปิดเผยให้เห็นว่าข้อมูลพื้นที่ของเรือประมง 28 ลำที่เครื่องมือตรวจสอบแหล่งที่มาของบัมเบิล บี ให้มานั้นไม่ถูกต้อง นอกจากนั้น เรือประมง 13 ลำที่จัดหาปลาทูน่าให้กับบัมเบิลบีก็เคยถูกขึ้นบัญชีว่าทำการประมงการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุมในเว็บไซต์ของสำนักการประมงไต้หวัน 

จากการสัมภาษณ์แรงงานประมงเก้าคนบนเรือไต้หวันหกลำที่จัดหาวัตถุดิบให้กับบัมเบิล บี พบว่าแรงงานประมงทั้งเก้าคนมีประสบการณ์หรือเคยพบเห็นสิ่งที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (The International Labor Organization – ILO) จัดว่าเป็นตัวบ่งชี้ของการบังคับใช้แรงงานอย่างน้อยหนึ่งข้อ และแรงงานประมงหกจากเก้าคนมีประสบการณ์ หรือเคยพบเห็นตัวบ่งชี้การบังคับใช้แรงงานสี่ข้อหรือมากกว่า จากทั้งหมด 11 ข้อ แรงงานประมงทั้งหมดที่ให้สัมภาษณ์กล่าวว่า พวกเขามีประสบการณ์การทำงานล่วงเวลามากเกินกว่าจะยอมรับได้ และถูกยึดเอกสารยืนยันตัวตน และมากกว่าสองในสามของแรงงานประมงทั้งหมดไม่ได้รับค่าจ้างตรงเวลา

งานวิจัยของกรีนพีซ เอเชียตะวันออกพบว่าปลาทูน่ากระป๋องของบัมเบิล บี ที่รวบรวมมาจากแฮร์ริส ทีเทอร์ (Harris Teeter – ซึ่งเป็นบริษัทลูกที่โครเกอร์ – Kroger Co. ถือหุ้นทั้งหมด) ในอาร์ลิงตัน รัฐเวอร์จิเนียเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2022 (พ.ศ. 2565) นั้นมีที่มาจากเรือต้า หวัง (Da Wang) ซึ่งเป็นเรือที่มีเจ้าของเป็นชาวไต้หวันและได้รับการยืนยันว่ามีการบังคับใช้แรงงานโดยหน่วยงานศุลกากรและการป้องกันชายแดนของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน 2022 ทางการไต้หวันตั้งข้อหากับกัปตันและไต้ก๋งเรือและบุคคลอื่น ๆ อีกเจ็ดคนจากการมีส่วนร่วมในการบังคับใช้แรงงานและค้ามนุษย์ เว็บไซต์ Trace My Catch ของบัมเบิล บีให้รายการแหล่งที่มาของปลาทูน่าว่าเป็นเรือต้า หวัง ที่ในการออกทะเลเมื่อปี 2019 (พ.ศ. 2562) นั้นมีรายงานว่าแรงงานประมงคนหนึ่งเสียชีวิตบนเรือ เหตุการณ์นี้นำไปสู่ข้อสันนิษฐานที่เชื่อได้ว่าอาหารทะเลที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้แรงงานนั้นวางจำหน่ายอยู่ในตลาดสหรัฐฯ เรียบร้อยแล้ว

ในกรณีของเรือประมงไต้หวันอีกลำหนึ่งคือ เต้อ ชาน 116 ( De Chan No. 116) นั้นมีหลักฐานที่ถูกเปิดเผยจากการสัมภาษณ์แรงงานประมงโดยกรีนพีซ เอเชียตะวันออกและข้อมูลจากระบบระบุอัตลักษณ์อัตโนมัติ ของโกลบอล ฟิชชิง วอทช์ ที่สงสัยว่าอาจมีการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม อันรวมถึงข้อกล่าวหาเรื่องการล่าหูฉลามและการถ่ายเทปลาที่จับได้ในทะเล ตามข้อมูลในเว็บไซต์ Trace My Catch แสดงให้เห็นว่า กิจกรรมที่ถูกกล่าวหาว่าผิดกฎหมายเหล่านั้นเกิดขึ้นในระหว่างที่เรือลำดังกล่าวจัดหาปลาทูน่าให้กับบัมเบิล บี

กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเรียกร้องให้บัมเบิล บี และ เอฟซีเอฟ ดำเนินการกับประเด็นดังกล่าวโดยทันที อันประกอบไปด้วย การออกแถลงการขอโทษต่อแรงงานประมงที่ถูกหาประโยชน์ ผู้จัดจำหน่าย และผู้บริโภค นำสินค้าที่ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม และการบังคับใช้แรงงานออกจากตลาด เผิดเผยรายชื่อเรือประมงที่ขัดหาวัตถุดิบและจัดตั้งกรรมการอิสระเพื่อสืบสวนในส่วนของข้อบกพร่องของ Trace My Catch ทั้งหมดนี้เพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาของความยั่งยืน ความชอบด้วยกฎหมาย และการบังคับใช้แรงงานในห่วงโซ่อุปทานของบริษัท