กรีนพีซ ร่วมกับนักวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัยและกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) เพื่อร่วมทำงานวิจัยเพื่อวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองกับตัวแทนชุมชนประมงจาก จังหวัดชุมพร อ.จะนะ และ อ.เทพา จ.สงขลา รวบรวมข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเล ผ่านการสำรวจสัตว์ทะเลหน้าดิน

แพลงก์ตอนสัตว์และสัตว์น้ำวัยอ่อนซึ่งเป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้สภาพท้องทะเล และเป็นตัวกลางในการเชื่อมร้อยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ากับภูมิปัญญาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเลและสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ในการทำงานอนุรักษ์ร่วมกับชุมชน 

การสำรวจและเก็บตัวอย่างหน้าดินเกิดขึ้นภายใต้โครงการรณรงค์ผลักดันเสียงของชุมชนชายฝั่งในการปกป้องทะเลไทยและมหาสมุทรโลกกับเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ “Rainbow Warrior Ship Tour 2024: Ocean Justice” ในปี 2567 พบพื้นที่ทั้งสองล้วนมีความหลากหลายทางชีวภาพและมีระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ กรีนพีซ เรียกร้องให้ประเทศไทยมีพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ชุมชนเป็นผู้นำ (Community-led marine protected areas) และปกป้องสิทธิของชุมชนชายฝั่งที่กำลังได้รับผลกระทบจากทั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มลพิษจากอุตสาหกรรม และประมงทำลายล้าง

Research Sampling in Chana, Songkhla Province. © Baramee  Temboonkiat / Greenpeace
© Baramee Temboonkiat / Greenpeace

แพลงก์ตอนและสัตว์น้ำวัยอ่อนซึ่งเป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้สภาพท้องทะเล และเป็นตัวกลางในการเชื่อมร้อยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ากับภูมิปัญญาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเลและสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ในการทำงานอนุรักษ์ร่วมกับชุมชน โดยแบ่งเป็นกลุ่มแพลงก์ตอน สัตว์หน้าดิน และปลาที่น่าสนใจ เช่น

หนอนธนู นักล่าที่กินแพลงก์ตอนสัตว์ชนิดอื่น และตัวอ่อนสัตว์ทะเลหลายชนิด หนอนธนูช่วยควบคุมปริมาณแพลงก์ตอนสัตว์ให้สมดุล หากไม่มีพวกมัน ประชากรแพลงก์ตอนบางชนิดอาจเพิ่มขึ้นจนเกินสมดุลและส่งผลเสียต่อระบบนิเวศ

หนอนธนูยังเป็นอาหารของสัตว์ทะเลที่หลากหลาย จึงมีบทบาทเป็น “แหล่งพลังงาน” ที่สำคัญในมหาสมุทร

กุ้งลูซิเฟอร์ (Lucifer shrimp) เป็นฐานอาหารสำคัญของสัตว์ทะเลหลากหลายชนิด เช่น ปลาเล็ก, ปลาหมึกและสัตว์น้ำอื่น ๆ ที่กินแพลงก์ตอนสัตว์

นอกจากนี้ยังเป็นสัตว์น้ำขนาดเล็กที่ชุมชนนิยมนำมาใช้ทำกะปิ โดยเฉพาะในภาคกลางและภาคใต้ของไทย

หนอนปล้อง เป็นอาหารของสัตว์หน้าดินกลุ่มที่เป็นผู้ล่ามีพฤติกรรมขุดรู (burrower) เป็นถิ่นอาศัย

พฤติกรรมขุดรูของหนอนปล้องในกลุ่มนี้ช่วยหมุนเวียนออกซิเจนบริเวณหน้าดินลงสู่พื้นทะเล

ไข่ปลากระบอก ปลาเศรษฐกิจพื้นบ้านที่ชาวประมงจับขายได้ตลอดทั้งปี เพราะคนนิยมนำมาทำอาหาร เช่น ย่าง ทอดต้มเค็ม แกงส้ม หรือทำปลาเค็ม

เราจะพบไข่ปลากระบอกได้ในหน้าดิน

ไข่ปลาผีเสื้อ ปลาผีเสื้อเป็นดัชนีวัดสุขภาพแนวปะการัง การมีอยู่ของปลาผีเสื้อบ่งบอกว่าแนวปะการังในบริเวณนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ เพราะอาหารหลักของมันคือ “โพลิปปะการัง”

ถ้ามีปลาและไข่ปลาอยู่ในบริเวณนี้มากแสดงว่าบริเวณนั้นมีแนวปะการังอุดมสมบูรณ์

ไข่ปลานกแก้ว ปลานกแก้วเป็นสัตว์ทะเลที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบนิเวศแนวปะการัง พวกมันกินสาหร่ายที่เกาะอยู่บนปะการัง และมักกินเศษปะการังแข็งเข้าไปด้วย เศษปะการังเหล่านี้จะถูกบดและย่อยภายในระบบทางเดินอาหาร ก่อนจะถูกขับถ่ายออกมาในรูปของทรายขาวละเอียด จากการศึกษาพบว่า ปลานกแก้ว 1 ตัวสามารถผลิตทรายได้มากถึง 100 กิโลกรัมต่อปี นอกจากนี้ ปลานกแก้วยังช่วยควบคุมปริมาณสาหร่ายไม่ให้เจริญเติบโตจนเบียดเบียนพื้นที่ของปะการัง ทำให้ปะการังสามารถเจริญเติบโตได้อย่างเหมาะสมอีกด้วย

กรีนพีซ ประเทศไทย สนับสนุนการสร้าง “ทะเลชุมชน” หรือพื้นที่คุ้มครองทางทะเลที่ชุมชนเป็นผู้นำ (Community-led marine protected areas) และปกป้องสิทธิของชุมชนชายฝั่งที่กำลังได้รับผลกระทบจากทั้งวิกฤตสภาพภูมิอากาศ มลพิษจากอุตสาหกรรม และประมงทำลายล้าง