จากทะเลสู่กระป๋อง: 2561 การจัดอันดับความยั่งยืนของผลิตภัณฑ์ปลาทูน่ากระป๋องในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นรายงานที่กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จัดทำขึ้นเป็นฉบับที่ 3 แล้ว โดยครอบคลุมแบรนด์ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋องในประเทศไทย 9 แบรนด์ ประเทศอินโดนีเซีย 7 แบรนด์ และฟิลิปปินส์ 7 แบรนด์

ทั้งนี้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงใช้หลักเกณฑ์ 7 ข้อ ซึ่งครอบคลุมในประเด็นทั้งทางด้านการจัดหาปลาทูน่า ความยั่งยืนของแหล่งวัตถุดิบ ประเด็นด้านแรงงานและความรับผิดชอบทางสังคม จนถึงการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคในการประเมินแบรนด์ผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋อง ซึ่งตลอดระยะเวลาการเก็บข้อมูล บริษัทที่เข้าร่วมการประเมิณได้แสดงให้เห็นศักยภาพสู่การเป็นอุตสาหกรรมผลิตปลาทูน่ากระป๋อง ที่สามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ที่ดีขึ้น และมีความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น โดยบริษัท 16 แห่งจาก 23 แห่ง จัดอยู่ในอันดับดี ด้านความถูกต้องตามกฎหมาย (Legality) คือไม่มีการนำปลาที่จับด้วยเครื่องมือประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและขาดการควบคุม (IUU Fishing) มาใช้ ซึ่งเป็นปัญหาหลักของการทำประมงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

อย่างไรก็ตาม ก็ยังมีเพียง 4 บริษัทเท่านั้น ที่จัดอยู่ในอันดับดี ด้านการใช้แรงงานอย่างเป็นธรรม (Equity)  ซึ่งเกณฑ์ในข้อนี้คำนึงถึงการคุ้มครองสวัดิการของคนงานที่บริษัทว่าจ้างโดยตรง หรือแรงงานที่ทำงานอยู่บนเรือของบริษัทประมงที่จัดหาปลาให้ เพื่อยุติการบังคับใช้แรงงานในอุตสาหกรรมอาหารทะเล

นอกจากนี้ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีข้อเสนอต่อบริษัทผู้ผลิตปลาทูน่ากระป๋อง เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของการสร้างให้เกิดห่วงโซ่การผลิตที่รับผิดชอบและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม คือ บริษัทผู้ผลิตควรเพิ่มประสิทธิภาพเรื่องการตรวจสอบย้อนกลับและควรมีนโยบายด้านความยั่งยืนที่ชัดเจนสอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากล  รวมถึงให้ความสำคัญกับการแสดงข้อมูลที่มาของปลาทูน่าบนเว็บไซต์และ ณ จุดขายกับผู้บริโภคที่มากขึ้น

อ่านหรือดาวน์โหลดรายงาน ที่นี่

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม