อุณหภูมิของเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลต่อสภาพภูมิอากาศอันแปรปรวนและวิกฤตต่าง ๆ ที่ตามมา รวมถึงโรคร้ายต่าง ๆ ที่ดูจะทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่น่ากังวลมากที่สุด ภาวะโลกร้อนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดโรคระบาดชนิดใหม่ และโรคระบาดซ้ำที่เคยหายไปแล้วแต่กลับมาให้ได้เห็นใหม่ รวมถึงการเพิ่มจำนวนง่ายขึ้นของพาหะนำโรค

เนื้อหาโดยสรุป

  • ไวรัสและแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโรคระบาดของมนุษย์มาเนิ่นนานหากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้น้ำแข็งอาร์กติกค่อย ๆ ละลายจนกระทั่งปลดปล่อยไวรัสและแบคทีเรียในยุคหลายพันปีก่อน นั่นหมายถึงมนุษย์ไม่เคยมีภูมิคุ้มกันโรคร้ายที่เกิดขึ้นจากไวรัสและแบคทีเรียอายุพันปีที่เคยสงบนิ่งใต้น้ำแข็ง
  • สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าการคืนชีพกลับมาของเชื้อโรคต่าง ๆ คือ การอุบัติใหม่ และการย้ายถิ่นฐานของเชื้อโรค ที่เอื้อจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น และความทันสมัยของโลกที่ทำให้การเดินทางเป็นไปได้ง่าย
  • ในอดีตโรคระบาดจะจำกัดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเท่านั้น แต่ลองจินตนาการว่าหากโรคนี้เกิดขึ้นในยุคที่การเดินทางสะดวกสบายรวดเร็วอย่างรถไฟและเครื่องบินที่เชื่อมต่อข้ามพรมแดนได้ง่ายนั้น จะเป็นอย่างไร
  • โรคระบาดที่มียุงและแมลงเป็นพาหะ อาทิ ไข้เหลือง และมาลาเรีย ทวีความถี่และเกิดผู้เคราะห์ร้ายมากขึ้นโดยมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยผลักดัน

Schiphol Airport in the Netherlands. © Marten  van Dijl / Greenpeace

ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (2019) เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของโรคอุบัติใหม่จากไวรัสที่เห็นชัดที่สุดในขณะนี้ เราคงต้องรออีกสักนิดให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาถึงไวรัสนี้มากพอจึงจะชี้เฉพาะถึงที่มาและสาเหตุ แต่ประเด็นหลัก ๆ ที่น่าคิดคือ ภูมิคุ้มกัน อากาศที่เปลี่ยนแปลง และการ(กลับ)มาของเชื้อโรค 

ไวรัสและแบคทีเรียเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์เกี่ยวกับโรคระบาดของมนุษย์มาเนิ่นนาน สิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ เหล่านี้มีอยู่ทั่วไปบนโลกของเรา ตั้งแต่ในก้อนหินเล็ก ๆ หนึ่งก้อน ยุงหนึ่งตัว ไปจนถึงลำไส้ของเรา ซึ่งเปรียบเสมือนจักรวาลอีกหลาย ๆ จักรวาลที่มนุษย์ยังอาจไม่ทราบทั้งหมด ก้อนหินที่ดำรงอยู่ตั้งแต่ยุคน้ำแข็งและเกิดการทับถมของดินมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ละปี และถูกแช่แข็งไว้ผ่านเวลาหลายพันปี มนุษย์เพิ่งค้นพบยาปฏิชีวนะเพื่อต่อสู้กับโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียราว 70 ปีเท่านั้น และวัคซีนป้องกันไวรัสจะผลิตขึ้นได้ก็ต่อเมื่อมนุษย์เผชิญกับโรคนั้นเสียก่อน แต่หากอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นทำให้น้ำแข็งอาร์กติกค่อย ๆ ละลายจนกระทั่งปลดปล่อยไวรัสและแบคทีเรียที่จำศีลหลับไหลตั้งแต่ในยุคหลายพันปีก่อน ก่อนที่มนุษย์จะมีข้อมูลสิ่งเหล่านี้ล่ะ? ซึ่งนั่นหมายถึงมนุษย์ไม่เคยมีภูมิคุ้มกันโรคร้ายที่เกิดขึ้นจากไวรัสและแบคทีเรียอายุพันปีที่เคยสงบนิ่งใต้น้ำแข็ง คำถามคือเราจะรับมือได้อย่างไร

Climate Change Impact Austria - Glaciers. © Mitja  Kobal / Greenpeace
น้ำแข็งในธารน้ำแข็งอัลไพน์หายไปกว่าร้อยละ 50 ในระยะเวลาเพียงแค่ 100 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นและความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ © Mitja Kobal / Greenpeace

เหตุการณ์นี้ไม่ใช่เรื่องสมมติที่ไกลความจริง เมื่อสิงหาคมปี 2559 ที่ภูมิภาคอาร์กติก เด็กชายวัย 12 ได้เสียชีวิต เพราะเชื้อแอนแทร็กซ์ และมีคนในพื้นที่อีก 20 คนถูกนำส่งโรงพยาบาลเพราะโรคเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์คาดเดาว่าสาเหตุเกิดจากคลื่นความร้อนในปีนั้นทำให้ชั้นดินเยือกแข็งซึ่งปกติจะมีอุณหภูมิต่ำกว่าศูนย์องศาเซลเซียสอยู่ตลอดปีละลายตัว จนเผยซากกวางเรนเดียร์ที่ตายด้วยโรคแอนแทร็กซ์เมื่อ 75 ปีใต้ดินขึ้นมาสัมผัสกับน้ำและอากาศ เชื้อบางชนิด เช่นเชื้อแอนแทร็กซ์ สามารถสร้างสปอร์ห่อหุ้มตัวเพื่อดำรงชีวิตรอดในน้ำแข็งได้ หรือไวรัสบางชนิดเองก็มีดีเอ็นเอที่แข็งแกร่งกว่าไวรัสทั่วไปในปัจจุบัน

การวิจัยชิ้นหนึ่งของนาซ่าเมื่อปี 2548 เผยว่าได้ทดลองนำน้ำจากทะเลสาบของอลาสก้าที่ถูกแช่แข็งมากว่า 32,000 ปี ตั้งแต่ยุคที่มีแมมมอธยังคงอยู่ และน้ำมาละลายน้ำแข็ง ก็พบว่าแบคทีเรียที่อยู่ในนั้นกลับมามีชีวิตอีกครั้ง สองปีถัดมาจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ก็ได้ลองละลายน้ำแข็งอายุ 8 ล้านปีอีกครั้งจากแอนตาร์กติกา แบคทีเรียก็กลับมามีชีวิตได้อีกเช่นกัน แต่แบคทีเรียไม่ใช่ผู้ร้ายทุกชนิดเสมอไป ตามปกติแล้วมีอยู่ทั่วไปในสิ่งแวดล้อมและร่างกายเรา เพียงแค่ยีนดื้อยาสามารถส่งต่อถึงกันได้ ไวรัสเองก็สามารถอยู่รอดภายใต้น้ำแข็งได้เช่นกัน จากที่นักวิทยาศาสตร์เคยทดลองละลายน้ำแข็งอายุ 30,000 ปี และพบว่าไวรัสฟื้นกลับมาใหม่ได้ (แต่ไวรัสชนิดนั้นเป็นอันตรายต่ออมีบาเพียงเท่านั้น)

แต่สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าการคืนชีพกลับมาของเชื้อโรคต่าง ๆ คือ การอุบัติใหม่ และการย้ายถิ่นฐานของเชื้อโรค ที่เอื้อจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น และความทันสมัยของโลกที่ทำให้การเดินทางเป็นไปได้ง่าย ภาวะโลกร้อนไม่ได้เพียงแค่ทำให้น้ำแข็งละลายเท่านั้น แต่การเดินทางที่เข้าถึงพื้นที่หลากหลายง่ายขึ้น รวมถึงการที่พื้นที่อย่างไซบีเรียเข้าถึงได้จากการรุกล้ำของอุตสาหกรรมประมงและขุดเจาะพลังงาน ก็เป็นอีกหนทางที่เชื้อโรคสามารถเดินทางออกจากไซบีเรียไปยังที่ห่างไกลอื่นได้ และเพิ่มโอกาสให้เชื้อโรคจากใต้ดินปนเปื้อนออกสู่ดินชั้นบน แหล่งน้ำ และห่วงโซ่อาหารได้

ในอดีตโรคระบาดจะจำกัดอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่เกิดขึ้นกับผู้เจ็บป่วยหรือเสียชีวิตเท่านั้น เช่น กาฬโรคที่เกิดขึ้นในยุโรปและจีนเมื่อช่วงยุคพศ.1890 การเดินทางหลักที่ทำให้เชื้อโรคแพร่กระจายได้คือทางเรือ  แม้จะคร่าชีวิตคนจำนวนมหาศาลในยุโรป แต่ลองจินตนาการว่าหากโรคนี้เกิดขึ้นในยุคที่การเดินทางสะดวกสบายรวดเร็วอย่างรถไฟและเครื่องบินที่เชื่อมต่อข้ามพรมแดนได้ง่ายนั้น จะเป็นอย่างไร

Schiphol Airport in the Netherlands. © Marten  van Dijl / Greenpeace
เครื่องบินกำลัง Take off การเดินทางโดยเครื่องบินนั้นได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว และบุคคลทั่วไปมากทีเดียว © Marten van Dijl / Greenpeace

พรมแดนประเทศมิได้เลือนลางเพราะการเดินทางที่สะดวกเท่านั้น แต่อุณหภูมิที่สูงขึ้นทำให้เดิมจากที่เรารู้ว่าพื้นที่ใดมีโอกาสเสี่ยงติดโรคใดบ้างจากสัตว์ที่เป็นพาหะในพื้นที่นั้น ก็อาจจะไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป 

เราคงทราบกัน หรือเคยได้รับคำเตือนให้ฉีดวัคซีนป้องกันอะไรก่อนเดินทางไปพื้นที่เสี่ยง เช่น ไข้เหลืองที่เกิดขึ้นในแอฟริกาและอเมริกาใต้ โรคไทฟอยด์หรือไข้รากสาดน้อยในอินเดียและเนปาล หรืออาจจะแค่ง่าย ๆ ว่าเวลาไปเข้าป่าระวังไข้มาลาเรีย ทว่าโลกที่ร้อนขึ้น ป่าไม้ที่ถูกทำลาย การรุกคืบของเมือง สัตว์ท้องถิ่นในพื้นที่ป่านั้นก็อาจต้องหาทางมีชีวิตรอดในสภาพภูมิประเทศและอากาศที่เปลี่ยนไปเช่นกัน

โรคระบาดที่มียุงและแมลงเป็นพาหะ อาทิ ไข้เหลือง และมาลาเรีย ทวีความถี่และเกิดผู้เคราะห์ร้ายมากขึ้นโดยมีอุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นปัจจัยผลักดัน วงจรชีวิตและการเจริญเติบโตของยุงนั้นเกี่ยวข้องอย่างมากกับปริมาณน้ำฝนและอุณหภูมิ กล่าวคือ ยุงและแมลงชอบอากาศที่อบอุ่นจนถึงร้อน สามารถแพร่พันธุ์ได้ดีขึ้น เติบโตเร็วขึ้น นอกจากนี้วงจรของปรสิตในยุงยังพัฒนาไปเร็วขึ้นด้วยจากอุณหภูมิที่สูงขึ้น ซึ่งอาจซ้ำความร้ายแรงด้วยปรสิตมาลาเรียดื้อยาที่เกิดขึ้นแล้วในปี 2562 ที่ผ่านมา

ไข้หวัดนกเองก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและเชื้อไวรัส เดิมทีหวัดนกนั้นเกิดขึ้นตามธรรมชาติในสัตว์ปีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็ดหรือนกป่า ซึ่งตามปกติความหลากหลายของสายพันธุ์และความสมบูรณ์ของถิ่นที่อยู่และอาหารจะทำให้พวกมันมีภูมิต้านทาน แต่สภาวะโลกร้อนและการสูญเสียถิ่นที่อยู่ส่งผลต่อจำนวนประชากรของนก ประกอบกับฤดูที่เปลี่ยนแปลงไปได้เปลี่ยนแปลงวงจรและเส้นทางการบินอพยพ ทำให้ไวรัสที่เจอกับสิ่งแวดล้อมใหม่ก็มีแนวโน้มที่จะพัฒนาตัว เส้นทางการบินที่เปลี่ยนไปหรือการเติบโตขึ้นของเมืองก็มีโอกาสที่นกป่าจะใกล้ชิดกับปศุสัตว์และมนุษย์มากขึ้น 

Chickens on Farm in North Germany. © Greenpeace
ฟาร์มไก่แบบปิดในประเทศเยอรมนี © Greenpeace

หากกล่าวถึงโรคระบาดที่เกิดขึ้นในช่วงหนึ่งหรือสองทศวรรษที่ผ่านมานั้น ตั้งแต่ ไข้เลือดออก ฉี่หนู อหิวาตกโรค อีโบลา ไข้หวัดนก วัณโรค ซาร์ส และมาลาเรีย ล้วนมีจุดเริ่มต้นติดต่อมาจากสัตว์สู่คน (ทั้งจากพาหะ หรือสัตว์โดยตรง) และพัฒนามาเป็นการติดเชื้อจากคนสู่คน ซึ่งสาเหตุสำคัญเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมที่เป็นแหล่งที่อยู่ของสัตว์ป่า ค้าสัตว์ป่า หรือการเข้าใกล้ชิดกับสัตว์ป่าโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง

ยามใดที่เชื้อเปลี่ยนแปลงสภาวะ ไม่ว่าจะเป็นการผันผวนของอุณหภูมิ ถิ่นที่อยู่ หรือติดเชื้อยังสัตว์ชนิดอื่นหรือคน สภาวะเหล่านี้ทำให้เชื้อโรคมีความรุนแรงขึ้น กลายเป็นโรคใหม่ที่ไม่มีใครรู้จัก ไม่มีภูมิคุ้มกัน การระบาดจึงเกิดขึ้นได้ง่าย จึงเป็นที่มาของโรคอุบัติใหม่

โลกของไวรัสและแบคทีเรียนั้นเป็นเสมือนอีกจักรวาลหนึ่งที่ความรู้ของมนุษย์ยังไม่สามารถเข้าใจได้ทั้งหมด แม้แต่ในร่างกายของเราเองก็เป็นแหล่งที่อยู่ของแบคทีเรีย และเรารู้จักพวกมันแค่ 1% เท่านั้น อาจกล่าวได้ว่า ประกอบกับความผันผวนของวิกฤตโลกร้อนที่กำลังก่อตัว มนุษย์ยังคงมืดบอดและคาดเดาได้น้อยมากกับผลกระทบจากสภาวะโลกร้อนที่จะตามมา อาทิเช่น แบคทีเรียในลำไส้ของเราและสัตว์จะเปลี่ยนแปลงอย่างไรไหมหากรับความเสี่ยงจากเชื้อแบคทีเรียร้ายแรงจากสิ่งแวดล้อมภายนอกที่เพิ่มความรุนแรงด้วยการปรับตัวให้เข้ากับโลกที่ร้อนขึ้น แบคทีเรียในตัวเราจะเปลี่ยนไปไหม?

สภาพภูมิอากาศคือชนวน เชื้อโรคคือกระสุน

เราอาจจะได้รู้จักกับโรคระบาดชนิดใหม่มากขึ้น และรุนแรงขึ้น หากวิกฤตโลกร้อนยังคงดำเนินต่อไป

เราอาศัยอยู่บนโลกใบนี้ร่วมกับสิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย ตั้งแต่ขนาดเล็กจนมองไม่เห็นอย่างแบคทีเรีย ไวรัส แมลง ไปจนถึงสรรพสัตว์ต่าง ๆ ความสมบูรณ์หลากหลายของสายพันธุ์และสิ่งแวดล้อมจึงเป็นกลไกตามธรรมชาติที่สำคัญที่สุดในการรักษาสมดุลของทุกชีวิต แนวคิด “สุขภาพหนึ่งเดียว” (One Health) แม้ดูจะเป็นหลักการที่เพิ่งได้รับการพูดถึงไม่นาน แต่การรักษาและคำนึงถึงสายสัมพันธ์ของสุขภาพคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อมเป็นหนึ่งเดียวนั้นเป็นรากฐานการป้องกันและควบคุมโรคทั้งในคนและสัตว์ได้อย่างดีที่สุด 

โลกที่ป่วย ชีวิตบนโลกก็ป่วยตาม สุขภาพของเราขึ้นอยู่กับสุขภาพของโลก

แหล่งอ้างอิง: 

1. บทความจาก BBC เรื่อง โลกร้อนทำเชื้อร้ายในดินเยือกแข็งขั้วโลกฟื้นคืนชีพ 

2. เอกสารงานวิจัย Carnobacterium pleistocenium sp. nov., a novel psychrotolerant, facultative anaerobe isolated from permafrost of the Fox Tunnel in Alaska

3. เอกสารงานวิจัย Fossil genes and microbes in the oldest ice on Earth 

4. เอกสารงานวิจัย Thirty-thousand-year-old distant relative of giant icosahedral DNA viruses with a pandoravirus morphology 

5. บทความเรื่อง Black Death 

6. ข้อมูลจากสหประชาชาติ Climate Change and Malaria – A Complex Relationship

7. ข้อมูลข่าวจากมติชน ผู้เชี่ยวชาญเตือน ‘มาลาเรีย’ ดื้อยาระบาดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

8. เอกสารงานวิจัย Climate change suggests a shift of H5N1 risk in migratory birds

9. ศูนย์ข้อมูลโรคติดเชื้อและพาหะนำโรค กระทรวงสาธารณะสุข “โรคอุบัติใหม่” ผลพวงจาก “ภาวะโลกร้อน”

10. เอกสารงานวิจัย More than 99 percent of the microbes inside us are unknown to science

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม