คุณอาจเป็นคนหนึ่งที่ชอบไปทะเล ชอบกินอาหารทะล หรือมีกิจกรรมโปรดริมทะเล เพราะทะเลเป็นแหล่งก่อเกิดชีวิต อีกทั้งยังเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญ และที่อยู่ของสัตว์ต่างๆ นานาชนิด ใครบ้างจะไม่ชอบกินปลาทูน่าสดสีแดงสวย หรือทูน่ากระป๋อง อาหารเพื่อสุขภาพแสนง่ายที่สามารถหาได้ทั่วไปตามซูเปอร์มาร์เก็ต แต่เราเคยสงสัยกันบ้างหรือเปล่าว่าปลาทูน่าเหล่านี้มาจากไหน

ความจริงก็คือ การเดินทางของปลาในกระป๋องจากท้องทะเลมาสู่ซูเปอร์มาร์เก็ตเป็นเรื่องซับซ้อน และยังมีเรื่องให้น่าตกใจซุกซ่อนอยู่ เพราะเบื้องหลังของอุตสาหกรรมประมงที่สร้างเม็ดเงินมหาศาล บางครั้งก็เต็มไปด้วยกลิ่นคาวเลือด และแปดเปื้อนด้วยแรงงานบังคับ ที่กระตุ้นให้เกิดการทำลายสิ่งแวดล้อม รวมถึงเกี่ยวพันไปถึงผู้มีอำนาจหลายวงการ โดยละเลยและไม่สนใจต่อวิธีการทำประมงแบบพื้นบ้านและครอบครัวของแรงงานประมง

เหล่านี้ คือ เรื่องที่อุตสาหกรรมประมงไม่อยากให้ “คุณรู้” แต่เราอยากให้ “คุณ” ได้รู้ไว้

การจับปลาที่มากเกินไปเป็นภัยต่อความหลากหลายทางชีวภาพ

Purse Seiner Fishing in the Indian Ocean. © Jiri Rezac / Greenpeace
อวนล้อมจับ หนึ่งในเครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง © Jiri Rezac / Greenpeace

วลีที่ว่า “มีปลามากมายอยู่ในทะเล” ดูจะเรื่องล้าสมัยไปเสียแล้วในปัจจุบัน ด้วยปริมาณประชากรโลกที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ บวกกับความต้องการบริโภคอาหารทะเลที่ไม่หยุดนิ่ง กำลังส่งผลให้ปลาในท้องทะเลของเราค่อย ๆ ลดจำนวนลงมากขึ้น

ทั้งนี้ นับตั้งแต่ปี 2493 – 2558 จำนวนเรือประมงขนาดใหญ่เพื่อการพาณิชย์ทั่วโลกเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าตัว โดยปัจจุบันมีเรือประมงพาณิชย์อยู่ที่ 3.7 ล้านลำ ซึ่งการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมเรือประมง สัมพันธ์โดยตรงกับความเสี่ยงต่อจำนวนทรัพยาการสัตว์น้ำในท้องทะเล เพราะเมื่อมีเรือมากขึ้น ก็หมายถึงจำนวนปลาที่จะถูกจับมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งหลายครั้ง ต้นทุนที่เราสูญเสียไปที่ไม่ได้ถูกนำมาคำนวณ คือ ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตทางทะเลอื่นๆ และระบบนิเวศทางทะล

บรรดาเรืออวนลาก ซึ่งใช้เครื่องมือแบบทำลายล้างจะลากกวาดทุกอย่างขึ้นมาจากพื้นทะเล ก่อให้เกิดความเสียหายต่อแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์ทะเลน้อยใหญ่ที่แสนเปราะบาง รุนแรงในระดับที่ระบบนิเวศไม่อาจฟื้นคืนกลับมาได้  ขณะที่อุตสาหกรรมประมงที่ใช้เบ็ดราว ซึ่งติดตั้งเบ็ดตะขอหลายพันอัน ยาวเป็นระยะทางไกลได้กว่า 20 กิโลเมตร โดยเหยื่อของเบ็ดราวนี้นอกจากปลาทูน่าแล้ว ยังรวมถึงสัตว์ชนิดๆ อื่น เข่น ฉลามและนกทะเล  ขณะที่เรืออวนล้อม (purse seine) ก็ใช้แหขนาดใหญ่ล้อมจับปลา ไม่เลือกขนาดเล็กใหญ่ ควบคู่ไปกับการใช้ ซั้งดักปลา หรืออุปกรณ์ล่อปลา (Fish Aggregating Devices  – FADs) ที่ล่อให้ปลาหลากหลายชนิด รวมถึงสิ่งมีชีวิตในทะเลอื่นๆ เข้ามาติดกับ เหล่านี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งของวิธีการทำประมงที่เป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล และตัดวงจรชีวิตของสัตว์น้ำทั้งหลายได้รอดชีวิตและเจริญเติบโตต่อไปได้

ชีวิตที่ถูกพรากไปของแรงงานประม

Pole and Line Fishing in Indonesia. © Paul Hilton / Greenpeace
การตกปลาทูน่าด้วยเบ็ดตวัดคือหนึ่งในวิธีการจับปลาอย่างยั่งยืนและส่งผลกระทบต่อมหาสมุทรน้อยที่สุด © Paul Hilton / Greenpeace

ชุมชนชายฝั่งหลายแห่งทั่วโลกล้วนพึ่งพาอาศัยทะเล และทรัพยากรในท้องทะเลเป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัว จากข้อมูล กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา มีการจ้างแรงงานจำนวนมากเพื่อป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรมการทำประมงและกิจกรรมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การต่อเรือ หรือการแปรรูปอาหารทะเล  ในแง่หนึ่ง อาหารทะเลเป็นแหล่งที่มาของโปรตีนที่สำคัญของประชากรโลก แต่ในอีกด้านหนึ่ง การทำประมงนั้นเป็นมากกว่าเพื่ออาหาร แต่ยังเป็นภาพสะท้อนของอัตลักษณ์ความเป็นชุมชน และตัวตนของผู้คนอีกด้วย

ความมั่นคงทางอาหารและสิทธิ์ในการเข้าถึงทรัพยากร เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งต่อบรรดาชุมชนชายฝั่ง แต่จากสถานการณ์ปัจจุบัน ที่เอื้อให้อุตสาหกรรมประมงพาณิชย์ มีโอกาสเข้าถึงและกอบโกยจากท้องทะเล ประหนึ่งท้องทะเลคือร้านบุฟเฟ่ต์อิ่มอร่อยไม่อั้น ส่งผลให้ชุมชนท้องถิ่นและประมงพื้นบ้านขนาดเล็กเสี่ยงต่อการสูญเสียอัตลักษณ์ทางอาชีพของตน รวมไปถึงแหล่งความมั่นคงทางรายได้ที่สำคัญ

อาหารทะเลราคาถูก จากแรงงานบังคับ

ปลาทูน่ากระป๋อง อาจเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ ราคาคุ้มค่า หาซื้อได้ง่ายสำหรับผู้บริโภค แต่ที่มาของทูน่าที่ผู้ผลิตอาจไม่อยากให้เรารับรู้ นอกจากกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้างแล้ว ยังมีต้นทุนด้านอื่นๆ ที่ถูกปกปิดซ่อนเร้นไว้ เช่น การละเมิดสิทธิแรงงานบนเรือประมง

การทำประมงต้องอาศัยแรงงานคนจำนวนมาก ในขณะที่ต้นทุนอย่างเช่น น้ำมัน เป็นสิ่งที่บริษัทไม่สามารถลดหรือเลี่ยงได้ แต่ค่าแรงของแรงงาน  ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 30-50% ของต้นทุนทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ที่ทำงานบนเรือมักเป็นแรงงานต่างชาติ ที่มาจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กลับเป็นเป้าหมายแรกๆ ที่บริษัทจะใช้เป็นข้ออ้างเพื่อตัดลดค่าใช้จ่ายให้ยังคงได้กำไรสูงสุด

จากข้อมูลที่ทางกรีนพีซเข้าไปสัมภาษณ์แรงงานต่างด้าวที่เคยทำงานบนเรือประมง พบว่า ทั้งหมดโดนหลอกให้มาทำงาน พร้อมคำสัญญาถึงค่าตอบแทนจำนวนมาก และโอกาสที่ช่วยให้ครอบครัวมีสถานะที่ดีขึ้น  แต่เมื่อเริ่มต้นทำงาน บรรดาแรงงานเหล่านี้กลับต้องตกอยู่ในสภาวะที่เหมือนกับตกนรกทั้งเป็น เพราะต้องทำงานต่อเนื่องหลายชั่วโมง แลกกับค่าแรงเพียงน้อยนิดหรืออาจไม่ได้อะไรตอบแทนเลย ทั้งยังมักเสี่ยงกับการถูกล่วงละเมิด ขณะที่ กิจกรรมการขนถ่ายสัตว์น้ำกลางทะเล (Transshipment) ยังเพิ่มโอกาสเสี่ยงต่อแรงงาน ให้ต้องอยู่ในทะเลยาวนานมากขึ้น เพราะเรือประมงไม่จำเป็นต้องเทียบท่าไปส่งอาหารทะเล

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความท้าทายของอุตสาหกรรมประมง

Chinese Longliner Long Xing 621 in the Atlantic Ocean. © Tommy Trenchard / Greenpeace
ปลาฉลามตกเป็นเหยื่อของเครื่องมือประมงที่ผิดกฤหมายเช่น เบ็ดราว © Tommy Trenchard / Greenpeace

ภาวะฉุกเฉินทางสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นภัยคุกคามหนึ่งที่เลวร้ายที่สุดต่อระบบนิเวศทางทะเล เพราะ อุณหภูมิที่สูงขึ้นหมายถึงมหาสมุทรที่ร้อนขึ้นตามไปด้วย กระทบต่อสิ่งมีชีวิตในทะเลต่อเนื่องกันเป็นลูกโซ่ นอกจากนี้ สภาวะน้ำทะเลเป็นกรด ก็เป็นผลมาจากก๊าซพิษที่ถูกปล่อยออกสู่บรรบากาศ อย่างเช่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ ที่มีต้นกำเนิดจากการเผาไหม้ถ่านหิน หรือน้ำมันดิบแล้วร่วงหล่นลงสู่น้ำทะเล  ทั้งนี้ มหาสมุทร มีศักยภาพที่จะสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนได้มากกว่าป่าไม้ถึง 3 เท่า ถ้าเรามีมหาสมุทรที่อุดมสมบูรณ์ หรือสัตว์ทะเลอย่าง วาฬ และปลาบางชนิดก็สามารถช่วยกักเก็บก๊าซคาร์บอนไว้ในร่างกายได้เช่นกัน

ขณะนี้ปริมาณแหล่งประมงที่สำคัญทั่วโลกกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ รวมไปถึงสถานการณ์การทำประมงที่มากเกินขีดความสามารถในการผลิตของทะเล (overfishing) ประกอบกับช่องโหว่งทางกฎหมายที่เอื้อให้มีการกระทำประมงที่ผิดกฎหมาย ปราศจากการรายงานและขาดการควบคุม หรือที่เรียกกันว่า IUU (Illegal Unreported and Unregulated Fishing) ซึ่งเป็นลักษณะการทำประมงที่ขัดต่อหลักกฎหมายประเทศและหลักกฎหมายสากล ทั้งนี้ มีรายงานว่า ประมงแบบผิดกฎหมาย (IUU Fishing) มีมูลค่าสัดส่วนสูงถึง 23,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ประกอบกับการเอาผิดกับผู้ประกอบการที่ทำผิดกฎหมายก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ผู้บริโภคอย่างคุณสามารถทำอะไรได้บ้าง?

เช่นเดียวกับเรื่องราวของอาหารทั่วโลกที่เราผู้บริโภคมีโอกาสรับรู้ สัมผัส และมองเห็นอาหารที่อยู่ตรงหน้า หลังผ่านกระบวนการผลิตและถูกบรรจุอยู่ในบรรจุภัณฑ์ที่สวยงาม พร้อมรับประทานแล้ว หรือพร้อมวางขายในซุปเปอร์มาร์เก็ต  แต่เบื้องหลังของอาหารของเราล้วนมีที่มา เรื่องราวซุกซ่อนอยู่เสมอ พวกมันมาได้ อย่างไร ใครจับมา และจับมาจากที่ไหน  มักเป็นประเด็นคำถามที่ถูกมองข้าม  หรือทำให้ไม่มีความจำเป็นที่ผู้บริโภคต้องรู้ การเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมประมงนั้นอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การติดอาวุธความรู้เกี่ยวกับอาหารทะเลอย่างยั่งยืนเป็นเรื่องใกล้ตัว ที่เราทุกคนทำได้ ด้วยการเป็นผู้บริโภคที่เป็นมิตรต่อมหาสมุทร

Juvenile Tuna in Market in the Philippines. © Sanjit Das / Greenpeace
การตั้งคำถามถึงอาหารทะเลที่ได้มาเป็นหนึ่งวิธีที่สามารถช่วยปกป้องมหาสมุทรและสิทธิมนุษยชน © Sanjit Das / Greenpeace

อีกก้าวต่อไป ที่เราทำได้ คือการตรวจสอบ ติดตาม กับภาครัฐว่ามีกระบวนการอย่างไร เพื่อรับรองว่าการทำประมงของประเทศเรานั้นเป็นการบริหารจัดการประมงอย่างรับผิดชอบ ด้วยแรงผลักดันจากเราทุกคน เราสามารถปกป้องมหาสมุทร และสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตในท้องทะเลได้ รวมไปถึงแรงงาน เพื่อนร่วมโลกของเรา ตลอดจนชุมชนประมงพื้นบ้าน เพื่อเป็นหลักประกันว่าเราจะยังมีความมั่นคงทางอาหารส่งต่อให้ลูกหลานเราต่อไป

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม