รัฐอาจพิจารณาการใช้ “การประเมินผลกระทบต่อสิทธิการเข้าถึงอาหาร” เพื่อบ่งชึ้ผลกระทบของนโยบาย และโครงการต่าง ๆ ที่จะมีต่อสิทธิการเข้าถึงอาหารอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรมของประชากร โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่อ่อนไหว และควรนำมาใช้เป็นหลักการพื้นฐานในการใช้มาตรการที่ถูกต้อง” 

แนวทางการปฏิบัติด้านสิทธิการเข้าถึงอาหารตามคำแนะนำขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO)

อาหารไม่ใช่เป็นเพียงปัจจัยสี่ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต แต่อาหารนั้นเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ สังคม และวิถีชีวิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศที่มีเกษตรกรรมเป็นหัวใจสำคัญอย่างไทย ดังนั้นสิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงอาหารจึงเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่ควรมองข้าม แม้จะเกิดขึ้นกับสิ่งเล็ก ๆ อย่างเมล็ดพันธุ์ มิเช่นนั้นแล้ว คำกล่าวแต่โบราณอาจต้องเรียบเรียงเสียใหม่ว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว … และมีบริษัทครอบครองในทุกเมล็ดพันธุ์” 

ทางแยกที่รัฐบาลจะต้องเลือกเดินหากเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ที่พ่วงมาพร้อมกับ อนุสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 คือ การตัดสินใจว่าจะให้น้ำหนักความสำคัญไปในทิศทางใด ระหว่างสิทธิในการเข้าถึงอาหารอย่างเป็นธรรมของประชาชน หรือผลประโยชน์คณานับของบรรษัทอาหารและเกษตรที่ครอบครองตลาดเพียงไม่กี่ราย

ประเด็นหลักของ UPOV 199 คือตัดสิทธิพื้นฐานของเกษตรกรในการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อในฤดูกาลถัดไป มีโทษตามกฎหมาย บริษัทสามารถฟ้องร้องเอาผิดและสั่งปรับเกษตรกรได้ ความเหมาะสมของ UPOV 1991 นั้นออกแบบมาเพื่อระบบอาหารที่เน้นการรวมศูนย์และเพื่ออุตสาหกรรม ซึ่งวิถีเกษตรกรของประเทศไทยนั้นถูกขับเคลื่อนด้วยเกษตรกรรายย่อยนับล้าน ก่อร่างสร้างตัวจากการเก็บเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน คัดสรรตามภูมิปัญญา ส่งต่อและแบ่งปัน หากตัดสิทธิพื้นฐานนี้ไป เกษตรกรทุกราย แม้แต่คุณยายปลูกมะเขือขายที่ตลาดวันอาทิตย์ ก็จะจำเป็นจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัททุกครั้ง มิเช่นนั้นจะต้องเสี่ยงกับโทษอาญา

ครองเมล็ด ครองอาหาร

ก็แค่เมล็ดเล็ก ๆ ก็จ่ายเงินซื้อไป ไม่น่ามีปัญหาอะไร… จริงหรือ

ประเทศในภูมิภาคเอเชียส่วนใหญ่ยังอยู่เหนือการครอบครองของบรรษัทอาหาร โดยร้อยละ 80 ของเมล็ดพันธุ์ในเอเชียนั้นยังมาจากเกษตรกรผู้เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์จากฤดูกาลก่อนไว้ปลูกต่อ (Grain, 2015) แต่บรรษัทยักษ์ใหญ่มุ่งเปลี่ยนแปลงระบบนี้ เนื่องจากเมล็ดเล็ก ๆ ที่เป็นทรัพยากรที่ธรรมชาติมอบให้นั้น คือทรัพย์สินสร้างผลประโยชน์มหาศาล

Ecological Seeds Response in Maguindanao. © Grace Duran-Cabus / Greenpeace
© Grace Duran-Cabus / Greenpeace

ในช่วงระยะเวลาเพียง 20 ปี ระบบอาหารของโลกได้เห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดจำนวนลงของบริษัทอาหารและเกษตร ภาพรวมที่เกิดขึ้นของประเทศสหรัฐอเมริกาน่าจะชัดเจนที่สุด ประเทศสหรัฐอเมริกาได้ร่วมอนุสัญญา UPOV ในปีพ.ศ.2524 และภายหลังปรับใช้อนุสัญญา 1991 ในพ.ศ.2542  ช่วงยุคปีพ.ศ. 2539 มีบริษัทเมล็ดพันธุ์อิสระราว 600 บริษัท โดยที่ 10 บริษัทใหญ่ถือครองตลาดเพียงร้อยละ 16.7 ของจำนวนเมล็ดพันธุ์ทั้งหมด และหลังจากนั้นเพียงไม่กี่ปี จำนวนบริษัทได้ลดลงอย่างชัดเจน มีการรวมศูนย์การผลิตมากขึ้น ขณะเดียวกันที่ราคาของเมล็ดพันธุ์และยาฆ่าแมลงก็สูงขึ้น เกษตรกรรายย่อยที่ทำรายได้จากธุรกิจในครอบครัวก็หายไป กลายเป็นลูกจ้างของบริษัทอาหารและเกษตร ไม่น่าแปลกใจที่ในปี 2559 ร้อยละ 75 ของเมล็ดในตลาดถูกครอบครองบริษัทยักษ์ใหญ่เพียง 10 บริษัท (seedcontrol.eu)  และตัวเลขนี้กำลังลดลง 

ปัจจุบันนี้ความมั่นคงทางอาหารของอเมริกากำลังอยู่ภายใต้อำนาจของบริษัทเพียงหยิบมือ มีเพียง 4 บริษัทเท่านั้น หรือที่เรียกกันว่า ‘The Big 4’ (หลังจากที่บริษัทไบเออร์ได้ซื้อมอนซานโต้เป็นที่เรียบร้อย) ซึ่งจำนวนบริษัทที่น้อยกว่านิ้วมือข้างเดียวนั้นครองตลาดเมล็ดพันธุ์โลกถึงร้อยละ 60 โดยที่ความหลากหลายของพืชพรรณก็ลดลง ร้อยละ 75 ของอาหารทั่วโลกมาจากพืชแค่ 12 ชนิด และสัตว์ 5 สายพันธุ์ (FAO, 1999)

การครอบครองของบริษัทอาหารและเกษตรตั้งแต่ต้นทางตลอดจนปลายทางของห่วงโซ่อุปทาน ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ถึงผลผลิต และอาหารแปรรูป มอบโอกาสให้บริษัทสามารถกำหนดสายพันธุ์ในการปลูก ไปจนถึงรูปแบบการปลูก การเก็บเกี่ยว ตลอดจนราคาขาย การเป็นเจ้าของสิทธิบัตรและลิขสิทธิทางปัญญาทางเมล็ดพันธุ์และอาหารนั้นทำให้บริษัทมีอิทธิพลมากขึ้นต่อนโยบายต่าง ๆ ของประเทศ และผลพวงที่ตามมาไม่ใช่เป็นเพียงยอดของพีระมิดทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อรากฐานทางสังคม วิถีชีวิต และพื้นฐานสำคัญอย่างสิทธิในการเข้าถึงสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้กับทุกชีวิตบนโลกอย่างเท่าถึงกัน นั่นก็คือ เมล็ดพันธุ์ 

การหายไปของบริษัทย่อยในสหรัฐอเมริกานั้น เป็นภาพสะท้อนของการครอบครองระบบอาหาร ความสมบูรณ์ทางระบบนิเวศที่สูญหายไป พันธุ์พืชที่ลดน้อยลง เกษตรกรรายย่อยที่ไม่สามารถอยู่ได้ อธิปไตยทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพอาจเป็นสองคำที่ฟังเข้าใจยาก แต่สองสิ่งนี้คือความมั่นคงทางอาหารที่เราจะต้องสูญเสียไปอย่างถาวร เมื่อไม่มีสิทธิในเมล็ดพันธุ์ ย่อมไม่มีสิทธิในอาหารอย่างแท้จริง นี่คือจุดจบของสิทธิการเข้าถึงอาหาร เพราะเมล็ดพันธุ์นั้นคือจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารและอุปทานทั้งหมด

สิทธิในการเข้าถึงอาหาร คือสิทธิพื้นฐานของมนุษย์

องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า สิทธิในการเข้าถึงอาหารนั้นไม่ใช่เป็นเพียงวิธีการบริจาค แต่เป็นสิทธิมนุษยชนพื้นฐาน คือ การที่ทุกคน ทุกเพศ ทุกวัย ไม่ว่าจะอยู่ตามลำพังหรือกับผู้อื่นในชุมชน สามารถเข้าถึงอาหาร ทั้งด้านกายภาพและเศรษฐกิจ ได้ตลอดเวลา ซึ่งภาครัฐจะต้องเป็นผู้เอื้ออำนวย แน่นอนว่าความหมายในสิทธิมนุษยชนนี้ย่อมรวมถึงระยะสั้นและระยะยาว ก็คือความมั่นคงทางอาหารที่ประชาชนสามารถสร้างขึ้นได้ด้วยตัวเอง ตามวิถีชีวิตที่พึงมี ไม่ว่าจะเป็นในมุมของเกษตรกรผู้ผลิต หรือผู้บริโภค 

ความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหารจึงเป็นหลักประกันที่ดีที่สุดที่ทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงอาหารได้ ไม่ว่าจะเป็นในภาวะเกิดผลกระทบจากโรคระบาด วิกฤตสภาพภูมิอากาศ หรือวิกฤตเศรษฐกิจ 

Women Farmers at Training Center in the Philippines. © Greenpeace / John Novis
© Greenpeace / John Novis

การเข้ามาครอบครองของบริษัทนั้นอาจทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอาชีพเกษตรกรไปเป็นจ้างงานของบริษัท แต่ในระยะยาวนั้น การถูกริดรอนสิทธิในการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์นั้นทำให้ประชาชนทั่วไปไม่ได้เป็นเจ้าของผลิตผลที่ปลูก ผืนดินที่ปลูก และจำเป็นจะต้องมีค่าใช้จ่ายที่ทวีคูณสุงขึ้น ผู้บริโภคเองก็จะมีทางเลือกทางการซื้อที่น้อยลง ท้ายที่สุดแล้ว การที่เมล็ดพันธุ์ตกอยู่ภายใต้การครอบครองของบริษัทเกษตรและอาหารจะไม่เพียงเปลี่ยนสามารถเกษตรกรเป็นอาชญากร แต่อาจเป็นไปตามที่ ดร.วันทนา ศิวะ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวอินเดีย กล่าวไว้ว่า “เป็นทาสเมล็ดพันธุ์”

ไม่ว่าคุณจะเป็นคนปลูก คนกิน หรือคนขาย เราควรมีสิทธิในการเข้าถึงเมล็ดพันธุ์และอาหารที่หลากหลาย ความมั่นคงและอธิปไตยทางอาหารของคนหลายล้าน ไม่ควรจะตกอยู่ในมือของไม่กี่บริษัท ภายใต้การเอื้อประโยชน์ของ UPOV 1991

ที่มาและข้อมูลเพิ่มเติม

เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านชนิดถั่ว © Peter Caton / Greenpeace
หยุดทำลายความมั่นคงทางอาหาร #NoCPTPP

ร่วมส่งเสียงบอกนายกรัฐมนตรี/คณะรัฐมนตรีให้ยุติการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ในทันที เพื่อปกป้องสิทธิของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพของไทย จากการครอบงำของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย และบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก

มีส่วนร่วม