ช่วงวิกฤต COVID-19 นี้ สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนขึ้นคือ ความสำคัญของความมั่นคงทางอาหารและเมล็ดพันธุ์ หลายคนเริ่มหันมาเป็นมือปลูก และแบ่งปันเมล็ดพันธุ์และผลผลิตให้กันและกัน ความหลากหลายทางพืชพรรณธัญญาหารเป็นเอกลักษณ์ของประเทศไทย และการเก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อปลูกต่อและส่งต่อกันเช่นนี้เป็นวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยมาช้านาน แต่การเข้าร่วมภาคี CPTPP จะส่งผลต่อสิทธิพื้นฐานของประชาชนในด้านเมล็ดพันธุ์อย่างร้ายแรง

ดร.วันทนา ศิวะ นักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมชาวอินเดีย กล่าวว่า “หากจะยึดกุมอาหารให้ยึดกุมเมล็ดพันธุ์”

ระบบอาหารที่ถูกครอบครองโดยอุตสาหกรรมในปัจจุบันทำให้ผู้คนไม่รับรู้ข้อมูลของอาหารมากนัก และรู้จักความหลากหลายของสายพันธุ์พืชผักลดน้อยลง แต่ข้อกำหนดต่าง ๆ ในความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) จะยิ่งที่ให้เรื่องอาหารกลายเป็นสนนราคาที่ทั้งคนกินและคนปลูกต้องจ่ายแพงขึ้น และอาจเปลี่ยนแปลงทรัพยากรธรรมชาติจากผืนดินที่มอบชีวิตให้กับคนไทยให้กลายเป็นทรัพย์สินของบริษัทไปอย่างสิ้นเชิง ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น 

  • เราไม่มีสิทธิเก็บและใช้เมล็ดพันธุ์จนกว่าเราจะจ่ายเงินก่อน

 เมล็ดพันธุ์สัมพันธ์กับชีวิตของคนมาตั้งแต่อดีตกาล ตั้งแต่การปลูก กิน เก็บ และแลกเปลี่ยน เมล็ดพันธุ์เป็นทรัพย์สินของทุกชีวิตบนโลก หรือเป็นภูมิปัญญาในการคัดเลือกสืบทอดกันมาของบรรพบุรุษของเรา ผลไม้ของมะม่วงต้นไหนหวานอร่อย ก็เก็บเมล็ดมาปลูกต่อ กระเพราต้นไหนหอมอร่อยก็เก็บเมล็ดมาปลูกต่อ เป็นการคัดเลือกพันธุ์ที่แข็งแรงที่สุด อร่อยที่สุด กลิ่นหอมที่สุด ต้านทานโรคได้ดีที่สุด ผลผลิตสูง และส่งต่อมาเรื่อย ๆ จนถึงรุ่นเรา การขยายตัวของเมืองและการผลิตเชิงอุตสาหกรรมทำให้เรารู้จักผักผลไม้เพียงไม่กี่ชนิด ทั้งที่ภูมิประเทศและสภาพอากาศของประเทศไทยเอื้อให้กับความหลากหลายทางชีวภาพ เราอุดมด้วยผักพื้นเมืองและสมุนไพรจำนวนมาก

'We Grow' Launch Event in Thailand. © Baramee  Temboonkiat / Greenpeace
© Baramee Temboonkiat / Greenpeace

การเข้าร่วมเป็นภาคี CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ซึ่งตัดสิทธิพื้นฐานของเกษตรกรในการเก็บพันธุ์พืชไปปลูกต่อในฤดูกาลถัดไป เพียงแค่เก็บเมล็ดพันธุ์เพื่อไปปลูกต่อก็จะมีโทษอาญาจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 4 แสนบาท

ข้อกำหนดนี้ต่างจากพ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ที่ให้สิทธิเกษตรกรเก็บส่วนขยายพันธุ์ของพืชไว้เพื่อขยายพันธุ์ต่อไปได้ แต่ UPOV 1991 ไม่อนุญาตให้สามารถทำได้ ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ใหม่ทุกครั้งจากเจ้าของพันธุ์ทุกฤดูเพาะปลูก เกษตรกรขนาดเล็กจะไม่สามารถอยู่ได้ภายใต้ข้อกำหนดทางกฎหมายใหม่นี้ แต่กลับเพิ่มสิทธิผูกขาดแก่บริษัทเมล็ดพันธุ์ในการฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผลผลิตและผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรนอกเหนือจากค่าเมล็ดพันธุ์ 

ปัจจุบันนี้เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านเราเหลือน้อยลงไปทุกที จนกระทั่งคุณโจน จันได มักกล่าวไว้ว่า “เราเป็นรุ่นสุดท้ายที่เป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน” เนื่องจากการครอบครองการตลาดของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร และการเพาะปลูกเกษตรอินทรีย์และส่งต่อเมล็ดพันธุ์น้อยลง

  • เจ้าของสิทธิสายพันธุ์มีสิทธิเหนือ “พันธุ์พืชที่ได้มาจากพันธุ์คุ้มครอง”

นักวิจัยหรือนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อย คือนักปรับปรุงพันธุ์ส่วนใหญ่ของประเทศ ดังที่กล่าวไว้ว่าการคัดเลือกพันธุ์พืชผักของวิถีชีวิตคนไทยนั้น อาจมาจากภูมิปัญญาคัดเลือกดั้งเดิม หรือการเปลี่ยนแปลงเล็กน้อย แต่ด้วยข้อบังคับตาม UPOV 1991 นั้น กำหนดให้ผู้ทรงสิทธิในพันธุ์พืชคุ้มครองที่ถูกผู้อื่นนำไปศึกษาวิจัย สามารถอ้างสิทธิในผลงานการวิจัยหรือในพันธุ์พืชใหม่ที่พัฒนขึ้นนั้นได้ หากพิสูจน์ได้ว่าพันธุ์พืชใหม่ที่ได้ มิได้มีความแตกต่างอย่างสำคัญจากพันธุ์พืชคุ้มครอง พันธุ์พืชใหม่ที่เกิดจากการวิจัยก็จะตกเป็นสิทธิของผู้ทรงสิทธิเดิม ในฐานะที่เป็น “พันธุ์พืชที่ได้มาจากพันธุ์พืชคุ้มครอง” (essentially derived varieties) (TDRI, 2017) และมีการขยายระยะเวลาคุ้มครองสายพันธุ์พืชถึง 20 ปี ทำให้นักพัฒนาพันธุ์ในไทยพัฒนาสายพันธุ์ต่อก็ทำไม่ได้เพราะมีระยะเวลาคุ้มครองยาวนาน ข้อผูกมัดทางกฎหมายนี้ทำให้วิถีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ของเกษตรกรอินทรีย์รายย่อยถูกทำลายไป

Rice Farmers in Thailand. © Vinai Dithajohn / Greenpeace
© Vinai Dithajohn / Greenpeace
  • ห้ามขายผลผลิตหรือแปรรูปแล้วขายโดยไม่แบ่งผลกำไรแก่เจ้าของพันธุ์

หากคุณเป็นเกษตรกรปลูกข้าว ที่บังเอิญเป็นสายพันธุ์ที่ใกล้เคียงกับพันธุ์ของบริษัทที่จดทะเบียนไว้ (ไม่ได้แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ) ผลิตผลข้าวที่ได้มานั้นก็จำเป็นต้องแบ่งผลกำไรให้กับเจ้าของพันธุ์ตามกฎหมาย และไม่ใช่เพียงแค่เมล็ดข้าว ยังรวมไปถึงผลิตภัณฑ์ที่ได้จากข้าว ไม่ว่าจะเป็นข้าวเปลือก รำข้าว ฟาง หรือการนำไปแปรรูปอย่างเส้นก๋วยเตี๋ยว ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงจากการที่เกษตรกรทั่วไปที่เป็นเพียงผู้ปลูก-จำหน่ายจะต้องซื้อและแบ่งปันผลประโยชน์ให้กับเจ้าของพันธุ์ การผลิตอาหารตลอดทั้งระบบห่วงโซ่อุปทานโดยธุรกิจระดับเล็กไปจนถึงระดับกลางจะได้รับผลกระทบและถูกครอบครองโดยอุตสาหกรรมอย่างสิ้นเชิง

  • ความอ่อนแอของสายพันธุ์ การปนเปื้อนสารเคมี และ GMO

ข้อบัญญัติที่ระบุไว้ว่า “เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมการปรับปรุงพันธุ์” และตัดข้อกำหนดกระบวนการรับรองความปลอดภัยทางชีวภาพและการแสดงที่มาของสารพันธุกรรมสำหรับพันธุ์พืชดัดแปลงพันธุกรรมที่ประสงค์ขอรับการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่นั้นเป็นการเปิดโอกาสให้นำพันธุ์พืชพื้นเมืองของไทยไปใช้ประโยชน์ โดยที่ไม่จำเป็นต้องผ่านกระบวนการรับรองความปลอดภัย และสามารถนำกลับมาทำผลประโยชน์จากเกษตรกรและผู้บริโภคได้ เป็นการเปิดทางสะดวกให้กับความเสี่ยงต่อสุขภาพของผู้บริโภคและความหลากหลายทางชีวภาพ ทำให้คนไทยต้องเสี่ยงกับผลิตภัณฑ์อาหารที่ปนเปื้อน GMO 

ธรรมชาติเป็นผู้สร้างสรรค์สายพันธุ์ทั้งพืชและสัตว์มาอย่างหลากหลาย แต่การผูกขาดทางการตลาดจะทำให้ความหลากหลายนี้ลดลง ไม่ว่าจะเป็นการผลิตเชิงอุตสาหกรรมที่เน้นพืชผักเพียงไม่กี่ชนิด เช่นที่เราอาจรู้จักกันเพียง ผักบุ้ง คะน้ำ ข้าวโพด กะหล่ำปลี ทั้งที่จริงแล้วประเทศไทยมีพืชผักผลไม้นับพันสายพันธุ์ 

2nd Year of 'We Grow' Project in Bangkok. © Roengchai  Kongmuang / Greenpeace
© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

การคัดเลือกของบริษัทเป็นการคัดเลือกที่ตรงข้ามกับการเลือกของบรรพบุรุษเรา มีการเปลี่ยนแปลงดัดแปลงให้พืชพึ่งพาสารเคมี หรือฮอร์โมน บางชนิดเพื่ออยู่รอด ต้องการน้ำมากขึ้น มีอายุสั้นลง อาจมีการทนทานต่อแมลงชนิดหนึ่ง แต่จำเป็นต้องใช้สารเคมีตามที่ระบุไว้ เป็นต้น ซึ่งเราอาจเห็นจากตัวอย่างปัจจุบันในการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์ภายใต้บริษัทมอนซานโต (Monsanto) บริษัทเมล็ดพันธุ์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลกซึ่งร่วมกับซีพีทำเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด การผูกขาดเช่นนี้ทำให้เปลี่ยนวิถีชีวิตการพึ่งพาตนเองให้กลายเป็นหนี้สินตลอดระบบ ตั้งแต่การซื้อเมล็ด การปลูก สารเคมีเลี้ยงดูให้เติบโต ตลอดจนถึงผลผลิต ผลประโยชน์เหล่านี้ตกอยู่กับบริษัท เปลี่ยนผืนดินไทยเป็นอุตสาหกรรมเกษตรขนาดใหญ่ เกษตรกรและผู้บริโภคต้องรับผลกระทบทางสุขภาพ ในขณะที่ต้องจ่ายแพงขึ้นให้กับอาหาร

อีกข้อหนึ่งที่แม้ไม่ระบุในอนุสัญญาหรือข้อตกลงใด แต่อาจจะเป็นผลพวงที่ตามมาคือ กลไกการรับซื้อของภาครัฐและบริษัทอาจมาพร้อมกับการจำกัดและผูกขาดโดยบริษัท แม้เกษตรกรจะยังผลิตและส่งต่อสายพันธุ์บางชนิดได้ แต่กลไกการรับซื้อของภาครัฐก็มีส่วนกำหนดว่าผลผลิตจากสายพันธุ์ได้จะสามารถทำรายได้ให้กับเกษตรกร

ความมั่นคงทางอาหารคือการมีเมล็ดพันธุ์เป็นของตนเอง คือการที่คนธรรมดาทั่วไปสามารถเพาะปลูกและส่งต่อเมล็ดพันธุ์ที่เป็นทรัพยากรจากธรรมชาติได้ เราคงไม่อยากให้ประเทศไทยถูกผูกมัดทางกฎหมายให้บริษัทยักษ์ใหญ่ยึดครองเมล็ดพันธุ์ของไทย การเข้าร่วมภาคี CPTPP คือการริดรอนอธิปไตยทางอาหารครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ สร้างความเสียหายต่อระบบเกษตรกรรมและสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง

การเก็บและส่งต่อพันธุ์พืชไม่ใช่และไม่ควรเป็นอาชญากรรม แต่การเข้าถึงเมล็ดพันธุ์ คือสิทธิพื้นฐานของเราทุกคน เราจำเป็นต้องคัดค้านการเข้าร่วมภาคี CPTPP และข้อตกลงการค้าที่ริดรอนอธิปไตยทางอาหารของเราให้ถึงที่สุด

ที่มาข้อมูล

1.เปิดข้อตกลงการค้าเสรี CPTPP คืออะไร ทำไมไทยไม่ควรเข้าร่วม? https://waymagazine.org/cptpp_fta/

2.กฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชฉบับใหม่ – ใครได้ประโยชน์ https://tdri.or.th/2017/11/plant-varieties-act/

3. คู่มือทำความเข้าใจ GMOs-UPOV 1991 ฉบับง่าย

https://prachatai.com/journal/2013/11/49998

เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านชนิดถั่ว © Peter Caton / Greenpeace
หยุดทำลายความมั่นคงทางอาหาร #NoCPTPP

ร่วมส่งเสียงบอกนายกรัฐมนตรี/คณะรัฐมนตรีให้ยุติการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ในทันที เพื่อปกป้องสิทธิของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพของไทย จากการครอบงำของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย และบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก

มีส่วนร่วม