ทำไมถึงต้องกังวล หากเมล็ดพันธุ์จะถูกจดสิทธิบัตรและถูกครอบครองโดยบริษัท?

ข้อกังวลสำคัญหากประเทศไทยเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) คือการยอมรับอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ซึ่งรายละเอียดสำคัญของเงื่อนไขใน UPOV1991 คือ หากเราเก็บเมล็ดพันธุ์ไปปลูกต่อเพื่อขายโดยไม่ได้รับอนุญาตจะถือเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย โดยที่ไม่ได้จำกัดเพียงแค่พันธุ์พืชที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ แต่ยังมีขอบเขตรวบถึงสายพันธุ์ที่ยังมีลักษณะสำคัญของพันธุ์พืชใหม่ของบริษัทไปปรากฏอยู่ และสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์มาจากพันธุ์พืชใหม่พันธุ์นั้น  ผลกระทบดังกล่าวนี้จะส่งผลถึงชีวิตเกษตรกรไทยทั่วประเทศ ซึ่งนอกจากจำเป็นจะต้องเปลี่ยนวิถีการทำเกษตร ต้องมีค่าใช้จ่ายมากขึ้น หันมาซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัททุกฤดูกาลเพื่อให้สามารถขายผลผลิตของตนได้ แทนที่จะเป็นการเก็บและพัฒนาเมล็ดพันธุ์ตามแต่ภูมิปัญญาชุมชน เนื่องจากหากไม่ทำตามก็ไม่อาจขายผลผลิตได้อย่างถูกกฎหมาย นอกจากนี้ยังถูกผูกขาดการแปรรูปผลผลิตต่าง ๆ ตั้งแต่ยา สมุนไพร ไปจนเส้นก๋วยเตี๋ยว

แต่ว่าสิ่งเหล่านี้จะส่งผลกระทบระยะยาวอย่างไรต่อความหลากหลายทางชีวภาพและความมั่นคงทางอาหารของเรา

เนื้อหาในอนุสัญญา UPOV1991 ทำลายการคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ มักเอื้อผลประโยชน์ทางการค้าของบริษัทเมล็ดพันธุ์ยักษ์ใหญ่ของโลกมากกว่า ทำให้เกษตรกรในประเทศของเราไม่สามารถทำตามวิถีเดิมได้ เนื่องจากจะเป็นทั้งการละเมิดทางกฎหมาย และกระบวนการรับซื้อผลิตภัณฑ์ทางเกษตรโดยนโยบายกลไกทางราคาและกองทุนกู้ยืมของภาครัฐเองก็มีแนวโน้มที่จะปรับตามเพื่อสนับสนุนบริษัท กลุ่มที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุดคือเกษตรอินทรีย์ เพราะเมล็ดพันธุ์ที่ส่งเสริมตามระบบแบบ UPOV1991 นั้นส่วนใหญ่พัฒนาขึ้นเพื่อตอบสนองต่ออุตสาหกรรมเกษตรเชิงเดี่ยว และกระจุกตัวอยู่ในบริษัทไม่กี่บริษัท 

Tree Planting Activity in Chiang Dao, Thailand. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
เมล็ดกล้าไม้จากเกษตรกร © Chanklang Kanthong / Greenpeace

สิ่งที่ตามมาพร้อมกับการยอมรับอนุสัญญา UPOV1991 คือ การยกเลิกกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช 2542 ทั้งฉบับ โดยทางมูลนิธิชีววิถี (Biothai) ได้วิเคราะห์ไว้ว่าจะเป็นการแก้ไขนิยามของพันธุ์พืชพื้นเมืองใหม่จนไม่มีความเป็นไปได้เลยที่พันธุ์พืชประเภทดังกล่าวจะได้รับการคุ้มครอง นอกจากนี้พันธุ์พืชจีเอ็มโอที่ขอรับการคุ้มครองไม่ต้องผ่านการประเมินความปลอดภัยก่อน (ข้อมูล: Biothai) ซึ่งเมื่อกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืชหายไป การคุ้มครองพันธุ์พืชพื้นเมืองก็หมดไป ผลกระทบจะตกอยู่กับเกษตรกรรายย่อยมากที่สุด ในทางกลับกันบริษัทเมล็ดพันธุ์ข้ามชาติก็เล็งที่จะจดสิทธิบัตร ในที่สุดเกษตรกรก็จำเป็นต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมเกษตรยักษ์ใหญ่เพื่อซื้อเมล็ด กระบวนการเหล่านี้ส่งเสริมการเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตรเชิงเดี่ยว เน้นการผลิตพืชบางชนิด ผลที่ตามมาคือนักปรับปรุงพันธุ์รายย่อยสามารถต่อสู้ได้ยาก มีผลกระทบต่อพืชพันธุ์ที่หลากหลายดั้งเดิม และหันไปสนับสนุนพืชเพียงบางชนิด ท้ายที่สุดแล้วตลาดก็จะอยู่ในมือของบริษัทยักษ์ใหญ่

ภูมิประเทศของไทยและวิถีชีวิตของเกษตรกรไทยตั้งแต่อดีตมานั้นคือสิ่งที่เกื้อกูลกัน เกิดการพัฒนาและส่งต่อพันธุ์พืชอาหารที่แข็งแรง รสชาติดี แต่การจดสิทธิบัตรของบริษัทต่างชาติคือการที่สามารถนำพืชพรรณพื้นบ้านของเราที่เดิมทีเคยหยิบมาได้ตามธรรมชาตินั้น ไปขึ้นทะเบียนเป็นสมบัติของบริษัท และนำกลับมาขายให้กับเกษตรกรไทยในรูปแบบของเมล็ดพันธุ์ที่มีสิทธิบัตร 

บริษัทมีสิทธิ แต่เกษตรกรและประชาชนไม่เหลือสิทธิ

ความตกลง CPTPP จึงไม่ใช่แค่เรื่องการค้าเสรี แต่เป็นใบผ่านมอบ ’เสรี’ ภาพให้กับบริษัทอุตสาหกรรมในการเป็นเจ้าของและสร้างเม็ดเงินจากทรัพยากรของประเทศคู่ค้า และ  UPOV1991 คืออนุสัญญาที่ทำให้เมล็ดพันธุ์อยู่ที่ศูนย์กลางการแย่งชิงการครอบครองระหว่างบริษัทต่าง ๆ โดยที่เกษตรกรรายย่อยไม่มีอำนาจอะไรต่อกร ข้อตกลงทางการค้าเช่นนี้จึงไม่ใช่ภัยคุกคามเฉพาะแค่เกษตรกรไทย แต่เป็นปัญหาของเกษตรกรรายย่อยทั่วโลก ต่อกรกับอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ทางการเกษตร และการครอบครองระบบอาหาร

Mango Farmer in Rayong Province in Thailand. © Luke Duggleby / Greenpeace
เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงในจังหวัดระยอง © Luke Duggleby / Greenpeace

ความหมายของเมล็ดพันธุ์คือชีวิต สำหรับเกษตรกร คุณค่าของเมล็ดพันธุ์คือความต่อเนื่องของชีวิต จากเมล็ดนึง งอกงามเป็นต้นและผลผลิต และเก็บเมล็ดนั้นใช้ต่อในฤดูกาลถัดไปไม่มีสิ้นสุด แต่สำหรับบริษัทคุณค่าของเมล็ดพันธุ์คือการหยุดชีวิตไว้ที่หนึ่งเมล็ด บริษัทเมล็ดพันธุ์ต่าง ๆ จึงพยายามพัฒนาเมล็ดที่ไม่สามารถไปปลูกต่อไป (ซึ่งเราอาจจะพบว่าผลไม้บางลูกที่เราลองเพาะเมล็ดหลังกินเสร็จเมล็ดนั้นจะไม่งอกเงย) 

ดร.วันทนา ศิวะ กล่าวถึงการครอบครองเมล็ดพันธุ์โดยบริษัทไว้ว่า “การกล่าวอ้างของบริษัทว่าเป็นผู้ ‘ผลิต’ ชีวิตนั้นไม่เป็นธรรมอย่างสิ้นเชิง เนื่องจากธรรมชาติและเกษตรกรของประเทศโลกที่สามนั้นคือผู้ที่สร้างสรรค์เมล็ดพันธุ์ที่บริษัทต้องการเป็นเจ้าของ และบอกว่าเป็นนวัตกรรมของตน เป็นทรัพย์สินส่วนบุคคลของบริษัท การจดสิทธิบัตรเมล็ดพันธุ์ที่เป็นมรดกและสมบัติของประเทศในโลกที่สามนั้นจึงเป็นการปล้นของอุตสาหกรรมข้ามชาติ ที่ได้รับความช่วยเหลือโดยข้อตกลงทางการค้า” 

เมล็ดพันธุ์ที่จดสิทธิบัตรนั้นเชื่อมโยงกับเคมีการเกษตร เนื่องจากเมล็ดพันธุ์ถูกปรับเปลี่ยนพันธุกรรมบางส่วน เคมีภัณฑ์บางชนิดจึงอาจจะจำเป็นต่อการเจริญเติบโต สิ่งที่หลายคนอาจไม่รู้คือความเชื่อมโยงระหว่างเมล็ดพันธุ์พืช GMOs และยากำจัดศัตรูพืช ตัวอย่างเช่นที่สหรัฐอเมริกา การดัดแปลงพันธุกรรมพืชในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมานั้นส่งผลให้ยอดการใช้ยากำจัดศัตรูพืชสูงขึ้น 404 ล้านปอนด์ (น้ำหนัก) นับจากปี 2549 โดยเจ้าของผลิตภัณฑ์นั้นก็เป็นบริษัทเดียวกันกับผู้ผลิตเมล็ด ผลที่ตามมานอกจากเป็นการปลูกพืชเชิงเดียวในระดับอุตสาหกรรมที่อาจมีการทำลายป่าไม้ในกระบวนการแล้ว ยังมีการใช้สารเคมีควบคู่กันอย่างเข้มข้น เป็นอันตรายต่อทั้งเกษตรกร สิ่งแวดล้อม และสัตว์ทุกชนิด และยังสามารถตกค้างในอาหารของเรา

Organic Rice Art at Ratchaburi in Thailand. © Greenpeace / Athit Perawongmetha
การปลูกข้าวอินทรีย์ในจังหวัดราชบุรี © Greenpeace / Athit Perawongmetha

การส่งต่อเมล็ดพันธุ์รุ่นต่อรุ่นของเกษตรกรในพื้นที่ต่าง ๆ ของประเทศไทย ทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพตามลักษณะภูมิอากาศและภูมิประเทศ เมื่ออิสระในการถือครองเมล็ดพันธุ์ตามธรรมชาติตกอยู่ในมือของคนจำนวนมาก การเลือกสรรสายพันธุ์ตามวิถีชีวิตย่อมส่งผลให้สายพันธุ์หลากหลาย คือความมั่นคงทางอาหารที่จะไม่ล่มสลายไปเพราะการดำรงอยู่ของพืชชนิดเดียว หรือสายพันธุ์เดียว แต่การถือของเมล็ดพันธุ์ของบริษัทเพียงหยิบมือย่อมขาดความหลากหลายที่สร้างสรรค์โดยธรรมชาติ และจะทำให้เรามีโอกาสสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพไปได้อย่างถาวร

การสูญสิ้นไปของความหลากหลายทางชีวภาพเป็นภัยที่น่าหวั่นเกรง องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุไว้ว่า ร้อยละ 75 ของความหลายหลายของเมล็ดพันธุ์พืชได้หายไปในช่วงปี ค.ศ.1900-2000 ตัวอย่างที่เห็นชัดคือประเทศสหรัฐอเมริกาที่มีการถือครองสิทธิในเมล็ดพันธุ์ของบริษัทเกษตรยักษ์ใหญ่ ตัวเลขการสูญเสียความหลากหลายของสายพันธุ์นั้นสูงถึงร้อยละ 93 ในช่วงเวลาเพียง 80 ปี

ข้อมูลที่รวบรวมโดย fastcompany.com เล่าว่า จากปีค.ศ.1903 ที่อเมริกาเคยมีสายพันธุ์ผักกาดมากถึง 544 สายพันธุ์ และแรดิช 463 สายพันธุ์ กลับลดลงเหลือเพียง 28 และ 27 สายพันธุ์ในปี 1983 หรือ 80 ปีให้หลัง ซึ่งน่าเสียดายที่มนุษย์รุ่นหลังไม่มีโอกาสสัมผัสพืชผักผลไม้รสเลิศที่อาจหล่นหายไป ไม่ใช่เพราะกาลเวลา แต่เพราะมีการครอบงำของระบบอาหารโดยบริษัทยักษ์ใหญ่ของโลกเพียงหยิบมือ ซึ่งปัจจุบันยักษ์ใหญ่สุดที่ครองตลาดเมล็ดพันธุ์ถึงครึ่งหนึ่งทั่วโลกนั้นมีเพียง 3 บริษัท คือ DowDuPont, Bayer-Monsanto และ Syngenta-ChemChina

การทำเกษตรอินทรีย์ เป็นวิถีเกษตรกรรมเชิงนิเวศที่เน้นความหลากหลายของสายพันธุ์ มีการอนุรักษ์พันธุ์พืชควบคู่ไปกับการดูแลระบบนิเวศ ทั้งดิน น้ำ ป่า รวมถึงแมลง ซึ่งจะเป็นทางออกที่ยั่งยืนต่อทั้งผู้ผลิต เกษตรกร ผู้บริโภค และการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศโดยที่ไม่ทำร้ายทรัพยากรส่วนรวมของทุกคน และชีวิตของประชาชนที่ต้องพึ่งพิงความอุดมสมบูรณ์ของระบบนิเวศ 

เศรษฐกิจที่เติบโตสำหรับระบบนิเวศแล้วไม่ใช่เม็ดเงิน แต่คือความหลากหลายของชีวิต การมองข้ามเศรษฐกิจในระดับรากหญ้าและเศรษฐกิจของระบบนิเวศจึงถือเป็นความล้มเหลวในการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขาดการมองเห็นผลกระทบอย่างรอบด้าน และไม่ตอบโจทย์ต่อการวัดการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวหากปราศจากการคำนึงถึงความเหลื่อมล้ำที่จะเกิดขึ้นระหว่างเกษตรกรและกลุ่มทุน บวกกับความมั่นคงทางอาหารที่จะสูญไป

ข้อมูลอ้างอิง 

1. มูลนิธิชีววิถี, ‘พ.ร.บ.คุ้มครองพันธุ์พืช พ.ศ.2542 ความเป็นมาและหลักการสำคัญ’, 2556. biothai.net/node/16895

2. V. Shiva, ‘Women’s Indigenous Knowledge and Biodiversity Conservation’. 2014

3. C. Gillam, ‘Pesticide use ramping up as GMO crop technology backfires: study’, Reuters, 2 October 2012. www.reuters.com/article/us-usa-study-pesticides/pesticide-use-ramping-up-as-gmo-crop-technology-backfires-study-idUSBRE89100X20121002

4. FastCompany.com, ‘Infographic: In 80 Years, We Lost 93% Of Variety In Our Food Seeds’, 5 November 2012. https://www.fastcompany.com/1669753/infographic-in-80-years-we-lost-93-of-variety-in-our-food-seeds

5. FAO, ‘What is Happening to Agrobiodiversity?’,1999.  http://www.fao.org/3/y5609e/y5609e02.htm

เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านชนิดถั่ว © Peter Caton / Greenpeace
หยุดทำลายความมั่นคงทางอาหาร #NoCPTPP

ร่วมส่งเสียงบอกนายกรัฐมนตรี/คณะรัฐมนตรีให้ยุติการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ในทันที เพื่อปกป้องสิทธิของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพของไทย จากการครอบงำของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย และบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก

มีส่วนร่วม