กรีนพีซ ญี่ปุ่น พูดคุยกับ นายฮาราดะ ฮิโรชิ อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมา (Hiroshima Peace Memorial Museum) และผู้รอดชีวิตจากเหตุระเบิดปรมาณูเพื่อรับฟังเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น

ร่างของผู้คนต่างกระจัดกระจายไปทั่วพื้นดิน หลายร่างทอดกายเกยทับกันและกัน มากมายเสียจนผมไม่อาจบอกได้ว่ามีจำนวนเท่าไร บางคนอาจจะยังมีลมหายใจอยู่ เสียงครวญครางลอดมาให้ผมได้ยิน มันคือเสียงร้องครั้งสุดท้ายก่อนที่พวกเขาจะสิ้นลมหายใจหรือเปล่าผมก็ไม่อาจจะทราบได้แน่ชัด

“เร็วเข้า! หลบไป”

เปลวไฟพวยพุ่งขึ้นสู่ฟากฟ้า มันกำลังลุกโหมอยู่เบื้องหลังผม ส่วนเบื้องหน้า ผู้คนต่างนอนแผ่อยู่ทั่วพื้น ซ้อนทับกัน หากผมอยากมีชีวิตรอด ผมต้องเคลื่อนที่ไปข้างหน้า มันไม่มีที่ให้ผมเดินเลย ผมจึงต้องเหยียบย่ำลงไปร่างของผู้คนบนพื้นเหล่านั้นในขณะที่ผมพยายามจะวิ่งหนี ผิวหนังบนร่างของพวกเขาละลาย ทำให้เท้าผมลื่นและจมหายไปในร่างเนื้อเหล่านั้น ผมพยายามยกขาขึ้นและเคลื่อนที่ไปข้างหน้าอย่างหมดหวัง ถ้าผมไม่ก้าวต่อไป ผมก็จะโดนแผดเผาจนตาย ผมรู้สึกได้ถึงแรงบดขยี้จากความกลัว แต่ผมก็ยังคงไม่หยุดเท้าที่มุ่งไปข้างหน้า 

ทั้งหมดที่กล่าวมาคือความทรงจำที่แผดเผาอยู่ภายในใจของ ฮิโรชิ ฮาราดะ (81ปี) ผู้ซึ่งเผชิญกับเหตุระเบิดปรมาณูที่เขตอาซามินามิ ในเมืองฮิโรชิม่า เมื่อ 75 ปีก่อน

ฮาราดะ ฮิโรชิ อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมา ซึ่งเมื่อ 75 ปีที่แล้ว ได้เผชิญกับเหตุระเบิดปรมาณูที่สถานีฮิโรชิมา ห่างจากศูนย์กลางการระเบิด 2 กิโลเมตร © Greenpeace

ย้อนกลับไปในช่วงเช้าของวันที่ 6 สิงหาคม ปี 1945 (พ.ศ. 2488) ฮาราดะ ในวัย 6 ขวบ กำลังยืนอยู่กับพ่อแม่บนชานชาลาของสถานีรถไฟฮิโรชิมา 2 กิโลเมตรจากศูนย์กลางการระเบิด เขาและครอบครัวกำลังรออพยพออกจากเมืองฮิโรชิมาไปยังชนบท รถไฟกำลังเคลื่อนขบวนมาถึง แต่จู่ ๆ ฮานาดะและครอบครัวก็โดนโอบล้อมไปด้วยแสงสว่างจ้าและแรงระเบิดในอากาศอย่างรุนแรง เขาจำได้ว่า เห็นกำแพงและเพดานของตัวอาคารสถานีร่วงหล่นลงมาทับเขา

ทันทีที่เขาหาทางคลานออกมาจากซากปรักหักพังและมองไปรอบ ๆ เขาเห็นเพียงท้องฟ้าที่ดำมืดขมุกขมัว และซากของอาคารสถานีที่ตั้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวไร้สีสัน โชคดีว่า เขาได้รับการปกป้องจากโครงสร้างที่แข็งแกร่งมั่นคงของสถานี “ผมไม่ได้รับบาดเจ็บร้ายแรงใด ซึ่งต้องขอบคุณคุณพ่อของผมที่กอดผมไว้แน่นเพื่อปกป้องผมจากระเบิด แต่พวกเขาก็พลัดหลงกับคุณแม่” เปลวเพลิงปะทุขึ้นไปทั่วทุกหนทุกแห่ง และไฟก็ลุกลามอย่างรวดเร็ว

คุณพ่อของฮาราดะได้รับบาดเจ็บที่แผ่นหลัง แต่เขาก็กัดฟันนำพาเด็กชายฮาราดะหลบหนีออกมาได้ ซึ่งฮาราดะจำได้ว่า ต้องรอถึง 3 วัน กว่าจะได้พบกับแม่ของเขา

“การที่ต้องโดนเปลวไฟไล่ล่า แม้กระทั่งตอนนี้ ผมก็ยังไม่สามารถลืมความน่าสะพรึงที่รู้สึกในขณะนั้นได้” ฮาราดะกล่าว ขณะหลับลงเล็กน้อย หวนรำลึกถึงความทรงจำขณะพูดคุยกับเรา

สื่อสารกับโลก และเผชิญหน้ากับความจริงที่โหดร้าย

หลังสิ้นสุดสงคราม ฮาราดะสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย และเข้าทำงานเป็นเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของเมืองฮิโรชิมา ก่อนที่ต่อมาในปี 2536 เขาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการของพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมา

“ผมไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องกับสันติภาพจนถึงตอนนั้น ผมไม่แน่ใจว่าผมจะสามารถทำหน้าที่ตามบทบาทที่ได้รับมาอย่างดีหรือไม่”

พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมา © Greenpeace

เพียงไม่นานหลังเข้ารับตำแหน่ง ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์อากาศและอวกาศแห่งชาติสหรัฐ ฯ ของสถาบันสมิธโซเนียน (วอชิงตัน ดีซี) ได้เดินทางมาเยือนพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพแห่งนี้เพื่อขอทำเรื่องของยืมวัสดุเกี่ยวกับระเบิดปรมาณูไปจัดงานนิทรรศการในสหรัฐอเมริกา เนื่องในโอกาสรำลึกครบรอบ 50 ปีของการสิ้นสุดสงครามโลก

สหรัฐอเมริกาเชื่อมั่นอย่างมากว่า ระเบิดปรมาณูคือตัวช่วยสำคัญที่เร่งให้สงครามสิ้นสุดลง ขณะนั้น ความเห็นของประชาชนในญี่ปุ่นมีความเห็นที่แตกแยกเกี่ยวกับการให้ยืมวัสดุที่เกี่ยวกับระเบิดปรมาณูอย่างมาก บางคนเชื่อว่า วัสดุเหล่านี้จะให้ผลสรุปไปที่การเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงพลังของระเบิดปรมาณู ขณะที่บางส่วนรู้สึกว่า แม้จะทำให้เห็นพลังของระเบิด กระนั้น ผู้คนทั้งหลายก็สมควรต้องรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นบนพื้นดินจากระเบิดปรมาณูลูกนั้น

ในระหว่างการเจรจา ฮาราดะยืนกรานความรู้สึกของตนเองในขณะนั้นว่า “อาจจะไม่มีโอกาสอีกแล้วที่จะบอกผู้คนนอกประเทศญี่ปุ่นเกี่ยวกับสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงสงคราม หรือบอกพวกเขาเหล่านั้นให้รู้ซึ้งว่าการใช้ระเบิดปรมาณูหมายถึงอะไร” อีกทั้งเมื่อสัมผัสได้ถึงความจริงใจของข้อเรียกร้องของทางพิพิธภัณฑ์สหรัฐฯ ถึงขนาดที่ตัวแทนของทางฝั่งนั้นมาเยือนเมืองฮิโรชิมาเป็นครั้งที่สอง ทำให้เทศบาลท้องถิ่นตัดสินใจตอบตกลงที่จะให้ยืม

อย่างไรก็ตาม ในท้ายที่สุดแล้ว นิทรรศการระเบิดปรมาณูที่ว่านี้ ต้องโดนยกเลิกไปเนื่องจากระแสต่อต้านภายในสหรัฐอเมริกา สิ่งนี้ทำให้ฮาราดะตระหนักถึงหลุมลึกที่ยังคงมีอยู่ แม้ว่าเวลาจะล่วงเลยมาถึงครึ่งศตวรรษหลังจากสงครามสิ้นสุดลงแล้วก็ตาม

สามปีต่อมา ในปี 2539 การเดินหน้าขึ้นทะเบียนโดมเกนบาคุ(Genbaku Dome) ในฐานะสิ่งปลูกสร้างที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมโลกของยูเนสโก (UNESCO World Heritage Site) ได้มาถึงช่วงเวลาสำคัญ โดย ฮาราดะ ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งด้านกิจการระหว่างประเทศและสันติภาพแห่งเมืองฮิโรชิมา และรับหน้าที่เป็นในผู้ดำเนินการยื่นเรื่องขึ้นทะเบียน ต้องเผชิญหน้ากับแรงต่อต้านจากทั้งสหรัฐอเมริกากับจีน เกี่ยวกับการขึ้นทะเบียนสถานที่ดังกล่าว

สวนบริเวณพิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สันติภาพฮิโรชิมา © Greenpeace

“ผมคิดว่า การขอขึ้นทะเบียนของเราจะโดนขัดขวางอีกครั้ง”

ฮาราดะต้องเผชิญกับอุปสรรคขั้นแรกที่มีอยู่ เมื่อพยายามเผยแพร่ข้อมูลไปยังนานาประเทศ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว ทางสหรัฐฯ ขอแยกตัวออกจากการตัดสินใจดังกล่าว ส่วนจีนประกาศไม่ขอรับตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ทำให้ โดมเกนบาคุ โดมได้รับการขึ้นทะเบียนอย่างเป็นทางการในฐานะแหล่งมรดกโลกของยูเนสโก ในเดือนธันวาคมปีเดียวกันนั้นเอง

การประสบพบเจอกับความท้าทายที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารข้อความไปยังเวทีนานาชาติ ทำให้ ฮาราดะ สำนึกได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องส่งผ่านต่อไปยังคนรุ่นใหม่ รวมถึงตระหนักในบทบาทของเขา และบทบาทของเมืองฮิโรชิมา ในการบอกเล่าให้ผู้คนได้รับทราบถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับเมืองฮิโรชิมาในวันนั้น

ความทรงจำเกี่ยวกับระเบิดปรมาณูกำลังเลือนราง

จากวันนั้นจนกระทั่งถึงวันนี้ ฮาราดะยังคงรำลึกถึงความทรงจำในวันนั้นอยู่ตลอด

เทศบาลเมืองฮิโรชิมาประเมินว่า ในช่วงสิ้นเดือนธันวาคม ปี 2488 มีประชาชนเสียชีวิตเนื่องจากได้รับผลกระทบจากรังสีของระเบิดปรมาณูราว 140,000 คน ส่วนผู้ที่รอดชีวิตมาได้ ไม่เพียงต้องทุกข์ทรมานจากอาการได้รับรังสีอย่าง ไข้และอาเจียนคลื่นไส้เท่านั้น แต่ยังทนทุกข์จากผลกระทบนานาประการในระยะยาว ฮาราดะยังมุ่งมั่นที่จะบอกเล่าเรื่องราวของเขา เพื่อที่ผู้คนจะได้รู้ว่าจริงๆ แล้ว เกิดอะไรขึ้นในเมืองฮิโรชิมา มากกว่ามองเห็นเมืองฮิโรชิมาเป็นแค่จุดเล็ก ๆ บนแผนที่

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้รอดชีวิตทุกคนที่จะบอกเล่าประสบการณ์ที่พวกเขาได้รับเหมือนกับที่ฮาราดะทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้รอดชีวิตส่วนน้อยที่อยู่ในพื้นที่ภายในรัศมี 2 กิโลเมตรจากศูนย์กลางการระเบิด ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด “ผมคิดว่า มันน่าจะมีน้อยกว่า 1% ของผู้รอดชีวิตเหล่านั้น” ฮาราดะกล่าว

“ตามความสัตย์จริง ผมเลือกที่จะไม่พูดถึงมันหากเป็นไปได้ เพราะเมื่อผมพูดถึงมัน ไม่ว่าผมจะต้องการหรือไม่ก็ตาม มันเหมือนผมโดนบังคับให้หวนนึกถึงสิ่งที่ผมเห็นในวันนั้น คุณต้องใช้พลังใจและความแน่วแน่ในการพูดถึงประสบการณ์ของคุณในฐานะผู้รอดชีวิต นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมผู้รอดชีวิตหลายคนจึงเลือกที่จะไม่พูดถึงมัน”

ภาพถ่ายของ ฮิราดะ ฮิโรชิ เมื่อเริ่มเรียนชั้นประถมศึกษา หนึ่งปีหลังจากเหตุระเบิด © ฮาราดะ ฮิโรชิ

จำนวนผู้รอดชีวิตจากเหตุระเบิดปรมาณูกำลังลดน้อยถอยลงไปอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกันความทรงจำเกี่ยวกับเหตุระเบิดที่กำลังเลือนรางไปพร้อมกับพวกเขา โดยข้อมูลจากกระทรวงสุขภาพ แรงงานและสวัสดิการญี่ปุ่น พบว่า จำนวนชาวญี่ปุ่นที่มีคู่มือผู้รอดชีวิตจากระเบิดปรมาณูมีมากที่สุดในช่วงสิ้นปี 2523 ที่ 372,364 คน ก่อนลดจำนวนลงนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และมาอยู่ที่ 136,682 คนในช่วงสิ้นปี 2562 ถือเป็นตัวเลขที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เริ่มจัดทำหนังสือคู่มือครั้งแรกในปี 2500 ขณะที่อายุโดยเฉลี่ยของผู้รอดชีวิตก็จัดได้ว่ามากที่สุดเท่าที่เคยมีมาที่ 83.31 ปี

“ผมอายุ 6 ขวบ เมื่อตอนที่เผชิญกับระเบิด คนรุ่นหลังจากผมไปจะไม่มีประสบการณ์ตรงเกี่ยวกับระเบิดให้พูดถึงอีกต่อไป และคนที่แก่กว่าผม มีเพียงส่วนน้อยที่ยังคงสามารถแบ่งปันเรื่องราวของพวกเขาได้ ทุกวันนี้ยังคงมีความทรงจำที่มีชีวิตหลงเหลืออยู่มาก แต่ในอีก 3 ปี ความทรงจำมากมายเหล่านี้จะหายสาบสูญไปทั้งหมด” ฮาราดะกล่าวอย่างเร่งเร้า

หน้าที่ที่เร่งด่วนในการเปิดเผยความทรงจำ และเชื่อมโยงจุดต่างๆ เหล่านั้น

ขณะนี้ ผู้รอดชีวิตหลายรายต่างออกมาพูดเกี่ยวกับประสบการณ์ของพวกเขา และสถานที่อย่าง เมืองฮิโรชิมา ก็กำลังบันทึกคำให้การจากความทรงจำเหล่านั้น ขณะเดียวกัน ยังมีโครงการริเริ่มอื่นๆ อีกมาก เพื่ออนุรักษ์ประสบการณ์ตรงของผู้คนจากเหตุระเบิดปรมาณู ยกตัวอย่างเช่น การสนับสนุนโครงการท่องเที่ยวเชิงสันติภาพ ที่พาเยี่ยมชมอาคารต่างๆ และสถานที่ที่โดนระเบิด หรือ การฝึกอบรมเพื่อสร้าง “นักเก็บความทรงจำ” (memory keepers)

ฮาราดะชี้ให้เห็นว่า “มีบางสิ่งบางอย่างที่เราต้องทำอย่างเร่งด่วนก่อนสิ่งอื่นใด และการบันทึกประสบการณ์ของผู้คนเกี่ยวกับระเบิดปรมาณูส่วนมากยังคงเป็นเพียงจุดที่กระจัดกระจาย หากเราสามารถลากเส้นเชื่อมโยงจุดเหล่านั้นให้ออกมาเป็นรูปภาพได้ ก็จะสามารถเปิดเผยเรื่องราวเรื่องใหม่ได้

ถ้าหากว่าเราสามารถเชื่อมโยงความทรงจำของแต่ละคนเข้าไว้ด้วยกัน ตัวอย่างเช่น การนำเรื่องราวของผู้คนที่อยู่ในพื้นที่บริเวณเดียวกันในช่วงทิ่เกิดระเบิดปรมาณู เราก็อาจจะสามารถเปิดเผยสิ่งที่ก่อนหน้านี้แม้แต่เราเองก็ไม่เคยใส่ใจรับรู้ ซึ่งหนทางที่ว่านี้จะช่วยเราในการบันทึกความจริงที่เกิดขึ้นในวันนั้น นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมมันเป็นถึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่พวกเราจะค้นหาและเปิดเผยประสบการณ์ของผู้คน

บริเวณที่อนุสรณ์สถานที่ระลึกผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์การทิ้งระเบิดปรมาณู © Greenpeace

ในช่วง 75 ปีนับตั้งแต่เกิดระเบิดปรมาณู ผู้รอดชีวิตบางรายที่ได้บอกเล่าเรื่องราวของพวกเขาอาจรู้สึกถึงจุดมุ่งหมายที่ต้องแบกรับการเป็นประจักษ์พยานของสิ่งที่เกิดขึ้น ในขณะที่อีกส่วนหนึ่งอาจยังคงนิ่งเงียบมานานหลายปีจากความเศร้ากับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น

สิ่งหนึ่งที่พวกเขาร่วมแบ่งปันร่วมกันก็คือความเชื่อที่ไม่มีวันสั่นคลอนว่า ความน่าสะพรึงของระเบิดปรมาณูจะต้องไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก ระเบิดปรมาณูไม่ใส่ใจว่าคุณจะมาจากไหน ไม่ใส่ใจว่าคุณเป็นทหารหรือพลเรือน เด็กหรือผู้ใหญ่ มันเพียงทำลายอนาคตของผู้คนมากมายนับไม่ถ้วนแบบไม่เหลือซากในทันที และแม้แต่คนที่รอดชีวิตมาได้ ชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนแปลงไปตลอดกาล เพราะบาดแผลที่ฝากรอยไว้บนร่างกายและจิตใจ

“ผมคิดว่าผมอาจเป็นหนึ่งในคนรุ่นสุดท้ายที่แบกรับการเป็นประจักษ์พยานของเหตุระเบิด ก่อนที่ทุกสิ่งทุกอย่างจะสูญหายไป ผมเพียงต้องการให้แน่ใจว่าความรู้สึกของเราจะสะท้อนก้องไปยังอนาคต”

ภาพท้องฟ้ามืดมิดขมุกขมัวที่เขาเห็นเหนือซากปรักหักพังของอาคารสถานี ภาพเปลวไฟที่ไล่ล่าเขา ความรู้สึกของการเหยียบย่ำบนซากศพ เป็นสิ่งที่ฮาราดะอธิบายกับเราว่าเป็นความทรงจำที่ยังคงอยู่กับเขาจนถึงทุกวันนี้ และตราตรึงอยู๋ในจิตสำนึกของเขา โดยฮาราดะตั้งมั่นที่จะเดินหน้าบอกเล่าเรื่องราวของเขาในวันนั้น ด้วยแรงจูงใจอย่างแน่วแน่กับความรู้ที่ว่า มนุษยชาติไม่ควรได้รับอนุญาตให้ใช้อาวุธนิวเคลียร์อีก

คืนอากาศดีให้คนไทย

เราทุกคนมีสิทธิเข้าถึงอากาศสะอาดและต้องการให้รัฐบาลกำหนดนโยบายที่เข้มแข็งมีประสิทธิภาพเพื่อปกป้องชีวิตผู้คนจากมลพิษทางอากาศ ร่วมผลักดันกรมควบคุมมลพิษเพื่อยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่ เพื่อปกป้องสุขภาพของคนไทย

มีส่วนร่วม