ตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมา สถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ได้ทำให้วิถีชีวิตของเราเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง มากที่สุดก็คือการสวมหน้าอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่ออกจากบ้าน รองลงมาก็คงเป็นการใช้ชีวิตในบ้านมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนจนมีกระแสของ Smart Home หรือบ้านอัจฉริยะที่จะช่วยให้เราใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น และหนึ่งในความ Smart Home นั้นก็คือบ้านที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศ หนึ่งในนั้นคือบ้านที่มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาเรือน หรือที่เราเรียกว่า โซลาร์ รูฟท็อป (Solar Rooftop)

แน่นอนว่าความต้องการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาเรือนนั้นมีมาก่อนหน้าที่เราจะต้องกักตัวอยู่กับบ้าน แต่เมื่อสถานการณ์บีบบังคับให้เราต้องใช้ไฟอยู่กับบ้านมากขึ้น ค่าไฟฟ้าที่ต้องจ่ายมากขึ้น จากที่ไม่เคยใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันเลยก็ต้องใช้มากขึ้น การติดตั้งโซลาร์เซลล์ก็ดูจะเป็นหนึ่งในวิถีใหม่ที่ดีกว่าเดิมเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าได้ในระยะยาว รวมทั้งยังได้ลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปพร้อมๆกันอีกด้วย

เราจึงรวบรวม 7 ขั้นตอนต้องรู้ในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป เพื่อให้ทุกคนที่อยากติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เข้าใจขั้นตอนก่อนการติดตั้งแผงให้มากขึ้น 

1.เช็คพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าในบ้านด้วย บิลค่าไฟฟ้าย้อนหลัง 3 เดือน – 1 ปี

ก่อนจะหาสเปคแผงโซลาร์เซลล์ หรือคิดว่าบ้านเราจะต้องติดตั้งกี่แผงดี? หยุดความคิดนั้นก่อน เพราะสิ่งที่ต้องทำอันดับหนึ่งคือต้องคำนวนว่าบ้านเราใช้ไฟฟ้ามากน้อยแค่ไหน ด้วยการดูบิลค่าไฟฟ้าย้อนหลัง 3 เดือน – 1 ปี เพราะพฤติกรรมการใช้ไฟฟ้าของเราจะเป็นเหมือนแนวทางให้เราสามารถตัดสินใจได้ว่าเราจะติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังผลิตเท่าไร

2.สำรวจปริมาณการใช้ไฟฟ้าทั้งกลางวันและกลางคืน

ลองดูว่าปริมาณที่เราใช้ไฟฟ้าในตอนกลางวันมากน้อยแค่ไหน เอามาเปรียบเทียบกับปริมาณการใช้ไฟฟ้าในตอนกลางคืน เราจะได้เห็นว่าถ้าเราจะสามารถลดค่าไฟฟ้าช่วงกลางวันไปได้เท่าไรหากติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป

3.เช็คค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง

สำหรับค่าใช้จ่ายในการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ขอเปรียบเทียบกับข้อมูล ดังนี้ หากเราต้องการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่มีกำลังติดตั้ง 1,000 วัตต์ จะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นที่ 25,000 บาท ถึง 35,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่รวมทุกๆอย่างแล้วทั้ง ค่าบริการติดตั้ง ค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตติดตั้ง ทั้งนี้ การติดตั้ง 1,000 วัตต์หรือ 1 กิโลวัตต์ สามารถลดค่าไฟฟ้าได้ประมาณ 500-800 บาทต่อเดือน

4.สำรวจพื้นที่สำหรับติดตั้งและการยื่นเรื่องขออนุญาตติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์

เมื่อเราสำรวจการใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน และเลือกปริมาณในการผลิตแล้ว ให้เราแจ้งขออนุญาตติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ที่เขตโยธาท้องถิ่นที่เราอาศัยอยู่ ทางเขตโยธาจะส่งวิศวกรมาสำรวจหลังคาบ้านของเราว่ามีความพร้อมติดตั้งหรือไม่ หรือจะต้องซ่อมแซมหลังคา หรือต้องเพิ่มเติมอะไรเพื่อให้ติดตั้งแผงได้โดยปลอดภัย หลังจากเช็คความพร้อมของหลังคาบ้านแล้ว เราจะต้องทำเรื่องขออนุญาตการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) หรือการไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)ในเขตพื้นที่ที่บ้านเราตั้งอยู่โดยส่งแบบแปลน 2 แบบไปให้การไฟฟ้าฯพิจารณา แบบที่1 เรียกว่า “ส่งแบบ Single Line Diagram” เป็นแปลนระบบไฟฟ้า และ 2 เป็นแปลนอินเวอร์เตอร์

5.ยื่นเรื่องกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน

เมื่อเราได้รับการพิจารณาจากเขตโยธาท้องถิ่น และการไฟฟ้าฯเรียบร้อยแล้ว ให้เรานำเอกสารที่ได้รับมายื่นเรื่องต่อไปที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพราะเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ รับเรื่องและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการขอใบอนุญาตการประกอบกิจการ พลังงานตามประเภท ขนาดและลักษณะของกิจการพลังงาน ตลอดจน ตรวจสอบการและสนับสนุนการดำเนินการตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขการออกใบอนุญาตทั้งก่อนและหลังในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ กกพ.จะพิจารณาว่าเราสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้หรือไม่

6.เริ่มติดตั้งโซลาร์เซลล์ 

ขั้นตอนที่ 6 นี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญเพราะเราจะต้องเริ่มขึ้นหลังคาแล้ว โดยเราจะต้องเตรียมตัวดังนี้

  • เลือกทีมช่างที่มีความชำนาญการ เลือกใช้บริษัทที่มีความน่าเชื่อถือ มีประวัติการติดตั้งและเคยรับงานมากน้อยแค่ไหนเล็กใหญ่แค่ไหน
  • เลือกใช้อินเวอร์เตอร์ที่มีคุณภาพ
  • เลือกแผงโซลาร์เซลล์และรุ่นของแผงที่เหมาะสม

เมื่อช่างมาติดตั้ง เราจะต้องเช็คว่าสิ่งที่ช่างแนะนำก่อนหน้านี้กับอุปกรณ์ที่นำมาติดจริงตรงกันหรือไม่ อย่างไรก็ดียังไม่ต้องกังวลไป เพราะจะมีวิศวกรจากโยธาเขตท้องถิ่นมาตรวจเช็คอีกครั้งว่าอุปกรณ์ได้มาตรฐานหรือไม่

7.การใช้งาน การดูแลรักษา และการรีไซเคิล

เมื่อติดตั้งแล้วเสร็จ ก็เป็นหน้าที่ของเราเจ้าของบ้านที่จะเป็นคนดูแลรักษา เบื้องต้นคือการล้างแผงโซลาร์เซลล์ไม่ให้มีฝุ่นหรือสิ่งสกปรกมาเกาะเพราะจะลดประสิทธิภาพการผลิตพลังงานไฟฟ้าของแผงโซลาร์เซลล์เพียงแค่ใช้น้ำสะอาดฉีดล้างและใช้ผ้าเช็ดให้แห้ง แผงโซลาร์เซลล์จะสามารถผลิตกระแสไฟฟ้าให้กับบ้านเรานานประมาณ 25 ปีโดยมาตรฐาน  (หากดูแลรักษาดีสามารถใช้งานนานถึง 30 ปี) เมื่อแผงโซลาร์หมดอายุการใช้งานแล้วก็จะต้องนำแผงเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแผงโซลาร์ซึ่งปัจจุบันมีเทคโนโลยีนำร่องที่สามารถรีไซเคิลแผงโซลาร์เซลล์ได้แล้ว

ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เราต้องรู้ก่อนติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน อย่างไรก็ดีแม้ว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในปัจจุบันนั้นเราสามารถเข้าถึงง่ายขึ้นเนื่องจากมีต้นทุนที่ถูกลง แต่ประชาชนเองยังต้องเป็นผู้แบกรับภาระค่าใช้จ่าย หรือผู้มีรายได้น้อยก็ยังไม่สามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ด้วยการลงทุนของตนเอง รวมทั้งยังต้องกลายเป็นส่วนหนึ่งของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพราะคงยังพึ่งพากระแสไฟฟ้าทั้งจากโรงไฟฟ้าถ่านหินและเชื้อเพลิงฟอสซิลขนาดใหญ่อีกด้วย 

กรีนพีซประเทศไทย ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กองทุนแสงอาทิตย์และมูลนิธินโยบายสุขภาวะจเสนอข้อเสนอการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยด้วยการ “ปฏิวัติพลังงาน 1 ล้านหลังคาเรือน ภายใน 3 ปี” นั่นคือการเอางบประมาณตามกรอบการใช้เงินเพื่อการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากผลกระทบโควิด-19ของประเทศมาพัฒนาด้านพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น โดยการนำเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์เข้ามาติดตั้งบนหลังคาครัวเรือน โรงเรียน และโรงพยาบาล โดยตั้งเป้าว่าพลังงานแสงอาทิตย์นี้จะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยไปพร้อม ๆ กับการชะลอวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่กำลังเป็นภัยคุกคามต่อเรา 

กรีนพีซจึงรณรงค์ร่วมผลักดันรัฐบาลนำงบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมหลังสถานการณ์โควิด-19ให้เป็นธรรมและยั่งยืน โดยลงทุนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปให้ครัวเรือน 1 ล้านหลัง โรงพยาบาล 8,170 แห่ง และโรงเรียน 31,021 แห่งทั่วประเทศภายในเวลา 3 ปี (พ.ศ.2564-2566) ทั้งนี้ยังผลักดันมาตรการ Net Metering สนับสนุนพลังงานหมุนเวียนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีสิ่งแวดล้อมที่น่าอยู่และยั่งยืน

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ต้องประกาศใช้ระบบ Net Metering

ร่วมเรียกร้องให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ออกมาตรการ net metering รับซื้อไฟฟ้าโซลาร์รูฟจากบ้านเรือนของประชาชนทั่วไป

มีส่วนร่วม