เราทุกคนมีสิทธิที่จะหายใจเอาอากาศที่ดีเข้าไป การใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีอากาศบริสุทธิ์คือสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์เมื่อกล่าวถึง ‘สิทธิมนุษยชน’ (Human Rights) เราอาจนึกถึงสิทธิในความรักและการแต่งงาน สิทธิในการนับถือศาสนา สิทธิในการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ฯลฯ แต่สิทธิอย่างหนึ่งที่เราอาจนึกไม่ถึงว่าเรามีคือ สิทธิในการมีอากาศที่ดีหายใจ ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับสิทธิของการมีชีวิตและเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่มีคุณภาพ

หลายเดือนที่ผ่านมา คนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครต้องตื่นตัวและตื่นตกใจกับวิกฤตฝุ่น PM2.5 ที่สูงเกินค่ามาตรฐาน พุ่งไปอยู่ในระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพและไม่ดีต่อสุขภาพอย่างมาก ส่งผลกระทบต่อผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจ เด็กและผู้สูงอายุเริ่มมีปัญหาด้านระบบหายใจและภูมิแพ้จากฝุ่นควัน ซึ่งข้อมูลจาก Institute for Health and Education มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ระบุว่า มลพิษทางอากาศก่อให้เกิดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรในประเทศไทยประมาณ 50,000 คนต่อปี และก๊าซโอโซนพื้นผิวและฝุ่นละอองคือมลพิษสองชนิดหลักที่เป็นภัยคุกคามร้ายแรงที่สุดต่อสุขภาพอนามัยของคนในประเทศไทย

ความล่าช้าในการให้ข้อมูลด้านดัชนีคุณภาพอากาศที่ถูกต้องและเป็นจริงของภาครัฐนี้ถือเป็นอีกหนึ่งการละเลยถึงสิทธิและเสรีภาพของประชาชนที่ต้องได้รับข้อมูลที่ทันต่อเหตุการณ์และเป็นจริง เพื่อนำไปสู่การปกป้องตัวเองให้ปลอดภัยจากฝุ่นควันต่อไป

 

ความอันตรายของฝุ่นควันไม่เพียงอยู่ในอากาศเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวโยงไปถึงอาหารการกินและทารกในครรภ์ด้วย จากการสำรวจของมูลนิธิบูรณะนิเวศ พบว่ามีปรอทตกค้างเกินมาตรฐานในเส้นผมถึง 99% ในพื้นที่จ.ระยอง จ.ปราจีนบุรี และเสี่ยงต่อระบบประสาทกับการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ นอกจากนี้ยังพบปลาช่อนในพื้นที่ 82% เกินค่ามาตรฐาน และมีไข่ไก่จากพื้นที่เขตพัฒนาอุตสาหกรรมพบสารพิษปนเปื้อนสูงเกินมาตรฐาน ซึ่งจะก่อให้เกิดโรคและการเจ็บป่วยต่างๆ เช่น การเกิดโรคมะเร็ง โรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ โรคผิวหนัง ระบบสืบพันธุ์ทำงานผิดปกติ ทำลายระบบประสาท โดยเฉพาะพัฒนาการทางสมองของเด็ก ทำให้ทารกแรกเกิดเสียชีวิตเนื่องจากปอดบกพร่องและเจริญเติบโตผิดปกติ ฯลฯ

กลุ่มคนภาคเหนือถือเป็นอีกกลุ่มที่ประสบปัญหามลพิษทางอากาศมานานหลายทศวรรษ ปัญหาหมอกควันทางภาคเหนือมักเกิดขึ้นในช่วงฤดูร้อน ในเดือนมีนาคม – พฤษภาคมของทุกปี โดยเฉพาะเชียงใหม่ที่มีแนวโน้มว่าจะหนักขึ้นเรื่อยๆ จนมีคำพูดตลกร้ายกันว่า ‘เชียงใหม่มี 4 ฤดูกาล นั่นคือ ฤดูหมอกควัน’ ด้วย


เมื่อภาครัฐยังคงนิ่งเฉยต่อการแก้ไขปัญหา นักวิชาการและภาคประชาสังคมจึงต้องออกมาเรียกร้องสิทธิของตนเองในการมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ เช่นล่าสุด กลุ่ม Citylife Chiang Mai ได้ออกมาประกาศนัดรวมตัวมาร่วมกันเอาอากาศของเราคืนมา Right to Breathe Gatheringเพื่อทวงคืนอากาศบริสุทธิ์อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคน แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วการรวมตัวจะไม่เกิดขึ้นเนื่องจากจุดประสงค์ถูกบิดเบือนไปว่าเป็นการทำให้เสียภาพลักษณ์ของจังหวัดเชียงใหม่ ทำให้เกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยว แต่เจตนารมณ์อันชัดเจนของกลุ่มที่ต้องการให้เชียงใหม่กลับมามีอากาศที่ดีดังเดิมก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสิทธิของการมีอากาศที่ดีและถือเป็นการจุดประกายการเคลื่อนไหวด้านอากาศให้เบ่งบานในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี

เตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้แสดงความเห็นต่อการเคลื่อนไหวของประชาชนในการเรียกร้องสิทธิขั้นพื้นฐานนี้ว่า “มนุษย์ทุกคนต้องมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ เพราะมันเป็นสิทธิเรื่องสิ่งแวดล้อม มนุษย์ต้องอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และสามารถจัดการใช้ประโยชน์และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติได้ สิทธิเหล่านี้ได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญของไทยทุกฉบับ และโดยกติการสหประชาชาติ เมื่อมีการเคลื่อนไหวของภาคประชาสังคม ภาครัฐควรฟังที่เจตนาว่าเขาต้องการสื่อสารอะไร และร่วมกันแก้ที่ต้นเหตุ ไม่ให้เกิดสภาวะหมอกควันหรือฝุ่นละอองในอากาศ แต่ไม่ใช่บิดเบือนข้อมูล ซึ่งมันไม่ช่วยแก้ปัญหา พี่อยากเห็นการเจรจา พูดคุยกันมากกว่าการใช้กฏหมายในทันทีทันใด”

“คนไทยเรามีความตื่นตัว หรือพลเมืองตื่นรู้ (active citizen) มากที่สุดในรอบ 17 ปีที่มีการจัดตั้งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมา ดิฉันเห็นการเติบโตของการเป็นพลเมืองที่รับผิดชอบต่อสังคมและหลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะผู้หญิงและวัยรุ่นก็มีส่วนร่วมด้วย การเคลื่อนไหวในปัจจุบันที่มีสื่อโซเชียลมีเดียเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลข่าวสารมากขึ้นกว่าแต่ก่อน ภาครัฐก็ยิ่งต้องระมัดระวัง จะถือกฏหมายอย่างเดียวแต่ไม่ชอบทำก็คงไม่ได้แล้ว” คุณเตือนใจให้ความเห็นในภาพรวมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวภาคประชาชนของไทย


ปัญหามลพิษทางอากาศเกิดขึ้นทั่วทุกมุมโลก เราจึงได้เห็นการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนเพื่อกระตุ้นภาครัฐให้ออกมาตรการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศในมองโกเลีย หรือเพื่อแสดงออกถึงความล้มเหลวของรัฐในการจัดการปัญหาที่ฝรั่งเศส และเรายังได้เห็นความขันแข็งของรัฐบาลประเทศต่างๆ ในการหามาตรการเพื่อลดมลพิษทางอากาศด้วย อาทิ ลอนดอน ประเทศอังกฤษออกมาตรการเก็บค่ามลพิษ (Toxicity Charge or T-charge) ที่ผู้ใช้รถยนต์ซึ่งซื้อก่อนปี 2549 จะต้องชำระค่ามลพิษเพิ่มเติม 10 ปอนด์ หรือราว 450 บาท เมื่อต้องวิ่งผ่านใจกลางเมืองลอนดอนในช่วงเวลา 7 นาฬิกาถึง 18 นาฬิกา, กรุงปารีสประกาศงดเก็บค่าบริการจอดรถในที่จอดรถสาธารณะ โดยหวังจูงใจให้ผู้ขับขี่ทิ้งรถยนต์ส่วนตัวเอาไว้ แล้วหันมาใช้บริการขนส่งสาธารณะแทน เยอรมนีทุ่มงบเพื่อพัฒนาระบบขนส่งมวลชนสาธารณะให้มีประสิทธิภาพ เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะกันมากขึ้น ฯลฯ

ในขณะที่ต่างประเทศมีการเคลื่อนไหวอย่างขะมักเขม้นทั้งภาคประชาสังคมและภาครัฐ เพื่อควบคุมฝุ่นพิษในอากาศ หันกลับมาดูประเทศไทยที่การเคลื่อนไหวยังถูกจำกัด และการแก้ปัญหาเป็นไปอย่างล่าช้า โดยคำตอบล่าสุดหลังจากการเรียกร้องของกรีนพีซและภาคประชาชน คือ จะต้องรออีกถึงอีกราว 3 ปี ในการจัดการกับประเด็น PM2.5 ไม่ทันการณ์ที่ฝุ่นควันพิษ PM2.5 ทำร้ายร่างกายของประชาชนอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

“ประชาชนมีสิทธิในการดำรงชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี และเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ รัฐไทยมีมาตรการเชิงป้องกันน้อยมาก เช่น เราไม่มีการตรวจวัดแหล่งที่มาของมลพิษทางอากาศ ไม่มีการมอนิเตอร์สิ่งที่อาจเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การคมนาคมขนส่ง และไทยยังไม่มี PRTR (Pollutant Release and Transfer Registers) คือ การเปิดเผยแหล่งกำเนิดมลพิษแบบเรียลไทม์ที่จะบอกเลยว่าแหล่งก่อมลพิษอยู่ที่ไหน ปล่อยอะไรบ้าง ซึ่งฝุ่นก็รวมอยู่ในนั้นด้วย ตอนนี้ในต่างประเทศเริ่มใช้กันแล้ว ถ้าประเทศไทยมีเครื่องมือเหล่านี้จะทำให้คนเห็นภาพชัดเจนว่ามลพิษมาจากไหน และรู้สึกตระหนักถึงภัยคุกคามของฝุ่นพิษที่มีผลต่อสุขภาพมากขึ้น”

สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ให้ความเห็นเกี่ยวกับเทคโนโลยีการจัดการมลพิษทางอากาศในประเทศไทย

“เมื่อมีปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นแล้วประชาชนออกมาเคลื่อนไหว รัฐก็จะเริ่มสกัดโดยใช้กลไกทางกฏหมาย และใช้มาตรการข่มขู่ให้หยุดการรวมตัว ในต่างประเทศจะมีกฏหมายที่เอาผิดการแกล้งฟ้องค่ะ คือเอาผิดผู้ที่ฟ้องคนอื่นเพื่อให้หยุดแสดงความคิดเห็น หรือหยุดร้องเรียนในประเด็นนั้นๆ และศาลจะมีบทลงโทษผู้แกล้งฟ้องอย่างชัดเจน ฉะนั้นคนที่จะฟ้องก็ต้องคิดเยอะขึ้น เพราะเขาอาจมีความผิดด้วย แต่ไทยยังไม่มี กฏหมายนี้เกิดขึ้นเพราะเขาให้ความสำคัญกับการแสดงความคิดเห็น เพราะมันเป็นสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานอย่างหนึ่งในการรวมตัวเพื่อตั้งคำถามในประเด็นที่ประชาชนห่วงกังวล ในต่างประเทศจึงมีมาตรการออกมาคุ้มครองผู้ที่ใช้สิทธิโดยสุจริต”

“ประเทศไทยยังคงโฟกัสที่คำว่าความสามัคคีคือต้องเห็นด้วยทั้งหมด ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ สังคมยังไงก็ต้องมีความเห็นต่าง มันเป็นเรื่องปกติ และการจัดการความเห็นต่าง คือต้องฟังกันและช่วยกันจัดการปัญหา แต่สังคมไทยในปัจจุบันไม่ฟังปัญหา พอเกิดการรวมตัวเพื่อสะท้อนปัญหาใหญ่ กลับโดนรัฐบาลสกัดการรวมตัว มันเลยกลายเป็นการปกปิดปัญหาแล้วสะสมปัญหาไปเรื่อยๆ ซึ่งก็คงคล้ายกับการสะสมมลพิษทางอากาศ ซึ่งถ้าคุณละเลยการจัดการ มันจะยิ่งสะสมและยากต่อการแก้ไขในอนาคต” คุณสุภาภรณ์ทิ้งท้ายให้คนได้ฉุกคิดถึงปัญหามลพิษทางอากาศไว้อย่างน่าสนใจ

คงถึงเวลาที่เราในฐานะพลเมืองของสังคมต้องลุกขึ้นมาทบทวนสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานในการใช้ชีวิตอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดีภายใต้อากาศบริสุทธิ์ และช่วยกันส่งเสียงไปถึงภาครัฐให้ออกมาตรการจัดการกับปัญหานี้อย่างจริงจัง ปัญหามลพิษทางอากาศไม่สามารถแก้ไขได้โดยใครหรือองค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่เป็นเราทุกคนที่จะต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อยืนหยัดสิทธิอันชอบธรรมของตนเองในการมีอากาศที่ปราศจากฝุ่นพิษหายใจ ในเมื่อเรายังคงเดินริมฟุตบาท ออกกำลังกายตามสวนสาธารณะ ไปรับลูกหลานที่โรงเรียน ฯลฯ เราย่อมหลีกเลี่ยงการหายใจเอามลพิษเข้าไปไม่ได้ ความอันตรายของมลพิษทางอากาศไม่เลือกปฏิบัติและไม่เลือกเวลา มันจ้องทำลายทุกชีวิตและทุกคน แล้วเราพร้อมทวงคืนสิทธิอันชอบธรรมของเราในการมีอากาศที่บริสุทธิหายใจหรือยัง

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม