การยึดอำนาจของบรรษัทยักษ์ใหญ่

ความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ CPTPP มีจุดเริ่มต้นจากความตกลง Trans-Pacific Partnership(TPP) ซึ่งเป็นข้อริเริ่มของสหรัฐอเมริกาตามยุทธศาสตร์ในสมัยประธานาธิบดีบารัค โอบามาที่ต้องการล้อมกรอบจีน[1] หลังจากสหรัฐอเมริกาถอนตัวไปในปี 2560 มีการรีแบรนด์ TPP ภายใต้ชื่อ CPTPP [2] โดยรัฐภาคีที่เหลืออีก 11 ประเทศ (TPP-11) คือ ออสเตรเลีย บรูไนดารุสซาลาม แคนาดา ชิลี ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ เปรู สิงคโปร์ และเวียดนาม ภายใต้การนำของญี่ปุ่น

มีการเจรจาโดยรัฐบาล 12 ประเทศในความตกลง TPP เป็นเวลา 5 ปี (ปี 2556-2560) เมื่อมีการเผยแพร่เอกสาร 30 ข้อบท (Chapter) ที่มีความยาวมากกว่า 6,000 หน้าออกสู่สาธารณะ ความตกลง TPP ที่เรียกว่าเป็นความตกลงทางการค้ารุ่นใหม่และมีมาตรฐานสูงแห่งศตวรรษที่ 21 ก็เผยให้เห็นโฉมหน้าอันอัปลักษณ์ที่แท้จริง เครือข่ายภาคประชาสังคมในอเมริกาเหนือภายใต้แคมเปญ Trade for the People and Planetระบุว่าแท้ที่จริงแล้ว TPP คือการเจรจาลับทางการค้าโดยมีที่ปรึกษาของบริษัทอุตสาหกรรม 600 แห่งเข้ามาเกี่ยวข้อง[3]

Trade for the People and Planet ระบุว่า ความตกลง TPP ดังกล่าวเป็นตัวบ่อนทำลายประชาธิปไตยโดยเอื้อให้เหล่าบรรษัททั้งหลายเข้ามีอิทธิพลต่อชีวิตของผู้คนในทุกมิติ ตั้งแต่ความมั่นคงทางอาหารไปจนถึงสิ่งแวดล้อม สิทธิคนงานและการเข้าถึงบริการสาธารณสุข

ขบวนการสหภาพแรงงานในอเมริกาเหนือยั่วแย้งว่า “ถ้าคุณชอบ NAFTA(เขตการค้าเสรีแห่งอเมริกาเหนือ) คุณจะรัก TPP”[4] และถ้าจะกล่าวให้ถึงที่สุด TPP เป็นมากกว่าความตกลงทางการค้า มันคือการยึดอำนาจของบรรษัทยักษ์ใหญ่ของโลก [5] 

กรกฎาคม 2559 นักกิจกรรมจากกลุ่มแนวร่วมต่างๆ รวมถึง Beyond Extreme Energy ท้าทายนโยบายที่เป็นจุดอ่อนของพรรคเดโมแครตในเรื่องวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และใช้ปฏิบัติการตรงเพื่อขวางประตูสำนักงานใหญ่ของพรรคเดโมแครต (Democratic National Convention) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และเรียกร้องให้พรรคการเมืองเก่าแก่นี้ยืนเคียงข้างผู้คนและโลก แทนที่จะเป็นอุตสาหกรรมเจาะก๊าซธรรมชาติบนบก(Fracking) และยุติความตกลง Trans Pacific Partnership (TPP)

เนื้อหาของ CPTPP นั้นมี TPP เป็นพื้นฐาน กลุ่ม TPP-11 ลงนามความตกลง CPTPP เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2561 หลังจากเจรจากันใหม่นานกว่าหนึ่งปี แม้ว่าในทางเทคนิคจะเป็นความตกลงทางการค้าฉบับใหม่ แต่ประเทศภาคี CPTPP ได้ระงับมาตรา/ข้อบทสำคัญไว้ทั้งหมด 22 ประเด็น ข้อบทที่ถูกระงับส่วนใหญ่ถูกแทรกลงในข้อบท TPP ต้นฉบับตามความต้องการของทีมเจรจาสหรัฐอเมริกาเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในประเทศ และหนึ่งในข้อบทที่ยังคงไว้เหมือนเดิมไม่ว่าจะอยู่ใน TPP หรือ CPTPP คือด้านสิ่งแวดล้อม [6]

ข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมที่อ่อนแอ

กันยายน 2556 อาสาสมัครกรีนพีซพายคายักไปตามครีบปลาฉลามที่โผล่พ้นน้ำในทะเลสาบริมทะเลของเมืองเวลลิงตัน โดยเป็นส่วนหนึ่งของงานศิลปะจัดวางในสัปดาห์ shark awareness ครั้งแรกของนิวซีแลนด์ กิจกรรมสนับสนุนโดย New Zealand Shark Alliance ซึ่งเรียกร้องให้ยุติการจับสัตว์น้ำพลอยได้ซึ่งมีปลาฉลามและตัดครีบมาขายโดยโยนส่วนที่เหลือทิ้งทะเล

ในเดือนตุลาคม 2559 Matthew Rimmer ศาสตราจารย์ด้านกฎหมายทรัพย์สินทางปัญญาและนวัตกรรม คณะนิติศาสตร์แห่ง Queensland University of Technology จัดทำบทวิเคราะห์เพื่อเสนอต่อคณะกรรมาธิการวุฒิสภาด้านการต่างประเทศและการค้าแห่งออสเตรเลีย ระบุถึง 10 ประเด็นสำคัญดังนี้ [7]

  1. เนื้อหาในข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมใน TPP นั้นล้มเหลวในการที่จะปกป้องสิ่งแวดล้อมในภูมิภาครอบมหาสมุทรแปซิฟิก
  2. ขาดกระบวนการเพื่ออภิปรายและปรึกษาหารืออย่างเปิดกว้าง โปร่งใสและเป็นประชาธิปไตยในข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมใน TPP
  3. TPP ล้มเหลวในการเสริมสร้างความเข้มแข้งของกรอบความตกลง พหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ
  4. ข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมใน TPP ขาดการบังคับใช้มาตรฐานและเกณฑ์ด้าน สิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง
  5. ข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมใน TPP นำมาใช้ได้น้อยมากเพื่อปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพในภูมิภาครอบมหาสมุทรแปซิฟิก
  6. ข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมใน TPP มีเนื้อหาที่อ่อนแอในด้านมหาสมุทรและ การประมงทะเล ตัวอย่างเช่น เม็กซิโกและมาเลเซียเป็นหนึ่งใน 10 ประเทศที่เกี่ยวข้องกับการล่าปลาฉลามทั่วโลกมากกว่า 25% (ระหว่างปี 2545 ถึง พ.ศ. 2554) ขณะที่สิงคโปร์เป็นผู้ส่งออกครีบปลาฉลามรายใหญ่เป็นอันดับ 4 (ระหว่างปี 2543 ถึง 2552) เปรูและชิลีเป็นผู้ส่งออกหลักของผลิตภัณฑ์ปลาฉลาม ส่วนสิงคโปร์ มาเลเซียและเวียดนามเป็น 1 ใน 6 ประเทศหลักที่บริโภคหูฉลาม อย่างไรก็ตาม TPP ไม่ได้ขอให้ประเทศภาคีใช้มาตรการเฉพาะใดๆ เพื่ออนุรักษ์ปลาฉลาม แม้ว่าประเทศเหล่านั้นควรดำเนินการ “ตามความเหมาะสม” รวบรวมข้อมูล จำกัดการจับสัตว์น้ำพลอยได้ มาตรการบรรเทาผลกระทบ หรือการห้ามค้าหูฉลาม
  7. ข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมใน TPP ล้มเหลวในทำให้เกิดการอนุรักษ์ธรรมชาติที่เข้มแข็งจริงจัง
  8. เนื้อหาว่าด้วยการค้าด้านบริการสิ่งแวดล้อม ในภาพรวมของข้อบทด้าน สิ่งแวดล้อมใน TPP ส่งเสริมการค้าเทคโนโลยีสกปรกพอๆ กับเทคโนโลยีสะอาด
  9. ข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมใน TPP ล้มเหลวในการกล่าวถึงและต่อกรกับวิกฤต สภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการยกเลิกเงินอุดหนุนอุตสาหกรรม เชื้อเพลิงฟอสซิล
  10. ข้อบทอื่นๆ ใน TPP ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุน ทรัพย์สินทางปัญญา การพัฒนา อุปสรรคเชิงเทคนิคของการค้าและการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ นั้นได้บ่อนทำลายนโยบายสิ่งแวดล้อม การพัฒนาที่ยั่งยืนและปฏิบัติการกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ

ในบทบรรณาธิการวารสารของ New Zealand Medical Association(NZMJ) เดือนมีนาคม 2561 หัวข้อ “Climate change, human health and the CPTPP” [8] Oliver Hailes นักวิชาการด้านกฎหมายที่กรุงเวลลิงตัน นิวซีแลนด์ ให้ความเห็นว่า ข้อบท 20.15 นั้นแตะประเด็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศแบบเลี่ยงๆ โดยรับรู้ว่า “การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำต้องมีการดำเนินการแบบรวมหมู่” และประเทศภาคี “จะต้องร่วมมือกันเพื่อจัดการกับเรื่องที่เป็นผลประโยชน์ร่วม” เช่น “การพัฒนาพลังงานหมุนเวียนที่สะอาด ใช้เทคโนโลยีและทางเลือกที่ปล่อยมลพิษต่ำและราคาสมเหตุผล” ประเด็นสิ่งแวดล้อมในข้อบท 20 รวมถึงมลพิษจากการเดินเรือที่มีต่อสิ่งแวดล้อมทางทะเล การหร่อยหรอของชั้นโอโซน การประมงเกินขนาด และการอนุรักษ์พืช สัตว์และทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้ Oliver Hailes เห็นว่า เมื่อพิจารณาจากจุดยืนทางกฎหมาย ความตระหนักที่เบาหวิวและความไม่แน่นอนของ “กรอบความร่วมมือด้านสิ่งแวดล้อม” ข้างต้นเหล่านี้ ย้อนแย้งอย่างชัดเจนกับกฎเกณฑ์ที่บังคับใช้ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อปกป้องผลกำไรของการลงทุนจากต่างประเทศ

กลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน (ISDS)

แม้ว่าเนื้อหาความตกลง CPTPP จะเชื่อมโยงกฎหมาย การขยายตัวทางเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกัน แม้รัฐบาลมีบทบาทในการกำกับดูแลการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติของภาคเอกชนในระดับประเทศ แต่ที่ผ่านมา กฎหมายระหว่างประเทศก็มีอิทธิพลต่อการดำรงไว้ซึ่งแนวทางเสรีนิยมใหม่ในยุคโลกาภิวัฒน์เพื่อครอบครองและแสวงประโยขน์จากทรัพยากร Oliver Hailes เห็นว่า นอกเหนือจากผลกระทบที่เฉพาะเจาะจง ความตกลง CPTPP จะจำกัดอำนาจของรัฐบาลในการกำกับดูแลผลประโยชน์สาธารณะ

ข้อบท 9 ใน CPTPP ว่าด้วยการลงทุน ประกอบด้วยสิทธิที่แข็งแกร่งและกว้างขวางสำหรับนักลงทุนต่างชาติ รวมถึงการคุ้มครองจากการเวนคืนโดยไม่มีค่าตอบแทน (ข้อบท 9.8) และการรับประกันที่เปิดกว้างไว้สำหรับ “มาตรฐานขั้นต่ำในการปฏิบัติ” (ข้อบท 9.6) ที่บังคับใช้ผ่านกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐกับเอกชน(ISDS)  กลไกนี้รวมอยู่ในข้อตกลงทางการค้าเพื่อช่วยแก้ไขข้อพิพาทระหว่างนักลงทุนต่างชาติและประเทศที่ไปลงทุน แต่ ISDS กลายเป็นวิกฤตความชอบธรรมเพราะมีโครงสร้างโน้มเอียงที่เอื้อต่อนักลงทุนข้ามชาติ [9]

ในกรณีของนิวซีแลนด์ Oliver Hailes มองว่า การคุ้มครองการลงทุนข้ามชาติภายใต้ความตกลง CPTPP นำเสนอกลไกลับๆ เพื่อจำกัดกระบวนการออกกฎหมายของประเทศ โดยทำให้บริษัทเอกชนสามารถฟ้องร้องรัฐบาลได้ หากรัฐบาลออกกฎหมายหรือข้อบังคับด้านสิ่งแวดล้อมที่นำไปสู่การลดทอนมูลค่าของทรัพย์สินหรือผลกำไร เช่น การลด ละ เลิกการขุดเจาะเชื้อเพลิงฟอสซิล  

การคุ้มครองดังกล่าวนี้ไม่ครอบคลุมถึงประชาชนและภาคธุรกิจในท้องถิ่น แต่จะครอบคลุม “ทรัพย์สินทุกรายการที่ [บริษัทต่างชาติ] เป็นเจ้าของหรือควบคุม ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อมที่เป็นเรื่องของการลงทุน รวมถึงจุดประสงค์ของทุนหรือทรัพยากรอื่นๆ การคาดการณ์ผลที่ได้หรือกำไร หรือสมมุติฐานด้านความเสี่ยง”(ข้อบท 9.1) นอกเหนือจากอสังหาริมทรัพย์และทรัพย์สินที่จับต้องได้ คำจำกัดความในเรื่องการคุ้มครองยังครอบคลุมเกือบทุกอย่างที่อาจเหมารวมเป็นสิทธิในทรัพย์สิน เช่น ใบอนุญาตตามกฎหมาย สิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องมือทางการเงิน เช่น หุ้นและอนุพันธ์ การจัดการ การผลิต สัมปทาน การแบ่งรายได้ และสัญญาอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกัน”  และ “ใบอนุญาต การอนุญาต ใบอนุญาต และสิทธิที่คล้ายคลึงกันตามกฎหมาย[ของประเทศ]”

Oliver Hailes วิเคราะห์อีกว่า การคุ้มครองนักลงทุนในความตกลง CPTPP ใช้ข้อสัญญามาตรฐาน(boilerplate safeguard) กล่าวคือ “การดำเนินการหลักการ ไม่เลือกปฏิบัติโดย [รัฐบาล] ที่ถูกออกแบบและนำไปใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์สาธารณะที่ชอบด้วยกฎหมาย เช่น สาธารณสุข ความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม นั้นไม่ถือว่าเป็นมาตรการเวนคืนทางอ้อม ยกเว้นในสถานการณ์ที่หายาก (rare circumstances)” (ภาคผนวก 9B.3(b))

ในรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาผลกระทบการเข้าร่วมความตกลง CPTPP สภาผู้แทนราษฎร กรมสนธิสัญญาและกฎหมายของไทยให้ข้อมูลว่า การประเมินความเสี่ยงที่ประเทศไทยจะถูกฟ้องร้องผ่านกลไก ISDS ภายใต้ความตกลง CPTPP นั้นจะต้องเปรียบเทียบกับความตกลงทางการค้าอื่น ๆ ที่ไทยมีอยู่แล้วกับสมาชิก CPTPP เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่นและสิงคโปร์ เป็นต้น ซึ่งความตกลงเหล่านั้นมีกลไก ISDS อยู่แล้ว ในกรณีที่นักลงทุนมีทางเลือกและต้องการฟ้องรัฐย่อมต้องประเมินว่า การฟ้องร้องภายใต้ความตกลงใดจะมีโอกาสชนะคดีมากที่สุด เมื่อประเมินแล้วจะเห็นว่า CPTPP ซึ่งเป็นความตกลงยุคใหม่มีข้อจำกัดมากกว่าความตกลงอื่น ๆ โดยมีข้อบทที่ให้พื้นที่รัฐในการกำหนดนโยบาย(policy space safeguards) มากกว่า และมีเงื่อนไขในการยื่นฟ้องคดีและเพิ่มรายละเอียดวิธีพิจารณาความ ของคณะอนุญาโตตุลาการ(procedural safeguards)ชัดเจนและรัดกุมมากยิ่งขึ้น หากนักลงทุนเลือกใช้ความตกลง CPTPP เพื่อฟ้องร้องประเทศไทย ก็จะเป็นผลดี เนื่องจาก CPTPP มีข้อบทที่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายรัฐในการต่อสู้คดี

ส่วนกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศของไทย ระบุว่า ไทยอาจเจรจาขอจัดทำ side letter เพื่อยกเว้นข้อกังวลเรื่อง ISDS ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการเจรจา ในกรณีของนิวซีแลนด์ ซึ่งทำ side letter กับ 5 ประเทศ เพื่อจำกัดการใช้กลไก ISDS ระหว่างกัน ได้แก่ ออสเตรเลีย เปรู เวียดนาม มาเลเซีย และบรูไน โดย side letter ระหว่างนิวซีแลนด์กับออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์กับเปรู กำหนดห้ามนักลงทุนใช้กลไก ISDS เพื่อฟ้องรัฐ ส่วน side letter กับอีก 3 ประเทศ ได้แก่ นิวซีแลนด์กับมเวียดนาม นิวซีแลนด์กับมาเลเซีย และนิวซีแลนด์กับบรูไนนั้นกำหนดเงื่อนไขให้มีการปรึกษาหารือระหว่างกันก่อน หากไม่สามารถตกลงกันได้ นักลงทุนจะใช้กลไก ISDS ฟ้องรัฐก็ต่อเมื่อได้รับความยินยอม (consent)จากรัฐก่อน

กรณีตัวอย่างข้างต้น Oliver Hailes ตั้งประเด็นว่า ให้สังเกตถึงข้อกำหนดที่เอื้อกับนักลงทุนทั้งหลายที่แฝงอยู่ในเนื้อหาที่เป็นข้อยกเว้น ดังต่อไปนี้ คือ “ไม่เลือกปฏิบัติ (non-discriminatory)” “ชอบธรรม(legitimate)”;  “ยกเว้นในสถานการณ์ที่หายาก(except in rare circumstances)”  Oliver Hailes ชี้ว่านักกฎหมายด้านการลงทุนที่ถูกฝึกฝนมาอย่างดี(และได้รับค่าจ้างเต็มที่) สามารถใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ดังกล่าวได้

คดีฟ้องร้องผ่านกลไก ISDS หลายคดีในระดับสากลมีขึ้นเพื่อท้าทายกฎหมายด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมในระดับประเทศ  ตัวอย่างเช่น บริษัทพลังงานแห่งหนึ่งของแคนาดาฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากสหรัฐอเมริกา 1.5 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใต้ข้อตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ(NAFTA) หลังจากที่รัฐบาลโอบามายกเลิกโครงการก่อสร้างท่อส่งก๊าซ Keystone XL ที่ต่อเชื่อมแหล่งทรายน้ำมันของแคนาดากับแหล่งน้ำมันในอ่าวเม็กซิโกจากความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมและวิกฤตสภาพภูมิอากาศ 

ดังนั้น แม้จะมีการรับรองอย่างเป็นทางการว่าข้อกังวลของ ISDS ได้รับการแก้ไขแล้ว การระงับในข้อบทการลงทุนอาจจะช่วยป้องกันนักลงทุนจากการใช้กลไก ISDS หากเป็นกรณีพิพาทที่เกี่ยวข้องกับสัญญาเอกชนกับรัฐบาล ซึ่งจะแตกต่างจากกรณีพิพาทที่เกี่ยวข้องกับมาตรการกำกับดูแลภาคสาธารณะ ยิ่งกว่านั้น มีแนวโน้มสูงว่าการระงับกลไก ISDS จะไม่เป็นผลหากสหรัฐอเมริกากลับเข้าร่วมความตกลง CPTPP ในภายหลัง ความเสียหายทางการเงินมากกว่า 85% ที่มาจากภาษีของประชาชนซึ่งรัฐบาลสหรัฐฯ ต้องจ่ายให้นักลงทุนภายใต้ความตกลงทางการค้าต่างๆ นั้นเป็นเรื่องข้อพิพาทด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

ในประเด็นเรื่อง ISDS เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการถูกฟ้องร้องจากบริษัทเอกชนอันเนื่องมาจากการที่รัฐบาลดำเนินการตามความตกลงพหุภาคีด้านสิ่งแวดล้อม และนโยบายและปฏิบัติการกอบกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ จึงมีข้อเสนอที่สำคัญคือ ให้แยกกลไก ISDS [10] ออกมาจากความตกลงทางการค้า

กระเทาะเปลือก #CPTPP ว่าด้วยการปนเปื้อนจีเอ็มโอ

มิถุนายน 2554 สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ข้าวไทย เครือข่ายชาวนาไทย และกรีนพีซ ร่วมยินดีกับแผนแม่บทข้าวของไทยที่เป็นร่างนโยบายที่มุ่งหวังให้ข้าวไทยปลอดจีเอ็มโอ กรีนพีซได้เปิดตัวงานศิลปะ 3 มิติขนาดยักษ์ที่แสดงถึงระบบเกษตรเชิงนิเวศที่มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ โดยเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นก่อนวันข้าวและชาวนาแห่งชาติในวันที่ 5 มิถุนายน เพื่อเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของประเพณีข้าวไทยและภูมิปัญญาของเกษตรกรไทยที่สามารถผลิตอาหารที่ปลอดภัยโดยไม่ต้องพึ่งจีเอ็มโอ

กรณีที่กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศอ้างว่าความตกลง CPTPP ไม่ได้เปิดให้สินค้าจีเอ็มโอเข้ามาปลูกได้โดยเสรีและไม่ทำให้ไทยต้องแก้กฎหมายภายใน เกี่ยวกับเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่ กรรณิการ์ กิจติเวชกุล รองประธาน FTA Watch ชี้แจงผ่านเฟซบุกเพจ FTA Watch[11] ว่า “ไม่ได้เป็นความจริงทั้งหมด”

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ขยายความว่า “ความตกลง CPTPP ภายใต้ข้อบท 2.27: Trade of Products of Modern Biotechnology นั้น มีเจตนาลดอุปสรรคในการค้าผลิตภัณฑ์จีเอ็มโอโดยตรง ถึงแม้ว่าจะไม่ทำให้ไทยต้องแก้กฎหมายภายในและระเบียบที่เกี่ยวข้อง แต่หากมีการปนเปื้อนของจีเอ็มโอ (Low Level Presence ) ความตกลง CPTPP ระบุให้ผู้ส่งออกดำเนินการต่างๆ ตามระเบียบและกฎหมายภายในของประเทศผู้ส่งออก และให้เป็นไปตามการประเมินความเสี่ยงและความปลอดภัยด้านอาหารของ CODEX ซึ่งเป็นการลดทอนอำนาจของไทยในการจัดการปัญหาการปนเปื้อนทางพันธุกรรมและสินค้าจีเอ็มโอที่ได้รับการรับรองในอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ พิธีสารว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพ (Biosafety Protocol) ภายใต้อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพนั้น  ประเทศผู้ส่งออกมีหน้าที่ต้องแจ้งแก่ประเทศผู้นำเข้า (prior informed consent) หากเป็นสินค้าจีเอ็มโอ และผู้นำเข้าสามารถปฏิเสธการรับผลิตภัณฑ์นั้นได้ตาม มาตรการป้องกันเอาไว้ก่อน (precautionary principle) หรือการคำนึงมิติด้านเศรษฐกิจสังคม (socio-economic consideration) โดยไม่ต้องยึดแนวทางการประเมินความเสี่ยงที่ต้องใช้หลักฐานทาง วิทยาศาสตร์อย่างเพียงพอแต่เพียงอย่างเดียวเพราะผลกระทบต่อความปลอดภัยทางชีวภาพและสุขภาพนั้นต้องใช้เวลายาวนานจึงจะเห็นผล นอกจากนี้ ในรายงานของกระทรวงสาธารณสุขยังกังวลด้วยว่า ในมาตราดังกล่าวของ CPTPP ยังได้เพิ่มขั้นตอนและกระบวนงานในการขออนุญาต เช่น การแจ้งข้อมูล หรือส่งรายงานประจำปี รวมถึงต้องมอบหมายให้มีผู้ดำเนินการตอบคำถามต่างๆ ต้องเพิ่มทรัพยากรทั้งบุคคลากรและงบประมาณในการจัดเตรียมมาตรการรองรับ เช่น ห้องปฏิบัติการตรวจวิเคราะห์ เครื่องมือและวิธีการตรวจวิเคราะห์ที่รวดเร็วแม่นยำ การจัดให้มีระบบการทวนสอบกลับที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดทำกระบวนการประเมิน ความเสี่ยงต่อผลิตภัณฑ์ประเภทสินค้าเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่”

เมื่อกระเทาะเปลือก CPTPP ออก แก่นแท้ของความตกลงทางการค้านี้ ก็หนีไม่พ้นการปกป้องผลประโยชน์ทางธุรกิจของนักลงทุน(ส่วนใหญ่คือบริษัทอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่ในประเทศและบรรษัทข้ามชาติ) โดยการจำกัดอำนาจนิติบัญญัติของรัฐบาลต่างๆ

กรีนพีซ ประเทศไทย ทำงานรณรงค์ #NoCPTPP ขณะนี้มีประชาชนกว่า 200,000 คน ร่วมลงชื่อเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลตัดสินใจยุติการเข้าร่วมข้อตกลง CPTPP อย่างถาวรในทันที และเรียกร้องให้มีการสร้างสมดุลและปรับโครงสร้างของกฏเกณฑ์ทางการค้าและการลงทุนขึ้นใหม่ หัวใจหลักของข้อตกลงการค้าใดๆ จะต้องบรรจุเรื่องความรับผิดชอบ ความโปร่งใสตรวจสอบได้ และภาระรับผิดของบรรษัท ตลอดจนภาระผูกพันที่มีผลบังคับใช้ทางกฏหมายสำหรับนักลงทุนและบรรษัท เราเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างประเทศ รวมถึงไอเดียต่างๆ ทำให้โลกของเราเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างและเชื่อมต่อกันมากขึ้น แต่การค้าจะต้องไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายในตัวเอง “การค้า” ควรเป็นวิธีการหรือแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งทำให้เราอยู่ในขอบเขตพื้นที่ที่ปลอดภัยและเป็นธรรมสำหรับมนุษยชาติ

อ่านเพิ่มเติม “จุดยืนของกรีนพีซว่าด้วยความตกลงทางการค้า

ร่วมลงชื่อเพื่อหยุดทำลายความมั่นคงทางอาหาร #NoCPTPP

อ้างอิง

[1] เอกสารประกอบการอภิปรายเกี่ยวกับความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิค (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership–CPTPP)โดย ดร.วิลาวรรณ มังคละธนะกุล อธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย https://treaties.mfa.go.th/pdf/(1)%20CPTPP.pdf

[2] “Climate change, human health and the CPTPP” บทบรรณาธิการวารสารของ New Zealand Medical Association(NZMJ) 9 March 2018, Vol 131 No 1471 https://www.nzma.org.nz/journal-articles/climate-change-human-health-and-the-cptpp

[3] TPP Corporate Insiders https://tradeforpeopleandplanet.org/tpp-corporate-insiders/  US’s controversial TPP proposal is smoking gun for corporate agenda https://www.bilaterals.org/?us-s-controversial-tpp-proposal-is 

[4] มรดก 20 ปีของเขตการค้าเสรีแห่งอเมริกาเหนือ(NAFTA)คือ การที่คนงานในสหรัฐอเมริกามากกว่า 845,000 คนถูกรับรองโดยความช่วยเหลือด้านการปรับการค้า (TAA) ว่าต้องตกงานเนื่องจากการนำเข้าแรงงานจากแคนาดาและเม็กซิโกหรือการย้ายโรงงานไปยังประเทศเหล่านั้น ในขณะเดียวกัน NAFTA มีส่วนทำให้เกิดแรงกดดันต่อค่าจ้างของสหรัฐฯ และความไม่เท่าเทียมกันของรายได้ของสหรัฐฯ เพิ่มมากขึ้น – NAFTA’s 20 year legacy and the fate of the Trans Pacific Partnership

[5] Jim Hightower, “The Trans-Pacific Partnership is not about free trade. It’s a corporate coup d’état—against us!” http://tradeforpeopleandplanet.org/trans-pacific-partnership-corporate-coup-detat-against-us/ 

[6] ข้อบทด้านสิ่งแวดล้อมของความตกลง CPTPP https://wtocenter.vn/upload/files/fta/174-ftas-concluded/175-cptpp-tpp11/177-full-text/20.-Environment-Chapter.pdf

[7] Matthew Rimmer and Matthew Rimmer, Greenwashing the Trans-Pacific Partnership: Fossil Fuels, the Environment, and Climate Change, 14 Santa Clara J. Int’l L. 488 (2016). Available at: https://digitalcommons.law.scu.edu/scujil/vol14/iss2/5

[8] Oliver Hailes, Climate change, human health and the CPTPP, March 2018 The New Zealand medical journal 131(1471):7-12.

[9] อ่านเพิ่มเติมเรื่อง ISDS ได้ที่ https://waymagazine.org/isds-basic101/ 

[10] Van Harten, Gus, “An ISDS Carve-Out to Support Action on Climate Change” (2015). Osgoode Legal Studies Research Paper Series. 113. http://digitalcommons.osgoode.yorku.ca/olsrps/113
[11] อ่านเพิ่มเติมใน สมุดปกดำ “เหตุใดประเทศไทยไม่ควรเข้า #CPTPP” จัดทำโดย FTA Watch ดาวน์โหลดได้ที่ https://t.co/AknMgUBJDK

เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านชนิดถั่ว © Peter Caton / Greenpeace
หยุดทำลายความมั่นคงทางอาหาร #NoCPTPP

ร่วมส่งเสียงบอกนายกรัฐมนตรี/คณะรัฐมนตรีให้ยุติการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ในทันที เพื่อปกป้องสิทธิของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพของไทย จากการครอบงำของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย และบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก

มีส่วนร่วม