14 กรกฎาคม 2563 – เครือข่ายเขียนอนาคตประเทศไทยและภาคีเครือข่ายทั่วประเทศ อ่านแถลงการณ์และยื่นหนังสือคัดค้านการเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ถึงนายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดการพิจารณาเข้าร่วมเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) โดยมีนายสุภรณ์ อัตถาวงศ์ กรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  เป็นผู้รับข้อเรียกร้อง © ธัชกร กิจไชยภณ / กรีนพีซ

ปรากฏการณ์ 1.4 ล้านแฮชแทก #NoCPTPP ซึ่งเป็นผลจากการขับเคลื่อนโดยเครือข่ายประชาชนและกลุ่มองค์กรต่างๆ และการร่วมลงชื่อนับแสนบน online petition เพื่อคัดค้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาที่ต้องการนำประเทศไทยเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ในด้านหนึ่ง สะท้อนถึงความไม่พอใจที่เพิ่มมากขึ้นต่อความล้มเหลวของผู้นำทางการเมืองในการบริหารประเทศ และในอีกด้านหนึ่งชี้ให้เห็นถึงความตื่นตัวของสาธารณชนที่เห็นว่า ระบอบการลงทุนและการค้าโลกภายใต้โลกาภิวัตน์สมัยใหม่ต้องแลกมาด้วยต้นทุนทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่ผู้คนและโลกของเราต้องแบกรับ

เช่นเดียวกับที่รัฐบาลหลายประเทศทั่วโลกบอกว่าการค้าต้องมาก่อน และมาตรฐานทางสังคมและสิ่งแวดล้อมตลอดจนกฎเกณฑ์ที่ออกแบบขึ้นเพื่อส่งเสริมและปกป้องผลประโยชน์สาธารณะนั้นจะเป็นอย่างไรก็ช่าง ในกรณี CPTPP รัฐบาลไทยอ้างถึงข้อดีของการเข้าร่วมข้อตกลงทางการค้านี้ว่าจะสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการค้า รักษาขีดความสามารถในการแข่งขันระดับโลก ยกระดับทางการค้าและการลงทุนให้กับประเทศไทย และขยายการค้าให้กับประเทศสมาชิก CPTPP โดยละเลยประเด็นการปกป้องสิทธิของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพของไทยจากการครอบงำของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทยและบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก

การแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการระหว่างประเทศ รวมถึงไอเดียต่างๆ ทำให้โลกของเราเป็นพื้นที่ที่เปิดกว้างและเชื่อมต่อกันมากขึ้น แต่การค้าจะต้องไม่ใช่เป้าหมายสุดท้ายในตัวเอง “การค้า” ควรเป็นวิธีการหรือแนวทางเพื่อบรรลุเป้าหมายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมซึ่งทำให้เราอยู่ในขอบเขตพื้นที่ที่ปลอดภัยและเป็นธรรมสำหรับมนุษยชาติ

เพื่อให้ได้มาซึ่ง “ระบบการค้าที่เป็นธรรม เท่าเทียมและโปร่งใส” โลกาภิวัตน์จะต้องอยู่ภายใต้กรอบกติกา โดยกรอบกติกาดังกล่าวนี้ต้องเคารพในคุณค่าของชาติและวัฒนธรรม เอื้อต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และดำเนินการตามเป้าหมายของความตกลงด้านพหุภาคีของสหประชาชาติอย่างสัมฤทธิผล เช่น ความตกลงปารีสว่าด้วยสภาพภูมิอากาศ อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ เป็นต้น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อตกลงด้านสิทธิมนุษยชนและมาตรฐานด้านแรงงานระหว่างประเทศซึ่งเป็นหัวใจสำคัญว่าด้วยความเสมอภาคและความรับผิดชอบระหว่างรุ่นคน(intergenerational responsibilities) นั้นจะต้องมาก่อนกฎเกณฑ์ทางการค้า

4 กุมภาพันธ์ 2563 – อาสาสมัครกรีนพีซ ประเทศไทยฉายเลเซอร์ ข้อความ  “#NoCPTPP”บริเวณสีแยกอโศก เพื่อเป็นการย้ำเตือนรัฐบาลถึงการพิจารณาเข้าร่วมภาคีความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ก่อนหน้าวันประชุมใหญ่ของประเทศภาคีสมาชิก CPTPP ที่ประเทศเม็กซิโก ในวันที่ 5 สิงหาคม 2563 © บารมี เต็มบุญเกียรติ / กรีนพีซ

ในการทำงานรณรงค์เพื่อความเป็นธรรมทางสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวโยงกับการค้าและการลงทุน    กรีนพีซเรียกร้องให้มีสร้างสมดุลใหม่และปรับโครงสร้างของกฏเกณฑ์ทางการค้าและการลงทุน หัวใจหลักของข้อตกลงการค้าใดๆ จะต้องบรรจุเรื่องความรับผิดชอบ ความโปร่งใสตรวจสอบได้และภาระรับผิดของบรรษัท ตลอดจนภาระผูกพันที่มีผลบังคับใช้ทางกฏหมายสำหรับนักลงทุนและบรรษัทต่างๆ

ข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนใดๆ จะต้องส่งเสริมงานที่มีคุณค่าและการได้รับค่าครองชีพที่เหมาะสม และต้องสอดคล้องกับการพัฒนาแบบจำลองเศรษฐกิจใหม่และเป็นธรรมโดยมีกฎเกณฑ์ระดับโลกที่มีผลผูกพันสำหรับบรรษัทและมิติด้านสิทธิมนุษยชน การปฏิรูประบบภาษีและข้อกำหนดเพื่อต่อต้านการฉ้อโกงภาษีและการหลีกเลี่ยงภาษี

เพื่อทำให้ระบบการค้าและการลงทุนนั้นคำนึงผู้คนและดูแลสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ในทางตรงกันข้าม กรีนพีซเห็นว่า อย่างน้อยที่สุด นโยบายการค้าและการลงทุนต้องปฏิบัติตามหลักการต่อไปนี้

(1) ต้องมีการรับรอง เจรจา เห็นชอบและทบทวนข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนอย่างโปร่งใสและเป็นประชาธิปไตย

เดือนกุมภาพันธ์ 2543 นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซกางป้ายผ้า ณ อนุเสาวรีย์ประชาธิปไตยเพื่อเรียกร้องให้ยุติการค้าสารพิษ(toxic trade)ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา(UNCTAD)ซึ่งมีขึ้นในกรุงเทพฯ ©Greenpeace/Yvan Cohen

(2) ต้องเคารพขีดจำกัดทางนิเวศวิทยาของโลก

ข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนจะต้องรับรองว่ามีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรับผิดชอบ ยั่งยืนและเป็นธรรม โดยยึดมั่นในหลักการ “ผู้ก่อมลพิษต้องจ่าย” และต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมของการค้าและการลงทุนจะไม่กลายเป็นภาระที่คนในสังคมต้องแบกรับ

เดือนตุลาคม 2547 นักกิจกรรมและอาสาสมัครกรีนพีซโรยตัวแขวนแบนเนอร์​ขนาดใหญ่เขียนข้อความ “Don’t Trade Away the Planet บนสะพานพระรามเก้าโดยเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมรณรงค์เพื่อกระตุ้นให้ผู้แทนรัฐบาลทั่วโลกที่เข้าร่วมการประชุมภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์(CITES)ลงมือปฏิบัติการอย่างแข็งขันตามมาตรการที่ตกลงร่วมกัน ©Greenpeace/Yvan Cohen

(3)ต้องส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการปกป้องสิ่งแวดล้อม ข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนต้องยึดถือความตกลงพหุภาคีระหว่างประเทศ เช่น ความตกลงปารีส อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นต้น ไม่บ่อนทำลายหรือเพิกเฉยต่อความตกลงดังกล่าว

(4)กำหนดให้ “หลักการระวังไว้ก่อน (the precautionary principle) เป็นภาระผูกพันทางกฎหมายในการปกป้องสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อมที่ทุกภาคีภายใต้ข้อตกลงจะนำไปใช้

(5)บังคับใช้และรับประกันถึงมาตรฐานเพื่อคุ้มครองสิ่งแวดล้อม ชุมชนที่ได้รับผลกระทบ ผู้บริโภคและคนงาน สุขภาพ และการบริการสาธารณะ  เอื้อให้เกิดการยกระดับมาตรฐานเหล่านี้อย่างต่อเนื่อง

อาสาสมัครกรีนพีซราว 100 คน เข้าร่วมขบวนประชาชนประท้วงองค์การค้าโลก(WTO) ที่กรุงเทพมหานครในเดือนกันยายน 2546 ©Greenpeace/Sataporn Thongma

(6)มีการแยกแยะความแตกต่างระหว่างสินค้าโดยพิจารณาจากวิธีการผลิต การเก็บเกี่ยวและการได้มา จัดให้มีกลไกต่างๆ เพื่อป้องกันผลกระทบในทางลบของระบบการผลิตต่อสิทธิมนุษยชน สิทธิทางสังคม และสิทธิทางสิ่งแวดล้อม  สนับสนุนให้มีการติดฉลากและการตรวจสอบย้อนกลับของผลิตภัณฑ์ บริการ และการลงทุน

(7)เสริมสร้างการเข้าถึงระบบยุติธรรมและการคุ้มครองทางกฎหมายที่เท่าเทียมและเป็นธรรม นักลงทุนและบรรษัทต้องเคารพสิทธิของชุมชน คนงาน และสิ่งแวดล้อม องค์กรภาคธุรกิจไม่มีสิทธิเหนือกว่าบุคคลอื่นและต้องยุติข้อพิพาทด้านการลงทุนในศาลระดับประเทศ  กฎหมายและนโยบายว่าด้วยผลประโยชน์สาธารณะจะไม่ผนวกอยู่ในข้อพิพาทด้านการคุ้มครองการลงทุน

มกราคม 2550 นักกิจกรรมกรีนพีซจัดกิจกรรมประท้วงหน้าสถานทูตญี่ปุ่นในกรุงเทพมหานครเพื่อคัดค้านความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจไทย-ญี่ปุ่น(Japan-Thailand Economic Partnership Agreement-JTEPA) ซึ่งเอื้ออำนวยให้มีการส่งออกขยะพิษจากญี่ปุ่นมายังประเทศไทย ©Greenpeace/Vinai Dithajohn

(8)ยอมรับอย่างชัดเจนถึงกฎเกณฑ์ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมว่าเป็นมาตรการคุ้มครองที่จำเป็นไม่ใช่การกีดกันทางการค้า  หากข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนส่งเสริมให้เกิดการประสานกันของมาตรฐานทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่และในอนาคต จะต้องรับประกันว่าจะเกิดขึ้นในแนวทางที่เป็นประชาธิปไตยและโปร่งใส

(9)คำนึงถึงความต้องการเฉพาะของกลุ่มประเทศในซีกโลกใต้ ข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนไม่สามารถบังคับให้ประเทศต่างๆ และชุมชนต่างๆ ทำตามเจตจำนงของข้อตกลงนั้นๆ ได้ อนุญาตให้ใช้มาตรการปกป้องตลาดเพื่อเสริมสร้างเศรษฐกิจในประเทศและกฎระเบียบเพื่อปกป้องอธิปไตยทางอาหาร ความหลากหลายทางชีวภาพและความแตกต่างหลากหลายทางวัฒนธรรม  กฎเกณฑ์และข้อบังคับต่างๆ ต้องสะท้อนถึงแนวทางการพัฒนาที่หลากหลายในประเทศต่างๆและมีความยืดหยุ่นในเชิงนโยบาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและในการปกป้องชนเผ่าพื้นเมืองและสิทธิชุมชน

20 มิถุนายน 2562 ตัวแทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมกับนักกิจกรรมและอาสาสมัครจากมูลนิธิบูรณะนิเวศและกรีนพีซรวมตัวกันหน้ากระทรวงการต่างประเทศ พร้อมสัญลักษณ์ภูเขาขยะพลาสติกและป้ายข้อความ “อาเซียนไม่ใช่ถังขยะโลก” ยื่นจดหมายเปิดผนึกต่อรัฐบาลไทยในฐานะประธานอาเซียนเพื่อเรียกร้องให้บรรดาผู้นำประเทศในอาเซียน 10 ประเทศ ประกาศยุติการนำเข้าขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์โดยไม่มีข้อแม้ ©Greenpeace/Wason Wanichakorn

(10)ร่างเนื้อหาการเจรจาในข้อตกลงทางการค้าและการลงทุนใดๆ ต้องมีการประเมินผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชน สิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองทางสังคมอย่างเป็นอิสระ มีการปรึกษาหารืออย่างมีความหมายกับองค์กรภาคประชาสังคม  ผลลัพธ์ของการประเมินจะต้องนำมาพิจารณาอย่างทันท่วงทีเพื่อโน้มน้าวข้อบังคับการเจรจา กระบวนการเจรจาที่กำลังดำเนินการอยู่ หรือในการทบทวนข้อตกลงที่มีอยู่แล้ว

หลักการข้างต้นนี้เน้นไปที่การปกป้องสิ่งแวดล้อม ไม่ได้ครอบคลุมประเด็นหลักที่สำคัญอื่นๆ กรีนพีซได้ทำงานร่วมกับกลุ่มองค์กรและขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนทั่วโลกเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดหลักการร่วมว่าด้วยระบบการค้าที่เป็นธรรม เท่าเทียมและโปร่งใส

—————

เมล็ดพันธุ์พื้นบ้านชนิดถั่ว © Peter Caton / Greenpeace
หยุดทำลายความมั่นคงทางอาหาร #NoCPTPP

ร่วมส่งเสียงบอกนายกรัฐมนตรี/คณะรัฐมนตรีให้ยุติการเข้าร่วมความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก หรือ Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership (CPTPP) ในทันที เพื่อปกป้องสิทธิของเกษตรกร ความมั่นคงทางอาหารและความหลากหลายทางชีวภาพของไทย จากการครอบงำของบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย และบรรษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของโลก

มีส่วนร่วม