นี่คือจุดจบ ความคิดแรกที่แล่นเข้ามาในหัวของฉันเมื่อได้อ่านข่าวรายงานข่าวไฟไหม้ของเรือ X-Press-Pearl แนวชายฝั่งบริเวณใกล้เคียงดำคล้ำด้วยเศษซากไหม้เกรียมและสินค้าอันตรายเกลื่อนชายฝั่งของศรีลังกา ไม่กี่วันต่อมา กระแสคลื่นพัดพาเม็ดพลาสติกขนาดเล็กที่เรียกว่า ‘nurdles’ ขึ้นมาเกลื่อนชายหาดทางตะวันตกและทางใต้

วิกฤตทางทะเลครั้งใหญ่ที่สุดในศรีลังกากำลังเผยออกมาแบบเรียลไทม์ เมื่อความตระหนกในช่วงแรกที่เกิดเหตุการณ์สงบลง คลื่นความโกรธก็ถาโถม ตามมาด้วยความเศร้า รู้สึกหมดหนทาง และฉันทำได้แค่เรียนรู้เกี่ยวกับสถานการณ์นี้ซึ่งดูเหมือนจะแย่ลงไปอีก
สารเคมีรั่วไหล
เพลิงไหม้
การระเบิด
เศษซากสิ่งมีชีวิตในทะเลถูกคลื่นซัดเกยขึ้นบนหาด
น้ำมันรั่วไหลที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา
และที่เลวร้ายไปกว่านั้น การล็อกดาวน์ทั่วประเทศขัดขวางไม่ให้อาสาสมัครรวมตัวกัน เพื่อช่วยจัดการปัญหา
ราวกับการถูกปลุกให้ตื่นขึ้นจากฝันร้าย

ฉันเติบโตมาในเมืองโคลัมโบและใช้เวลาส่วนใหญ่ในการสำรวจพื้นที่ที่ห่างไกลของเกาะนี้ ทำให้เกิดความรักและความปรารถนาที่จะเชื่อมโยงผู้คนต่าง ๆ กับธรรมชาติ ในฐานะช่างภาพและนักกิจกรรม ฉันใช้วิธีการเล่าเรื่องผ่านภาพเพื่อสร้างแรงบันดาลใจและการตระหนักรู้ต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
หลังจากเรือ X-Press Pearl ได้จมลง ฉันได้ตระหนักต่อความเป็นจริงที่ว่า ในปัจจุบันเรากำลังเผชิญกับวิกฤตฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อม
เรื่องนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร?
ใครต้องรับผิดชอบ?
เราจะฟื้นฟูความเสียหายซึ่งไม่สามารถแก้ไขได้ ที่เกิดขึ้นต่อระบบนิเวศ สัตว์ทะเล และวิถีการดำเนินชีวิตได้อย่างไร?
ซารากูวา เนกอมโบ เป็นหนึ่งในแนวชายฝั่งที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด ระดับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงกำลังแย่ลงเรื่อย ๆ ในขณะที่ฉันกำลังเก็บบันทึกข้อมูลให้กับกรีนพีซ สากล ถึงผลกระทบของหายนะภัยจากเรือ X-Press-Pearl อยู่นี้ก็มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ
1. วิถีชีวิตและชีวิตที่ต้องดำเนินไป
มีการห้ามทำประมงภายในรัศมี 80 กม. จากซากเรือ การห้ามนี้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชาวประมงหลายพันคน ชาวประมงพื้นบ้านถูกห้ามไม่ให้จับปลาในบริเวณดังกล่าว เนื่องจากการปนเปื้อนสารเคมี แล้วพวกเขามีทางเลือกอื่นอะไรบ้าง? เพราะปลาเป็นอาหารหลักของพวกเขา หากไม่มีแหล่งรายได้ สถานการณ์ก็ยิ่งแย่ลง ภัยพิบัติดังกล่าวเป็นผลกระทบที่ซ้ำเติมชุมชนชาวประมงเหล่านี้

“การทำประมงเป็นส่วนสำคัญหลักของอัตลักษณ์ของพวกเรา เราไม่รู้ว่ามีอะไรที่จะทำได้ดีไปกว่านี้” สุราษฎ์กล่าว เขาเล่าเพิ่มเติมว่า มีการช่วยเหลือเยียวยาจากรัฐบาลในเหตุการณ์ครั้งนี้เพียงแค่น้อยนิดเท่านั้น
ฝนตกหนัก น้ำท่วม ภัยพิบัติทางทะเล การระบาดครั้งใหญ่ ยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง และชุมชนในพื้นที่ยังต้องเผชิญกับผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ในฐานะประเทศที่เป็นเกาะ ศรีลังกามีแนวโน้มที่จะเกิดมรสุมตามฤดูกาลและพายุที่ดูเหมือนจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
2. การเสพติดพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวทิ้ง
เม็ดพลาสติกขนาดเล็กกว่าสามพันล้านชิ้นรั่วไหลลงสู่มหาสมุทร และตลอดแนวชายฝั่งของศรีลังกา การทำความสะอาดและเก็บรวบรวมอาจทำได้เพียงแค่บางส่วนเท่านั้น ซึ่งยังมีเม็ดพลาสติกปริมาณมหาศาลที่จะคงอยู่ในทรายและในปะการังต่อไปอีกหลายปี
สิ่งสำคัญที่สุดคือ ปัญหาใหญ่อย่างเม็ดพลาสติกที่ใช้เป็นวัตถุดิบของผลิตภัณฑ์พลาสติกทั้งหมด ถ้าเราต้องการกำจัดเม็ดพลาสติกเหล่านี้ เราต้องหยุดตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตและการบริโภค เราต้องก้าวออกจากอุตสาหกรรมที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลซึ่งก่อมลพิษ และมองหาแนวคิดใหม่อย่างระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืนกว่า เราต้องเริ่มให้บริษัทต่าง ๆ รับผิดชอบต่อวัสดุที่ใช้ครั้งเดียวที่พวกเขาผลิต และคัดง้างกับผลประโยชน์ที่ให้ความสำคัญกับผลกำไรมากกว่าสิ่งแวดล้อมและผู้คน
3. ทุกสิ่งเชื่อมโยงกัน
หายนะภัยจากเรือ X Press Pearl ช่วยเตือนสติของเราถึงความเสี่ยงที่มีอยู่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเสรี “ธุรกิจที่ดำเนินไปตามปกติ” อาจไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของวิกฤตสภาพภูมิอากาศและภาวะฉุกเฉินด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งกำหนดอนาคตของเรา
หนทางแสนไกล
การต่อสู้เพิ่งเริ่มต้นขึ้น ขณะที่ฉันเดินไปตามชายหาดเคปุงโกดา ซึ่งอยู่ทางเหนือของท่าเรือโคลัมโบเพียงไม่กี่กิโลเมตร ฉันมองเห็นซากเรืออับปางในขอบฟ้า และอดไม่ได้ที่จะไตร่ตรองในสิ่งที่ได้เห็น
เมื่อผลกระทบที่เห็นได้ชัดเริ่มเลือนลางลง และสื่อต่าง ๆ ที่รุมเสนอข่าวก็เริ่มหายไป ผลกระทบที่ตามหลังจากนี้ที่อาจจะเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี ก็จะมีเพียงชุมชนท้องถิ่นเท่านั้นที่ต้องเผชิญกับผลกระทบในระยะยาว
สิ่งที่ยังไม่อาจเห็นได้คืออะไร ผลกระทบระยะยาวที่ยังคงเกิดขึ้นกับสิ่งมีชีวิตในทะเลและระบบนิเวศของศรีลังกาต่อไปคืออะไร?
เราต้องไม่มองข้ามประเด็นสำคัญในภาพกว้างที่เป็นต้นตอของหายนะภัยดังกล่าว หายนะภัยจากเรือ X-Press Pearl เป็นหายนะภัยด้านสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่ที่สุดของศรีลังกา และทำให้เกิดคำถามที่สำคัญเกี่ยวกับผลกระทบที่จะตามมาในวงกว้างซึ่งยังไม่ปรากฏชัดในขณะนี้
เราสามารถเรียนรู้จากอดีต และทำให้ดีขึ้น

ทาชิยา ช่างภาพสารคดีที่ใช้ความรู้ความสามารถผสานเรื่องเล่าและประเด็นการอนุรักษ์ธรรมชาติเข้าด้วยกันเพื่อขับเคลื่อนและสร้างการเปลี่ยนแปลงทางสังคม และเน้นย้ำถึงผลกระทบของวิกฤตสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เธออาศัยอยู่ที่โคลัมโบ ประเทศศรีลังกา