“Person of the Forest” หรือคนแห่งป่า คือความหมายของชื่ออุรังอุตัง ลิงขนาดใหญ่ขนแดงผู้มีลักษณะและความฉลาดใกล้เคียงกับมนุษย์ อาศัยอยู่ที่เฉพาะป่าฝนเขตร้อนบนเกาะสุมาตราและเกาะบอร์เนียวของอินโดนีเซีย แม้จะฟังดูไกลจากพวกเรา แต่คนแห่งป่ากลุ่มนี้มีความเชื่อมโยงใกล้กับเรามากกว่าที่คิด และในฐานะผู้บริโภค เราอาจมีส่วนในการทำลายบ้านของอุรังอุตังโดยไม่รู้ตัว

ชีวิตของอุรังอุตังต้องพึ่งพาต้นไม้อย่างมาก ตั้งแต่การกินอาหาร หลับนอน ไปจนถึงอาศัยร่มใบของป่าไม้เพื่อบังฝน  สายสัมพันธ์ของแม่อุรังอุตังและลูกนั้นใกล้เคียงกับมนุษย์มาก โดยลูกอุรังอุตังนั้นจะอยู่กับแม่ถึงราวอายุ 6-7 ปี จนกว่าจะสามารถพัฒนาทักษะในการพึ่งพาและเอารอดด้วยตนเองได้ อุรังอุตังเพศเมียนั้นจะมีลูกเพียง 8 ปี ต่อครั้ง ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานมากสำหรับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม (National Geographic

ปัจจุบันอุรังอุตังอยู่ในสถานะใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง (critically endangered) ในปี 2563 มีการประเมินว่ามีจำนวนอุรังอุตังบนเกาะบอร์เนียวเหลือราว 35,000-45,000 ตัว และเกาะสุมาตราเหลือราว 15,000 ตัวเท่านั้น (Orangutan Conservasy, 2020) แต่ช่วง 20 ปีก่อนหน้านี้อุรังอุตังไม่ได้มีแค่จำนวนหลักหมื่น แต่เป็นหลักแสน ตัวเลขที่น่าตกใจนี้เป็นข้อมูลจากงานวิจัยที่เผยว่าเพียงช่วงปี 2542-2558 อุรุงอุตังบนเกาะบอร์เนียวได้สูญหายไปราว 100,000 ชีวิต (Voigt et al., 2018) ซึ่งเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า ที่นอกจากทำให้อุรังอุรังไม่สามารถใช้ชีวิตได้แล้ว ยังเปิดโอกาสให้มีการรุกป่าเพื่อล่าอุรังอุตังได้ง่ายขึ้นด้วย รวมถึงการฆ่าอุรังอุตังเนื่องจากมีความขัดแย้งกับคนในพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากเมื่อบ้านและอาหารของอุรังอุตังหายไป อุรังอุตังที่ไร้บ้านหิวโหยจึงเข้ามาหาอาหารใกล้แปลงเพาะปลูกของคนและถูกมองว่าเป็นศัตรูพืช มีการคาดคะเนโดยองค์กร International Animal Rescue (IAR) ศูนย์ช่วยเหลือที่เกาะบอร์เนียว ว่าหากอัตราการทำลายป่ายังดำเนินต่อไปในระดับนี้ เราอาจเห็นการสูญพันธุ์ของอุรังอุตังภายใน 10 ปี 

อุรังพยายามปกป้องป่าที่กำลังถูกถางทำลายด้วยการต่อสู้กับรถไถ เกาะบอร์เนียว อินโดนีเซีย /เครดิตวิดีโอ: International Animal Rescue

เมื่อพูดถึงการทำลายป่านั้นเราอาจจะมองว่าเป็นเรื่องกว้าง ๆ ไกลตัวที่เกิดขึ้นในประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่หากมองเชื่อมโยงถึงผลผลิตปลายทางของอุตสาหกรรมที่ใช้พื้นที่ป่าแห่งนั้นแล้ว จะเห็นได้ว่าชีวิตและบ้านของอุรังอุตังนั้นอยู่ในมือของเรา 

อยู่ในมือของเราไม่ได้เป็นเพียงแค่วลี แต่เป็นผลิตภัณฑ์ที่อยู่ในมือของเราจริง ๆ สาเหตุหลักของการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า คือ การขยายตัวของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมันเพื่อตอบสนองความต้องการของโลก โดยร้อยละ 85 ของผลผลิตปาล์มน้ำมันนั้นมาจากอินโดนีเซียและมาเลเซียทั้งหมด พื้นที่ป่าราว 10.8 ล้านเฮคตาร์ก็ถูกเปลี่ยนแปลงไปเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันบนเกาะสุมาตรา บริษัทน้ำมันปาล์มมักเลือกใช้ป่ามากกว่าเพราะมีดินที่อุดมสมบูรณ์ ไม่จำเป็นต้องลงทุนไปกับปุ๋ยเคมี สามารถเคลียร์พื้นที่ป่าได้ง่ายด้วยไฟเพื่อลดต้นทุนเช่นกัน 

ผลิตภัณฑ์อาหารไม่ว่าจะเป็นคุกกี้ ขนมปัง ชอคโกแลต และนม และของใช้ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง เช่น สบู่ แชมพู ยาสีฟัน ก็มีส่วนผสมของน้ำมันปาล์มทั้งสิ้น เนื่องจากน้ำมันปาล์มนั้นช่วยทำให้ผลิตภัณฑ์มีความนุ่มชุ่มชื้น ทำให้ส่วนผสมต่าง ๆ จับตัวเข้ากันได้ดี หากสังเกตที่ฉลากส่วนผสมของผลิตภัณฑ์ อาจจะพบว่าน้ำมันปาล์มอยู่ในชื่อที่แตกต่างกันออกไป เช่น Palm Kernel, Palm Kernel Oil, Palm Fruit Oil, Palmate, Palmitate, Palm olein, Glyceryl, Stearate, Stearic Acid, Elaeis Guineensis, Palmitic Acid, Palm Stearine, Palmitoyl Oxostearamide, Palmitoyl Tetrapeptide-3, Sodium Laureth Sulfate, Sodium Lauryl Sulfate, Sodium Kernelate, Sodium Palm Kernelate, Sodium Lauryl Lactylate/Sulphate, Hydrated Palm Glycerides, Etyl Palmitate, Octyl Palmitate, Palmityl Alcohol, Laureth-7, Steareth-2, Cocamide MEA (fatty acid-derived) Cocamiede DEA (fatty acid derived), Stearamidopropyldimethylamine, Cetyltrimethylammonium chloride, Isopropylmyristate, Caprylic/capric Trigylceride, Fatty Isethionates (SCI),  Alkylpolyglycoside (APG) และ Laurylamine oxide (YPTE) ซึ่งยังอาจพบได้อีกในชื่อที่ต่างจากระบุมาเหล่านี้ด้วย

ชื่อที่มากขนาดนี้อาจทำให้ผู้บริโภคสับสนได้ว่าชื่อเหล่านี้คืออะไรกันแน่ ผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีราคาถูกแต่ต้นทุนที่แท้จริงไม่ถูกเลย หากไม่รวมถึงต้นทุนทางสิ่งแวดล้อม ชุมชน และชีวิตของสัตว์ป่าเหล่านี้ ซึ่งนอกจากอุรังอุตังแล้ว ยังมีสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างเสือและช้างด้วยที่พบได้แค่เพียงป่าฝนเขตร้อนของอินโดนีเซีย 

กรีนพีซและองค์กรสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ร่วมกันทำงานเพื่อรณรงค์ให้บริษัทแบรนด์ดังหันมาเลือกใช้น้ำมันปาล์มที่มีที่มาที่ยั่งยืน ไม่ทำลายป่า และมีหลายบริษัทที่ออกมาให้คำมั่นแสดงเจตนารมณ์ว่าจะหยุดการทำลายป่าภายในปีค.ศ.2020 แต่ในความเป็นจริงยังคงต่างจากสัญญาที่ให้ไว้นัก ป่ายังถูกทำลายในอัตราสูง และผู้บริโภคก็ยังคงขาดข้อมูลว่าปาล์มน้ำมันมีอยู่ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ไหม และมีที่มาอย่างไร นอกจากนี้คณะทำงานมาตรฐาน Roundtable on Sustainable Palm Oil (RSPO) ที่ตรวจสอบการผลิตและที่มาของปาล์มน้ำมันนั้นก็ยังคงทำงานล่าช้า ขาดการตรวจสอบอย่างแท้จริงและโปร่งใส จนบางครั้งไม่สามารถทำให้ผู้บริโภคมั่นใจได้เลยว่าผลิตภัณฑ์ที่มีตรารับรอง RSPO และไม่มีนั้นแตกต่างกันจริงหรือไม่ เนื่องจากยังคงมีข้อมูลการละเมิดเรื่องป่าและสิทธิมนุษยชนออกมาเชื่อมโยงถึงผลิตภัณฑ์ที่มีตราเหล่านี้เสมอ 

ทางที่ดีที่สุดสำหรับผู้บริโภคในการช่วยปกป้องอุรังอุตังและป่าได้คือ ตั้งข้อสังเกตถึงที่มาของอาหาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งถึงส่วนผสมต่าง ๆ ว่าในแต่ละแบรนด์นั้นมีการจัดสรรส่วนผสมจากไหนอย่างไร มีการเปิดเผยข้อมูลหรือไม่ หรือมีข่าวคราวอย่างไรที่เชื่อมโยงกับปัญหาสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่า และสิทธิมนุษยชน และใช้พลังการซื้อของเราสนับสนุนสินค้าที่ยั่งยืน และเลิกสนับสนุนแบรนด์ที่เชื่อมโยงกับปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ผู้บริโภคอย่างเราไม่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สัตว์สายพันธุ์ใดขยับเข้าใกล้การสูญพันธุ์ 

ที่มาข้อมูล: 

DePalma, E. (2020). How Many Orangutans Are Left. Retrieved from www.orangutan.com/how-many-orangutans-are-left/

Greenpeace Southeast Asia. (2019). Joint NGO statement on failure of RSPO to meet the demands of global climate crisis. Retrieved from www.greenpeace.org/southeastasia/press/3337/joint-ngo-statement-on-failure-of-rspo-to-meet-the-demands-of-global-climate-crisis/

Johnston, I. (2019). Orangutans face complete extinction within 10 years, animal rescue charity warns. Retrieved from www.independent.co.uk/climate-change/news/orangutans-extinction-population-borneo-reasons-palm-oil-hunting-deforestation-rainforest-a7199366.html

National Geographic. Orangutans. Retrieved from www.nationalgeographic.com/animals/mammals/facts/orangutans

Orangutan Foundation International. The Effects of Palm Oil: How Does Palm Oil Harm Orangutans and Other Wildlife?. Retrieved from https://orangutan.org/rainforest/the-effects-of-palm-oil/

​​Voigt, M., et al. (2018). “Global Demand for Natural Resources Eliminated More Than 100,000 Bornean Orangutans.” Current Biology 28(5): 761-769.e765.

Young People’s Trust for the Environment. A palm by any other name. Retrieved from https://ypte.org.uk/factsheets/palm-oil/a-palm-by-any-other-name