เราจะรู้ได้อย่างไรว่าในอากาศที่เราหายใจอยู่นั้นมีมลพิษ…

ดัชนีคุณภาพอากาศ คือ ตัววัดที่ช่วยบอกเราได้ว่ามลพิษทางอากาศมีมากแค่ไหน แต่ที่น่าเศร้าคือ มาตรฐานในการตรวจวัดและรายงานคุณภาพอากาศของประเทศไทยยังต่ำกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น และตัวเลขที่ต่างกันนี้ส่งผลต่อสุขภาพของเราอย่างไร?มลพิษทางอากาศเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น แต่มีผลร้ายแรงต่อสุขภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากเป็นฝุ่นพิษขนาดเล็กไม่เกิน 2.5  ไมครอน (PM2.5) หากไม่มีตัววัดอย่างดัชนีคุณภาพอากาศ เราจะมองไม่เห็นและไม่รู้ว่ามลพิษทางอากาศมีมากแค่ไหน มาตรฐานในการตรวจวัดและรายงานคุณภาพอากาศของประเทศไทยที่ยังต่ำกว่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนดนั้นจึงเป็นเรื่องอันตรายต่อสุขภาพของประชาชนอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการขาดค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI) กรณีนี้เห็นได้ชัดเมื่อต้นปีที่ผ่านมากับวิกฤตหมอกควันพิษที่เชียงใหม่จากการเผาในที่โล่งในพื้นที่เกษตรกรรมเชิงเดี่ยว  แต่กรมควบคุมมลพิษยังคงรายงานว่าอากาศที่เชียงใหม่ยังปลอดภัยแม้ว่าทั้งเมืองจะเต็มไปด้วยควันพิษ เนื่องจากเป็นการวัดคุณภาพอากาศจาก PM10 คือวัดจากฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10ไมครอน ไม่รวมค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM 2.5) สถานกงสุลอเมริกาประจำ

ประเทศไทย จังหวัดเชียงใหม่จึงเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษวัดดัชนีคุณภาพอากาศ PM2.5 และเผยแพร่ข้อมูลฝุ่นมลพิษ PM2.5 รายวัน เพื่อให้ประชาชนรับทราบว่ามลพิษที่แท้จริงเป็นอย่างไร และสามารถป้องกันตนเองได้

จากตารางนี้ จะเห็นได้ชัดว่ามาตรฐานของประเทศไทยอนุญาตให้ผู้ปล่อยมลพิษสามารถปล่อยมลพิษได้ในปริมาณค่าเฉลี่ยที่มากกว่าข้อกำหนดขององค์การอนามัยโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่เอื้อให้กับผู้ปล่อยมลพิษมากกว่าการคุ้มครองสิทธิและชีวิตของประชาชน

และแม้ว่าประเทศไทยจะกำหนดเพดานการปล่อยมลพิษไว้ระดับสูงกว่ามาตรฐานขององค์การอนามัยโลกกำหนดเพื่อให้ผู้ปล่อยมลพิษสามารถปล่อยได้มากขึ้น แต่หลายปีที่ผ่านมาค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน2.5 ไมครอน(PM2.5) ก็ยังสูงเกินมาตรฐานของประเทศไทยเช่นกัน

ปกติแล้วสภาพอากาศในช่วงฤดูฝนจะมีอากาศดีกว่าช่วงฤดูอื่นของปี เนื่องจากฝนช่วยชะล้างมลพิษ (สามารถตรวจสอบคุณภาพอากาศได้ที่นี่) และเรามักจะพบกับมลพิษทางอากาศสูงในช่วงต้นปีและปลายปี ด้วยสาเหตุหลักคือ การคมนาคมขนส่ง การเผาในที่โล่ง การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิล และภาคอุตสาหกรรม


อันดับเมืองที่มีมลพิษฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) ในประเทศไทยประมวลผล จากการรายงานข้อมูลของสถานีตรวจวัดของกรมควบคุมมลพิษ 12 สถานีทั่วประเทศ

เดือนมกราคมถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ.2559 เมืองที่มีค่าเฉลี่ยรายปีของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน2.5 ไมครอน(PM2.5) สูงสุด 5 อันดับคือ เชียงใหม่ ลําปาง ขอนแก่น กรุงเทพฯ และราชบุรี ในจํานวนสถานี ตรวจวัดคุณภาพอากาศ 11 จุด มี 7 พื้นที่ที่มีความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) เกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปในเวลา 1 ปี ซึ่งประเทศไทยกําหนดมาตรฐานไว้ที่ 25 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และทุกพื้นที่มีความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน(PM2.5) เกินค่ามาตรฐานในบรรยากาศทั่วไปในเวลา 1 ปี ตามมาตรฐานขององค์การอนามัย โลกที่กำหนดไว้ที่ 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ทางออกคืออะไร?

กรมควบคุมมลพิษต้องไม่ละเลยและเพิกเฉยในการทำหน้าที่คุ้มครองชีวิตของประชาชนจากมลพิษทางอากาศ ทั้งนี้กรมควบคุมมลพิษดำเนินการ

  1. ติดตั้งตรวจวัดและรายงานPM2.5ในทุกสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่มีอยู่61แห่งใน29 จังหวัดทั่วประเทศ ผ่านทางเว็บไซต์ Air4thai.pcd.go.th และโมบายแอพพลิเคชั่น Air4Thai และใช้ค่าเฉลี่ยของฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน2.5ไมครอนในการคํานวนดัชนีคุณภาพอากาศ (PM2.5 AQI)
  2. ปรับปรุงมาตรฐานการปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์(SO2),ออกไซด์ของไนโตรเจน(NOx)และฝุ่น ละอองขนาดเล็กทั้ง PM10 และ PM2.5 ให้สอดคล้องกับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก
  3. กําหนดวัดค่ามาตรฐานPM2.5และปรอทที่แหล่งกําเนิดมิใช่ในบรรยากาศ รวมถึงการตรวจวัดและรายงาน การปล่อย PM2.5 และปรอทจากปล่องโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องอยู่

นี่คือทางออกทางเดียวที่จะช่วยให้เราสามารถรู้ได้ว่าอากาศที่เราหายใจนั้นมีมลพิษและอันตรายมากน้อยเพียงใด ซึ่งสิ่งเหล่านี้คือการพัฒนาคุณภาพอากาศในประเทศไทย อันหมายถึงคุณภาพชีวิตของคนไทยด้วย … เพราะเราทุกคนต้องการอากาศดี และคงไม่มีใครอยากอยู่ในเมืองที่ปกคลุมด้วยมลพิษทางอากาศอย่างแน่นอน

ร่วมเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษใช้ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ในการคำนวณดัชนีคุณภาพอากาศ (PM 2.5 AQI) ที่นี่

#RightToCleanAir #ขออากาศดีคืนมา

Air Pollution in Bangkok. © Chanklang  Kanthong / Greenpeace
ขออากาศดีคืนมา

กรีนพีซเสนอให้กรมควบคุมมลพิษยกร่างมาตรฐาน PM2.5 ในบรรยากาศสำหรับประเทศไทยขึ้นใหม่

มีส่วนร่วม