ในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ขึ้นอ่านถ้อยแถลง ณ ที่ประชุมสุดยอดผู้นำโลก(World Leader Summit) ในเวที COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ ที่มีตอนหนึ่งระบุว่า

“…วันนี้ผมจึงมาพร้อมกับเจตนารมย์ในความท้าทายอย่างยิ่งว่า ประเทศไทยจะยกระดับการแก้ไขปัญหาสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ และด้วยทุกวิถีทาง เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065 และด้วยการสนับสนุนด้านการเงินและเทคโนโลยีอย่างเต็มที่และเท่าเทียม รวมถึงการเสริมสร้างขีดความสามารถจากความร่วมมือระหว่างประเทศ และกลไกภายใต้กรอบอนุสัญญาฯ ผมมั่นใจว่าประเทศไทยจะสามารถยกระดับ NDC ของเราขึ้นเป็น 40% ได้ ซึ่งจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของไทยเป็นศูนย์ได้ภายในปี ค.ศ.2050…”

ในที่นี้ เราจะถอดรหัสถ้อยแถลงข้างต้นที่กำกวมและขาดความชัดเจน เพื่อทำความเข้าใจต่อจุดยืนและบทบาทของประเทศไทยในเรื่องปฏิบัติการด้านสภาพภูมิอากาศ

40% : เป้าหมายใหม่ในแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2573 (NDC) มาจากไหน?

ถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาอ้างถึงเป้าหมายใหม่ 40% ของแผนที่นำทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศปี 2564-2573 (Thailand’s Nationally Determined Contribution Roadmap on Mitigation 2021-2030 หรือ NDC) อย่างไรก็ตาม ในเอกสารฉบับปรับปรุงล่าสุดที่ส่งไปยังสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ(UNFCCC) ในวันที่ 20 ตุลาคม 2563 ก็ยังยืนยันเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกภายหลังปี 2563 ที่ 20-25% จากกรณีปกติ

แล้วเป้าหมาย 40% ในถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรี มาจากไหน?

เมื่อย้อนหลังไปดูการแถลงข่าวในวันที่ 27 ตุลาคม 2564โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เรื่องกรอบท่าทีการเจรจาของไทยในการประชุม COP26 ก็ระบุเพียงว่า จะมีการประกาศและจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ (Long-term low greenhouse gas emission development strategies: LT-LEDS) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2564 ไปยังสำนักเลขาธิการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลง สภาพภูมิอากาศ(UNFCCC) รวมถึงประกาศเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) แต่ก็ไม่มีการอ้างถึงเป้าหมาย NDC 40% แต่อย่างใด

เป้าหมาย Net Zero ต้องพึ่งการชดเชยคาร์บอนที่เป็นเรื่องหลอกลวง

การกำหนดเป้าหมาย Net Zero ปี ค.ศ.2065 มาจากผลการศึกษาการจัดทำยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำโดย UNDP ในเบื้องต้นระบุว่า ประเทศไทยจะมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net-zero GHG emission) โดยเร็วที่สุดภายในระยะครึ่งหลังของศตวรรษนี้ และมีระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด(Peak GHG emission) ในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) ขณะเดียวกัน จะมุ่งสู่การเป็นประเทศที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ.2065 (พ.ศ.2608) ผ่านการดำเนินงานตามแผนพลังงานชาติ ซึ่งมุ่งเน้นมาตรการสำคัญ เช่น การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน การใช้เทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการปรับโครงสร้างกิจการพลังงานเพื่อรองรับแนวโน้มการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน เป็นต้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ เป้าหมาย NDC ใหม่ 40% ในถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีที่กลาสโกว์ น่าจะล้อไปกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่คาดว่าจะเกิดขึ้นสูงสุดในปี ค.ศ.2030 (พ.ศ.2573) หรือ Peak Greenhouse Gas Emission ของยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ

การคาดการณ์ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยในกรณีปกติ(business as usual) ในปี 2573 จากภาคพลังงาน(รวมการขนส่ง) ภาคของเสีย ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และภาคเกษตรกรรม (ยังไม่รวมภาคการใช้ประโยชน์ของที่ดินและป่าไม้) อยู่ในราว 555 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หากพิจารณาตามเป้าหมาย NDC ใหม่ 40% ตามถ้อยแถลง COP26 ที่กลาสโกว์โดยนายกรัฐมนตรีไทย ก็เท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจก 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า

หรืออีกนัยหนึ่ง การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในปี 2573 ภายใต้ NDC จะเป็น 333 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ส่วนยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำนั้นคาดประมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในปี 2573 ไว้ที่ 370 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ความแตกต่างที่เกิดขึ้นมาจากการอ้างอิงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่แตกต่างกันในปี 2548 ที่ใช้เป็นปีฐาน(base year)

Net Zero และความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)

การดำเนินงานตามแผนพลังงานชาติถือเป็นหัวใจหลักในการไปให้ถึงการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ แต่สิ่งที่ขาดไม่ได้ตามแนวทาง Net Zero คือภาคการใช้ประโยชน์ของที่ดินและป่าไม้(Land use, Land Use Change, and Forestry : LULUCF) ซึ่งมีข้อวิพากษ์วิจารณ์และคัดค้านอย่างกว้างขวาง ในประเด็นที่ว่า “Net Zero” คือช่องทางให้อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลเดินหน้าสำรวจ ขุดเจาะ สกัดและเผาไหม้ถ่านหิน ก๊าซ และน้ำมันต่อไปตามเดิม และจ่ายเงินจ้างใครสักคนทำการดึง ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศโดยการปลูกป่าชดเชย กลไกซื้อขายคาร์บอน (Emission Trading) หรือใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage) 

การคาดการณ์ภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ระบุว่า ศักยภาพการดูดซับก๊าซเรือนกระจกในภาคการใช้ประโยชน์ของที่ดินและป่าไม้ของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็น 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าภายในปี 2580 และอยู่ในระดับคงที่จนถึงสิ้นศตวรรษนี้ การคาดการณ์ดังกล่าวมาจากเป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่าไม้และพื้นที่สีเขียวในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี สรุปโดยรวม ภาคการใช้ประโยชน์ของที่ดินและป่าไม้(Land use, Land Use Change, and Forestry : LULUCF) จะมีส่วนดูดซับคาร์บอนในสัดส่วน 5.6% ของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งหมดในปี 2593 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกหลังจากปี 2593 จะเป็นไปตามแนวทางของ IPCC ที่ขีดจำกัดอุณหภูมิ 2 องศาเซลเซียส โดยที่ภายในปี 2633 ประเทศไทยจะบรรลุความสมดุลระหว่างการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากแหล่งกำเนิดต่าง ๆ และการดึงก๊าซเรือนกระจกกลับด้วยแหล่งดูดซับต่าง ๆ

ในอีกด้านหนึ่ง ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ ระบุถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน(Carbon Neutrality)ใน 2 ฉากทัศน์ โดยเน้นการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากภาคพลังงานและคมนาคมขนส่ง ภาคของเสีย ภาคกระบวนการอุตสาหกรรมและการใช้ผลิตภัณฑ์ และภาคเกษตรกรรม คือ (1) ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2613 ซึ่งจะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างน้อย 50% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ภายในปี 2593 และรถยนต์ใหม่ในตลาดจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า และรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริดแบบปลั๊กอิน (PHEV) สัดส่วน 69% ภายในปี 2578 และ (2) ความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2608 ซึ่งเป็นฉากทัศน์ที่ใช้นโยบายและมาตรการเดียวกับฉากทัศน์แรกโดยเพิ่มการปรับปรุงประสิทธิภาพทางพลังงาน รวมถึงการส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอนที่ต้นทุนสูงลิบลิ่วและไม่ได้รับการพิสูจน์

มุ่งลดการปล่อยเป็นศูนย์ที่แท้จริง(Real Zero)

เป็นที่ชัดเจนว่า แผน Net Zero และเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายใต้ยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำของไทยที่ส่งให้กับเวทีประชุมสุดยอดด้านสภาพภูมิอากาศ COP26 ที่กลาสโกว์ นั้นเป็นแผนการตกแต่งบัญชีการปล่อยคาร์บอน โดยไม่พิจารณาถึงระบบพลังงานหมุนเวียน 100% และการปลดระวางถ่านหินแต่อย่างใด ทั้ง ๆ ที่เป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยตรง(Real Zero) และทำได้จริงหากรัฐบาลไทยมีเจตจำนงทางการเมืองที่แรงกล้า

ในกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ ซึ่งระบุว่า จะมีการกำหนดนโยบายที่ไม่เพิ่มปริมาณสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน และจะทยอยปลดระวางโรงไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหิน และคาดว่าจะไม่มีไฟฟ้าที่ผลิตจากถ่านหินเข้าสู่ระบบ ตั้งแต่ปี 2593 เป็นต้นไป นั้นเป็นเพียงการถ่วงเวลา การวิเคราะห์ในรายงาน ‘ปลดระวางถ่านหินเพื่อการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในประเทศไทย(Coal Phase-Out and Just Transition in Thailand)’ โดยกองทุนแสงอาทิตย์ สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มูลนิธินโยบายสุขภาวะและกรีนพีซ ประเทศไทยฉายภาพให้เห็นว่า  รัฐบาลไทยสามารถปลดระวางถ่านหินได้อย่างเร็วที่สุดภายในปี 2570 หรืออย่างช้าที่สุดภายในปี 2580 ซึ่งลดการปล่อยคาร์บอยไดออกไซด์ลงได้ 47.1 ล้านตัน หากรัฐบาลยังเพิกเฉยไม่เห็นความสำคัญก็จะไม่สามารถปลดระวางการใช้ถ่านหินได้เลยในอนาคต

รัฐบาลไทยต้องทบทวนแผน “Net Zero Emission” แผนการใด ๆ ที่จะมีขึ้นต้องมีเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ที่โปร่งใสเพื่อลดการปล่อยจากอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลให้เป็นศูนย์ที่แท้จริง ส่วนเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคอุตสาหกรรมจะต้องทำให้ชัดเจน และแยกออกจากการใช้ประโยชน์จากวัฏจักรคาร์บอนตามธรรมชาติซึ่งรวมถึงการปกป้องผืนป่า อธิปไตยของชนเผ่าพื้นเมือง และการฟื้นฟูป่าไม้และระบบนิเวศ โดยเป็นการดำเนินงานอย่างมีส่วนร่วมภายในประเทศเท่านั้น ไม่ขึ้นอยู่กับกลไกการซื้อขายและชดเชยคาร์บอน (carbon offsetting) ระหว่างประเทศ

ที่มาข้อมูล :

https://unfccc.int/sites/default/files/resource/Thailand_LTS1.pdf
https://www4.unfccc.int/sites/ndcstaging/PublishedDocuments/Thailand%20First/Thailand%20Updated%20NDC.pdf