นางคันโนะ ผู้อพยพและผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติฟุกุชิมะ เดินทางกลับสู่บ้านที่ถูกทิ้งร้างของเธอหลังจากเหตุโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ระเบิดเกือบเจ็ดปี © คริสเตียน ออสลุน / กรีนพีซ

หนึ่งในผู้อพยพกว่าหมื่นรายจากภัยพิบัติโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะไดอิจิระเบิดในปี 2554 มีเรื่องราวจะมาเล่าให้เราฟัง

ระหว่างการสำรวจสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลตกค้างครั้งล่าสุด พวกเรามีโอกาสได้ฟังเรื่องราวของนางมิซึเอะ คันโนะ ขณะที่เรากำลังเข้าสู่เขตหวงห้ามในเมืองนามิเอะ นางคันโนะได้เล่าให้พวกเราฟังถึงเหตุการณ์เมื่อเจ็ดปีก่อนที่พลิกชะตาชีวิตของเธอ ครอบครัวของเธอ และอีกหลายพันชีวิตในเมืองนี้

นางคันโนะเคยทำงานเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่ฟุตาบะในระยะที่ห่างจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพียงไม่ถึงสิบกิโลเมตรเท่านั้น แต่ในที่สุดแล้วเธอก็กลับมายังบ้านของเธอจนได้ภายหลังจากเหตุแผ่นดินไหว และเมื่อเวลาผ่านไปสองสามวัน ผู้ประสบภัยหลายพันคนต่างอพยพมายังเมืองสึชิมะ เมืองของเธอ หลายครัวเรือนได้ย้ายเข้ามาอยู่ร่วมกันในชายคาบ้านของเธอ อย่างไรก็ดี หลังจากนั้นไม่นาน พนักงานในหน้ากากป้องกันแก๊สพิษและชุดป้องกันสารเคมีได้เตือนพวกเธอว่าให้อพยพออกจากพื้นที่นี้ให้เร็วที่สุด เนื่องจากพบสารกัมมันตภาพรังสีรั่วไหลออกจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในระยะที่ห่างออกไปราว 32 กิโลเมตร ซึ่งทำให้เกิดการปนเปื้อนรุนแรงในบริเวณพื้นที่ภูเขาในเมืองนามิเอะ

 

นางคันโนะ ผู้อพยพและผู้รอดชีวิตจากเหตุการณ์ภัยพิบัติฟุกุชิมะ กำลังมองดู มาอิ สึซีกิ และ ลอเรนซ์ เบอร์ก็อต ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีของทางกรีนพีซ ตรวจวัดระดับสารปนเปื้อนในบริเวณบ้านของเธอซึ่งตั้งอยู่ในเขตหวงห้ามของเมืองนามิเอะ จังหวัดฟุกุชิมะ พื้นที่ควบคุมดูแลพิเศษโดยรัฐฯ © คริสเตียน ออสลุน / กรีนพีซ

ในตอนนี้ นางคันโนะอาศัยอยู่ทางฝั่งตะวันตกของญี่ปุ่น ซึ่งห่างจากบ้านของเธอในฟุกุชิมะมาหลายร้อยกิโลเมตร แต่แม้ว่าเธอจะเป็นผู้ประสบภัยโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เธอก็ไม่ได้นิ่งดูดาย เธอเป็นหญิงนักรณรงค์ที่มุ่งมั่นจะเล่าถึงเรื่องราวของเธอ และเธอได้จุดประกายโครงการทั่วทั้งเขตคันไซเพื่อต่อต้านการสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์และสนับสนุนให้หันมาใช้พลังงานหมุนเวียน

เช่นเดียวกันกับผู้อพยพรายอื่นๆอีกหลายพันคน เธอเองก็ได้เข้าร่วมยื่นฟ้องบริษัท Tokyo Electric Power Company หรือ TEPCO และรัฐบาลญี่ปุ่น ซึ่งพบว่ามีความผิดแล้วจากการดำเนินการตัดสินคดีทั้งหลายของศาลในข้อหานิ่งเฉยต่อความผิดพลาดในการใช้มาตรการยับยั้งการหลอมละลายของนิวเคลียร์ ทั้งทาง TEPCO และรัฐบาลญี่ปุ่นเองจึงอาจต้องเจอกับคำติดสินอื่นๆในอีกหลายข้อกล่าวหาตามมา

ด้วยการสนับสนุนจากนางคันโนะ จากเหล่าเพื่อนๆและเพื่อนบ้านของเธอ ทางกรีนพีซจึงสามารถดำเนินการสำรวจภายในเขตหวงห้ามของนามิเอะได้อย่างกว้างขวาง โดยได้นำมาตีพิมพ์ในรายงาน Reflecting in Fukushima
แม้ว่าในรายงานการสำรวจของเราจะเต็มไปด้วยเรื่องเกี่ยวกับไมโครซีเวอร์ตและมิลลิซีเวอร์ต (ซีเวอร์ต: หน่วยอนุพันธ์เอสไอของปริมาณรังสีสมมูล) ทว่าเราได้เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตและดินแดนของนางคันโนะ ของครอบครัว ของเพื่อนๆ และเพื่อนบ้านของเธอไว้มากกว่าไม่น้อยเลยทีเดียว

ทางเข้าที่ถูกปิดไว้ของโรงเรียนชิโมะ-สึชิมะในเขตหวงห้ามของเมืองนามิเอะ จังหวัดฟุกุชิมะ พื้นที่ควบคุมดูแลพิเศษโดยรัฐฯ ประเทศญี่ปุ่น © คริสเตียน ออสลุน / กรีนพีซ

จากการตรวจวัดตามจุดต่างๆหลายพันจุดในพื้นที่บริเวณบ้านเรือน ป่าไม้ และพื้นที่ทำกสิกรรม เห็นได้ชัดว่าพื้นที่ดังกล่าวยังไม่ควรเปิดให้สาธารณชนเข้าถึงได้เป็นเวลากว่าหลายสิบปี ทว่าทางรัฐบาลกลับเปิดให้ใช้เส้นทางหลักหมายเลข 114 ได้ขณะที่เรากำลังทำงานอยู่ที่เมืองนามิเอะ

หนึ่งในผลกระทบจากเหตุข้างต้นคือการที่ผู้คนต่างหยุดแวะพักและเข้าชมพื้นที่ที่มีสารกัมมันตภาพรังสีเข้มข้นสูง โดยในบริเวณบ้านหลังหนึ่งนั้นมีสารกัมมันตภาพรังสีเข้มข้นกว่า 11 ไมโครซีเวอร์ตต่อชั่วโมง (μSv/h) ในระยะหนึ่งเมตร และ 137 ไมโครซีเวอร์ตต่อชั่วโมง (μSv/h) ในระยะ 10 เซนติเมตร ระดับความเข้มข้นนี้นับว่าสูงกว่าปริมาณรังสีพื้นฐานในช่วงก่อนการระเบิดถึงหลายพันเท่า ซึ่งหมายความว่าคุณจะได้รับสารกัมมันตภาพรังสีเกินค่าสูงสุดที่แนะนำต่อปีภายในเวลาเพียง 6 วันเท่านั้น

อย่างไรก็ดี เราพบคนสองคนกำลังทำงานอยู่ห่างจากบริเวณดังกล่าวไปเพียง 10 เมตรเท่านั้นโดยไม่มีอุปกรณ์วัดระดับสารกัมมันตภาพรังสีติดตัว และไม่ได้ใส่ชุดป้องกันรังสีแต่อย่างใด นางคันโนะและทางผู้เชี่ยวชาญของเราจึงได้อธิบายถึงระดับการปนเปื้อนของรังสีและความจำเป็นของการมีมาตรการระวังภัย

ในเขตหนึ่งในเมืองโอโบริ เราตรวจวัดปริมาณรังสีที่พนักงานกำจัดสารกัมมันตภาพรังสีอาจได้รับได้มากถึง 1 มิลลิซีเวอร์ตต่อปี (mSv/y) ภายในเวลาทำงานเพียงแค่ 10 วันเท่านั้น โดยพื้นที่ทั้งหมดในบริเวณดังกล่าวมีการปนเปื้อนแปรปรวนถึงระดับสูงซึ่งจะยังคงเป็นภัยอันตรายต่อไปถึงในอีกศตวรรษข้างหน้า ทำไมทางรัฐบาลญี่ปุ่นถึงคิดจะเปิดพื้นที่ดังกล่าวให้สาธาณชนเข้าถึงได้ในปี 2566 ซึ่งนับเป็นเวลาที่กระชั้นชิดเกินไปขนาดนี้? พวกเขามีเหตุผลอะไร?
อันที่จริงเหตุผลนั้นเป็นเพียงเหตุผลง่ายๆและตลกร้าย ทางรัฐบาลญี่ปุ่นนั้นสิ้นหวังอย่างยิ่งที่จะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขึ้นมาอีกครั้ง ในตอนนี้มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เพียงสามแห่งเท่านั้นที่ยังคงทำการอยู่ และการที่มีพื้นที่หลายแห่งในญี่ปุ่นถูกปิดตายไม่ให้มนุษย์อยู่อาศัยอันเนื่องมาจากการปนเปื้อนของสารกัมมันตภาพรังสีนั้นนับเป็นอุปสรรคต่อความตั้งใจจะสร้างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ถึง 30-35 แห่งของทางรัฐบาลอย่างยิ่ง เพราะมันคอยย้ำเตือนอยู่เสมอว่าประชาชนชาวญี่ปุ่นมีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ได้ทุกเมื่อ

อย่างไรก็ตาม ยังคงมีสัญญาณการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีอยู่บ้าง โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมา คณะผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งซึ่งก่อตั้งโดยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศได้ออกมาเรียกร้องให้มีการขยายส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนและกล่าวเตือนถึงความเสี่ยงในการพึ่งพาการใช้ถ่านหินและโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ เสียงของนางคันโนะและผู้อพยพคนอื่นๆอีกหลายพันคน รวมถึงประชากรส่วนใหญ่ในญี่ปุ่นและคำร้องขอให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานในอนาคตของพวกเขาจะไม่ถูกเพิกเฉยอีกต่อไป

ลอเรนซ์ เบอร์ก็อต ผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีของกรีนพีซ ในเขตหวงห้ามที่มีค่าการปนเปื้อนของสารกัมมันตภาพรังสีสูงในเมืองนามิเอะ จังหวัดฟุกุชิมะ พื้นที่ควบคุมดูแลพิเศษโดยรัฐฯ ประเทศญี่ปุ่น © คริสเตียน ออสลุน / กรีนพีซ

ในช่วงเวลาที่พวกเราอยู่ในเมืองนามิเอะ ขณะที่เราเข้าเยี่ยมชมพื้นที่ปนเปื้อนสารกัมมันตภาพรังสีที่โอโบริและสึชิมะอันเป็นพื้นที่ห่างไกลที่เต็มไปด้วยความงามของธรรมชาติ นางคันโนะได้เล่าให้พวกเราฟังถึงวิถีชีวิตและประเพณีในครอบครัวของผู้คนในพื้นที่ซึ่งหาเลี้ยงชีพตนเองด้วยการทำเกษตรกรรมมาเนิ่นนานรุ่นสู่รุ่น ทว่าในตอนนี้พวกเขากลับจำต้องโยกย้ายและกระจัดกระจายไปทั่วทั้งญี่ปุ่น แต่ทางรัฐบาลกลับล้มเหลวที่จะรับรู้ถึงสิทธิในการใช้ชีวิตของพวกเขาทุกคนภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนทั้งในและนอกประเทศ

เราได้เดินทางไปยังเมืองเจนีวากับเหล่าคุณแม่ที่อพยพมาจากฟุกุชิมะเพื่อเข้าร่วมการประชุมในวาระเกี่ยวกับประเทศญี่ปุ่นของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นกำลังถูกกดดันให้หยุดการละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อพยพฟุกุชิมะ โดยเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้ยอมรับคำแนะนำทั้งหมดที่ทางสหประชาชาติได้เสนอให้เคารพในสิทธิมนุษยชนของประชาชนชาวฟุกุชิมะ รวมถึงคำแนะนำของรัฐบาลเยอรมนีให้นำการกำหนดค่าการสัมผัสสารกัมมันตภาพรังสีสูงสุดต่อปีที่ 1 มิลลิซีเวอร์ตกลับมาใช้อีกครั้ง ซึ่งค่ามาตรฐานความปลอดภัยสากลนี้ได้ถูกยกเลิกไปโดยรัฐบาลอาเบะ

การตัดสินใจของรัฐบาลนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ทว่าในตอนนี้พวกเขาจำเป็นต้องทำให้เห็นอย่างชัดเจนยิ่งขึ้นแล้วว่าพวกเขาจะรักษาคำมั่นที่ให้ไว้กับทางสหประชาชาติหรือไม่ โดยเมื่อวันที่ 16 มีนาคม นางคันโนะและผู้อพยพรายอื่นๆรวมถึงทนายของพวกเขาจะเข้าพบศาลฎีกาสูงสุดโตเกียวเพื่อให้ศาลตัดสินคดีการยื่นฟ้อง TEPCO และรัฐบาล โดย อากิโกะ โมริมัทสึ หนึ่งในคุณแม่ของกลุ่มผู้อพยพ ร่วมกับทางกรีนพีซ และกล่าวในที่ประชุมสหประชาชาติในวันเดียวกันนี้เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลญี่ปุ่นทำตามคำแนะนำของทางสหประชาชาติที่ได้ให้คำมั่นไว้

แม้ว่าเราจะอยู่ห่างกันเป็นระยะทางร่วมหลายพันกิโลเมตร แต่พวกเราจะยืนเคียงข้างนางคันโนะในวันที่เธอเข้าพบศาลในกรุงโตเกียว และเธอเองก็จะอยู่เคียงข้างเราที่เจนีวาเช่นกัน ภัยพิบัติฟุกุชิมะได้ทำลายชีวิตผู้คนไปมากมาย แต่มันก็ได้ช่วยนำพาพวกเราให้ได้มาร่วมมือกันแสดงความมุ่งมั่นเพื่อยับยั้งเหตุการณ์อันโหดร้ายเช่นนี้มิให้เกิดขึ้นอีก และเพื่อให้ญี่ปุ่นสามารถเปลี่ยนผ่านมาสู่การใช้พลังงานที่ปลอดภัยจากพลังงานหมุนเวียนได้ในอนาคต
บทความแปลจากต้นฉบับภาษาอังกฤษ สามารถอ่านบทความต้นฉบับได้ที่นี่

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม