เพราะสนธิสัญญาพลาสติกโลกจะเป็นโอกาสที่จะทำให้เรายุติมลพิษพลาสติกที่กำลังเกิดขึ้นได้ ซึ่งก่อนหน้านี้การเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกเริ่มขึ้นในปี 2565 และเรามีเวลาจนถึงปี 2567 เพื่อทำให้สนธิสัญญาฉบับนี้เกิดขึ้นจริง มีความเข้มแข็ง มุ่งมั่น และมีผลบังคับใช้อย่างเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้
ตอนนี้โลกของเรากำลังถูกทำร้ายจากมลพิษพลาสติกที่ลุกลามไปทั่วทุกมุมโลกซึ่งเป็นอันตรายต่อสุขภาพมนุษย์ ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางสังคม ทำลายความหลากหลายทางชีวภาพและกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
พลาสติกก็คือเชื้อเพลิงฟอสซิล
พลาสติก 99% ผลิตจากน้ำมันและก๊าซ โดยบริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่อย่างเอ็กซอนโมบิล (ExxonMobil) มีส่วนทำให้เกิดการผลิตพลาสติกในปริมาณมหาศาลในแต่ละปี
จากงานวิจัยที่เผยแพร่ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า จำนวนพลาสติกที่ใช้ในกลุ่มประเทศ G20 จะเพิ่มขึ้นอีกสองเท่าภายในปี 2593 หากอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกยังคงการผลิตแบบนี้ต่อไปเรื่อย ๆ พลาสติกที่ถูกผลิตขึ้นมาอาจเพิ่มขึ้นอีกสองเท่าจากเดิม
ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตพลาสติกไปจนถึงการใช้งานและกำจัด ล้วนส่งผลต่อการดำรงชีวิตของคนและสิ่งมีชีวิตชนิดต่าง ๆ รวมถึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย พลาสติกยังก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์อย่างชัดเจน เพราะกระบวนการผลิตพลาสติกปล่อยสารเคมีอันตรายระหว่างการสกัดและถูกผลิตออกมาเป็นเม็ดพลาสติก การสัมผัสกับสารเคมีระหว่างใช้งาน และหลังการใช้งาน พลาสติกยังกลายเป็นขยะซึ่งก่อให้เกิดมลพิษทางสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่รวมถึงแบรนด์สินค้าใหญ่ ๆ อย่าง Unilever, Nestlé และ Coca-Cola, ยังคงแก้ปัญหาที่ปลายเหตุและยังใช้พลาสติกครั้งเดียวทิ้งในสายการผลิตอยู่เพื่อ “ความสะดวกสบาย”และเล็งเห็นผลกำไรของบริษัทมากกว่าผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อชุมชน
สนธิสัญญาพลาสติกโลกคือโอกาสสำคัญที่เราจะมีส่วนช่วยยุติมลพิษพลาสติก
ตอนนี้เรามีโอกาสที่จะยุติวิกฤตมลพิษพลาสติกจากการเจรจาสนธิสัญญาพลาสติกโลกที่เริ่มขึ้นในปี 2565 และเรามีเวลาถึงปี 2567 ที่จะผลักดันให้สนธิสัญญานี้สามารถเกิดขึ้นจริง ทำให้เป็นสัญญาที่มีความเข้มแข็ง มีเป้าหมายที่มุ่งมั่นชัดเจน เพื่อที่จะสามารถยุติมลพิษพลาสติกได้อย่างทันท่วงที
นี่คือเหตุผลที่เราต้องการสนธิสัญญาพลาสติกโลก เพื่อหยุดมลพิษพลาสติก และหยุดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ
- ยุติมลพิษพลาสติกตลอดวงจรการผลิต การใช้งาน และการกำจัด เพื่อปกป้องสุขภาพและสิ่งแวดล้อมของเรา
- ลดการผลิตพลาสติก โดยรวมถึงการผลิตพลาสติกบริสุทธิ์
- เปลี่ยนผ่านไปยังเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (low-carbon) ขยะเป็นศูนย์ (zero-waste)และไร้สารพิษ (toxic-free) โดยมุ่งเน้นไปที่เศรษฐกิจที่มีพื้นฐานเป็นการนำกลับมาใช้ซ้ำ
- เน้นไปที่การยึดหลักการทางสิทธิมนุษยชน ที่ลดความเหลื่อมล้ำและให้ความสำคัญกับสุขภาพของมนุษย์ ปกป้องสิ่งแวดล้อม และเห็นประโยชน์ต่อส่วนร่วมเป็นหลัก
ในช่วง Black Friday ปริมาณบรรจุภัณฑ์พลาสติกเพิ่มสูงขึ้นมาก รวมไปถึงพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้งที่เกิดจากการใช้ในชีวิตประจำวันได้กระจายไปทั่วทุกมุมโลกอย่างรวดเร็ว ไวกว่าการผลิตในรอบ 100 ปี ก็ว่าได้
กรีนพีซและเครือข่ายที่ทำงานร่วมกันเพื่อขับเคลื่อนอนาคตที่ปลอดพลาสติกนั้น เรียกร้องให้สนธิสัญญาพลาสติกโลกจะต้องมุ่งไปสู่การลด ละ เลิก การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลและก๊าซเพื่อผลิตพลาสติก ซึ่งจะนำไปสู่การลดการผลิตพลาสติกของผู้ก่อมลพิษพลาสติกรายใหญ่ หากสนธิสัญญาพลาสติกโลกฉบับนี้ล้มเหลวลง ก็อาจทำให้เราไม่สามารถแก้ไขปัญหามลพิษพลาสติกที่เกิดขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อผู้คนและโลกใบนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
Graham Forbes นักรณรงค์โครงการยุติมลพิษพลาสติกระดับโลก กรีนพีซ สหรัฐอเมริกา นอกจากการต่อสู้เพื่อปกป้องชุมชนและมหาสมุทรแล้ว งานอดิเรกของเขาคือการเล่นเซิร์ฟในตอนกลางของอ่าวแคลิฟอเนียร์