แม้จะเป็นดินแดนที่เต็มไปด้วยธารน้ำแข็งสีขาวดูสวยงาม แต่แอนตาร์กติกยังคงมีพื้นที่อีกหลายส่วนที่ถูกปกคลุมไปด้วยความเงียบและเต็มไปด้วยความหนาวเย็นยะเยือก ด้วยสถิติการเป็นพื้นที่ที่มีอุณหภูมิต่ำที่สุดในโลกและยังเป็นพื้นที่ที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่เลย จึงไม่น่าแปลกใจที่สถานที่แห่งนี้จะเป็นโลเคชั่นสุดฮอตสำหรับภาพยนตร์ระทึกขวัญอย่าง The Thing และ Alien vs. Predator

ภูมิทัศน์ของแอนตาร์กติกยังดูแปลกตาจนไม่เหมือนสถานที่ที่อยู่บนโลก และ 7 สิ่งที่เราจะนำเสนอต่อไปนี้อาจฟังดูแล้วน่าขนลุก แต่มันก็ยังเป็นแรงบันดาลใจที่ดีที่ทำให้เราอยากปกป้องผืนน้ำแข็งแอนตาร์กติกแห่งนี้

1.น้ำตกสีเลือดในแอนตาร์กติก

หิมะสีขาวสะท้อนแสงตัดกับสีแดงของน้ำตกในแอนตาร์กติกฟังแล้วดูน่าขนลุกอยู่ไม่น้อย แต่ภาพนี้เกิดขึ้นจริงที่ธารน้ำแข็ง เทย์เลอร์ (Taylor Glacier) น้ำตกแห่งนี้ถูกค้นพบเมื่อปี 2454 และสีน้ำตกแห่งนี้ก็สร้างความฉงนให้กับนักวิทยาศาสตร์อยู่ไม่น้อย จนในที่สุดกลุ่มนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Alaska Fairbanks ก็ค้นพบคำตอบของปริศนานี้ในปี 2560 คำตอบที่ทำให้น้ำตกแห่งนี้เป็นสีแดงก็เพราะว่าน้ำทะเลที่ไหลลงมามีแร่ธาตุเหล็กผสมอยู่ และเมื่อน้ำทะเลสัมผัสกับอากาศทำให้แร่ธาตุเกิดการออกซิไดซ์จนทำให้น้ำกลายเป็นสีแดงเข้ม กระบวนการนี้เป็นกระบวนการเดียวกันกับการขึ้นสนิมของเหล็ก

ภาพน้ำตกสีเลือดที่อยู่ที่บริเวณขอบธารน้ำแข็ง Taylor Glacier แม่น้ำ Lake Bonney © Public domain (Peter Rejcek)

2.แมงมุมใต้มหาสมุทร

หากคุณกลัวแมงมุมก็อาจจะต้องข้ามข้อนี้ไป เพราะไม่น่าเชื่อเลยว่าใต้พื้นผิวมหาสมุทรของแอนตาร์กติกอันมืดมิดจะมีแมงมุมทะเลอาศัยอยู่ พวกมันคือกลุ่มแมงที่อาศัยอยู่ในทะเล แมงมุมทะเลในแอนตาร์กติกนี้สามารถเติบโตได้ถึง 50 เซนติเมตรหรือมากกว่านั้น และหากคิดว่าพวกมันยังแปลกไม่พอ เราขอให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าแมงมุมทะเลเหล่านี้หายใจผ่านรูที่อยู่ตามขาของพวกมันด้วย

แมงมุมทะเล สายพันธุ์ Pycnogonid พบในอ่าว Half Moon ด้านนอกของเกาะ Livingston © Christian Åslund / Greenpeace 

3. พีระมิดในแอนตาร์กติก

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2559 ภูเขารูปทรงคล้ายพีระมิดที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเทือกเขา เอลส์เวิร์ธ กลายเป็นกระแสยอดฮิตบนอินเทอร์เน็ต บางกลุ่มคาดว่าภูเขาแห่งนี้คือซากอารธรรมโบราณ อีกกลุ่มก็เชื่อว่าถูกสร้างขึ้นโดยมนุษย์ต่างดาว แต่ความจริงแล้วผู้เชี่ยวชาญสรุปว่าสิ่งก่อสร้างนี้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ เพราะการกัดเซาะโดยธรรมชาติเป็นเวลากว่าหลายล้านปีจนทำให้เขาลูกนี้มีลักษณะคล้ายพีระมิดที่สวยงาม

เทือกเขาเซ็นทิเนลในหุบเขา เอลส์เวิร์ธ (the Ellsworth Mountains) © Public domain / NASA

4.หิมะสีแตงโม

หนึ่งในปรากฎการณ์สุดประหลาดที่ทำให้หิมะในแอนตาร์กติกมีชีวิตชีวามากขึ้น เพราะหิมะสีขาวโพลนเปลี่ยนสีไปเป็นสีคล้ายกับลูกกวาดสีสันสดใส อย่างไรก็ตามแม้ว่าสีสันของมันจะน่ากินแค่ไหนก็ตาม แต่คุณไม่ควรทำแบบนั้นแน่ ๆ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือปรากฎการณ์ที่สาหร่ายขนาดเล็ก Chlamydomonas ทนทานต่อความเย็นจัดปล่อยสปอร์ที่มีทั้งสีเขียวและสีแดงออกมาในขณะที่ธารน้ำแข็งกำลังอุ่นขึ้นในฤดูร้อนของแอนตาร์กติก ส่งผลให้เกิดปรากฎการณ์สาหร่ายสะพรั่งและทำให้น้ำแข็งมีสีสันขึ้นมานั่นเอง ซึ่งเชื่อว่าหิมะแบบนี้มีสารพิษต่อมนุษย์และไม่สามารถรับประทานได้ ดังนั้นหากมีโอกาสไปแอนตาร์กติกและได้เจอหิมะลักษณะนี้ ห้ามกินเด็ดขาด

ปรากฎการณ์หิมะสีแตงโมบนเกาะ King George © Creative commons CC BY-SA 4.0 / TSY1980 / Sergey Tarasenko

5.หมูทะเล

หมูทะเลมีความคล้ายคลึงกับแอกโซลอเติล (axolotl) และ คราเคน (Kraken) เรายังไม่ทราบว่าสัตว์กินซากชนิดนี้มีชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหน รู้เพียงแค่พวกมันมีบทบาทหน้าที่ในห่วงโซ่ของมหาสมุทรที่ค่อนข้างน่าสะพรึงกลัว เพราะพวกมันกินอวัยวะที่กำลังเน่าเปื่อยเพื่อรับสารอาหาร และหากพวกมันถูกกินเสียเอง สารอาหารในตัวของมันก็จะกลับคืนสู่ห่วงโซ่อาหาร นั่นทำให้แม้ว่าพวกมันจะแปลกประหลาดแต่ก็เป็นสัตว์ที่มีประสิทธิภาพในมหาสมุทร

ภาพหมูทะเลเดินอยู่ใต้ก้นทะเล © Creative commons CC BY-NC-SA 2.0 / Ocean Networks Canada

6.สุสานแอนตาร์กติก

ใต้มหาสมุทรแอนตาร์กติกมีโครงกระดูกถูกฝังอยู่ในปริมาณมหาศาลมากกว่าที่คิด หรือแม้กระทั่งโครงกระดูกที่ถูกทับถมใต้หิมะบนเกาะเจมส์ รอส (James Ross Island) นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังค้นพบซากฟอสซิลที่หนักเกือบตันอีกด้วย โครงกระดูกเหล่านี้เป็นซากโครงกระดูกของสิ่งมีชีวิตโบราณ รวมทั้งโครงกระดูกของโมซาซอร์รัส หรือสัตว์โบราณขนาดใหญ่ที่มีรูปร่างคล้ายวาฬ แม้ว่านี่คือการค้นพบที่น่ามหัศจรรย์ แต่สิ่งที่ดีที่สุดคือการปล่อยให้โครงกระดูกเหล่านี้หลับอยู่ตรงนั้น เพราะคงไม่มีใครอยากจะทำให้ปีศาจชนิดนี้กลับมาตามหลอกหลอนพวกเราหรอก

โครงกระดูกโมซาซอร์รัส © Creative commons CC0 / Bildflut

7.แผ่นน้ำแข็งที่ส่งเสียงร้องเพลงได้

จากทั้งหมดที่กล่าวมา ไม่มีปรากฎการณ์ใดที่น่าขนลุกมากพอกับปรากฎการณ์แผ่นน้ำแข็งส่งเสียงร้อง ซึ่งเสียงร้องนี้ถูกค้นพบโดยบังเอิญขณะที่นักวิทยาศาสตร์กำลังใช้เครื่องแปลงสัญญาณแผ่นดินไหวบนเกาะเจมส์ รอส โดยเสียงดังกล่าวเป็นเสียงที่มนุษย์สามารถได้ยินเนื่องจากมักจะตรวจจับได้บ่อยครั้งในการบันทึกสัญญาณแต่ละครั้ง ว่ากันว่าเสียงแผ่นน้ำแข็งนี้คล้ายกับเสียงคนฮัมเพลงเศร้า ๆ เพราะเสียงถูกสร้างขึ้นขณะที่ลมพัดช่องว่างของหิ้งน้ำแข็ง และแน่นอนว่าเสียงเพลงนี้ทำให้คุณขนหัวลุกได้

ภาพหิ้งน้ำแข็ง Ross Ice Shelf ที่บรรจบกันตั้งอยู่บนเกาะรอส เมื่อสิงหาคม 2556 © Creative commons CC BY-NC-ND 2.0 / Sandwichgirl

ทั้งหมดนี้เป็นทั้งสิ่งมหัศจรรย์และน่าขนลุกในขณะเดียวกันทำให้เราเข้าใจว่าทำไมแอนตาร์กติกจึงเป็นแรงบันดาลใจและเป็นโลเคชั่นของกลุ่มภาพยนตร์ระทึกขวัญ คณะกรรมการมหาสมุทรแอนตาร์ติกมีอำนาจพอที่จะปกป้องพื้นที่นี้ได้โดยกำหนดเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลของแอนตาร์กติกทันที โดยเริ่มจากการร่วมปกป้องพื้นที่มหาสมุทรโลกร่วมกับเราอย่างน้อย 30% ของพื้นที่มหาสมุทรทั้งโลกภายในปี 2573 นี่เป็นทางออกที่ดีที่สุดที่จะปกป้องสิ่งมีชีวิตและสถานที่อันเป็นเอกลักษณ์ของแอนตาร์ติกจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศและอุตสาหกรรมประมงแบบทำลายล้าง ซึ่งเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวอย่างแท้จริง


จีนเน็ท เมเยอร์ นักรณรงค์ด้านดิจิตอลสากล ในงานรณรงค์ปกป้องมหาสมุทรโลกของกรีนพีซ

บทความนี้แปลจากบทความต้นฉบับภาษาอังกฤษ อ่านบทความต้นฉบับ