จะนะ, สงขลา, 24 มิถุนายน 2567 – เครือข่ายชุมชนชายฝั่งจาก เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น, สมาคมรักษ์ทะเลจะนะ, จะณะแบ่งสุข, เครือข่ายนาทวียั่งยืน และ กรีนพีซ ประเทศไทย จัดกิจกรรมมอบ “เอกสารสรุปเชิงนโยบายการจัดพื้นที่คุ้มครองทางทะเลโดยชุมชนเป็นผู้นำเพื่อการออกแบบอนาคตยั่งยืน” ต่อนายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในงานรณรงค์ปกป้องทะเลและมหาสมุทรภายใต้โครงการ “Rainbow Warrior Ship Tour 2024: Ocean Justice” ที่หาดสวนกง อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา พร้อมเยี่ยมชมเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ ร่วมกับรองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา และทำกิจกรรมวางบ้านปลา ร่วมกับภาคประชาชนในจะนะและเทพา
รุ่งเรือง ระหมันยะ นายกสมาคมรักษ์ทะเลจะนะและสมาชิกเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่นที่ร่วมส่งมอบนโยบายฉบับนี้ กล่าวว่า “ความสำคัญของการส่งมอบนโยบายในครั้งนี้ คือชุมชนต้องการมีส่วนร่วมเป็นผู้นำในการกำหนดการพัฒนาพื้นที่ด้วยตนเอง เช่น การพัฒนาให้พื้นที่มีความมั่นคงทางอาหาร เพื่อให้สามารถหล่อเลี้ยงชุมชนและสร้างรายได้โดยยังคงอนุรักษ์ทรัพยากรในพื้นที่ไว้ ดังนั้นเราจำเป็นจะต้องให้ภาครัฐมาร่วมมือกับชุมชนในพื้นที่ ร่วมกันรักษาทะเลเพื่อส่งต่อทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ต่อให้กับคนรุ่นลูก รุ่นหลานในอนาคตต่อไป”
“นโยบายนี้จะสร้างสมดุลทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและตอบโจทย์การแก้ปัญหาวิกฤตโลกเดือดที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญอยู่” นายกิตติภพ สุทธิสว่าง ประธานสภาองค์กรชุมชน 4 อำเภอส่วนหน้าจังหวัดสงขลากล่าว
การส่งมอบนโยบายของชุมชนในครั้งนี้เป็นการสื่อสารไปยังรัฐบาลเพื่อให้ความสำคัญกับการพัฒนาในระดับรากหญ้า สร้างรากฐานที่มั่นคงให้กับเศรษฐกิจและสังคมในระดับชุมชน ให้ความสำคัญกับการพัฒนานโยบายล่างขึ้นบนโดยคำนึงถึงการรักษาฐานทรัพยากร ความหลากหลายทางชีวภาพ สิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน และสิทธิในการมีส่วนร่วมในการพัฒนา
นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้กล่าวถึงการรับมอบนโยบายจากชุมชนว่า “นโยบายที่ได้รับมอบโดยมีประชาชนในอำเภอจะนะและเทพาเป็นผู้ริเริ่มนั้น จะเอื้อให้จังหวัดสงขลาได้เป็นตัวอย่างของการพัฒนาเมืองอย่างมีส่วนรวมอย่างรอบด้าน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเราทุกคนจะร่วมมือกันพัฒนาทะเลและชายฝั่งของเรา ตลอดจนร่วมกันดูแลรักษาป่าต้นน้ำ ปากแม่น้ำ และระบบนิเวศในควน ป่า และนา ซึ่งเชื่อมต่อกับทะเล ให้มีความอุดมสมบูรณ์ เพื่อความมั่นคงทางอาหาร เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม”
การเดินทางมายังอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลาในครั้งนี้ กรีนพีซ ยังได้ร่วมทำงานวิจัยเพื่อวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองกับตัวแทนชุมชนประมงและเยาวชนจากอำเภอจะนะและเทพา โดยมีนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้นำในการวิจัยครั้งนี้ พร้อมด้วยศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนล่าง มหาวิทยาลัยรามคำแหง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งและอาสาสมัครนักดำน้ำของกรีนพีซ เพื่อรวบรวมข้อมูลความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรทางทะเลในจังหวัดสงขลา ผ่านการสำรวจสัตว์ทะเลหน้าดิน แพลงก์ตอนสัตว์และสัตว์น้ำวัยอ่อนซึ่งเป็นหนึ่งในข้อบ่งชี้สภาพท้องทะเล และเป็นตัวกลางในการเชื่อมร้อยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ากับภูมิปัญญาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในทะเลและสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ในการทำงานอนุรักษ์ร่วมกับชุมชน
การทำงานวิจัยนี้ตั้งแต่วันที่ 17-20 มิถุนายน 2567 ซึ่งผลการสำรวจข้อมูลจะถูกส่งต่อให้ชุมชนเพื่อนำไปใช้ในงานอนุรักษ์ทรัพยากรและออกแบบการปกป้องท้องทะเลในชุมชนต่อไป
วิภาวดี แอมสูงเนิน นักรณรงค์ด้านทะเลและมหาสมุทร กรีนพีซ ประเทศไทย กล่าวว่า “ชุมชนชายฝั่งและทะเลไทยต้องเผชิญกับภัยคุกคามมากมาย ทั้งโครงการนิคมอุตสาหกรรม ท่าเรือน้ำลึก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การประมงเกินขนาด ล้วนเป็นผลพวงจากการดำเนินนโยบายที่ไม่คำนึงถึงความยั่งยืนในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทะเล ซ้ำยังกดทับและลิดรอนสิทธิชุมชนและสิทธิมนุษยชน ซึ่งรวมไปถึงสิทธิแห่งการมีส่วนร่วมในการพัฒนา
“ดังนั้น จึงมีชุมชนชายฝั่งหลายแห่งที่ริเริ่มร่วมตัวกันเพื่อสร้างนโยบายการพัฒนาพื้นที่อย่างยั่งยืน ให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะเกิดขึ้นในปัจจุบันและอนาคตถูกออกแบบโดยมีการรักษาฐานทรัพยากรเป็นศูนย์กลาง ปรับตัวได้กับตลาดโลกและสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนไป และเป็นนโยบายที่สร้างบนการมีส่วนร่วมของชุมชนจากล่างขึ้นบน
“ชุมชนในอำเภอจะนะประกอบด้วยชุมชนที่มีวิถีการดำรงชีวิตอยู่กับพื้นที่ควน พื้นที่ป่า พื้นที่นา และพื้นที่ทะเล ซึ่งชุมชนเหล่านี้มีเป้าหมายเดียวกันในการสร้างการพัฒนาจากล่างขึ้นบนโดยมีทรัพยากรของชุมชนเป็นฐาน มีการรวมตัวกันเพื่อพัฒนายุทธศาสตร์จะนะยั่งยืนได้ถึง 15 ข้อ เช่น ยุทธศาสตร์ที่ว่าด้วยความมั่นคงทางอาหาร การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ พลังงานหมุนเวียน เป็นต้น แม้ว่าชุมชนจะมีการดำเนินการตามยุทธศาตร์เหล่านี้อย่างเป็นรูปธรรมอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีข้อติดขัดหลายประการที่จำเป็นจะต้องพึ่งพิงกลไกและการสนับสนุนในเชิงโครงสร้างอยู่” วิภาวดี กล่าวเสริม
“ผมหวังว่าทั้งงานนโยบายและงานวิจัยที่ทางกรีนพีซ ประเทศไทย ร่วมกับชุมชนทำอยู่นั้นจะส่งผลให้เกิดองค์ความรู้และความเข้าใจเรื่องทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ตลอดจนการต่อยอดเพื่อสร้างสรรค์เศรษฐกิจบนฐานทรัพยากรในพื้นที่อำเภอจะนะและบริเวณข้างเคียง รวมทั้งการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างรัฐและชุมชนชายฝั่งในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรในสงขลาต่อไป เพื่อพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งกันอีกในอนาคต” นายมาหะมะพีสกรี วาแม รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวสรุป
ก่อนหน้านี้ เรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ (Rainbow Warrior) เดินทางไปที่อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ก่อนจะเดินทางมายัง อ.จะนะ จ.สงขลา และจัดกิจกรรมส่งมอบนโยบาย โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำงานร่วมกับชุมชน ภาคประชาสังคม องค์กร และหน่วยงานต่าง ๆ ในการรณรงค์ปกป้องทรัพยากรชายฝั่งและทะเล ไปจนถึงสิทธิชุมชนชายฝั่ง
ติดตามงานรณรงค์ของกรีนพีซได้ที่ www.greenpeace.or.th
ดาวน์โหลดรายงานรายงาน เสียงแห่งจะนะ Voice of Chana ได้ที่ https://www.greenpeace.org/thailand/publication/28782/voice-of-chana-report/
#OceanJustice #RainbowWarriorTH2024
ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
วิริยา กิ่งวัชระพงศ์ ผู้ประสานงานสื่อมวลชน กรีนพีซ ประเทศไทย
โทร.091 770 3523 อีเมล. [email protected]