เป็นเวลาร่วม 5 ปีแล้วที่ชุมชนบ้านบอม อ.แม่ทะ จ.ลำปาง และชุมชนกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ เดินหน้าปกป้องพื้นที่จากโครงการเหมืองถ่านหินไม่ให้เกิดขึ้นอีก ในปีนี้ กรีนพีซ ประเทศไทยหนึ่งในภาคีเครือข่ายร่วมคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินกับชุมชน จัดวงพูดคุย X Space #ฮักภาคเหนือบ่เอาถ่านหิน เสียงจากคนภาคเหนือในการคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหิน โดยมีผู้ร่วมพูดคุยหลากหลาย ได้แก่ พรชิตา ฟ้าประทานไพร ตัวแทนชุมชนกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ สุภาภรณ์ มาลัยลอย ผู้จัดการมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) สส.เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล เลขานุการ กมธ. ที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พชร คำชำนาญ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move) และ พีรณัฐ วัฒนเสน นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม กรีนพีซ ประเทศไทย
ชุมชนยืนหยัดคัดค้านโครงการเหมืองถ่านหินมายาวนาน แต่ไร้ความช่วยเหลือจากภาครัฐ
พชร คำชำนาญ กล่าวเปิดวงสนทนาไว้ว่าเราต้องชื่นชมที่ชุมชนเล็ก ๆ ได้จับมือกันต่อสู้กับโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ของรัฐ แต่ในอีกแง่หนึ่งเรากลับรู้สึกหดหู่ที่ต้องเห็นกลุ่มคนเหล่านี้ที่ปกป้องพื้นที่ตนเองและทรัพยากรต้นน้ำที่อุดมสมบูรณ์สูงและจะเป็นประโยชน์ต่อคนปลายน้ำอีกมากมาย ต้องต่อสู้กับกลุ่มทุนเพียงลำพังแทน ทั้งที่หน้าที่นี้ควรจะเป็นหน้าที่ของรัฐ นอกจากนี้กลุ่มคนชาติพันธุ์ในไทยยังคงถูกละเมิดสิทธิซ้ำแล้วซ้ำอีกไม่ว่าจะเป็นการผลักดันโครงการพัฒนาขนาดใหญ่ต่าง ๆ เข้ามาในพื้นที่ เช่น โครงการเหมือง โครงการอุโมงค์ผันน้ำ หรือโครงการปลูกป่าคาร์บอน โดยไม่ได้รับฟังความเห็นจากชุมชน
พื้นที่อมก๋อยนั้นถือเป็นพื้นที่ป่าต้นน้ำอุดมสมบูรณ์ และยังเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่หล่อเลี้ยงเชียงใหม่ ชุมชนกะเบอะดินปลูกมะเขือเทศ ฟักทอง เป็นรายได้เพื่อเลี้ยงชีพและปลูกข้าวกินเอง พื้นที่เพาะปลูกถูกแบ่งจากพื้นที่ป่าที่ชุมชนเองก็มีประเพณีในการอนุรักษ์ให้ป่ายังคงสมบูรณ์ หากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยเกิดขึ้นจริง ไม่เพียงแค่ชาวบ้านในหมู่บ้านและหมู่บ้านข้างเคียงที่ได้รับผลกระทบ แต่ผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ราบก็อาจได้รับผลกระทบไปด้วย
สส.เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล กล่าวเสริมว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นแสดงให้เห็นว่ามีความเป็นธรรมในเชิงนโยบายต่อคนในพื้นที่ รัฐเข้ามาดูแลให้สวัสดิการกับพื้นที่อมก๋อยน้อยมาก ยกตัวอย่างแค่เรื่องสิทธิในที่ดิน ถนนหนทาง หรือระบบสาธารณสุข แต่กลับสนับสนุนภาคเอกชนทุกอย่างเพื่ออำนวยความสะดวกเพื่อให้โครงการเหล่านี้เกิดขึ้นได้ โดยไม่สนใจคนในพื้นที่
ความคืบหน้าหลังชุมชนรวมตัวฟ้องศาลเพื่อเพิกถอน EIA โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย
เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2565 ชาวบ้านอมก๋อยจำนวน 50 คนเป็นผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณา รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ด้านเหมืองแร่และอุตสาหกรรมถลุงหรือแต่งแร่ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1, สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ต่อ ศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อเพิกถอนรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ (EIA) ของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ต่อมาเมื่อวันที่ 23 กันยายน 2565 ศาลมีคำสั่ง คุ้มครองชั่วคราว กรณีการทำเหมืองแร่อมก๋อยจนกว่าจะมีคำพิพากษา เป็นผลให้ระหว่างนี้ จะไม่มีการดำเนินการใด ๆ จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทางบริษัทฯ ปัจจุบันยังไม่มีคำพิพากษาจากศาลปกครอง ซึ่ง สุภาภรณ์ มาลัยลอย อธิบายว่า คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวดังกล่าวหมายความว่า EIA ฉบับนี้ยังไม่สามารถนำไปประกอบใบอนุญาตการทำเหมืองถ่านหินจนกว่าจะมีคำพิพากษาออกมา ทั้งนี้ ในรายงาน EIA ถูกเขียนไว้อย่างชัดเจนว่าวัตถุประสงค์ของการทำโครงการเหมืองถ่านหินที่นี่ เพื่อนำไปใช้ผลิตพลังงานในโรงงานปูนซีเมนต์ที่ จ.ลำปาง เพื่อลดต้นทุน
นำมาซึ่งคำถามจากชุมชนที่ว่า การที่ชุมชนกะเบอะดินต้องสูญเสียพื้นที่นี้ให้กับบริษัททำเหมืองถ่านหิน ส่วนผู้คนในพื้นที่อื่น ๆ ต้องเสี่ยงต่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการใช้ถ่านหินเป็นพลังงาน เพื่อไปลดต้นทุนค่าใช้จ่ายการนำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เป็นสิ่งที่สมควรแล้วหรือไม่ เพราะในรายงาน EIA ไม่มีการประเมินผลกระทบที่ครอบคลุมมากพอ ทั้งผลกระทบต่อชุมชน เส้นทางการขนส่งถ่านหินจากโครงการเหมืองดังกล่าว เป็นต้น
สุภาภรณ์ กล่าวว่า ในส่วนสำคัญอีกส่วนที่ทีมทนายชุมชนนำเสนอกับศาลก็คือประเด็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศที่เราชี้ว่า ถ่านหินเป็นแหล่งพลังงานที่ล้าสมัย ก่อให้เกิดวิกฤตสภาพภูมิอากาศ เกิดภาวะโลกเดือด นำไปสู่เหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วที่ทวีความรุนแรงให้กับโลกอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม อย่างที่ได้กล่าวไปว่าปัจจุบันยังไม่มีคำพิพากษาจากศาลปกครอง ทำให้ชุมชนมีความกังวลอยู่ อีกทั้งทางบริษัทผู้รับผิดชอบโครงการก็ยังพยายามที่จะเข้ามาเสนอผลประโยชน์หรือการพูดคุยเจรจาให้ชุมชนถอนฟ้อง ทางทีมทนายก็อยากให้ศาลรีบพิจารณาคดีนี้โดยเร็ว เพื่อให้เกิดความชัดเจน เป็นธรรมต่อชุมชนด้วย
ความพยายามของบริษัทผู้รับผิดชอบโครงการในการเข้ามาเสนอผลประโยชน์ให้ชุมชน แลกกับการยอมให้เกิดโครงการเหมืองถ่านหิน
พรชิตา ฟ้าประทานไพร ตัวแทนชุมชนกะเบอะดิน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่ บอกเล่าสถานการณ์หลังจากชุมชนรวมตัวกันฟ้องศาลเพื่อเพิกถอน EIA โครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยว่า แม้ว่าจะได้รับคำสั่งคุ้มครอง แต่ก็ยังวางใจไม่ได้ ถ่านหินยังอยู่ใต้พื้นดินในพื้นที่บ้านเรา ทำให้ชุมชนกังวลว่าก็อาจมีบริษัทอื่น ๆ กลุ่มทุนอื่น ๆ รับไม้ต่อหรือไม่หากบริษัทปัจจุบันไม่สามารถทำให้โครงการเหมืองถ่านหินเกิดขึ้นได้ หากมีคำพิพากษาแล้ว อย่างน้อยเราก็จะสามารถนำมาเป็นหลักอ้างอิงว่าพื้นที่นี้มีคำพิพากษาจากศาลมาแล้วว่าพื้นที่ตรงนี้ไม่ควรเกิดโครงการเหมืองถ่านหิน
ก่อนหน้านี้ก็มีตัวแทนจากบริษัทผู้รับผิดชอบโครงการเข้ามาพบผู้นำท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรือนายก อบต. เพื่อพยายามยื่นข้อเสนอให้ชุมชนได้ถือหุ้นได้กี่เปอร์เซ็นต์ อบต.ถือหุ้นได้กี่เปอร์เซนต์ อีกทั้งพยายามยื่นข้อเสนอให้กับเครือข่ายพันธมิตรที่ร่วมต่อสู้กับองค์กร แลกกับหลักการของบริษัทที่แจ้งว่า โครงการเหมืองถ่านหินกะเบอะดินเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จะมีชุมชนร่วมบูรณาการ หากมีปัญหาชุมชนสามารถแจ้งได้ แต่พวกเรายังยืนหยัดมีจุดยืนหนึ่งเดียวคือเราไม่เอาเหมืองถ่านหินและต้องยุติโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย
ถ่านหินเป็นตัวการก่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศและสร้างมลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อคนในชุมชนและชาวเชียงใหม่
พีรณัฐ วัฒนเสน อ้างอิงถึงรายงาน อมก๋อย แหล่งอากาศดีที่อาจสิ้นสูญ : แผนที่ความเสี่ยงต่อมลพิษทางอากาศกรณีดำเนินโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ตำบลกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ โดยรายงาน เริ่มด้วยการสำรวจภาคสนามและเก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อม เพื่อประเมินสภาพตามธรรมชาติ (Baseline Condition) เช่น คุณภาพดิน น้ำ ปลา และพืชเศรษฐกิจ เช่น มะเขือเทศ ก่อนการปนเปื้อนจากโครงการ เหมืองถ่านหินอมก๋อย ผลการศึกษาพบว่าดินในพื้นที่เกษตรกรรมตามสภาพธรรมชาติของกะเบอะดินเหมาะแก่การเพาะปลูกพืชอาหารปลอดภัย การวิเคราะห์ โลหะและกึ่งโลหะพิษในตัวอย่างมะเขือเทศที่ปลูกที่กะเบอะดินก่อนกิจการโครงการเหมืองถ่านหินนั้นยังยืนยันความปลอดภัยในการใช้เป็นอาหาร ตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลกและองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (WHO/FAO) อีกด้วย
คณะวิจัยใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์ AERMOD เพื่อจำลองการปลดปล่อย การฟุ้งกระจายและการตกสะสมของมลพิษทางอากาศเพื่อสร้างแผนที่ความเสี่ยงทางอากาศจากกิจกรรมโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ผลจำลองชี้ว่า จะเกิดการฟุ้งกระจายของ PM2.5 และ PM10 ในบรรยากาศ จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งแบบเฉียบพลันและแบบเรื้อรังในระดับรุนแรง โดยผู้ที่ปฏิบัติงานบริเวณโครงการเหมืองถ่านหิน และชุมชนที่ใช้พื้นที่เกษตรกรรมรอบโครงการเหมืองถ่านหินเป็นผู้ได้รับความเสี่ยงนี้
ส่วนการตกสะสมของฝุ่นนำพาโลหะและกึ่งโลหะพิษ เช่น สารหนูและตะกั่วตกสะสมในดินจนเกิดการถ่ายเทสู่พืชอาหาร เช่น มะเขือเทศ จนเกินเกณฑ์ที่ยอมรับได้ของ WHO/FAO ภายในเวลา 25 ปี กระทบการประกอบอาชีพของชุมชนกะเบอะดิน และท้ายที่สุดการตกสะสมของปรอทสู่แหล่งน้ำหลักของชุมชนกะเบอะดินอย่าง ห้วยผาขาวและห้วยอ่างขางทำให้มีความเสี่ยงที่ปรอทจะสะสมในปลาเกิน ค่าที่ส่งผลกระทบต่อระดับสติปัญญาของเด็ก
รับซื้อถ่านหินจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย และยังเป็นผู้ยื่นขอประทานบัตรเพื่อทำเหมืองถ่านหินใน แม่ทะ จ.ลำปาง
นอกจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยใน จ.เชียงใหม่แล้ว ยังมีแอ่งแม่ทะเป็นแหล่งถ่านหินที่ยังไม่ได้พัฒนาในเขต อ.แม่ทะ จ.ลำปาง มีปริมาณสำรองถ่านหินราว 22.49-55 ล้านตัน จนถึงปัจจุบัน มีการสำรวจพื้นที่กว่า 900 ไร่ ในตำบลบ้านบอม เพื่อขอสัมปทานเหมืองลิกไนต์ไปใช้ในกระบวนการผลิตปูนซีเมนต์ที่ดำเนินการโดยบริษัทปูนซีเมนต์ไทย (ลำปาง) จำกัด แท้จริงแล้ว บริษัทได้ทำการสำรวจแอ่งแม่ทะมาตั้งแต่ ปี 2547 เพื่อขอสัมปทานพื้นที่ทำเหมืองลิกไนต์รวมกันกว่า 958.50 ไร่
ปัจจุบัน แม่ทะยังไม่ได้รับประทานบัตรในการทำเหมือง และยังไม่มีการทำรายงาน EIA แต่ชาวบ้านแม่ทะปักหลักต้านโครงการเหมืองถ่านหิน จากความตระหนักถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับวิถีชีวิต สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม โดยติดป้ายประท้วงตามสถานที่ต่างๆ และสร้าง facebook page “คนแม่ทะไม่เอาเหมืองแร่” เป็นเวทีสื่อสารสาธารณะในโลกออนไลน์ รวมถึงมีการจัดเวทีให้ความรู้แก่ชุมชนคู่ขนานในเรื่องผลกระทบของเหมืองถ่านหิน (วันที่ 8 พฤศจิกายน 2562) ชาวบ้านแม่ทะยังส่งหนังสือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อชี้ให้เห็นว่าการทำประชาพิจารณ์ขาดความชัดเจนและไม่ชี้แจงรายละเอียดถึงผลกระทบของโครงการอย่างรอบด้าน
ใช้กลยุทธ์ฟอกเขียว: ชดเชยคาร์บอน แต่ไม่ยอมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
พชร กล่าวถึงสถานการณ์โลกที่กำลังมีการตกลงกันเพื่อกู้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ แต่ละประเทศและอุตสาหกรรมใหญ่จะต้องปรับตัวเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพื่อไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยผิวโลกสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส แน่นอนว่าประเทศไทยเองก็ไปให้คำมั่นสัญญาในเวที COP มาแล้วเช่นกัน แต่หากกลุ่มอุตสาหกรรมผู้ก่อมลพิษหลักเหล่านี้ยังไม่ยอมลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก็จะต้องฟอกเขียวเพื่อทำให้ตนเอง ‘ดูเหมือน’ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แต่ความจริงแล้วยังมุ่งแต่แสวงหาผลกำไรเข้าตัวเอง
กลับมาในประเด็นโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย เห็นได้ชัดเลยว่าบริษัทไม่ได้มองกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองเป็นคนเท่ากันทั้งที่ความจริงแล้วพวกเขามีสิทธิที่จะอยู่อาศัยและมีสิทธิในที่ดินทำกิน หากยอมให้เหมืองถ่านหินเกิดที่นี่สิ่งที่ตามมาคือเจ้าของโครงการก็จะพยายามบีบให้ชาวบ้านเข้าสู่โครงการปลูกป่าเพื่อชดเชยคาร์บอน ปัญหาพวกนี้เชื่อมโยงเป็นระบบ ถ้ายอมให้เกิดเหมืองถ่านหิน ต่อไปบริษัทก็จะหาพื้นที่มาทำ Carbon offset บังคับให้ชาวบ้านเข้าโครงการเพื่อทำการฟอกเขียว
“เราเคยเจอกรณีแบบนี้กับบริษัทปูนใน จ.ลำปาง และ จ.แม่ฮ่องสอน จากการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้ เจ้าหน้าที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเข้าไปเอาพื้นที่ชาวบ้านเพื่อปลูกป่าฟอกเขียวให้บริษัทตัวเอง และกรณีแบบนี้จะเกิดขึ้นจากทุกบริษัทยักษ์ใหญ่ทั่วประเทศ มันไม่มีหรอกครับธรรมาภิบาล แค่ประเด็นเรื่องพลังงาน พลังงานแบบใดที่ไปคร่าชีวิตของผู้คนในพื้นที่ แล้วกล่าวอ้างว่าตัวเองสะอาด โดยเพียงแค่อ้างเทคโนโลยีหักลบคาร์บอน”
ด้านผลกระทบในแง่สิทธิมนุษยชน ยกตัวอย่างพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะผลกระทบในเชิงวัฒนธรรมวิถีชีวิต ครอบครัวแตกหักหรือต้องพลัดถิ่นฐาน การใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไปของผู้คน ซึ่งไม่สามารถประเมินออกมาเป็นราคาได้ มันเป็นสิ่งที่สร้างบาดแผลให้แก่ประชาชนในชุมชนเหล่านั้น
เปลี่ยนผ่านสู่พลังงานที่สะอาดกว่าเพื่อยับยั้งไม่ให้โลกเดือดไปมากกว่านี้ และต้องเคารพสิทธิมนุษยชน
พีรณัฐ กล่าวว่า ปัจจุบันมีเทคโนโลยีใหม่ๆ มาหลายตัวที่สามารถใช้แทนถ่านหินได้ แต่เหตุผลเดียวที่หลายบริษัทยังเลือกใช้ถ่านหินคือ ต้นทุนถ่านหินมีราคาถูก แต่ความจริงแล้วต้นทุนถ่านหินมีราคาสูงมากหากเรานำต้นทุนการเยียวยาด้านอื่นๆ มาคิดรวมด้วย อย่างเช่น ต้นทุนด้านสุขภาพของประชาชน หรือต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมเช่นผลกระทบทางสภาพภูมิอากาศเข้ามารวมด้วย ถึงเวลาที่ภาครัฐต้องจริงจังกับมาตรการของการปลดระวางถ่านหินและเปลี่ยน ไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและเป็นธรรม
การขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานในประเทศไทยนั้นช้ามากจนน่าตกใจ ทั้งที่มีนักวิชาการหลายท่านยืนยันว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานสูงมาก เช่น จากปัจจัยการหักเหของแสงในประเทศไทย หรือปัจจัยความเร็วลมที่มีมากกว่าในประเทศภูมิภาคเดียวกัน ที่แย่ไปกว่านั้นคือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย( PDP2024) ระบุถึงการขยายระยะเวลาการใช้ถ่านหินของโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะไปถึงปี 2050
ในส่วนของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG ไม่สามารถปฎิเสธข้อเท็จจริงที่ถูกระบุไว้ชัดเจนในรายงาน EIA ฉบับปี 2563 ว่าโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จ.เชียงใหม่ ที่ถูกขุดขึ้นมาจะนำไปขายให้กับทาง SCG ที่ จ.ลำปาง นอกจากนี้ SCG ยังคงเป็นผู้ขอสัมปทานเดินหน้าโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ จ.ลำปาง ด้วยตนเองอีกด้วย และหากย้อนดูในรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืนปี 2566 ของทางบริษัทเองยังไม่มีการสื่อสารถึงแผนการปลดระวางถ่านหินเลย
นอกจากนี้ อยากให้บริษัทปูนซีเมนท์ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยข้อมูลแผนการปลดระวางถ่านหินสู่สาธารณชนให้ชัดเจนมากกว่านี้ รวมทั้งต้องประกาศยกเลิกโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะและไม่รับซื้อถ่านหินจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยต่อสาธารณะและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียตามหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในข้อที่ 21
SCG ต้องยุติการดำเนินโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ จ.ลำปาง และยุติแผนการรับซื้อถ่านหินจากพื้นที่อมก๋อย จ.เชียงใหม่โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข
มีส่วนร่วมสุภาภรณ์ ให้ความเห็นไว้ว่า “เรายังไม่เห็นความชัดเจนของบริษัทใหญ่ว่า เมื่อไหร่จะลดการใช้ถ่านหินจนถึงไม่ใช้ เราอยากเห็นว่าเมื่อไหร่บริษัทเหล่านี้มีนโยบายที่น่าจะมีทางเลือกในการใช้พลังงานที่สะอาดกว่า และมีแนวทางการลดใช้ถ่านหินอย่างแท้จริง”
สส.เลาฟั้ง เสริมในประเด็นนี้ว่า “เราพูดกันว่ายุคนี้เป็นยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่านพลังงานแต่เมื่อไปดูนโยบายของรัฐเราพบว่ายังไม่มี เพราะยังมีการอนุญาตให้ใช้ถ่านหิน ไม่มีการส่งเสริมให้เอกชนพัฒนาพลังงานสะอาด รัฐควรเริ่มต้นในการสร้างมาตรการเพื่อจูงใจให้เอกชนพัฒนาเทคโนโลยีด้านพลังงาน เช่น มาตรการด้านภาษี ช่วยภาระด้านการขนส่ง
“รัฐควรมีมาตรการบังคับเช่นปี 2030 รัฐต้องบังคับให้เลิกใช้ถ่านหินทั้งหมด เมื่อรัฐบังคับเอกชนก็จะได้ไปหาทางพัฒนาโนโลยีด้านพลังงานสะอาดอื่นแทน”
ในด้านการพัฒนาพื้นที่ ก็เห็นว่าควรให้ชุมชนเป็นผู้นำในการกำหนด “ถ้าถามว่าเราจะส่งเสริม พัฒนาอมก๋อยได้อย่างไรก็ต้องดูพื้นที่ว่าเขาทำอะไร อย่างที่ผมเห็นคือเกษตรกรรมพื้นที่มี มะเขือเทศ กะหล่ำปลี และฟักทอง ซึ่งเป็นผักปลูกได้เยอะเป็นแหล่งรายได้ อีกอย่างคือถ้ามีการพัฒนาเศรษฐกิจปลูกผักปลอดสารก็น่าจะพัฒนาได้
“รัฐควรส่งเสริมเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับความเป็นชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง เช่นการท่องเที่ยว การทอผ้า หรือสินค้าชุมชนอย่างเหล้าดาวลอย รัฐต้องเข้ามาส่งเสริมโดยการรับรองให้ถูกฎหมายเพื่อรายได้ของพี่น้องชนเผ่า”
ด้าน พรชิตา ให้ความเห็นด้านสิทธิมนุษยชนในเชิงนโยบายว่า จะต้องสนับสนุนให้มีกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์อย่างชัดเจนให้ครอบคลุมการใช้ชีวิตของชนชาวพื้นเมือง เพราะเมื่อไม่มีกฎหมายคุ้มครองกลุ่มชาติพันธุ์ เราก็ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า รวมถึงไม่มีสิทธิในที่ทำกินแต่กลับมีข้อกฎหมายเอื้อให้บริษัทสามารถเข้าทำเหมืองถ่านหินได้ เช่น หากบริษัทได้รับใบอนุญาตทำเหมืองถ่านหินก็สามารถเข้ามาแสวงหาทรัพยากรในป่าได้เลย ถ้ามีกฎหมายคุ้มครองชาติพันธุ์ เราก็จะสามารถมีสิทธิมีเสียงเหมือนประชาชนคนอื่น ๆ ได้
“เราไม่ได้ขัดขวางการพัฒนาของรัฐ แต่รัฐต้องไม่กระทำการโดยละเมิดสิทธิมนุษยชน เพราะชุมชนในพื้นที่คือผู้ที่จะได้รับผลกระทบเป็นกลุ่มแรก สิ่งที่รัฐและบริษัทเอกชนควรทำคือ ฟังเสียงของชุมชนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น คนที่อยู่ในพื้นที่หรือคนที่ได้รับผลกระทบระยะยาว รุ่นถัดๆ ไปซึ่งมีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศ”
ฟังการสนทนาเต็ม ๆ ได้ที่