ขณะที่ทั่วโลกต่างตระหนักดีถึงผลกระทบของเชื้อเพลิงฟอสซิล ว่าเป็นมหันตภัยหมายเลขหนึ่งที่ส่งผลต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ และนานาประเทศต่างมีนโยบายพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดเข้ามาแทนที่พลังงานฟอสซิลที่กลายเป็นสิ่งล้าหลัง

ประเทศไทยซึ่งประกาศเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 30-40 ในปี 2577 จะเข้าสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality)ในปี 2593 และจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 กลับกำลังเกิดโครงการเหมืองถ่านหินแห่งใหม่ในภาคเหนือซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำของประเทศ อย่างโครงการเหมืองถ่านหินลิกไนต์ ที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง โดยการสำรวจและขอสัมปทานของบริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ SCG บริษัทซึ่งประกาศเป้าหมายด้านความยั่งยืนมากมาย และได้รับรางวัลด้านองค์กรยั่งยืนจากหลายเวที

และที่มากไปกว่านั้น ในการยื่นคำขอประทานบัตรทำเหมืองถ่านหินในหมู่บ้านกะเบอะดิน อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ของบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด ซึ่งได้จัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) และได้รับการอนุมัติโดยสํานักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)เมื่อปี 2554

ในรายงานยังระบุอีกว่า ถ่านหินที่ขุดได้เกือบทั้งหมด จะนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงงานปูนซีเมนต์ ของ SCG ในจังหวัดลำปาง แต่ด้วยความไม่โปร่งใสของ EIA ฉบับนี้ ทำให้เกิดการฟ้องร้องจากชาวชุมชน เพื่อเพิกถอนรายงาน EIA ฉบับดังกล่าว ด้วยกังวลถึงเนื้อหาของรายงานที่ไม่ครอบคลุมผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพและวิถีชีวิตของชุมชนโดยรอบเหมืองถ่านหิน และขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน รวมถึงมีพิรุธในการกระบวนการรับฟังความคิดเห็น กระทั่งศาลปกครองมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวระงับโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย ในขณะที่การยื่นอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของบริษัทเจ้าของโครงการก็ยังคงอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดเช่นกัน

เพื่อเรียกร้องให้ SCG หยุดแผนการรับซื้อถ่านหินจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และยุติโครงการเหมืองถ่านหินที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง พร้อมต้องสื่อสารต่อสาธารณะและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชนโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และเพื่อรณรงค์สื่อสารเกี่ยวกับผลกระทบของโครงการเหมืองถ่านหินที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อม กรีนพีซ ประเทศไทย จัดงาน ‘ฮักภาคเหนือ บ่เอาถ่านหิน’ บริเวณประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ และจัดให้มีเวทีเสวนา ‘ถ้าฮักบ้านเฮา: ต้องเริ่มปลดระวางถ่านหินและเคารพสิทธิมนุษยชน’ ขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา

เสวนาถ้าฮักบ้านเฮาต้องเริ่มปลดระวางถ่านหินและเคารพสิทธิมนุษยชน

เพื่อเรียกร้องให้ SCG หยุดแผนการรับซื้อถ่านหินจากโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ และยุติโครงการเหมืองถ่านหินที่อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง

ฟังเสวนา

โดยมีตัวแทนจากพื้นที่ นักปกป้องสิทธิทางด้านสิ่งแวดล้อม นักรณรงค์ และนักกฎหมายเข้าร่วม ได้แก่  มะลิวรรณ นาควิโรจน์ นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและตัวแทนจากพื้นที่โรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ สุมิตรชัย หัตถสาร ทนายผู้ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมาย ชนกนันทน์ นันตะวัน กลุ่มสมดุลเชียงใหม่ สนอง อุ่นเรือง นักปกป้องสิทธิด้านสิ่งแวดล้อมและตัวแทนจากพื้นที่แม่ทะ ธนกฤต โต้งฟ้า ตัวแทนจาก R2S พื้นที่สื่อสารประเด็นสิทธิชนเผ่ากับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เจษฎา กล่อมลีลา เยาวชนจากหมู่บ้านกะเหรี่ยงสะกออำเภออมก๋อย และพีรณัฐ วัฒนเสน นักรณรงค์ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย

บทเรียนจากโครงการเหมือง ความเสียหายที่ไม่ได้รับการเยียวยา

ผลกระทบที่มีต่อสภาพแวดล้อม ส่งผลต่อสุขภาพของชาวบ้านรอบเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ และยังได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมทั้งที่เป็นผู้เสียหาย มะลิวรรณ เล่าว่า ในตอนนั้นชาวบ้านต้องผจญกับสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ ทั้งฝุ่นจากการเปิดหน้าดินและกระบวนการขุดขนถ่านหินที่ฟุ้งกระจายเข้าบ้านเรือน กลิ่นเหม็นตลอดเวลาจากการสันดาปของถ่านหินใต้ดินเมื่อสัมผัสอากาศ เสียงรบกวนจากเครื่องจักรที่ทำงานตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง และการใช้ระเบิดเพื่อเปิดหน้าดินก็ทำให้บ้านเรือนแตกร้าวเสียหาย

ร้ายไปกว่านั้นคือในช่วงปลายฝนต้นหนาว การเผาไหม้จากการผลิตเชื้อเพลงทำให้เกิดอากาศเป็นกรด ชาวบ้านเจ็บป่วยทั้งอำเภอจนเกิดเป็นข่าวดังมาแล้ว ความเจ็บป่วยอันเป็นที่ประจักษ์ชัด นำไปสู่การฟ้องร้อง กระทั่งศาลปกครองสูงสุดพิพากษาให้เหมืองจ่ายค่าชดเชยเยียวยาด้านสุขภาพ

“ปี 2535-2541 เกิดมลภาวะใหญ่ที่สุดในแม่เมาะ สื่อมวลชนมาจากทั่วโลก มีฝ่ายรัฐบาลมาพิสูจน์ว่ามีผลกระทบจริง แต่รัฐบาลก็มองว่าเราเป็นคนกลุ่มน้อย ประเทศจำเป็นต้องใช้พลังงานถ่านหินเพราะต้นทุนถูก ซึ่งเราก็อยากถามว่า เมื่อมองเราเป็นคนกลุ่มน้อยที่ต้องเสียสละให้คนส่วนใหญ่ ทำไมจึงปล่อยให้เราถูกรังแกและออกมาร้องเรียนครั้งแล้วครั้งเล่า ไม่มีรัฐบาลไหนจริงจังในการแก้ปัญหาเลย”

ท้ายที่สุด การต่อสู้ยาวนานกว่ายี่สิบปี ยังส่งผลให้คณะรัฐมนตรีในสมัยนั้นมีคำสั่งให้อพยพชาวบ้านไปยังพื้นที่รับรองแห่งใหม่ ฟังดูเหมือนเป็นบทสรุปที่ลงเอยด้วยดี ทว่าจนถึงวันนี้ ที่อยู่ใหม่ที่ชาวบ้านโยกย้ายถิ่นฐานไปนั้น ยังไม่ได้มีการออกเอกสารสิทธิ์ให้ ทั้งที่พวกเขาเคยเป็นเจ้าของโฉนดบนผืนดินเดิมรอบเหมืองมาก่อน

ลุงสนอง อดีตเคยทำงานในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เขาโยกย้ายมาอยู่แม่ทะ ประสบการณ์จากการทำงานในแม่เมาะทำให้เขาชวนให้ชาวบ้านลุกขึ้นต่อสู้ ไม่อย่างนั้นจะต้องเจอผลกระทบที่สาหัสสากรรจ์อย่างที่เขาเคยเจอมา ซ้ำแหล่งท่องเที่ยวที่บุกเบิกกันมาเป็นสิบปีจะต้องสูญเสียไป รวมถึงอ่างเก็บน้ำแม่กองที่เป็นแหล่งต้นน้ำที่หล่อเลี้ยงเกษตรกรรมในหลายตำบล

“ผมอยู่แม่เมาะมาก่อน ผมรู้ดี หลังทำเหมืองเสร็จเขาก็ทิ้งบ่อเหมืองรกร้างเอาไว้ ทำอะไรต่อไม่ได้แล้ว”

ส่วน ธนกฤต นอกจากจะเป็นผู้สื่อสารเรื่องสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เขายังเป็นตัวแทนต่อสู้จากหมู่บ้านคลิตี้ล่างในจังหวัดกาญจนบุรีที่บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) จำกัดได้ปล่อยน้ำเสียจากบ่อกักเก็บตะกอน หางแร่ที่มีสารตะกั่วสูงลงสู่ลำห้วยคลิตี้ ในปี พ.ศ. 2541 ก่อให้เกิดการปนเปื้อนตะกั่วในน้ำ ตะกอนท้องน้ำ และสัตว์น้ำ ในลำห้วยคลิตี้ ทำให้ประชาชนไม่สามารถใช้น้ำได้ อันเป็นสายน้ำแห่งชีวิตที่ชาวบ้านกะเหรี่ยงโปว์ได้พึ่งพิง สารตะกั่วที่รับเข้าสู่ร่างกายทำให้ชาวคลิตี้ล่างล้มป่วยและเสียชีวิต กระทั่งธนกฤตเองก็ได้รับสารตะกั่วผ่านสายเลือดของแม่

“สมัยนั้นเราไม่มีสิทธิขั้นพื้นฐานอะไรเลย ไม่มีแม้แต่โรงเรียน ต้นทุนติดลบทั้งด้านคุณภาพชีวิต สิ่งแวดล้อม สวัสดิการต่างๆ ภายหลังมีภาคประชาสังคมเข้ามาสื่อสารสนับสนุนให้ชาวบ้านลุกขึ้นสู้ ด้วยการฟ้องคดีเชิงยุทธศาสตร์ แต่การต่อสู้ไม่ง่ายเลยเพราะชาวกะเหรี่ยงโปว์ไม่เข้าใจภาษาไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่มีความรู้ความเข้าใจ กว่าจะรวบรวมหลักฐานเพื่อพิสูจน์ว่าเราได้รับผลกระทบจริงเราเสียทั้งเวลา ความรู้สึก และทรัพยากรหลายอย่าง”

ทุกคดีที่ฟ้องร้องชาวบ้านได้รับชัยชนะทั้งหมด พวกเขาคิดว่าความยุติธรรมนั้นคือจุดจบแล้ว แต่มันกลับไม่ใช่ เพราะคำพิพากษาเป็นเพียงคำเขียนในกระดาษ ไม่เกิดการบังคับใช้จริง ชาวบ้านยังมีสารตะกั่วในเลือดเกินมาตรฐาน การชดเชยเยียวยาสิ่งแวดล้อมตามคำสั่งศาลยังคงอยู่ในกระบวนการฟื้นฟู ทั้งยังใช้เงินไปแล้วกว่า 600 ล้านบาท

“ประเด็นหลักคือ ทุก ๆ การฟื้นฟูในแต่ละช่วงเวลาไม่ใช่เงินของเอกชนที่เป็นผู้ก่อมลพิษ แต่เป็นภาษีของประชาชน”

ธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน

ความไม่เป็นธรรมที่ ธนกฤต เคยประสบจากเหมืองแร่คลิตี้ กับการได้มีส่วนร่วมในการต่อสู้ในชั้นศาล และการทำงานสื่อสารรณรงค์ ทำให้เขามองเห็นต้นตอใหญ่ของปัญหา และพบว่ามีกรณีเช่นเดียวกับคลิตี้เกิดขึ้นอยู่ทั่วประเทศ โดยเหมืองถ่านหินอมก๋อยซึ่งเป็นชาวชาติพันธุ์เป็นส่วนใหญ่เหมือนกัน

“ต้นตอปัญหาที่ต้องเผชิญ หนึ่งคือปัญหาซึ่งหน้า ที่การทำเหมืองกระทบกับพี่น้องชาติพันธุ์ ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ไม่ได้เข้าถึงสวัสดิการรัฐ ต้องพึ่งพาทรัพยากรต้นน้ำในการดำเนินชีวิต ส่วนต้นตอที่สองมีสามปัญหาสำคัญ คือ ปัญหาเชิงโครงสร้าง ทั้งตัวนโยบาย ที่เราได้ยินบ่อยคือนโยบายทวงคืนผืนป่า นโยบายคาร์บอนเครดิต ที่เราเรียกว่าฟอกเขียว ปัญหาด้านกฎหมายที่ไม่ได้ให้การยอมรับพี่น้องชาติพันธุ์ มีความพยายามปิดปากหรืออุ้มหายนักปกป้องสิทธิ สุดท้ายคือวาทกรรมที่รัฐพยายามสร้างให้พี่น้องชาติพันธุ์เป็นแพะรับบาป ไม่ว่าการทำลายป่า ยาเสพติด แม้กระทั่งฝุ่นพิษ สิ่งเหล่านี้เป็นผลกระทบที่เกิดกับพี่น้องชาติพันธุ์มากว่าครึ่งศตวรรษแล้ว”

ธนกฤต ชี้ว่า ที่ผ่านมาไม่มีกลไกไหนของภาครัฐที่จะให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนในการตัดสินใจออกแบบอนาคตพื้นที่ของตัวเอง ทั้งที่รัฐบาลสมัยอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ได้รับเอาหลักการชี้แนะแห่งสหประชาชาติด้านธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNGP) ซึ่งมีกรอบนโยบายที่รัฐทั่วโลกต้องยอมรับและนำไปปฏิบัติ ประกอบด้วยสามเสาหลักคือ หนึ่ง รัฐมีหน้าที่ต้องปกป้องสิทธิมนุษยชน สอง กลุ่มทุนภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจเอกชนต้องเคารพในสิทธิมนุษยชน และสาม ประชาชนต้องเข้าถึงกลไกการเยียวยาจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยรัฐและเอกชนมีหน้าที่จัดให้ภาคประชาชนมีสิทธิในการเข้าถึงอย่างจริงจัง

การรับหลักการนี้ของรัฐบาล นำมาสู่แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน หรือที่เรียกว่า NAP ประกอบด้วย 4 คือ (1) ด้านแรงงาน (2) ด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (3) ด้านนักปกป้องสิทธิมนุษยชน (4) ด้านการลงทุนระหว่างประเทศและบรรษัทข้ามชาติ ทว่าแผน NAP ก็ยังเป็นเพียงแผนที่ให้ภาคธุรกิจรายงานแบบภาคสมัครใจ จึงต้องหาแรงจูงใจให้ภาคธุรกิจปฏิบัติตาม ซึ่งข้อท้าทายนี้ ทำให้ธนกฤตเสนอให้บังคับภาคธุรกิจต้องมีแผนนำแนวทางการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน (Human Rights Due Diligence) มาใช้ เพื่อผลักดันให้ภาคธุรกิจดำเนินการให้สอดคล้องกับแผน UNGP แล้ววางกลไกให้มีภาคบังคับให้ได้มากที่สุด

“รัฐต้องนำหลักการสากลไปปฏิบัติอย่างจริงจัง มีการบังคับใช้ให้ชัดเจนในระดับนโยบายหรือกฎหมาย และมีบทลงโทษหากมีการละเมิดหรือไม่ได้ปฏิบัติตาม ส่วนภาคธุรกิจก็ต้องดำเนินธุรกิจที่สามารถตรวจสอบรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้าน และต้องสอดคล้องกับแผน UNGP อย่างจริงจัง ส่วนภาคอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องก็ต้องมีส่วนในการรับผิดชอบมลพิษที่ก่อ ตามหลักการผู้ก่อมลพิษเป็นผู้ชดใช้ แหล่งกองทุนที่มีส่วนในการปล่อยกู้ เมื่อเกิดการละเมิดก็ต้องมีส่วนรับผิดชอบร่วมกันด้วย ส่วนชุมชนควรได้มีส่วนร่วมในการกำหนดอนาคตตัวเอง ถ้าผลักดันการกระจายอำนาจให้ชุมชนสามารถจัดการตัวเองได้ ก็ต้องมีการรับรองอำนาจชุมชนในรัฐธรรมนูญด้วย”

ความไม่โปร่งใสของ EIA กับการตั้งคำถามถึง SCG

ในฐานะทนาย สุมิตรชัย เล่าย้อนถึงการช่วยเหลือด้านกฎหมายกับชาวบ้านในพื้นที่อมก๋อยเมื่อห้าปีก่อนว่า ปัญหาใหญ่คือการเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมของชาวบ้าน เนื่องจากรัฐไทยไม่มีเครื่องมือให้ประชาชนเข้าถึงได้ ต้องขวนขวายเอาเอง และการต่อสู้ก็ไม่ง่ายเพราะภาระการพิสูจน์ตกอยู่กับประชาชน ทั้งที่ความเสียหายเกิดขึ้นจากเหมืองที่เป็นผู้ก่อมลพิษ

และระหว่างมองหาประเด็นในการต่อสู้ เขาก็ได้พบว่า รายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อยนั้นมีปัญหา ทั้งกระบวนการมีส่วนร่วมที่มีที่มาของรายชื่อนั้นไม่ถูกต้อง และมีการปลอมแปลงลายเซ็น บังคับให้พิมพ์ลายนิ้วมือ จากความไม่เข้าใจในการสื่อสารภาษาไทยของชาวกะเหรี่ยงโปว์ และข้อมูลที่ปรากฏใน EIA ไม่ตรงกับสภาพความเป็นจริงในพื้นที่ โดยระบุว่าเป็นป่าเสื่อมโทรมทั้งที่เป็นพื้นที่อุดมสมบูรณ์และมีพื้นที่ทำกินของชาวบ้าน ในที่สุด EIA ที่มีปัญหานี้นำไปสู่การโต้แย้งและฟ้องร้องในปี 2565 และได้จัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสุขภาพของชุมชน หรือCommunity Health Impact Assessment (CHIA)  เพื่อเป็นการยืนยันว่าทรัพยากรในพื้นที่มีคุณค่าที่จะปกป้องจากโครงการเหมืองถ่านหิน

ที่สำคัญ ใน EIA ฉบับนี้ ระบุชัดเจนว่าถ่านหินที่ขุดได้จะส่งไปยัง SCG ในจังหวัดลำปาง จึงเป็นที่มาของการตั้งคำถามไปยัง SCG ว่า มีการรับซื้อจริงหรือไม่ และต้องการให้บริษัทออกมาแสดงความชัดเจนต่อสาธารณะในประเด็นดังกล่าว

นอกจากนี้ สุมิตรชัยยังชี้อีกว่า EIA เรื่องสิทธิและสิ่งแวดล้อมที่ดีมีสองหลักใหญ่ คือ ป้องกันไว้ก่อน และผู้ก่อมลพิษเป็นผู้รับผิดชอบ กระบวนการ EIA เป็นกระบวนการพิจารณาความเหมาะสม หรือศักยภาพของสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศนั้นสมควรมีเหมืองหรือไม่ คำตอบมีเพียงสองทาง คือ ไม่ควรทำเลย กับ หากทำก็ต้องมีมาตรการในการป้องการและมาตรการเยียวยาหรือแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้นตามมา

“แต่ที่ผ่านมาประชาชนไม่รู้ว่า EIA คืออะไร ไม่รู้ว่าจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร เพราะกฎหมายไม่ได้เอื้อให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ประชาชนเป็นฝ่ายตั้งรับ และ EIA เป็นเพียงพิธีกรรมที่จะทำให้เกิดความชอบทำในการทำโครงการนั้น”

ในขณะที่ เจษฎา ในฐานะเยาวชนจากหมู่บ้านกะเหรี่ยงวะกอ ในอำเภออมก๋อยที่อยู่ไม่ไกลจากหมู่บ้านกะเบอะดินนั้นได้ลุกขึ้นมาร่วมปกป้องชุมชน ส่งเสียงถึงหน่วยงานหรือองค์กรที่จะเข้าไปทำเหมืองแร่ หรือรุกเข้าไปในป่าที่ชาวบ้านอิงอาศัย ว่าขอให้รับฟังและเคารพเสียงของคนในชุมชนด้วยว่าเขาต้องการหรือเห็นด้วยหรือไม่

อย่าลืมว่าฝุ่น PM2.5 ก็มาจากการทำเหมืองถ่านหินด้วย

ปัญหาฝุ่น PM2.5 ในภาคเหนือ กลายเป็นภัยพิบัติที่เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีในช่วงฤดูแล้ง และชาวชาติพันธุ์มักตกเป็นจำเลยในการสร้างฝุ่น PM2.5 แน่นอนว่าไฟป่าและการเผาทางการเกษตรเป็นปัจจัยที่ถูกยกมาอ้างถึงเสมอ แต่ ชนกนันทน์ ก็กระตุกให้เราไม่ลืมว่า ส่วนหนึ่งของ PM2.5 มาจากการทำเหมืองถ่านหินเช่นกัน

“ข้อมูลชุดหนึ่งจากระบบดาวเทียมแสดงให้เห็นว่า ในบริเวณพื้นที่เหมืองถ่านหินโดยเฉพาะแม่เมาะ เป็นพื้นที่ปล่อยมลพิษทางอากาศโดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ตลอดทั้งปี เพราะถ่านหินสันดาปกับอากาศแล้วทำให้เกิดก๊าซพิษขึ้นมา คนในพื้นที่นั้นได้รับมลพิษตลอดทั้งปี กระทบต่อสุขภาพของคนที่อยู่รอบเหมืองอย่างร้ายแรงมากโดยที่เขาไม่มีทางออกไปจากตรงนั้นได้

“รัฐเองพยายามบอกเราว่าให้ดูแลป่าให้รักษาป่า ส่วนระบบทุนก็พยายามสร้างโปรไฟล์ให้ตัวเองว่าฉันประกอบธุรกิจที่มีธรรมาภิบาล ฉันมีความยั่งยืนมากๆ ในการประกอบธุรกิจ แต่หลังบ้านมันคือการทำกระบวนการร่วมกันเพื่อแย่งชิงทรัพยากรในพื้นที่ชุมชน ทั้งเรื่องป่าไม้ที่หายไป ฝุ่นควัน หรือกระทั่งน้ำป่า สถานการณ์ที่เราได้รับผลกระทบมาจากเรื่องเดียวกันคือโครงสร้างที่บิดเบี้ยวและกฎหมายที่เอื้อให้กับนโยบายของรัฐ และการประกอบธุรกิจของกลุ่มทุน”

และจากการได้มีส่วนร่วมในการนำเสนอข้อคิดเห็นและรับทราบร่างกฎหมาย พ.ร.บ.โลกร้อน และ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ชนกนันทน์เห็นว่า ในการยกร่าง พ.ร.บ.โลกร้อนไม่ได้เปิดให้ประชาชนเข้าไปมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นสิ่งน่ากังวลในอนาคต หากโครงการต่างๆ จะอ้างอิงความชอบธรรมจากกฎหมายนี้ และจะกลายเป็นการฟอกเขียวให้กับโครงการของรัฐและเอกชนที่หยิบเอาคำว่า ‘เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม’ หรือ ‘ความยั่งยืน’ มาเป็นความชอบธรรมในการทำโครงการ และจะสร้างผลกระทบอีกมากมายที่ไม่อยากจินตนาการ ในขณะที่ พ.ร.บ.อากาศสะอาด ก็มีเนื้อหาที่ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อสิทธิชุมชนหรือการเข้าไปมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง และในการวิเคราะห์ขนาดของปัญหาในตัวกฎหมาย เห็นได้ชัดว่าผู้ก่อมลพิษแทบจะเป็นส่วนเสี้ยวที่เล็กมาก ประชาชนต้องแบกรับภาระอีกมากมายภายใต้กฎหมายฉบับนี้”

SCG ต้องปลดระวางถ่านหิน เคารพสิทธิมนุษยชน

ในขณะที่ถ่านหินถือเป็นพลังงานที่ล้าหลัง และเรามีทางเลือกในการใช้พลังงานหมุนเวียนอื่น ๆ มาทดแทนได้ การที่ภาคอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจเอกชนซึ่งประกาศนโยบายด้านความยั่งยืนและด้านสิทธิมนุษยชน แต่กลับยังใช้พลังงานจากถ่านหินในการผลิตของอุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อีกทั้งโครงการเหมืองถ่านหินยังส่งผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนในชุมชนด้วยนั้น ย่อมถูกตั้งคำถามถึงแนวทางปฏิบัติที่ขัดแย้งกันนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้

พีรณัฐ กล่าวว่าเหตุผลหลักที่ทำให้บริษัทขนาดใหญ่ยังคงเลือกใช้ถ่านหินอยู่เพราะมีราคาถูก แต่ความเป็นจริงแล้วหากเราคำนวณต้นทุนด้านการเยียวยาทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน จะพบว่าการใช้ถ่านหินมีต้นทุนที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับพลังงานหมุนเวียน”

ด้วยเหตุนี้ กรีนพีซจึงส่งจดหมายเปิดผนึกไปยัง SCG เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 เพื่อเรียกร้องให้ SCG ปลดระวางถ่านหิน พร้อมรณรงค์ ‘ถึงเวลา SCG ต้องปลดระวางถ่านหิน’ เปิดให้คนทั่วไปร่วมลงชื่อเรียกร้องให้ SCG เริ่มแผนปลดระวางถ่านหิน พร้อมสื่อสารต่อสังคมเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนตามประกาศของบริษัท ยุติการมีส่วนร่วมรับซื้อโครงการเหมืองถ่านหินทั้งหมดที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการละเมิดสิทธิด้านชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมโดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข และร่วมมือกับภาคประชาสังคมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เพื่อป้องกันบรรเทาและเยียวยาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเคารพคุ้มครองและส่งเสริมหลักการด้านสิทธิมนุษยชน

“เราอยากเห็นภาคประชาสังคมและภาคธุรกิจเอกชน ได้ทำความเข้าใจและรับฟังซึ่งกันและกัน และถ้าภาครัฐมีกลไกสนับสนุน มีการเอื้อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง มันจะทำให้กระบวนการต่างๆ ง่ายขึ้น”

กรีนพีซ ประเทศไทยเห็นว่า SCGต้องเร่งประกาศต่อสาธารณะภายในปี 2567 ยกเลิกโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะจ.ลำปางโดยทันทีและประกาศว่าจะไม่มีการรับซื้อถ่านหิน จากบริษัท 99 ธุวานนท์ จำกัด อย่างไม่มีเงื่อนไขเพื่อทำให้มั่นใจถึงหลักธรรมาภิบาลกับการดำเนินธุรกิจสินค้าหรือบริการของบริษัทซึ่งเป็นการทำธุรกิจร่วมกับบริษัทอื่นนั้นต้องระบุผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการดำเนินกิจกรรมของบริษัทนั้น ๆ พร้อมระบุแนวทางแก้ไขเพื่อลดผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนและสิ่งแวดล้อมและสื่อสารข้อมูลต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างครบถ้วน

กรีนพีซ มีข้อเสนอแนะต่อ SCG ให้เริ่มทำได้เลยตอนนี้ ได้แก่

  1. SCGต้องสื่อสารผลการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนอย่างรอบด้านของโครงการเหมืองถ่านหินอมก๋อย จ.เชียงใหม่ และโครงการเหมืองถ่านหิน แม่ทะ จ.ลำปาง ต่อสาธารณะและบุคคลภายนอกโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม
  2. SCG ต้องสื่อสารต่อสาธารณะต่อแผนการปลดระวางถ่านหินตามการประกาศเป้าหมายของบริษัทฯเพื่อบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ในปี2050(Energy Transition Solutions: ETS) และตามความมุ่งมั่นที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามขอบเขต 1 และ 2 ลงร้อยละ 25 ภายในปี 2573 ตั้งแต่ปีฐาน 2563 ตามประกาศประกาศ Net Zero Cement & Concrete Roadmap

กะเบอะดิน ฟ้องศาลปกครอง เพิกถอน EIA
ถึงเวลา SCG ต้องปลดระวางถ่านหิน

SCG ต้องยุติการดำเนินโครงการเหมืองถ่านหินแม่ทะ จ.ลำปาง และยุติแผนการรับซื้อถ่านหินจากพื้นที่อมก๋อย จ.เชียงใหม่โดยทันทีอย่างไม่มีเงื่อนไข 

มีส่วนร่วม