กาลี, 30 ตุลาคม 2567 – ในกิจกรรมที่จัดโดยสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ นักต่อสู้ด้านสิ่งแวดล้อมและตัวแทนชาวประมงจากจะนะ จังหวัดสงขลาอย่าง “บังนี รุ่งเรือง ระหมันยะ” ได้แบ่งปันเรื่องราวการต่อสู้และความหวังของชุมชนภายใต้หัวข้อ “การส่งเสริมวิธีการที่ยึดหลักสิทธิมนุษยชนในการปกป้องความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล ชายฝั่ง และเกาะ” ซึ่งเป็นเวทีให้ชุมชนที่มีบทบาทสำคัญในการปกป้องระบบนิเวศที่เปราะบางเหล่านี้ได้แสดงออกถึงประเด็นปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่พวกเขาเผชิญอยู่
บังนีได้เข้าร่วมพร้อมกับนักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน “แอสทริค ปูเอนตัส ริอาโน” และตัวแทนชุมชนจากมาดากัสการ์ ซึ่งร่วมกันนำเสนอถึงความท้าทายที่ชุมชนของเขาต้องเผชิญและสิ่งที่ทำให้พวกเขายืนหยัดต่อสู้นี้
การต่อสู้ที่ไม่เคยหยุดนิ่ง
“ชุมชนของเราผ่านการต่อสู้มานับครั้งไม่ถ้วน” บังนีเล่าความรู้สึกของเขาต่อการต่อสู้ ตั้งแต่ปัญหาจากการทำประมงที่ทำลายล้าง ไปจนถึงภัยคุกคามจากโครงการขนาดใหญ่ เช่น โรงงานก๊าซ โรงผลิตไฟฟ้า และท่าเรือน้ำลึก ชุมชนของเขาต้องลุกขึ้นสู้ยืนหยัดเพื่อสิทธิของพวกเขาในการมีอนาคตและสิ่งแวดล้อมที่ดีอยู่เสมอ “เราได้พยายามยื่นข้อกังวลกับหน่วยงานรัฐบาล ตั้งแต่ระดับท้องถิ่นจนถึงรัฐสภา แต่เราไม่ได้รับความร่วมมือหรือความใส่ใจใดๆเลย”
ทุกความพยายามในการปกป้องแผ่นดินและผืนน้ำของพวกเขาทำให้ชุมชนต้องสูญเสียทั้งเงินและจิตใจ ชาวบ้านต้องสละความเป็นอยู่ ทุ่มเทเวลา และรับความเสี่ยงต่อการถูกดำเนินคดี เพียงเพื่อให้เสียงของพวกเขาถูกรับฟัง “ไม่มีใครอยากออกจากบ้านแล้วไปนอนข้างถนนหรือเผชิญข้อหาที่อาจนำไปสู่การติดคุก” บังนีกล่าว “เราไม่ได้ขอความเห็นใจ แต่เรากำลังปกป้องทะเลที่เป็นของทุกคน แต่พวกเรากลับถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม”
นโยบายที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน
แม้จะมีความท้าทาย ชุมชนก็ได้พัฒนาความเข้มแข็งภายในชุมชน โดยจัดตั้งกลุ่มเยาวชนและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติของตน ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจร่วมกันในเรื่องความสำคัญของสิ่งแวดล้อม งานนี้ได้พัฒนาไปสู่วิธีการที่ขับเคลื่อนโดยชุมชน สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านความมั่นคงทางอาหารและการอนุรักษ์ทางทะเล อย่างไรก็ตาม บังนีได้ชี้ให้เห็นถึงความย้อนแย้งอันเจ็บปวดว่า “รัฐบาลและภาคเอกชนมักพูดถึงเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนซึ่งเป็นเป้าหมายของพวกเขา แต่บ่อยครั้งพวกเขากลับกระทำในสิ่งที่ขัดแย้งกับเป้าหมายเหล่านั้น”
บังนีเน้นย้ำว่าชุมชนของเขาต้องการสิทธิในการกำหนดอนาคตของตนเอง พวกเขาต้องการเป็นผู้ตัดสินใจเกี่ยวกับแผ่นดินและผืนน้ำของพวกเขา — การตัดสินใจที่เป็นประโยชน์สำหรับทุกคน ไม่ใช่เพียงเพื่อคนบางกลุ่ม
เรียกร้องการสนับสนุนและการยอมรับจากทั่วโลก
ในช่วงท้ายของการประชุม บังนีและ “ฮันตา” ตัวแทนจากชุมชนมาดากัสการ์ เรียกร้องให้มีมาตรการที่ชัดเจนในการสนับสนุนข้อเรียกร้องของพวกเขา “เราต้องการสิทธิในการจัดการทรัพยากรและการยอมรับในสิทธิของเรา” ฮันตากล่าว พร้อมยืนยันว่าชุมชนต้องได้รับการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ บังนีเรียกร้องให้มีการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่องสำหรับการอนุรักษ์ทางทะเล “มันเป็นงานที่โดดเดี่ยวเมื่อเราต้องต่อสู้เพียงลำพัง”
บังนีและฮันตากล่าวชัดเจนว่า การระดมทรัพยากรและสิทธิของชนพื้นเมืองและชุมชน ต้องถูกพิจารณาเป็นหัวใจหลักในการเจรจาเกี่ยวกับการปกป้องทางทะเล โดยการวางชุมชนไว้ในหัวใจของการตัดสินใจเชิงนโยบาย การประชุม COP จะสามารถช่วยรับรองว่าระบบนิเวศที่สำคัญเหล่านี้จะได้รับการปกป้องโดยคนที่ใช้ชีวิตและเข้าใจสิ่งเหล่านี้ดีที่สุด
กิจกรรมนี้เป็นเครื่องย้ำเตือนใจถึงความพยายามอันเหน็ดเหนื่อยของผู้ที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิ่งแวดล้อมและบทบาทสำคัญของพวกเขาในการปกป้องสิ่งแวดล้อมให้กับกลุ่มคนรุ่นหลัง สำหรับคนอย่างบังนี มันไม่ใช่แค่เรื่องนโยบายที่เขียนไว้บนกระดาษ—แต่เป็นการต่อสู้เพื่อปกป้องบ้านเกิด มรดก และโลกที่เราทุกคนอยู่ร่วมกัน
คำพูดทิ้งท้ายจากบังนี: “เราไม่ได้ขอความเห็นใจ แต่เรากำลังปกป้องทะเลที่เป็นของทุกคน แต่เรากลับถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรม”
รู้จักทรัพยากรจะนะเพิ่มเติมได้ที่ https://voiceofchana.greenpeace.org/