บ่ายสองโมง ในสวนสาธารณะ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่มีฝนหลงฤดูเพราะสภาพภูมิอากาศแปรปรวน ท้องฟ้าสีเทาเซาหมอง คือบรรยากาศในวันที่เรานัดพูดคุยกับธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ ประเทศไทย ที่ตัดสินใจลงจากตำแหน่ง บอกลาองค์กรที่เขาสร้างมาตั้งแต่วันแรก จริง ๆ ถ้าลงรายละเอียดอีกนิด ใกล้จุดที่เรานั่งคุยกัน คือสำนักงานใหญ่ของบรรษัทธุรกิจพลังงานฟอสซิลขนาดใหญ่และกระทรวงอุตสาหกรรม องค์ประกอบที่รวมกันจึงดูเหนือจริง เช่นเดียวกับที่กรีนพีซ ประเทศไทย จะไม่มีธารา บัวคำศรี ซึ่งดูเหนือจริงเช่นกัน
แต่สิ่งที่เหนือจริงมากกว่า คือการมีหลายตัวตนและหลายวิธีคิด ตลอด 25 ปีของธารา ซึ่งเราอาจนิยามได้ว่าเป็น ‘การ์ดหลายใบของไดเรกเตอร์’ ที่ทำให้เขามีการ์ดที่บ้างเหมาะกับการทำภารกิจให้สำเร็จ บ้างเหมาะกับสร้างความอบอุ่นกลมกลืน บ้างเหมาะกับการต่อสู้ และบ้างเหมาะกับการยืนหยัดอีกครั้งเมื่อเกิดวิกฤติในใจ บทสนทนานี้จะชวนสำรวจตัวตนมากมายของเขา


ธาราเป็นคนขวางโลก
“ตอนเรามาตั้งออฟฟิศกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ไทยในปี 2542-2543 เป็นช่วงผ่านยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ผ่านเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ และวิกฤตต้มยำกุ้งไปแล้ว สื่อมวลชนยังมีเสรีภาพในการแสดงออก เศรษฐกิจยังพอไปได้ มีการเคลื่อนย้ายการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามา ซึ่งตามมาด้วยปัญหาสิ่งแวดล้อม ไทยเลยกลายเป็นสำนักงานหลักของกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
“คุณปรับกรีนพีซที่เป็นองค์กรสากล ให้กลมกลืนหรือเข้ากับสังคมไทยตอนนั้นอย่างไร?”
“กรีนพีซถูกมองว่าเป็นเน็ตเวิร์กของพวกขวางโลก (problem maker) พวกต่อต้านการล่าวาฬ จริงๆ ผมคิดว่า การเข้ามาทำงานของกรีนพีซในสังคมไทยต้องดูบริบททางด้านสังคมวัฒนธรรม ถ้าจะไปถือป้ายประท้วง ไปปีนตึก ไปขัดขวางโน่นนี่ คนจะรู้สึกว่าทำไมทำแบบนั้น ไม่เหมาะ ยังไม่ถึงเวลา แต่เอาเข้าจริง ๆ มาถึงผมเริ่มเลยครับ”

“ประเด็นทางสิ่งแวดล้อมแรก ๆ ที่คุณเริ่มขวางโลกคืออะไร ?”
“ช่วงแรกที่เรามาตั้งสำนักงานกรีนพีซ เป็นช่วงที่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากการเคลื่อนย้ายการลงทุนมาจากต่างประเทศมาในไทยเห็นชัดมากขึ้น เริ่มมีมลพิษจากอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด ระยอง มีโรงไฟฟ้าขยะสองแห่งแรกที่ภูเก็ตและเกาะสมุย และพบถังสารเคมีที่ใช้ทำฝนเหลือง (Agent Orange) ที่กองทัพสหรัฐฯ มาทิ้งไว้สมัยสงครามเวียดนามฝังอยู่ใต้สนามบินบ่อฝ้าย อ.หัวหิน จ.ประจวบฯ ซึ่งตอนนั้นผมรณรงค์คัดค้านเรื่องนี้ร่วมกับเครือข่ายชุมชนและคุณเพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ที่เป็นผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ตอนนี้”
ธาราเคยเขียนถึงฝนเหลืองเอาไว้ด้วยท่วงทำนองที่ดูราวกับเป็นบทกวีว่า
บางคนบอกว่า เอเจนต์ ออเรนจ์ ในสงครามเวียดนาม
คือตำนานที่น่าละอายที่สุดของประวัติศาสตร์เกี่ยวกับไดออกซิน
เลือดและน้ำนมแม่แห่งเวียดนามตอนใต้ยังคงเจือด้วยสารพิษ
และความทุกข์ทรมานจากโรคภัยยังคงหลอกหลอนทหารอเมริกันผู้ผ่านศึก
ผู้ซึ่งพ่นยาพิษที่ใช้กำจัดวัชพืชเกือบ 50 ล้านลิตร
พ่นทำลายป่าไม้ ทรัพยากรชีวภาพและไร่นาลงสู่ที่ซึ่งแผ่นดินและสรวงสวรรค์มาบรรจบ
ใต้ผืนดินแห่งบ่อฝ้าย ที่เรียกว่า “หลุมฝังกลบที่ปลอดภัย ???”
ที่เราฝังดินปนเปื้อนสารพิษไปพร้อม ๆ กับความกล้าหาญทางจริยธรรม
พร้อม ๆ กับความยุติธรรมทางสังคมและสิ่งแวดล้อม
พร้อม ๆ กับความหวังที่เราพอจะมีต่อผู้มีอำนาจตัดสินใจในทางเทคนิคและทางการเมือง
พวกเขาทำให้เราภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอาชญากรรมแห่งสงครามเวียดนาม
(ผู้เขียน ธารา บัวคำศรี)

“ปีแรกของการทํางาน ผมเป็นนักรณรงค์ด้านสารพิษ (Toxic Campaigner) ตอนนั้นรัฐบาลบอกว่าโรงไฟฟ้าขยะคือคำตอบของขยะล้นเมือง แต่เราบอกว่าจริง ๆ แล้วมันคือโรงงานก่อมะเร็ง (cancer factory) มีโลหะหนักที่เป็นพิษหลายชนิดหลุดออกมาจากโรงไฟฟ้าขยะทั้งจากขยะโดยตรงแและจากเถ้าที่เกิดจากการเผาขยะ โดยเฉพาะไดออกซิน (Dioxin) ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง”คู่ปรับแรก ๆ ของธาราในบทบาทนักรณรงค์คือสาร ‘ไดออกซิน’ ซึ่งทำให้แม่ชาวเวียดนามคลอดทารกที่มีรูปร่างผิดรูปและมีความผิดปกติของเส้นประสาทและอวัยวะ และแม่หลายคนต้องแท้งลูก ดังที่ธาราเคยเขียนถึงผลกระทบของไดออกซินไว้ว่า “เลือดและน้ำนมแม่แห่งเวียดนามตอนใต้ยังคงเจือด้วยสารพิษ” แน่นอนว่าหากสร้างโรงไฟฟ้าขยะ เลือดและน้ำนมของแม่ชาวไทยจะต้องเจือด้วยสารไดออกซินด้วย จึงไม่ใช่เรื่องที่ธาราจะยอมได้


“ปฏิบัติการตอนนั้นคือ เราพาเรือเรนโบว์ วอร์ริเออร์ (Rainbow Warrior) มาจอดที่ภูเก็ตและสมุย ชวนคนมาเยี่ยมเรือและเล่าถึงผลกระทบจากโรงไฟฟ้าขยะ และเราไปเราปักป้ายประท้วงตรงหลุมฝังกลบเถ้าจากการเผาขยะที่ภูเก็ต และเปิดผลการศึกษาทางวิทยาศาสตร์จากห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์และทีมนักวิทยาศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเอ็กซีเตอร์ สหราชอาณาจักรแล้ว เราเอาเถ้าจากการเผาขยะที่ภูเก็ตกับสมุยมาส่งคืนหน้าสถานทูตญี่ปุ่น เพราะธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JBIC) ของญี่ปุ่นให้เงินกู้มาสร้างเทคโนโลยีพวกนี้ เราไปแขวนป้ายใหญ่เลยตรงตึกอาคาร JBIC ใกล้ ๆ สี่แยกราชประสงค์
“จากนั้นธนาคาร JBIC ได้ถอนทุนจากการให้เงินกู้สร้างโรงเผาขยะที่อ่อนนุช มาให้เงิน กทม. จัดการขยะแบบ Zero Waste (เปลี่ยนขยะให้เป็นศูนย์) ส่วนสถานทูตญี่ปุ่น เราต้องการส่งสัญญาณพุ่งเป้าไปที่รัฐบาลญี่ปุ่นโดยรวมว่าควรยุติบทบาทการส่งออกเทคโนโลยีสกปรก ขยะอิเล็กทรอนิกส์ และขยะพลาสติกมายังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
นั่นคือการขวางโลกครั้งแรก ๆ ของเขาในนามกรีนพีซ ซึ่งแน่นอนว่ายังมีตามมาอีกหลายครั้ง
ธาราน่ารัก
ธารามีชื่อเล่นว่า ‘ลูกน้ำ’ เขาเล่าถึงชื่อนี้ว่า “พ่อเป็นคนตั้งชื่อนี้ครับ พ่อเรียกลูกน้ำ เป็นชื่อที่ผู้อาวุโสเรียก แต่ว่าตอนหลังรู้สึกว่า เอ๊ะ ถ้าเราแก่ตัวไปแล้วมีคนมาเรียกลูกน้ำ จะไม่ค่อยเวิร์คเท่าไหร่ ให้เรียกว่า ‘น้ำ’ ก็พอ” (หัวเราะ)
ทั้งชื่อและตัวตนของธาราดูจะไปด้วยกัน ดังที่ธาราเล่าให้ฟังว่า

“ผมเป็นเด็กขี้อายมาก ไม่ค่อยมั่นใจ ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร พูดไม่เป็น ตามใครไม่ทัน ถ้าเป็นนักเรียนจะนั่งหลังห้อง แต่อาศัยความอึด ล้มแล้วลุก แพ้แล้วสู้ใหม่ ที่เขาเรียกกันว่า GRIT (Growth, Resilience, Integrity, Tenacity) ก็เลยมาเป็นผมในปัจจุบัน”
“คุณช่วยเล่าบรรยากาศการทำงานของกรีนพีซยุคแรก ๆ ที่หลายคนยังเรียกคุณว่าลูกน้ำอยู่ให้ฟังหน่อยได้ไหม?”
“ตอนนั้นทีมมีกันอยู่ 3 คน คนหนึ่งทำงานเอกสารจดทะเบียนกรีนพีซเป็นมูลนิธิไม่แสวงหากำไร อีกคนเป็นอินโดนีเซียคอยประสานกับออฟฟิศอื่น ๆ ด้วยความที่ทีมเล็ก เราต้องพึ่งอาสาสมัคร ค่อย ๆ ชวนเพื่อนมาทำงาน อาสาสมัครมีทั้งไทยและหลากหลายชาติ เริ่มงานรณรงค์ที่เริ่มต้นง่าย ๆ อย่างประเด็นมลพิษ”
คำว่าให้อาสาสมัครทำงาน ‘ง่าย ๆ’ ของธารา ในตอนแรก ๆ คือการถือป้ายประท้วง แต่ต่อมาหมายถึงการฝึกอบรม ‘ปฏิบัติการตรงไร้ความรุนแรง’ หรือ Non-Violent Direct Action (NVDA) เพื่อเป็นนักกิจกรรมกรีนพีซเต็มตัว เช่น การระดมนักกิจกรรมในไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซียและยุโรปเข้าปีนเครนก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP ที่มาบตาพุด เพื่อแขวนป้าย ‘หยุดถ่านหิน’ และใช้เรือเรนโบว์วอริเออร์ขวางท่าเรือขนถ่ายถ่านหินที่นำเข้าจากอินโดนีเซียและออสเตรเลีย ตลอดจนการตั้งแคมป์บนเสาสายส่งไฟฟ้าที่ยังไม่ได้เชื่อมต่อเข้ากริด และสื่อสารถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศจากถ่านหินสกปรกไปยังเวทีเจรจาโลกร้อนอีกฟากหนึ่งของโลก เราขอให้เขาเล่าถึงงานง่าย ๆ เหล่านี้
“ปฏิบัติการของเราคือปีนขึ้นไปที่ปากปล่องโรงไฟฟ้าถ่านหินแต่ไม่สำเร็จเพราะเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้ารู้ตัวมาขวางไว้ก่อน โรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP ที่จังหวัดระยอง อยู่ในเขตถมทะเลมาบตาพุด เดิมเป็นการร่วมทุนของบริษัท China Light and Power (CLP) ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานที่ใหญ่มากในฮ่องกง แล้วมาร่วมทุนกับบริษัทบ้านปู (Banpu) ของไทย เป็นโรงไฟฟ้าเอกชนที่อยู่ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) และกู้เงินจากธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) รวมถึงหน่วยงานสินเชื่อเพื่อการส่งออก (Export Credit Agency) ของประเทศในยุโรป
“BLCP ถือเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ที่อยู่ในแผนพลังงานชาติ (PDP) โครงการนี้พอ EIA ผ่านก็เดินหน้าอย่างรวดเร็ว แรงต่อต้านน้อย ด้วยความที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ต่างจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบ้านกรูดและบ่อนอกที่อยู่ใกล้ชุมชน ชาวบ้านเข้มแข็งลุกขึ้นสู้จนกระทั่งยุติโครงการได้ ซึ่งแลกด้วยการสูญเสียชีวิตของคุณเจริญ วัดอักษร และการสูญเสียอิสรภาพของคุณจินตนา แก้วขาว โรงไฟฟ้าถ่านหินอีกแห่งที่อยู่ในมาบตาพุดคือ Ghecho-One ซึ่งเชื่อมโยงกับบริษัทบ้านปูและเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียกับออสเตรเลีย”

ธารามีแววตาเป็นประกายเหมือนคนสนุกกับการใช้ชีวิตและมีรอยยิ้มเสมอ คนส่วนใหญ่คิดว่าเขาเป็นคนน่ารักน่าพูดคุยด้วย ไม่เว้นแม้แต่เจ้าหน้าที่ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน “เราไปทําปฏิบัติการที่โรงไฟฟ้าถ่านหินในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดหลายครั้ง ไปบ่อยจนคนจําหน้าได้ มีครั้งนึงเจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าทักว่า อ๋อ มาอีกแล้วเหรอ อ้วนขึ้นรึเปล่าเนี่ย” (หัวเราะ)
“เราใช้ประเด็นโรงไฟฟ้าถ่านหินและการพัฒนาอุตสาหกรรมที่มาบตาพุด (ระยอง) แม่เมาะ (ลำปาง) และพื้นที่ภาคใต้ เป็นใจกลางการถกเถียงเรื่องทิศทางพลังงาน การปล่อยก๊าซเรือนกระจก และวิกฤตสภาพภูมิอากาศ หยิบยกให้เห็นว่าเราต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียนที่ยั่งยืนและเป็นธรรม เรากดดันธนาคารพัฒนาเอเชียให้ยุติการให้เงินกู้ ส่งตัวแทนชุมชนมาบตาพุดไปร่วมประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัท China Light and Power (CLP) ที่ฮ่องกง ไปร่วมแถลงที่รัฐสภาเบลเยียมกรณีบทบาทของหน่วยงานสินเชื่อเพื่อการส่งออก (Export Credit Agency) ทำวิจัยภาคสนามร่วมกับชุมชนในเหมืองถ่านหินที่กาลิมันตัน อินโดนีเซียเพื่อโยงใย ‘ความทุกข์’ ของผู้คนในห่วงโซ่อุปทานถ่านหินระดับโลก และเอาถ่านหินไปคืนที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทบ้านปูตรงเพชรบุรีตัดใหม่ด้วย”
“มันเป็นยุคที่ถ่านหินบูม ยากที่จะหยุดโครงการขนาดใหญ่ที่ก่อสร้างไปแล้วได้ (มียกเว้น 1 กรณีคือโครงการบ่อบำบัดน้ำเสียที่คลองด่าน จ.สมุทรปราการที่ฉาวโฉ่เรื่องการคอรัปชั่นปรากฎชัด) แม้เราจะคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินทั้งสองแห่งอย่างเต็มที่ แต่ไม่สำเร็จ เราทำได้ดีที่สุดคือทำให้บริษัท CLP ของฮ่องกง ขายหุ้นโรงไฟฟ้า BLCP ไปลงทุนพลังงานหมุนเวียนในออสเตรเลีย ในขณะที่บริษัทบ้านปูซึ่งเป็นเจ้าพ่อถ่านหินรายใหญ่ของเอเชีย ช่วงหลังขยายการลงทุนไปสู่พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น แต่ยังเก็บกิจการถ่านหินไว้ การหยุดโครงการขนาดใหญ่ที่มาบตาพุดคล้ายการโต้กระแสคลื่น (Turn the tide) เรามายุติยุคถ่านหินได้จริงๆ ที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ หลังจากนั้นกระแสต่อต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินขยายตัว ใครจะสร้างต้องได้รับใบอนุญาตทางสังคม (Social License) และกระแสพลังงานหมุนเวียนเริ่มจุดติด”
ลูกบ้าของธารา
หลายคนคิดว่าธาราเป็นคนน่ารัก กระทั่งธาราทำอะไรบางอย่างที่ทำให้คนอ้าปากค้างขึ้นมา หนึ่งในหลายเหตุการณ์ที่ตราตรึง ย่อมมีเหตุการณ์ ‘แย่งไมค์’ ผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์อยู่ด้วย นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ที่ธาราอยากแชร์ต่อสาธารณะ แต่เป็นเราเองที่ขอให้เขาเล่าถึงแรงดลใจนี้
“ตอนนั้นเป็นช่วงหลังปี 2552 ที่ศาลปกครองสั่งให้รัฐระงับการดำเนินงานของ 76 โครงการในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงไว้ชั่วคราวเพราะไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา 67 ให้ครบถ้วน มีการจัดเวทีสาธารณะครั้งใหญ่ที่กรุงเทพฯ ช่วงหนึ่งมีการอภิปรายเรื่องโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ในแผนพลังงานชาติ ผู้เชี่ยวชาญนิวเคลียร์คนหนึ่งลุกขึ้นพูดว่ารังสีนิวเคลียร์ไม่อันตรายหรอก คนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้าได้รับปริมาณรังสีต่อปีน้อยกว่าการทำซีทีสแกน (CT-scan) เสียอีก เขาทำงานอยู่ในวงการอุตสาหกรรมนิวเคลียร์มาเป็น 20-30 ปี ยังมีลูกได้เลย แต่ที่พีคคือเขาพูดประมาณว่า ‘ผู้หญิงคนไหนก็ได้ในห้องประชุมนี้อยากรู้ว่าจริงไหม มานอนกับผมได้’ ฟังแล้วผมโกรธมาก ลุกขึ้นยืน เดินไปแย่งไมค์โครโฟน แล้วบอกให้เขาถอนคำพูดที่แสดงภาวะความเป็นชายที่เป็นพิษ (Toxic Masculinity) นั้นเสีย เขาเขียนจดหมายไปร้องเรียนคณะผู้จัดเวทีสาธารณะว่าผมทำตัวไม่เหมาะสม”


ถ้าใครติดตามการทำงานของธาราอย่างใกล้ชิด จะรู้ว่านอกจากนำเสนอหลักการอย่างนิ่มนวลเขาก็มีคำพูดเผ็ดร้อนอยู่เหมือนกัน เมื่อเราถามว่าเขาเอาความกล้ามาจากไหน ธาราตอบว่าสิ่งนี้สะสมมาหลายปีและเรียนรู้มาจากประชาชนในพื้นที่ทรัพยากรต่าง ๆ นี่เอง โดยเฉพาะจากชาวบ้านบ่อนอก-บ้านกรูด ที่วาทศิลป์ถึงใจนัก ทำให้ธาราอ้าปากค้างมาก่อนและซึมซับมาโดยไม่รู้ตัวการต่อสู้ทางสิ่งแวดล้อมอีกครั้งหนึ่งที่ไม่สุภาพเรียบร้อยนักคือการต่อต้านมะละกอดัดแปลงพันธุกรรมหรือมะละกอจีเอ็มโอ (GMOs) ซึ่งมหาวิทยาลัย Cornell ใช้ประเทศไทยเป็นฐานการทดลองให้กับบริษัทมอนซานโต้ซึ่งเป็นเจ้าของสิทธิบัตร กรีนพีซใช้การวิจัยเชิงสืบสวนสอบสวน และทำปฏิบัติการตรง (Direct Action) หลายครั้งเพื่อกระชากความสนใจจากสาธารณะ สังเคราะห์ข้อมูลวิทยาศาสตร์อย่างหนักหน่วง และจบด้วยการต่อสู้ในชั้นศาล

“เรื่องเริ่มมาจากกรมวิชาการเกษตรทำการวิจัยพัฒนาพันธุ์มะละกอจีเอ็มโอ เพื่อต้านทานโรคจุดวงแหวน โดยปลูกไว้ที่สถานีวิจัยพืชสวนท่าพระ จ. ขอนแก่น เป็นการปลูกในสภาพเปิด (Field Trial) ซึ่งเสี่ยงต่อการปนเปื้อนทางพันธุกรรม
“ก่อนหน้ากรณีมะละกอจีเอ็มโอมีกรณีการปนเปื้อนฝ้ายจีเอ็มโอ (ฝ้าย BT) ของบริษัทมอนซานโต้เมื่อปี 2542 มูลนิธิชีววิถี (BioThai) คุณวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญและเครือข่ายเกษตรกรเปิดโปงเรื่องนี้ รัฐบาลในขณะนั้นประกาศให้ยุติการทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นาเอาไว้ชั่วคราวตามมติคณะรัฐมนตรีในปี 2544 ช่วงนั้นการรณรงค์ต่อต้านจีเอ็มโอเป็นกระแสแรงทั่วโลกจากลาตินอเมริกามาจนถึงอินเดีย การพัฒนาจีเอ็มโอเต็มไปด้วยคำถามมากมายหลายประการทั้งเรื่องผลผลิต ประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมและการปฎิเสธจากผู้บริโภค

“ในทีมรณรงค์ เราสรุปร่วมกันว่าต้องทำให้ประเด็นนี้เป็นที่รับรู้ของสังคม ขณะนั้นมีคุณภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ เป็นนักรณรงค์หลัก เราวางแผนปฏิบัติการตรงโดยส่งนักกิจกรรมที่มีวินัยสูงและผ่านการฝึกอบรมอย่างดี ใส่ชุดป้องกันและหน้ากากเข้าไปในสถานีวิจัยพืชสวนที่ขอนแก่น และนำมะละกอจีเอ็มโอที่ปลูกทดลองอยู่ทั้งต้น ใบ ดอกและรากทั้งหมดบรรจุลงในถังที่ปิดสนิท ในด้านหนึ่ง นี่เป็นปฏิบัติการของกรีนพีซที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าทำเกินไป ผมยังจำได้ว่าเอ็นจีโอบางองค์กรไม่เห็นด้วยกับวิธีการแบบนี้ แต่สำหรับเราแม้ต้องเสี่ยงและเผชิญกับผลที่ตามมา แต่นี่คือศึกที่มีอธิปไตยทางอาหารเป็นเดิมพัน”
ปฏิบัติการครั้งนั้นโหมข้อถกเถียงการกำหนดนโยบายด้านสิ่งมีชีวิตตัดแต่งพันธุกรรม (GMOs) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติออกแถลงการณ์ปี 2547 ระบุปัญหาการหลุดรอดและแพร่กระจายมะละกอตัดแต่งพันธุกรรมในสิ่งแวดล้อมแล้วโดยปนเปื้อนไปกับมะละกอพันธุ์แขกดำท่าพระ และพร้อมสนับสนุนการตัดสินใจของรัฐบาลที่ไม่อนุญาตให้ทดลองพืช GMOs ในระดับไร่นา (Field Trials) ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่สถานีวิจัยของรัฐ/เอกชนหรือในพื้นที่ของเกษตรกร
กรมวิชาการเกษตรฟ้องร้อง ดร.จิรากรณ์ คชเสนีย์ ผู้อำนวยการบริหารกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้และคุณภัสน์วจี ศรีสุวรรณ์ นักรณรงค์ ในขณะนั้น ข้อหาบุกรุกทำลายทรัพย์สินให้เสียหายที่ศาลอาญาขอนแก่นจนถึงชั้นอุทธรณ์ ปี 2552 ศาลได้ตัดสินยกฟ้องทั้งหมดโดยอ้างสิทธิในการปกป้องสิ่งแวดล้อมจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ธารากล่าวว่า “เราใช้รัฐธรรมนูญเพื่อยืนยันถึงสิทธิในการปกป้องสิ่งแวดล้อมแบบเต็ม ๆ”
หลายปีต่อมาหลังจากศึกมะละกอ GMO เพื่อนร่วมงานหลายคนบอกลากรีนพีซ แต่ธารายังคงยืนหยัดอยู่ในฐานะ Country Representative และ Country Director ต่อจากนั้น มีเหตุการณ์ผ่านมาให้เขาตัดสินใจอีกหลายครั้งว่าจะใช้แนวทางที่เป็นไปตามปกติหรือ “ไปให้พ้นจากความคุ้นชินที่แสนสบาย” (comfort zone) รวมทั้งเหตุการณ์ในปี 2558 เมื่อทีมรณรงค์ของกรีนพีซ ประเทศไทย ทำการวิจัยเชิงสืบสวนสอบสวน “การละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทําประมงผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงนอกน่านน้ำของประเทศไทย” และเปิดรายงานที่ร้อนแรงออกมาในปี 2559
การทำวิจัยเชิงสืบสวนสอบสวนดังกล่าวใช้เวลาร่วม 12 เดือน เสนอรายละเอียดการทําประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU fishing) การใช้แรงงานลูกเรือที่เป็นเหยื่อค้ามนุษย์และแรงงานบังคับโดยให้ทำงานในสภาพที่ไม่เหมาะสมจนทำให้โรคที่น่าจะหมดไปจากโลกนี้ไปตั้งแต่ช่วงศตวรรษที่ 19 กลับมาอุบัติขึ้นอีกครั้ง การสูญเสียชีวิตของลูกเรือที่เกิดจากความประมาทเลินเล่อบนเรือประมงนอกน่านน้ำของไทยที่ทำการประมงในน่านน้ำมหาสมุทรอินเดีย การจับสัตว์น้ำที่เป็นอันตรายต่อหญ้าทะเลที่เปราะบาง และทําการประมงทะเลอย่างผิดกฎหมายและขนถ่ายสินค้าสัตว์น้ำกลางทะเล (Transshipments at sea) โดยไม่ได้รับอนุญาต งานวิจัยชิ้นนี้ทำให้ธาราต้องตัดสินใจครั้งสำคัญในฐานะผู้นำองค์กร
“มีทัวร์ลงบนโซเชียลมีเดีย บอกว่าเราเป็นพวกขายชาติ แต่ประเด็นที่กลายเป็นคดีฟ้องร้องปิดปาก (SLAPP) คือการกดดันให้เราดึงเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงแต่เป็นข้อมูลที่มีการอ้างอิงตามข้อเท็จจริงออกจากรายงาน จริงๆ ก่อนปล่อยรายงาน เราให้ทีมนักกฎหมายประเมินทุกบรรทัดตั้งแต่หน้าแรกจนถึงหน้าสุดท้าย และบอกว่าโดนฟ้องแน่ (หัวเราะ) ตอนที่รับหมายฟ้องมา แรงกดดันก็เยอะนะ แต่ทีมนักกฎหมายยืนหยัดกับเรามาก ๆ ในที่สุด อัยการก็ตัดสินใจไม่ส่งฟ้องศาล รายงานสืบสวนสอบสวนนี้ทำให้เรากล้าหาญที่จะพูดความจริงต่ออำนาจ (Speak truth to power) ถึงขั้นอุตสาหกรรมประมงยักษ์ใหญ่ทั้งหลายต้องออกตัวว่าไม่ได้เกี่ยวข้องและยกระดับอุตสาหกรรมประมงให้มีความรับผิดชอบมากขึ้น”
ธาราคือแคมเปญเนอร์
หากติดตามชีวิตธารามาถึงตอนนี้ เราจะเห็นว่ากลยุทธ์และปฏิบัติการตรงโดยไม่ใช้ความรุนแรง (Non-Violent Direct Action) ไม่ใช่งานเพียงลักษณะเดียวของการรณรงค์ (Campaigner) แต่ยังควบคู่ไปกับการทำงานวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ การสื่อสารสาธารณะ การยืนหยัดต่อแรงกดดัน ฯลฯ ซึ่งนี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

“นักรณรงค์ (Campaigner) เป็นงานที่คนไม่ค่อยเข้าใจนักว่าทำอะไรกันแน่ มีเรื่องเล่าว่าวิศวกรสิ่งแวดล้อมคนหนึ่งมาสมัครเป็นนักรณรงค์ของกรีนพีซสหราชอาณาจักร แล้วไปคุยกับคนในแวดวงวิชาชีพเดียวกันว่าฉันเป็นนักรณรงค์ของกรีนพีซ ทุกคนอ้าปากค้างหาว่าเขาบ้าไปแล้ว เส้นทางวิชาชีพของคุณจะเสียหายไปเลยนะ“
“แล้วนักรณรงค์ (Campaigner) ทำอะไรบ้าง?”
“มันเป็นอาชีพที่ท้าทายอย่างมากครับ ทุกคนในกรีนพีซจะต้องผ่านการฝึกฝน การรณรงค์ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารการสนทนากับสังคมเพื่อโน้มน้าวให้ผู้คนจำนวนมากลงมือทำบางอย่างอย่างเร่งด่วน การรณรงค์เป็นการแสดงออกของประชาธิปไตยภาคประชาชน ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และที่สำคัญคือต้องช่วยเปิดพื้นที่แห่งความเป็นไปได้ให้สาธารณชนมีส่วนสร้างการเปลี่ยนแปลงในสังคม และเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ “การรณรงค์เป็นศิลปะที่ผสมผสานทุกศาสตร์จากหลายสาขาทั้งกฎหมาย วิทยาศาสตร์ ศิลปะวรรณกรรม สังคมและการเมือง แต่การรณรงค์ที่มีประสิทธิภาพคือการทำให้เห็นแทนที่จะบอกให้รู้ (Show, don’t tell) ใช้แรงจูงใจแทนที่จะให้ความรู้ (Motivation rather than education) ใช้การระดมพลังและความคิดเห็นสาธารณะมากกว่าการสะสมองค์ความรู้ (Mobilization rather than the accumulation of knowledge) ทำให้เราตาสว่าง กูรูด้านการรณรงค์บอกผมเสมอว่า การรณรงค์ต้องทำอย่างเป็นระบบ ต้องวางแผนการสื่อสารอย่างรอบคอบไม่ต่างกับนักแต่งเพลงหรือผู้กำกับหนัง”

“หนึ่งใน Mantra ที่ผมใช้ในการรณรงค์คือเราต้องสร้างการมีส่วนร่วมและการรวมถึงพลังของผู้กระทำการ (Agency) ที่มากพอจนเขาสามารถกำหนดชีวิตของตนเองและมีอำนาจตัดสินใจ การจะทำอย่างนั้นได้ เราต้องเสนอแนวทางที่น่าเชื่อถือ เป็นไปได้จริงและดึงดูดใจเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สดใหม่และแตกต่างออกไป”
เมื่อพูดถึงการรณรงค์ ความสนใจพิเศษของธาราคือการรณรงค์ต่อบรรษัท (Corporate Campaigning) ซึ่งเป็นการทำงานของแคมเปญเนอร์ในด้านที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ทางอำนาจ
“นอกจากนักรณรงค์ต้องเข้าใจเรื่องการสร้างสื่อสารและสร้างแรงจูงใจ ในด้านยุทธศาสตร์นักรณรงค์ต้องเข้าใจพลวัตของอำนาจ ต้องระบุได้ว่าใครควบคุมอะไรอยู่และใครได้รับประโยชน์จากสถานะที่เป็นอยู่ ต้องตั้งคำถามว่าทำไมการเปลี่ยนแปลงที่เราต้องการยังไม่เกิดขึ้น เมื่อเกิดแรงกดดันต่ออำนาจหรือผลประโยชน์ที่มีอยู่ ผู้คนจะหันมาสนใจ การรณรงค์จะเปลี่ยนแปลงการเมืองและโครงสร้างอำนาจได้ต้องผ่านกลยุทธ์ที่ถูกวางไว้อย่างดีจากความเข้าใจเรื่องผลประโยชน์ของอำนาจ”
หนึ่งในการรณรงค์ต่อบรรษัท (Corporate Campaigning) ที่น่าจะสะท้อนการวางยุทธศาสตร์ดังที่ธารากล่าวมาคือการทำให้สายพานการผลิตในอุตสาหกรรมประมงของบริษัทไทยยูเนียนมีข้อกำกับด้านสิทธิมนุษยชนที่แข็งแรงมากขึ้น เราขอให้ธาราเล่าเรื่องนี้ให้ฟัง
“ตอนนั้นคำถามคือถ้าเราต้องการทำให้ห่วงโซ่อุปทานของอาหารทะเลปลอดการละเมิดสิทธิมนุษยชนตั้งแต่เรือประมงมาจนถึงโต๊ะอาหาร เราจะเริ่มตรงไหนเพราะมันใหญ่โตและซับซ้อนมาก จนผมไปเจองานศึกษาชื่อว่า Transnational Corporations as ‘Keystone Actors’ in Marine Ecosystems ช่วยชี้ทาง เขาเปรียบง่ายๆ ว่า Keystone คือประตูหินโค้ง แข็งแรงก็จริงแต่ถ้าเราดึงหินออก ประตูก็จะพัง ประกอบกับอีกงานศึกษาหนึ่งระบุว่า ไทยยูเนียนเป็นอุตสาหกรรมทูน่ากระป๋องที่ใหญ่ที่สุดในโลก ปลาทูนากระป๋องทุกๆ 5 กระป๋องบนชั้นวางในซูเปอร์มาร์เก็ตโดยเฉพาะในยุโรปและอเมริกาเหนือ จะมี 1 กระป๋องที่ผลิตโดยบริษัทไทยยูเนียน และไทยยูเนียนกำลังเริ่มทำนโยบายความยั่งยืนในอุตสาหกรรมประมงและการสอบทานธุรกิจ (Human Rights Due Diligence) พอดี ไทยยูเนียนจึงทั้งสะท้อนบทบาทของอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยในระดับโลกว่ามีความสำคัญมากแค่ไหนและเป็น keystone actor หนึ่งในหินบนประตูโค้งนั้นได้


“นอกจากการทำงานงานวิจัยสืบสวนสอบสวนห่วงโซ่อุปทานอาหารทะเลนี่ยังเป็นการรณรงค์ระดับโลก (Global Campaign) ร่วมกันระหว่างกรีนพีซ ประเทศไทย สหรัฐฯ แคนาดา ยุโรป นิวซีแลนด์และเอเชียตะวันออก ระหว่างปี 2558-2560 เราใช้ทุกกลยุทธ์ตั้งแต่การจัดลำดับความยั่งยืน การระดมพลังของผู้บริโภค การทำงานกับสหภาพแรงงานการเดินเรือ การประท้วงในที่ประชุมอุตสาหกรรมอาหารทะเล การบันทึกปากคำของแรงงานย้ายถิ่นบนเรือประมงนอกน่านน้ำ การใช้เทคโนโลยีติดตามร่องรอยกองเรือประมงในมหาสมุทรลึก การเป็นประจักษ์พยานเครื่องมือประมงทำลายล้างที่กระจายในมหาสมุทรอินเดียนับแสนๆ ชิ้น และที่สำคัญคือการเจรจา ผมอยู่ในทีมเจรจา คุยต่อรองกันหลายรอบมาก ที่กรุงเทพฯ ลอนดอน บรัสเซล และซานฟรานซิสโก หลังจากเกิดข้อตกลง มีผู้ตรวจสอบอิสระเข้ามาประเมินความก้าวหน้าและเราออกรายงานมาในปี 2563”
ผลการเจรจาในครั้งนั้นได้เกิดเป็นข้อตกลง (Agreement) เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกภายในอุตสาหกรรมประมงใน 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ (1) เครื่องมือประมงทำลายล้าง (อวนล้อมที่ใช้ FADs) (2) การประมงเบ็ดราว (longlines) (3) การขนถ่ายสัตว์นํ้ากลางทะเล (transshipment) และ (4) แรงงาน (labour) ส่วนรายงานการละเมิดสิทธิมนุษยชนและการทําประมงผิดกฎหมายในอุตสาหกรรมประมงนอกน่านน้ำของประเทศไทยที่กรีนพีซยืนกรานไม่ถอดเนื้อหา ยังกลายเป็นพลังคัดง้างสำคัญของการเจรจากับอุตสาหกรรมทูน่ายักษ์ใหญ่ การถอยบ้างและยืนหยัดสุดชีวิตบางครั้ง เป็นสิ่งที่ธาราต้อง Turn the tide โต้คลื่นอย่างรอบคอบเสมอ

“สิ่งที่ผมเรียนรู้จากการเจรจาคือการประสานประโยชน์ไม่ได้หมายถึงการประนีประนอม กรีนพีซมีจุดยืนชัดเจน แต่แม้แต่จุดยืนที่ขัดแย้งกันก็ยังมีผลประโยชน์สาธารณะบางอย่างร่วมกันที่เราต้องหาให้เจอ ส่วนข้อตกลงระหว่างเรากับไทยยูเนียนจะเกิดผลสะเทือนไปหาผู้เล่นอื่นๆ ในอุตสาหกรรมประมงได้หรือไม่อย่างไรนั้น ต้องใช้เวลา เหมือนเรื่องถ่านหิน ที่ตอนนี้ถ่านหินกลายเป็นประวัติศาสตร์ ไม่มีใครอยากลงทุน” นอกจากการต่อการกับบริษัทต่างๆ อีกบทบาทของนักรณรงค์ (Campaigner) ยังรวมไปถึงการตอบโต้กับสถานการณ์ที่อาจนำไปสู่จุดพลิกผันของการรณรงค์
“อาจจะไม่เวิร์ค แต่ยังดีกว่าไม่ทัน” คือคำที่ธาราใช้อธิบายการคว้าจังหวะ ซึ่งหลายงานสำเร็จได้เพราะนักรณรงค์คว้าโอกาสได้ทันเวลา
“หลายครั้งต้องใช้ Disruptive Moment จังหวะทองของเรา แต่เป็นจังหวะนรกในความหมายของอีกฝั่งที่เป็นเป้าหมายเรา (หัวเราะ) เพื่อทำให้ประเด็นที่เรารณรงค์ก้าวกระโดดไปได้ ประเด็นที่เราทำงานไม่ได้วิ่งแบบเส้นตรง เมื่อไปถึงระยะหนึ่งแล้ว คนจะรู้สึกว่าเบื่อล่ะ ไม่สนใจล่ะ แต่อย่างคำกล่าวที่ว่าการเมืองคือศิลปะแห่งความเป็นไปได้ แต่ (อย่างที่ธารากล่าว) การรณรงค์คือศาสตร์และศิลป์ของการทําสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ให้เกิดขึ้น เราต้องหาวิธีไปต่อให้ได้”
มีครั้งไหนที่คุณรู้สึกว่าตัดสินใจใช้ Disruptive Moment ได้ถูกต้อง?
“เรื่องฝุ่นพิษ PM2.5 ครับ พวกเราทำงานรณรงค์หยุดถ่านหินมายาวนานมาก และมลพิษหนึ่งจากโรงไฟฟ้าถ่านหินก็คือ PM 2.5 มา แต่ไม่มีใครสนใจนัก จนเกิดข้อถกเถียงที่เชียงใหม่ว่าทำไมสถานกงศุลสหรัฐฯ ที่เชียงใหม่วัดค่าและรายงานค่า PM2.5 แต่ส่วนที่เหลือของเชียงใหม่ไม่มี ส่วนในกรุงเทพฯ มีวันหนึ่งที่ทุกคนโพสต์เต็มโซเชียลมีเดียว่ามีหมอก ทั้งที่ไม่ใช่ฤดูหนาว ทำให้หายใจติดขัดและไม่สบาย ในช่วงที่ผู้คนสงสัยว่านี่อะไร ซึ่งนี่ล่ะคือ Disruptive Moment เราใช้โมเมนต์นั้นสื่อสารต่อสาธารณะว่ามันคือฝุ่นพิษ PM2.5 จากนั้นเราเรียกร้องให้กรมควบคุมมลพิษยกระดับดัชนีคุณภาพอากาศให้รวมPM2.5 และนยกมาตรฐาน PM2.5 ที่เข้มงวดมากขึ้นในอากาศทั่วไป
“การทำแคมเปญแบบทำตามขั้นตอนที่วางไว้กับการทำแบบฉวยคว้า Disruptive Moment แบบไหนสำเร็จมากกว่ากัน ?”
“จากประสบการณ์ของผม จังหวะทองของ Disruptive Moment มีโอกาสสําเร็จกว่า ตามทฤษฎีวัตถุนิยมวิภาษวิธี (Dialectical Materialism) การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจากปริมาณไปสู่คุณภาพ ไม่ได้เป็นเส้นตรง มีจังหวะที่ถึงจุดพลิกผัน (Tipping Points) จุดมวลวิกฤต(Critical Mass) ระบบเดิมที่มีอยู่จะสลายไป เกิดระบบใหม่ขึ้น
“และอย่างที่บอกในตอนต้นครับว่าการรณรงค์ใช้การระดมพลังและความคิดเห็นสาธารณะมากกว่าการสะสมองค์ความรู้ สิ่งที่จำเป็นสำหรับการคว้า Disruptive Moment ตอนที่จู่ๆ มันก็ผุดขึ้นมา คือญาณทัศนะ (Intuition) ต้องด้นสดบ้าง แต่เราต้องมีแผนกลยุทธ์ที่หลากหลายพร้อมใช้งานในเกือบทุกสถานการณ์ไว้ด้วย และต้องกล้าหาญพอที่จะเสี่ยงในเวลาที่สอดคล้องเหมาะสม มันอาจจะไม่เวิร์ค แต่ยังดีกว่าไม่ทัน ถ้าเราช้าไปอาจมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองฉับพลันหรือมีเหตุอื่นที่ทำให้ประเด็นที่เราทำไม่ใช่ความสำคัญเร่งด่วนอีกต่อไปก็ได้”
ธาราคือนักกิจกรรม
ถ้าคุณได้ยินคำว่า Dialectic จากใคร คุณอาจตั้งสันนิษฐานได้สองข้อ หนึ่งคือเขาเป็นคนที่อ่านหนังสือมามาก กับสองคือเขาเป็นฝ่ายซ้าย เราจึงชวนธาราคุยเรื่องนี้
“ผมเกิดที่อรัญประเทศ ชายแดนไทย-กัมพูชา ปี 2510 เป็นปีก่อตั้งอาเซียน (ASEAN) พอดี ช่วง 7-8 ขวบ เขมรแดงปกครองกัมพูชา มีสงครามกลางเมืองยืดเยื้อยาวนานพร้อมกับคลื่นผู้ลี้ภัยสงครามชาวกัมพูชานับแสนคนตามแนวชายแดน กว่ากัมพูชาจะสงบลงบ้างก็หลังจากการสถาปนาระบอบฮุนเซน ผมก็โตเป็นผู้ใหญ่แล้ว”
การเติบโตในสิ่งแวดล้อมที่ไม่ธรรมดานี้าจุดประกายความอยากรู้อยากเห็นและกระตุ้นให้ธารา อย่างน้อยที่สุด ต้องการทำให้โลกรอบตัวเขาเป็นสถานที่ที่ดีขึ้นได้ และความคิดเล็กๆ ในใจนั้นได้รับการส่งเสริมจากครูแนะแนวคนหนึ่ง
“ผมมาสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมช่วง ม.ปลาย ที่โรงเรียนประจำจังหวัดสมุทรปราการ มีครูแนะแนวท่านหนึ่ง แกเป็นนักกิจกรรมสมัยเรียนที่ศิลปากร ครูให้พวกเราทำจุลสารว่าด้วยเรื่องการประชุม Earth Summit ครั้งแรกสุดปี 2515 ที่กรุงสต็อกโฮล์ม (The 1972 United Nations Conference on the Human Environment in Stockholm) เป็นการประชุมสหประชาชาติที่มีทั้งนักกิจกรรม ฮิปปี้ นักธุรกิจและผู้แทนรัฐบาลมาเจอกัน มีการใช้คำว่า Biosphere (ชีวาลัย/ชีวมณฑล) เป็นครั้งแรก
“จุลสารที่ผมทำเล่าเรื่องโลกที่เราอาศัยอยู่ซึ่งเริ่มเผชิญกับวิกฤตทางนิเวศวิทยา เป็นกิจกรรมแนะแนวที่ครูใช้เป็นเครื่องมือให้นักเรียนเข้าใจเรื่องของชีวิต ของสังคม ตอนเรียนมหาวิทยาลัย ผมก็ไปแหมะอยู่ที่ชมรมอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อ 40-50 ปีที่แล้ว กิจกรรมนักศึกษาไม่ได้หลากหลายเหมือนยุคนี้

ตอนนั้นคุณเป็นนักศึกษาแบบไหน?
“ช่วงนั้นพลเอกเปรม ติณสูลานนท์เป็นนายกรัฐมนตรี เป็นยุคประชาธิปไตยครึ่งใบ ขบวนการเคลื่อนไหวสิ่งแวดล้อมยังคงเบ่งบานในหมู่นักศึกษา มีชนวนมาตั้งแต่เหตุการณ์ล่าสัตว์ในทุ่งใหญ่นเรศวรซึ่งโยงกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ผมช่วยงานของคณะกรรมการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ 15 สถาบัน (คอทส.) ซึ่งเป็นเครือข่ายองค์กรนักศึกษาที่จับประเด็นสิ่งแวดล้อม คู่ขนานไปกับสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) ซึ่งเคลื่อนไหวเรื่องการเมืองและสังคม ช่วงนั้น มีการผลักดันโครงการเขื่อนน้ำโจนในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร และการนำก๊าซฟอสซิลในอ่าวไทยมาใช้ภายใต้แผนโครงการพัฒนาอุตสาหกรรมชายฝั่งทะเลตะวันออก (Eastern Seaboard)
“ภายหลังอุบัติเหตุที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิลในอดีตสหภาพโซเวียตซึ่งทั่วโลกรับรู้ถึงภัยคุกคามจากพิษกัมมันตรังสี มีการตื่นตัวทางด้านสิ่งแวดล้อมในประเทศไทย รวมถึงการประท้วงของมวลชนเพื่อต่อต้านโรงงานถลุงแร่แทนทาลัมที่จังหวัดภูเก็ต เหตุการณ์บานปลายจบลงเป็นโศกนาฏกรรมโดยโรงงานถูกเผาในเดือนมิถุนายน ปี 2529 เป็นเหตุการณ์แรกๆ ที่ประชาชนลุกขึ้นต่อต้านโครงการของรัฐ เป็นบทเรียนของมลพิษอุตสาหกรรมที่มีราคาแพงของสังคมไทย นอกจากแสดงให้เห็นว่า การแสดงออกอย่างรุนแรงของเจตจำนงร่วมมักเกิดขึ้นก่อนที่สิทธิในการแสดงเจตจำนงนั้นในระบอบประชาธิปไตยจะได้รับการยอมรับ ยังเป็นบทสะท้อนปัญหามาจนถึงปัจจุบันหากกลไกการมีส่วนร่วมของประชาชนถูกกีดกันออกจากกระบวนการพัฒนาประเทศ“
“ณ จุดไหนของชีวิตที่คุณได้สัมผัสชีวิตของชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจริงๆ?”
“ช่วงเรียนมหา’ลัย ตอนแรกๆ จัดค่ายอนุรักษ์ธรรมชาติ ค่ายเดินป่า ดูนกดูไม้ ต่อมามีกรณีการแย่งยึดที่ดินและทรัพยากรชุมชนในภาคอีสานเพื่อปลูกสวนป่ายูคาลิปตัส เราจึงเปลี่ยนเป็นค่ายป่าชุมชน โครงการสร้างเขื่อนต่างๆ ในยุคนั้นทั้งเขื่อนน้ำโจน เขื่อนเชี่ยวหลาน เขื่อนแก่งเสือเต้นทำให้นักศึกษาอย่างเราออกไปเรียนรู้วิถีการต่อสู้ของชุมชน
“ช่วงจบปริญญาตรีเป็นช่วงการแสวงหาความหมายของชีวิต ผมไปใช้ชีวิตร่วมกับชุมชนบ้านเนินพยอม ท่าเรือแกลง จังหวัดระยอง และหมู่บ้านแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ซึ่งชุมชนต่อสู้กับทั้งประมงอวนลาก การท่องเที่ยวขนาดใหญ่ (Mass Tourism) การขยายตัวของอุตสาหกรรม และการเพาะเลี้ยงชายฝั่งหรือการปฏิวัติสีฟ้า (Blue Revolution) ป่าชายเลนภาคตะวันออกหายไปกับการเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำซึ่งเป็นธุรกิจที่มีรายได้พอๆ กับขายยาเสพติด ส่วนหนึ่งเป็นการทำงานวิจัยภาคสนามที่มี ศ.สุริชัย หวันแก้วเป็นกัลยาณมิตรอาวุโสคอยให้คำปรึกษา ผมยังได้มีโอกาสร่วมงานกับครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ ในชุมชนกลุ่มชาติพันธุ์บนภูเขาแถบดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย เคยทำงานในกองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์หมู่บ้าน สื่อเล็กๆ ของเครือข่ายชุมชน ได้มีโอกาสเดินทางไปตามหมู่บ้านทั่วประเทศ ยุคนั้นคอมพิวเตอร์ยังไม่แพร่หลาย เราใช้เครื่องพิมพ์ดีดและเขียนบันทึกด้วยมือ”

“มีด้านไหนของการเป็นนักกิจกรรมที่ยังส่งผลถึงคุณมาถึงทุกวันนี้ ?”
“นักกิจกรรมต้องข้ามผ่านความเป็นตัวตนไปให้ได้ครับ ในฐานะนักกิจกรรมทำให้ผมมองสถานะกรีนพีซเป็น 2 แบบคือเป็นองค์กรและเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม แบรนด์ของ Greenpeace แข็งแรงมาก หลายครั้งถูกคาดหวังว่าเราต้องทำทุกเรื่อง แต่ในฐานะขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม เมื่อเราทำงานเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จนเรื่องนั้นกลายเป็นกรอบความคิด หรือกลายเป็นบรรทัดฐานในสังคมไประดับหนึ่ง กลายเป็นการสนทนาของสังคม ผู้คนจดจำประเด็นเหล่านี้เรียบร้อยแล้ว เราต้องใช้ฐานของเรื่องนั้นสร้างการเปลี่ยนแปลงในเรื่องอื่นๆ ต่อไป และเราอาจไม่จำเป็นต้องเอ่ยนาม ไม่ต้องได้รับการกด like กด share ตลอดเวลาก็ได้
การเคลื่อนไหว (Activism) ไม่ได้หมายถึงแต่เพียงการโพสต์หรือปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์แล้วจบ การเคลื่อนไหวต้องมีราก ต้องอยู่บนพื้นฐานของการต่อสู้ทางชนชั้น ดังคำที่ว่า Ecology without class struggle is gardening. (นิเวศวิทยาที่ปราศจากการต่อสู้ทางชนชั้นคือการทำสวน)

“คุณเป็นฝ่ายซ้ายหรือเปล่า และทำไมคุณชอบลงท้ายอีเมลว่า In Solidarity ?
“นอกจากซ้าย ขวา เรื่องสิ่งแวดล้อมยังมีเขียวเข้ม กลาง อ่อน เขียวลึก เขียวตื้น ผมคิดว่าจริงๆ การจำแนกคนตามทฤษฎีการเมืองน่าจะไม่ตอบโจทย์ในยุคที่โลกปั่นป่วนและโกลาหลมากขึ้น แต่ที่แน่ๆ ผมนิยมกรอบแนวคิดนิเวศวิทยาการเมือง (Political Ecology) ประชาธิปไตยกับสิ่งแวดล้อมคือเรื่องเดียวกัน ถ้าเราต้องการทําเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เป็นประเด็นสาธารณะ เราต้องเอาเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชน เรื่องประชาธิปไตยเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
“หลายคนทักว่าทำไมผมต้องเอากรีนพีซไปเกี่ยวข้องกับการเมือง ทำไมต้องพูดเรื่องประชาธิปไตย ในความหมายของผม การเมืองคือเวทีของการกำหนดนโยบายสาธารณะ (Political Opera) กรีนพีซเป็นองค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นอิสระ เราต้องเข้าใจการเมืองถ้าเราต้องการเปลี่ยนแปลงนโยบาย ถ้ารัฐบาลไม่ได้มาด้วยวิถีทางประชาธิปไตย นโยบายสาธารณะก็มักจะฉ้อฉลและสร้างหายนะทางสังคมและสิ่งแวดล้อม”
“ในบรรดาหลาย ๆ ตัวตนที่คุณเป็น คุณชอบตัวตนไหนมากที่สุด”
“จริง ๆ ผมชอบพาร์ทที่เป็นนักกิจกรรมนะ การพูดข้อมูลหรือล็อบบีอย่างเดียวไม่สนุก ไม่ได้ออกแรง และการเป็นนักกิจกรรมทำให้เรามองโลกอย่างมีความหวัง บางทีเราเครียด เศร้า หดหู่เพราะจมอยู่กับปัญหาและพยายามหาทางออก แต่ความเป็นนักกิจกรรมทำให้ผมสนุกสนานไปได้ด้วย มีช่วงเวลาที่มีความเป็นมนุษย์อยู่ในนั้น นักกิจกรรมเคลื่อนไหวควรเป็นมนุษย์ให้มากที่สุด
“ส่วน In Solidarity ที่ผมชอบใช้ลงท้ายอีเมล เป็นคำที่มาจากคำขวัญในขบวนการแรงงานในโปแลนด์ เพราะตอนผมเป็นนักศึกษาผมมีประสบการณ์กับนักกิจกรรมทางการเมือง แล้วผมเห็นคํา ๆ นี้แล้วชอบ มันช่วยสร้างบรรยากาศว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าเราจะเห็นต่างกัน เห็นตรงกันอะไรยังไง เราต้องสมานฉันท์ ถึงจะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ แล้วมันก็เท่ดีครับ”
ธาราคือมนุษย์
“คุณบอกว่าคุณล้มเหลวมากกว่าสําเร็จ ช่วยเล่าเรื่องนี้ให้ฟังหน่อยได้ไหม ?”
“ผมคิดว่าความสําเร็จเป็นสิ่งสมมุติในโลกนี้ ผมเจอความล้มเหลวเยอะเลย บางทีสิ่งที่ทำไปมันใช้ไม่ได้ รู้สึกว่าทำไมเราลงแรงไปมากมายมหาศาล แต่ไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนเลย ทุกอย่างยังเหมือนเดิม ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว ก็ยังเกิดขึ้นในตอนนี้ แต่ผมจะไม่บอกว่า อืม พอแล้ว ไม่เอาแล้ว”
“เวลาที่ล้มเหลวเป็นช่วงที่ผมประทับใจที่สุดในการทำงาน งานที่ผ่านมาของผมในกรีนพีซเต็มไปด้วยการเสี่ยงและการทดลองสิ่งใหม่ แต่เมื่อผมล้มลงมีคนที่เข้าใจและโอบอุ้ม ทั้งจากครอบครัว เพื่อนในกรีนพีซ เพื่อนที่เป็นนักเคลื่อนไหว และกัลยาณมิตรในชุมชน ความท้อแท้มาจากการที่เราเหนื่อยเกินไปเพราะทุ่มสุดตัว แต่ความท้อแท้หายไปเมื่อเรามีกัลยาณมิตร ไม่ว่าเขาจะอยู่ในสภาพไหนก็ตาม เสียใจ ร้องไห้ ดีใจ หัวเราะ มันมีพื้นที่ที่คอยโอบอุ้ม ทำให้เราฟื้นคืน มีพลัง ยืดหยุ่นและปรับตัว ทำให้เรายืนหยัด เข้มแข็ง ไม่หวั่นไหวกับแรงกดดันต่างๆ นานา

พื้นที่นี้สำคัญแค่ไหน ?
“โห ถ้าไม่มีพื้นที่นี้ก็ไม่รู้จะทำไปเพื่ออะไร ผมคิดว่าพื้นที่โอบรับคนที่มุ่งมั่นตั้งใจแต่ทำพลาดสำคัญเท่าๆ กับการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมดีขึ้น เป็นพื้นที่ที่ยิ่งใหญ่มากกว่าความสำเร็จในงานรณรงค์ เป็นพื้นที่ที่ทำให้การต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมทางด้านสิ่งแวดล้อมน่าอยู่ขึ้น และทำให้เกิดการทดลองใหม่ๆ ขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมต้องมีพื้นที่แบบนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงทางสังคมไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ทุกอย่างเป็นอุปสรรค มีขวากหนามเต็มไปหมดเลย
“เวลาเราหลงทางเรามักจะทะเลาะตบตีกัน มึง พากูมาหลง (หัวเราะ) ไม่เอา ไม่ไปแล้ว แต่ถ้าเราบอกกันและกันว่า ไม่เป็นไรเดี๋ยวเราหาทางกลับ อาจมีทางลัด หรือมีทางที่สวยงามกว่าทางเดิม อุปสรรคน้อยกว่าทางเดิม แต่นำไปสู่เป้าหมายเดียวกัน อย่าได้เกรงกลัว กล้าหาทางใหม่ การหลงทางคือการสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ”
“คุณคิดว่าการเดินทางกับกรีนพีซ ประเทศไทย ตลอด 25 ปีนี้ เป็นการเดินทางแบบไหน ?”
“เหมือนกองคาราวานเดินทางไกล แล้วเจอกับอุปสรรคสารพัด ไม่มีสักวันเลยที่ไม่มีปัญหา (หัวเราะ) แต่เราต้องตัดสินใจ ใช้ความเด็ดเดี่ยว ความมุ่งมั่นพยายาม และเหมือนกองคาราวาน ที่เวลาหลงทาง ให้มองขึ้นฟ้าหาดาวเหนือ แต่บางทีผมก็เปรียบเปรยตัวเองเหมือนกับมือกลองของวง The Rolling Stones ที่บอกว่า เล่นดนตรีกับวง Rolling Stones มา 20 กว่าปี โดย 5 ปีทำงาน อีก 15 ปี เดินไปเดินมา ทำให้ผมคิดว่าเดี๋ยวนะ ผมทำงานจริงๆ เท่าไหร่วะ ที่เหลือ hanging around รึเปล่า (หัวเราะ)

“คุณมองกรีนพีซในอนาคตไว้อย่างไร และดาวเหนือจะพาคุณไปไหนต่อจากนี้?” เราถามคำถามสุดท้าย
“ผมโชคดีมากที่ได้มาทำงานกับกรีนพีซ เพราะได้ใช้ทุกทักษะเต็มที่ทุก skill set วิทยาศาสตร์ วิจัย กฎหมาย เจรจาต่อรอง การสื่อสาร และลงมือทำจริงๆ ใช้ชีวิตคุ้มค่ากับที่เกิดมาแล้วครับแต่นี่เป็นเวลาของการส่งต่อกรีนพีซให้กับกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ที่มีความกระตือรือร้น มุ่งมั่น มีความคิดสร้างสรรค์และมีปัญญาเฉียบแหลม เราจะได้เห็นการรณรงค์ของกรีนพีซบทใหม่ที่เหมาะสมกับยุคสมัย ไม่จำเป็นต้องย่ำรอยอดีต
“ผมวางแผนจะเขียนบันทึกว่าด้วยการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อม ถ่ายทอดเรื่องราวที่ผ่านมา 25 ปี และให้คำปรึกษากับผู้คนที่มุ่งมั่นสร้างความเปลี่ยนแปลง ตามความเหมาะสม
“ไม่ว่าผมจะอยู่ที่ไหนในบริบทของการทำงานรณรงค์เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลง ก็จะเป็นมดงานตัวหนึ่งในกระแสการเคลื่อนไหวของสังคมอันกว้างใหญ่ ผมเชื่อว่าหลายคนมีเป้าหมายร่วมกันกับผม นั่นคืออยากให้สังคมไทยและสังคมโลกน่าอยู่ ผู้คนอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี มีสิทธิขั้นพื้นฐาน มีน้ำสะอาด อากาศบริสุทธิ์ และมีเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”
ก่อนจบบทสนทนานี้ลง มีถ้อยคำสุดท้ายที่เราเชื่อว่าหลายคนที่เคยพบธาราในเส้นทางการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม น่าจะอยากบอกเขาว่า
In Solidarity,


Discussion
เพื่อสิทธิในการอยู่อาศัยในสิ่งแวดล้อมที่ดีของคนไทย