กรีนพีซร่วมพูดคุยกับประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่  ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ถึงเหตุผลที่มาตรการ Zero Burn ไม่ตอบโจทย์การแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่นพิษ และทำให้ปัญหายิ่งเลวร้ายลง 

การทำไร่หมุนเวียนของชุมชนที่อยู่ร่วมกับป่า ผู้ใช้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศ โดยใช้พื้นที่ทำไร่ปีละแปลง และเวียนใช้ประมาณ 6-7 แปลง โดยตัดต้นไม้ทิ้งตอไว้ ไม่ขุดรากถอนโคนออก เพื่อให้ฟื้นฟูได้ในอนาคต รอให้กิ่งไม้ใบไม้แห้งสนิทจริงๆ และเผาในช่วงบ่าย โดยใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 30 นาที เผาจากบนลงล่าง ก่อนเผาจะทำแนวกันไปล้อมรอบ และมีคนเฝ้าไม่ให้ลุกลาม เรียกว่า Culteral burning ขณะที่แปลงอื่น ๆ อีก 5-6 แปลงที่อยู่ในช่วงพักฟื้นรอให้สมบูรณ์ต้องป้องกันไฟห้ามเข้าเด็ดขาด (Zero burning) เพราะถ้าไฟลุกลามเข้าไป จะทำให้ความสมบูรณ์ของระบบนิเวศที่กำลังฟื้นตัวหมดไป และปลูกข้าว ผัก ไม่ได้ผล ไร่หมุนเวียนจึงเป็นระบบเกษตรยั่งยืนบนที่สูง ที่รักษาเมล็ดพันธุ์พื้นเมืองและเป็นความมั่นคงทางอาหาร

ชัชวาลย์ระบุว่า ก่อนหน้านี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้นำแนวทางการทำงานแบบบูรณาการมาใช้ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2567 ด้วยการสรุปบทเรียนและจัดทำแผน 8 กลุ่มป่า รวมทั้งมีการประกาศเขตควบคุมการเผาห้ามเผาเด็ดขาดยกเว้นพื้นที่ที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 15 พฤษภาคม 68 ที่ดำเนินการไว้ มีทั้งกำหนดพื้นที่ที่สำคัญและไม่จำเป็นต้องใช้ไฟอยู่ในแนวทาง Zero Burn มีพื้นที่ราว 95% และพื้นที่ที่จำเป็นต้องใช้ไฟอย่างยิ่งมีพื้นที่ไม่เกิน 5% พื้นที่ไฟจำเป็นจะต้องนำเสนอผ่านระบบ Fire D เพื่อขออนุมัติจากวอร์รูม หากไม่ผ่านการอนุมัติ ก็จะไม่สามารถดำเนินการได้ 

การประกาศห้ามเผาเด็ดขาดของรัฐมนตรีมหาดไทยส่งผลให้แผนทั้งหมดหยุดลง และส่งผลต่อพื้นที่เชิงวัฒนธรรมอย่างไร่หมุนเวียนที่เป็นฐานยังชีพของชุมชน

“ผลก็คือเกิดการ เผาแล้วหลบ เผาแล้วหนี เผาที่ไกลออกไปเพื่อให้ไหม้ตรงจุดที่จำเป็นต้องใช้ไฟ ซึ่งเคยเป็นปัญหาในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา การเผาลักษณะนี้ไม่สามารถควบคุมได้เลย ยิ่งไปกว่านั้นการพยายามหลีกเลี่ยงการตรวจจับของดาวเทียมเพื่อเกิดจุด Hotspot ทำให้มักจะเผาในช่วงตอนเย็น ยิ่งทำให้น่าเป็นห่วงเพราะไฟอาจจะลุกลามหนักในช่วงกลางคืนที่การเข้าควบคุมทำได้ยากกว่าเดิม”

นอกจากนี้การสะสมเชื้อเพลิงในป่าเต็งรังและป่าเบญจพรรณซึ่งเป็นป่าผลัดใบจำนวนมาก หากปล่อยทิ้งไว้นานโดยไม่มีการจัดการย่อมเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่า  ดังนั้นการเผาเพื่อลดปริมาณเชื้อเพลิงอย่างมีการควบคุม จึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อไม่ให้เกิดอันตรายต่อป่า

หยุดนโยบายแบบ Top-down รัฐต้องรับฟังและให้ชุมชนเป็นคนกลุ่มหลักในการมีส่วนร่วมแก้ปัญหา

การกำหนดมาตรการ Zero burn จึงเป็นนโยบายการบริหารจัดการแบบรวมศูนย์อำนาจจากส่วนกลางออกคำสั่งจากบนลงล่าง ที่ส่งคำสั่งแบบเดียวกันทั่วประเทศไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง ๆ ที่บริบทของแต่ละจังหวัด แต่ละท้องถิ่นแตกต่างกัน แต่ผู้ว่าฯก็ต้องสั่งต่อนายอำเภอ สั่งกำนัน สั่งผู้ใหญ่บ้าน เป็นลำดับขั้นต่อกันไปเป็นทอดๆ โดยที่ขาดการรับฟังและการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ ผลออกมาจึงไม่เป็นธรรม ขัดแย้งกับวิถีชีวิตชุมชนและชาติพันธุ์ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ยั่งยืนและสร้างความขัดแย้งเพิ่มขึ้น เช่น เช่น รัฐมีการสกัดชาวบ้านเข้าป่า จับกุมชาวบ้านที่เข้าไปหาของป่า ซึ่งเป็นชาวบ้านยากจนที่อยู่ในป่า โดยมีบทลงโทษอย่างหนัก ขณะที่การเผาไหม้เครื่องยนต์ของรถยนต์ โรงไฟฟ้าถ่านหิน น้ำมัน และโรงงานอุตสาหกรรม ไม่มีการกวดขันและจับกุมแต่อย่างใด บทลงโทษก็ไม่หนัก โดยเฉพาะนายทุนผู้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารสัตว์  อุตสาหกรรมน้ำตาล ที่เป็นต้นทาง อยู่เบื้องหลังการปลูกอ้อยและข้าวโพด แล้วก่อให้เกิดการเผา กลับไม่ได้โดนกวดขันหรือถูกลงโทษแต่อย่างใด

ในเบื้องต้น ชัชวาลย์ไม่เห็นด้วยกับการส่งเสริมการปลูกพืชเชิงเดี่ยวอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์บนพื้นที่สูง เพราะการปลูกข้าวโพดทำให้เกิดดินพังทลายและดินถล่มในหน้าฝน ขณะเดียวกันก็มีการเผาซังข้าวโพดในหน้าแล้ง และเห็นด้วยว่าควร zero burn ในพื้นที่ปลูกข้าวโพด เพราะส่งผลกระทบสูงต่อระบบนิเวศ

การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนควรขับเคลื่อนด้วยนโยบายและมาตรการที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรเปลี่ยนจากการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นการปลูกพืชอื่นที่ยั่งยืน และมีนโยบายและมาตรการไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากแปลงที่มีการเผา รวมถึงมีบทลงโทษบริษัทอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ที่ส่งเสริมการปลูกและรับซื้อข้าวโพดที่มีการเผา และที่สำคัญคือมีคณะกรรมการระดับภูมิภาคอาเซืยนที่ไม่ใช่แต่ภาครัฐเท่านั้น ต้องมีภาคีจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนแผนเชิงรุกในการแก้ฝุ่นควันข้ามแดนและกำกับติดตามการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงในตอนนี้คือความรู้สึกไม่ได้รับความเป็นธรรม จากกฏหมายและมาตรการของรัฐจะกลายไปสู่ความขัดแย้งระหว่างชุมชนกับรัฐที่ขยายกลายเป็นปัญหาสังคมที่ใหญ่โตขึ้นและยากต่อการเยียวยาในระยะยาว” ชัชวาลย์ระบุ