เพราะสิ่งสำคัญไม่ใช่จำนวนเงิน

“คือเราไม่ได้มองแค่รายได้ เพราะจริง ๆ การได้สื่อสารเรื่องราวของชุมชนมันมากกว่ารายได้”

พี่ยุ้ย หรือ วรรณิศา จันทร์หอม ผู้ประสานงานคนสำคัญในกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่น บอกกับเราถึงการตัดสินใจก้าวกระโดดครั้งสำคัญของกลุ่ม ในการรับงานผลิต ศิลปะแฮนด์เมด เกียวทาคุ
กว่า 8,000 ชิ้นแบบสุ่ม สำหรับเตรียมส่งมอบให้ผู้บริจาคกรีนพีซแทนการขอบคุณในปี 2024

“ที่ผ่านมา เราแค่พยายามหาอะไรใหม่ ๆ ให้คนเข้าใจง่าย ๆ ว่าทำไมเราต้องดูแลทะเล ดูแลทรัพยากร ก็เลยจัดเป็นเวิร์คชอปเล็ก ๆ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ช่วงต้นปี 2566 โดยใช้จุดเด่นเรื่อง ศิลปะที่กินได้ เพราะน้ำหมึกที่เราใช้นี่เป็นหมึกจากหมึกทะเล และปลาที่เอามาทำเป็นต้นแบบเกียวทาคุก็ยังใช้ทำอาหารต่อได้ ไม่เสียทิ้ง” 

ข้อความในน้ำหมึก

“ในช่วงเดือนมิถุนายน 2567 กลุ่มพี่ได้รับการติดต่อจากกรีนพีซว่าจะมีเรือ Rainbow Warrior เข้ามาทั้งที่ อ.จะนะ จ.สงขลา แล้วก็ จ.ชุมพร และให้เราจัดเวิร์คชอปเกียวทาคุอีกครั้งในงาน Ship tour มีคนสนใจเยอะมากเพราะ ระหว่างที่รอขึ้นเรือ ทั้งเด็กหรือผู้ใหญ่ก็เข้ามาร่วมกิจกรรมได้ และยังได้ของที่เป็นฝีมือของเราเองติดกลับไปด้วย พอทีมงานของกรีนพีซเห็นเกียวทาคุที่เราทำ ก็รู้สึกว่าสามารถนำไปต่อยอดได้ โดยเฉพาะแนวคิด การจางหายของสีธรรมชาติของภาพ เกียวทาคุ ที่เหมือนกับปลาในทะเล เพราะถ้าวันหนึ่งเราไม่ดูแลทะเลให้ดี ปลาก็จะหายไป เหมือนกันเลย”

People visit the Rainbow Warrior at Chana, Songkhla. © Wason Wanichakorn / Greenpeace
© Wason Wanichakorn / Greenpeace

เวิร์คชอปเกียวทาคุในงาน Rainbow Warrior Ship Tour 2024  อ.จะนะ จ.สงขลา © Wason Wanichakorn / Greenpeace

กว่าจะกลายเป็นภาพพิมพ์ เกียวทาคุ

“ขั้นตอนการทำงานเกียวทาคุ เริ่มจาก งานตัดเย็บ, งานปั๊มลาย หรือการระบายสีหมึก – พิมพ์ลายลงบนผืนผ้าแคนวาส, ต่อด้วยการแต่งปลาเก็บรายละเอียดซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยากที่สุด, งานล็อคสีผ้า, การซัก, ส่งโรงพิมพ์ปั๊มโลโก้ ก่อนจะตรวจสอบคุณภาพเป็นขั้นตอนสุดท้าย ซึ่งเราได้คนจากชุมชนบ้านสวนกง สะกอม และบ้านนา มาช่วยกันทำ” 

แม้การวางแผนงานจะเริ่มตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม แต่กว่าการลองผิดลองถูกได้ผลงานศิลปะที่น่าพอใจชิ้นแรก ก็เดือนตุลาคมแล้ว เพราะผลงานในครั้งนี้อาจหมายถึงการต่อยอดไปเป็นธุรกิจชุมชน ในแบรนด์ “จะนะเกียวทาคุ” หรือ เกียวทาคุโดยปลาจากท้องทะเลจะนะ ที่พี่ยุ้ยตั้งใจเขียนชื่อปลาลงบนผืนผ้าแคนวาสทุกผืนเป็นชื่อตามที่ชุมชนท้องถิ่นเรียก แทนที่จะเป็นชื่อกลางที่เราคุ้นเคย เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเป็น ‘จะนะเกียวทาคุ’

“พี่เคยให้กลุ่มนักศึกษาลองช่วยทำนะ น้อง ๆ จากวิทยาลัยเทคโนโลยี ราชมงคล สงขลาฯ เราไปเปิดเวิร์คชอปให้ฝึกทำและให้ได้เรียนรู้เรื่องราวของจะนะไปด้วย เรียนรู้เรื่องความสมบูรณ์ เรื่องดูหลำ เรื่องทำไมต้องให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และปกป้องท้องทะเล ผลตอบรับค่อนข้างดีแต่เพราะมีเวลาไม่มาก แค่ 1-2 ชั่วโมง ผลงานที่ได้ก็จะไม่ค่อยผ่านการคัดกรอง แต่ก็ถือว่าเป็นการให้ความรู้เรื่องทะเล”

“น้อง ๆ ก็ชอบกันมากเพราะสนุก ทำแล้วเอากลับไปได้ ส่วนน้อง ๆ เยาวชนที่มาฝึกหลังจากนั้นก็มี คนหนึ่งทำเป็นร้อย ๆ ผืน เราก็ฝึกด้วยผ้าดิบ ไปฝึกพิมพ์ที่บ้านแล้วกลับมาให้ตรวจ แรก ๆ บางคนไม่ผ่านเลยก็มี ภาพเสียเลยแต่งต่อไม่ได้ (ยิ้ม) แต่ทุกคนก็เข้าใจ เพราะคุยตั้งแต่แรกแล้วว่าทำของคุณภาพนะ น้องบางคนก็ท้อ ทำไม่ได้ เงียบไปสักวันสองวันแล้วเขาก็กลับมาใหม่” 

เกียวทาคุ จะช่วยเพิ่มรายได้ให้ชุมชนในวันที่ทะเลไม่เป็นใจ

ชาวบ้านสวนกง จะนะมีอาชีพหลักเป็นการประมง แต่ในช่วงเดือนตุลาคม เป็นช่วงที่มรสุมเข้าพอดี ซึ่งทำให้การตัดสินใจทำเกียวทาคุเป็นเรื่องที่พอเหมาะพอเจาะ เพราะถือเป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่งที่อาจช่วยชดเชยในวันที่ทะเลไม่เป็นใจ โดยการต่อยอดเกียวทาคุนั้น พี่ยุ้ยแย้มกับเราว่า อาจไม่ใช่แค่ ศิลปะบนผืนผ้าแคนวาส แต่อาจเป็น สินค้า หรือ ผลิตภัณฑ์ชิ้นใหม่ ๆ เช่น กระเป๋าผ้า หรือ การทำสารานุกรมสัตว์น้ำที่ตั้งต้นจากการให้เด็ก ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วม และพัฒนาเป็น E-book “สัตว์น้ำทะเลจะนะ” ต่อยอดจาก Set ปลาทั้ง 15 ชนิดในเกียวทาคุครั้งนี้ 

 “นี่เป็นความพยายามเล็ก ๆ ของชุมชน ที่ต้องการสื่อสารเรื่องราวความสมบูรณ์ ยิ่งมีกรีนพีซเข้ามาช่วยขยายให้ประเด็นที่จะสื่อสารก็ยิ่งไปได้ไกล เพราะกรีนพีซเป็นที่รู้จักในวงกว้างกว่าอยู่แล้วเมื่อเทียบกับพวกเรา งานจะได้ไปอยู่ในระดับโลก ถ้าสิ่งเล็ก ๆ ที่เราทำได้มีโอกาสขยายไปในวงกว้างเราก็ยินดี ” 

นี่เป็นเพียงการสัมภาษณ์สั้น ๆ ครั้งหนึ่งกับพี่ยุ้ยผู้ประสานงานเครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น ติดตามความเคลื่อนไหว การพูดคุย และสนับสนุนกลุ่มจะนะรักษ์ถิ่นได้ที่เพจเฟซบุ๊ค เครือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น 

กรีนพีซ ประเทศไทยและทั่วโลก ยังคงมุ่งมั่นปกป้องท้องทะเลและมหาสมุทร รวมทั้งสิทธิชุมชนชายฝั่งอย่างไม่ย่อท้อมาตลอดระยะเวลา 50 ปี เพื่อปกป้องความอุดมสมบูรณ์และระบบนิเวศให้กับพวกเราทุกคนและทุกชีวิตบนโลกต่อไปในอนาคต


Gyotaku Collage 15

กรีนพีซ อยู่ได้ด้วยเงินบริจาคจากคนเช่นคุณ

พวกเราต่อสู้ และรณรงค์สร้างการเปลี่ยนแปลงเพื่อทุก ๆ ชีวิตบนโลกใบนี้ เพื่อปัจจุบัน และอนาคตที่ดีกว่า ร่วมเป็นหนึ่งในสามล้านคนที่ร่วมเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินกรีนพีซ

เพียงคุณบริจาคทุก ๆ 500 บาทจะได้รับของสมนาคุณเป็นผ้าศิลปะแฮนเมดเกียวทาคุ แบบสุ่ม ขนาด 12×12 นิ้ว หรือ หากบริจาคครบ 2,000 บาท จะได้รับเซตภาพปลาครบทั้ง 15 แบบประทับตรากรีนพีซ และ Chana art street ทันที

*ของที่ระลึกมีจำนวนจำกัด*

*ภาพทั้งหมดเป็นศิลปะ แฮนด์เมด ที่เราใช้หมึกจากธรรมชาติ และเคลือบน้ำยากันลอกอย่างดี อย่างไรก็ตามปลาในภาพอาจหายไปตามวันเวลา และการใช้งาน 

เหมือนกับปลาในท้องทะเลไทย ที่จะค่อย ๆ หายไปในที่สุด หากเราไม่ร่วมมือกันดูแล ณ ตอนนี้*

การบริจาคของคุณในวันนี้ จะไม่เพียงเป็นการสนับสนุนกิจกรรมของกรีนพีซทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังมีส่วนสนับสนุนธุรกิจชุมชนจะนะ ที่ใช้งานอนุรักษ์ในการต่อยอด เศรษฐกิจสีน้ำเงิน หรือหรือแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของ การจัดการทรัพยากรทะเลและชายฝั่งที่ชุมชนเป็นผู้นำอย่างยั่งยืน

*กรุณาส่งใบเสร็จการโอนบริจาคมาที่ Line @greenpeacethailand เพื่อให้เราจัดส่งสิ่งของที่ระลึกให้กับท่าน