Peaceful Climate Protest in Hamburg's Harbour. © Maria Feck / Greenpeace
© Maria Feck / Greenpeace

นอกจากการสร้างความปั่นป่วนให้ทั่วโลกด้วยนโยบายกำแพงภาษีของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะเศรษฐกิจถดถอย กรณีการตัดงบประมาณความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่อาจทำให้ผู้คนทั่วโลกต้องทุกข์ทรมานจากความไม่เป็นธรรมมากกว่าเดิม กรณีการตัดงบสื่อมวลชนที่พยายามนำเสนอข้อมูลข่าวสารแบบไม่ถูกปิดกั้นและบิดเบือน จนมีผู้คนมากมายให้ความเห็นว่าการกระทำเช่นนี้คือการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพด้านข้อมูลข่าวสาร ยังมีอีกกรณีหนึ่งที่ประธานาธิบดีและคณะบริหารชุดนี้เข้าไปสร้างความปั่นป่วนให้เกิดไปทั่วโลกนั่นคือประเด็นวิกฤตสภาพภูมิอากาศและการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม

ถอนตัวออกจากความตกลงปารีส สัญญะสำคัญของนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่ถอยหลังลงคลอง

จากที่เราได้ยินในข่าวก่อนหน้านี้ที่ว่า ทรัมป์ ประกาศถอนสหรัฐอเมริกาออกจากความตกลงปารีส (Paris Agreement) แสดงเจตนารมย์สนับสนุนอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงฟอสซิลเต็มกำลัง รวมทั้งตัดการกล่าวถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศและภาวะโลกร้อนออกจากเว็บไซต์ของรัฐบาลอีกด้วย

แน่นอนว่ามันไม่ได้จบเพียงเท่านั้น แต่ตามมาด้วยการพลิกการดำเนินนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมครั้งมโหฬาร ดังนี้

ยกเลิกหรือผ่อนคลายกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมมากกว่า 100 ฉบับ ลดงบประมาณสำหรับพลังงานสะอาด และการสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล นอกจากนี้ ยังมีการลบข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศออกจากเว็บไซต์ของหน่วยงานรัฐบาล เช่น EPA และกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลสำคัญยิ่งที่นักรณรงค์ด้าสภาพภูมิอากาศทั้งในสหรัฐ ฯ และอีกหลากหลายประเทศใช้เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และเรียกร้องให้เหล่าผู้นำโลกต้องออกมาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง รวมทั้งกดดันอุตสาหกรรมผู้ก่อโลกเดือดทั้งหลายต้องลดการปล่อยมลพิษและชดเชยความสูญเสียและเสียหายต่อชุมชนและผู้คนที่ได้รับผลกระทบ

Clearcut in Cree Territory in Broadback Valley. © Greenpeace
© Greenpeace

ลดงบประมาณและยกเลิกโครงการวิจัยสำคัญ รวมทั้งการแทรกแซง จำกัดบทบาทของนักวิทยาศาสตร์ รัฐบาลทรัมป์ตัดงบประมาณของหน่วยงานวิจัยสำคัญหลายแห่ง เช่น สำนักงานบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติ (NOAA) ลงถึง 27% ซึ่งส่งผลให้การวิจัยด้านสภาพอากาศและการพยากรณ์อากาศทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ทำให้นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานในหน่วยงานของรัฐ เช่น EPA และ NOAA เผชิญกับการลดตำแหน่งงานและการแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งส่งผลต่อความเป็นอิสระในการวิจัยและการสื่อสารข้อมูลสู่สาธารณะ

ยิ่งไปว่านั้น ยังยุติการสนับสนุนโครงการวิจัยสภาพภูมิอากาศระดับชาติ (USGCRP) ซึ่งเป็นโครงการหลักในการจัดทำรายงานการประเมินสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (National Climate Assessment) ที่มีความสำคัญต่อการวางนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม

© Dean Miller / Greenpeace

ส่งเสริมการผลิตน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซฟอสซิล

ทรัมป์ผลักดันนโยบาย “Energy Dominance” หรือ “ความเป็นเจ้าแห่งพลังงาน” ซึ่งเน้นการผลิตน้ำมัน ก๊าซฟอสซิล และถ่านหินในประเทศให้มากที่สุด เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าและสร้างรายได้ให้กับประเทศ โดยเฉพาะผ่านการอนุญาตให้ขุดเจาะในเขตป่าไม้ เขตพื้นที่ต้นน้ำหรือแหล่งน้ำสาธารณะ และอาร์กติก เร่งอนุมัติโครงการท่อส่งน้ำมัน เช่น Keystone XL และ Dakota Access Pipeline ซึ่งถูกวิพากษ์วิจารณ์จากนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และล่าสุดจากนโยบายกำแพงภาษีของตนเองยังทำให้เกิดการเร่งออกใบอนุญาตทำเหมืองทั่วประเทศเพื่อขุดเจาะแร่หายากในพื้นที่ที่ก่อนหน้านี้มีการปกป้อง เช่น อุทยานแห่งชาติ อีกด้วย นโยบายนี้มีแนวโน้มจะยิ่งทำให้วิกฤตสภาพภูมิอากาศ (ที่เลวร้ายอยู่แล้ว) และความไม่เป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีก

ความสูญเสียและเสียหายจากผลพวงของกลุ่มทุนพลังงานฟอสซิล

การปล่อยให้กลุ่มทุนพลังงานฟอสซิลมีอำนาจชี้นำทิศทางนโยบายพลังงาน ไม่เพียงส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไม่สามารถตอบสนองต่อความต้องการในระยะยาวของประเทศได้ แต่ยังทำให้ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในรูปแบบของมลพิษ ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น และผลกระทบต่อแหล่งน้ำ อากาศ และความมั่นคงด้านอาหาร 

รัฐบาลทรัมป์ได้ยกเลิกและผ่อนปรนข้อบังคับหลายประการที่เคยออกโดยรัฐบาลก่อน เช่น กฎ Clean Power Plan ที่มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนจากโรงไฟฟ้า และข้อกำหนดในการควบคุมการรั่วไหลของก๊าซมีเทนจากการขุดเจาะก๊าซฟอสซิลและน้ำมัน และแต่งตั้งบุคคลจากอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลเข้าดำรงตำแหน่งสำคัญ  เช่น การแต่งตั้ง Scott Pruitt ซึ่งเคยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิล เป็นผู้อำนวยการสำนักงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) และ Rex Tillerson อดีตซีอีโอของ ExxonMobil เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ อีกทั้งได้ลงนามยกเลิกเงินทุนสนับสนุนสำหรับโครงการพลังงานสะอาดสองโครงการ และอีกประมาณ 300 โครงการที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานก็อยู่ในภาวะเสี่ยง เพราะทรัมป์ลดการสนับสนุนการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม พร้อมกับส่งเสริมการใช้พลังงานฟอสซิลและน้ำมันในฐานะ “พลังงานสะอาด” โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

Culzean Gas Platform in the North Sea. © Marten  van Dijl / Greenpeace
© Marten van Dijl / Greenpeace

การตัดสินใจยกเลิกนโยบายเหล่านี้ของทรัมป์ไม่ได้แค่ล้มเหลวในการปกป้องอนาคตของประเทศเท่านั้น แต่ยังเป็นการเพิ่มภาระทางเศรษฐกิจและสังคมให้กับคนรุ่นปัจจุบันอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เปราะบางที่สุดที่ต้องแบกรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นอย่างไม่รู้จบ ท่ามกลางการพยายามที่จะรักษาความเชื่อมั่นต่อความมั่นคงทางพลังงานในพลังงานฟอสซิลที่เก่าคร่ำครึ ขณะที่โลกกำลังมุ่งหน้าไปที่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม ที่ต้องเกิดขึ้นเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน

แต่ในขณะเดียวกันคณะทำงานของทรัมป์เร่งรัดสนับสนุนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น ยังมีประชาชนจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับคลื่นความร้อน ภัยแล้ง ฤดูพายุไต้ฝุ่น และเฮอริเคน ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน รวมถึงน้ำท่วม ซึ่งล้วนทวีความรุนแรงขึ้นจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศ ณ ตอนนี้ ผู้นำโลกกำลังล้มเหลวในการดำเนินมาตรการที่จำเป็นเพื่อรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศ และผู้คนนับล้านทั่วโลกต้องพลัดถิ่นและเผชิญกับความหายนะจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว บรรษัทเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ก่อวิกฤตกลับยังคงกอบโกยผลกำไรเป็นพันล้าน พร้อมทั้งบ่อนทำลายการเจรจาสภาพภูมิอากาศระดับโลกและขัดขวางการเปลี่ยนแปลง

มหาสมุทรวิกฤต หลังเปิดพื้นที่ให้อุตสาหกรรมเข้าไปตักตวงได้อย่างเต็มที่

อีกข่าวที่น่าตกใจและน่ากังวลนั่นคือ เมื่อ 17 เมษายน ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ได้ลงนามในคำสั่งบริหารที่อนุญาตให้มีการทำประมงพาณิชย์ในพื้นที่อนุรักษ์ทางทะเลขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ Pacific Remote Islands Marine National Monument (PRIMNM) ทั้งที่พื้นที่ดังกล่าวเคยถูกปิดเพื่อการอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศ  ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 490,000 ตารางไมล์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฮาวาย

คำสั่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของนโยบาย “America First Fishing Policy” โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการผลิตอาหารทะเลภายในประเทศ ลดการพึ่งพาการนำเข้า และสนับสนุนอุตสาหกรรมประมงของสหรัฐฯ

© Christian Åslund / Greenpeace © Christian Åslund / Greenpeace

แม้ว่าอุตสาหกรรมประมงจะยินดีกับคำสั่งนี้ พวกเขามองว่าเป็นโอกาสในการขยายการผลิตและลดการพึ่งพาการนำเข้าอาหารทะเล ซึ่งปัจจุบันสหรัฐฯ นำเข้าอาหารทะเลถึงประมาณ 90% ของการบริโภคทั้งหมด แต่นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมและนักวิทยาศาสตร์แสดงความกังวลว่า การเปิดพื้นที่อนุรักษ์ให้กับการประมงพาณิชย์อาจส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเล โดยเฉพาะต่อสัตว์ทะเลที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น เต่าทะเลสายพันธุ์ Hawksbill และ Kemp’s Ridley และเรียกร้องให้มีการทบทวนคำสั่งดังกล่าว โดยเน้นถึงความสำคัญของการปกป้องพื้นที่ทางทะเลที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศและความหลากหลายทางชีวภาพ

อย่างไรก็ตาม ข่าวร้ายของทะเลและมหาสมุทรยังไม่จบเท่านี้ เพราะล่าสุด โดนัลด์ ทรัมป์ เซ็นลงนามคำสั่งบริหารสนุบสนุนอุตสาหกรรมเหมืองทะเลลึก เพื่อเข้าถึงแร่นิกเกิล ทองแดง และแร่หายากอื่น ๆ โดยอ้างถึงการพึ่งพาตนเองลดการนำเข้าแร่หายากจากประเทศอื่น ๆ

ปัจจุบัน บริษัทอุตสาหกรรมที่จะทำเหมือง ยังไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าการทำเหมืองจะกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร เครื่องจักรขนาดใหญ่ที่จะถูกส่งลงใต้ก้นมหาสมุทร จะก่อให้เกิดตะกอนฟุ้งกระจาย แค่นี้ก็จะสร้างมลพิษในมหาสมุทรแปซิฟิกอย่างมหาศาลแล้ว การฟุ้งกระจายของตะกอนมันสามารถกระจายไปหลายไมล์ และจะกระทบชีวิตสิ่งมีชีวิตในทะเลจำนวนมาก

Protest against Deep Sea Mining Vessel in Mexico. © Gustavo Graf / Greenpeace
© Gustavo Graf / Greenpeace

ยิ่งปฏิเสธภาวะโลกเดือด วิกฤตสิทธิมนุษยชนก็ยิ่งเลวร้าย

การยืนยันอย่างหัวชนฝาของทรัมป์ว่า “โลกไม่ได้เดือด” ไม่เพียงแต่สะท้อนการเพิกเฉยต่อข้อเท็จจริงทางวิทยาศาสตร์เท่านั้น หากยังเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อหลักความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศที่ควรเป็นพื้นฐานของโลกที่เท่าเทียม เพราะในขณะที่ผู้นำของหนึ่งในประเทศมหาอำนาจเลือกจะปิดตาข้างหนึ่ง กลุ่มคนเปราะบางในประเทศยากจนต้องเผชิญกับไฟป่า น้ำท่วม ภัยแล้ง และความอดอยากอย่างไร้ทางเลือก จากผลกระทบของวิกฤตโลกเดือด

ยิ่งไปกว่านั้น ทรัมป์ยังเดินหน้านโยบายที่จำกัดบทบาทของภาคประชาสังคมที่ทำงานเกี่ยวกับสิทธิด้านสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นนักกิจกรรม นักปกป้องสิทธิ หรือองค์กรรณรงค์ พวกเขากำลังตกอยู่ในความเสี่ยงต่อการถูกโจมตีต่อสิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง มิหนำซ้ำยังถูกละเลยการมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในกระบวนการตัดสินใจที่ส่งผลต่อโลกและชีวิตของพวกเขาโดยตรง ทั้งหมดนี้คือฉากหลังของการเมืองที่เลือกจะยืนเคียงข้างบรรษัทพลังงานฟอสซิล มากกว่าผู้คนที่ต้องอยู่กับผลกระทบของวิกฤตทางสภาพภูมิอากาศที่รุนแรง จนกลายเป็นวิกฤตสิทธิมนุษยชน

นโยบาย Anti-Climate ของทรัมป์ ลิดรอนสิทธิการแสดงออก และทำให้นักรณรงค์ด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมเสี่ยงอันตรายมากขึ้น

การบีบบังคับให้นักรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเงียบเสียงลง ทรัมป์มีแนวคิดและการเสนอคำสั่งบริหารที่จะจำกัดการดำเนินงานขององค์กรรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกลุ่มที่เคลื่อนไหวเชิงกฎหมายหรือวิพากษ์รัฐบาล ทำให้องค์กรเหล่านี้เสี่ยงต่อการถูกเพิกถอนสถานะและอาจต้องหยุดการรณรงค์ ซึ่งถือเป็นการใช้อำนาจปิดปาก ปิดกั้นสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น

© Stephanie Keith / Greenpeace © Stephanie Keith / Greenpeace

นักรณรงค์บางกลุ่มเผชิญกับการถูกจับกุม หรือการใช้กฎหมายเพื่อฟ้องปิดปาก (SLAPP หรือ Strategic Lawsuit Against Public Participation) ซึ่งเป็นคดีที่มีเป้าหมายเพื่อกดดันภาคประชาสังคมและนักกิจกรรมให้ต้องเผชิญอยู่กับค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย บีบให้ล้มละลาย และสุดท้ายคือทำให้พวกเขาเงียบเสียงลง

พื้นที่ปลอดภัยในการทำงานเพื่อความเป็นธรรมทางสภาพภูมิอากาศและปกป้องสิทธิทางด้านสิ่งแวดล้อมกำลังหดตัวลง เมื่อปลายเดือนมีนาคม 2568 ที่ผ่านมากรีนพีซ สากล และกรีนพีซ สหรัฐฯ ถูกศาลตัดสินให้ต้องชดใช้ค่าเสียหายมหาศาลกว่า 22,000 ล้านบาท ให้กับบริษัท เอนเนอร์จี ทรานสเฟอร์ (Energy Transfer หรือ ET) ซึ่งเป็นหนึ่งในยักษ์ใหญ่ของเครือข่ายท่อส่งเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ บริษัทแห่งนี้ก่อตั้งและบริหารโดยมหาเศรษฐีชาวเท็กซัส และยังเป็นผู้สนับสนุนรายใหญ่ของโดนัลด์ ทรัมป์

เหตุการณ์นี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า “พื้นที่ปลอดภัย” สำหรับการทำงานรณรงค์เพื่อสิ่งแวดล้อมในสหรัฐฯ กำลังถูกบีบให้แคบลงอย่างน่าตกใจ ภายใต้นโยบายที่เอื้อประโยชน์ให้กับบรรษัทพลังงานฟอสซิล และเพิกเฉยต่อวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ต้องเร่งแก้ไข นักกิจกรรมและองค์กรด้านสิ่งแวดล้อมกำลังเผชิญกับการใช้กฎหมายฟ้องปิดปาก SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) ซึ่งเป็นกลยุทธ์ทางกฎหมายที่มีเป้าหมายปิดปากและสกัดกั้นเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งไม่ใช่แค่การโจมตีเสรีภาพในการแสดงออก แต่คือการโจมตีสิทธิมนุษยชนและอนาคตของโลกใบนี้โดยตรง

กรีนพีซ ประเทศไทย แสดงจุดยืนชัดเจนในการปกป้องสิทธิในการเคลื่อนไหวเพื่อสิ่งแวดล้อม และยืนหยัดเคียงข้างกรีนพีซ สากล และกรีนพีซ สหรัฐฯ  หลังจากมีคำตัดสินคดี SLAPP (Strategic Lawsuit Against Public Participation) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือเป็นหนึ่งในความพยายามของภาคธุรกิจหรือผู้มีอำนาจในการปิดปากนักเคลื่อนไหวและองค์กรภาคประชาชนผ่านกระบวนการทางกฎหมาย

นอกจากนี้ นักรณรงค์ นักข่าว และนักวิทยาศาสตร์จำนวนมากเสี่ยงจากการโจมตีทางวาทกรรมที่พุ่งเป้าใส่พวกเขาว่าเป็น ‘พวกขัดขวางความเจริญ’ หรือ ‘ศัตรูของความก้าวหน้า’ ซึ่งวาทกรรมเหล่านี้ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการบ่อนเซาะความน่าเชื่อถือ และเปิดทางให้เกิดการใช้อำนาจนอกระบบเพื่อคุกคามสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพของสื่อ และเสรีภาพทางวิชาการอย่างต่อเนื่อง 

หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจน คือ การที่ทรัมป์ลงนามในคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อตัดงบประมาณของสำนักงานสื่อสารมวลชนสากลแห่งสหรัฐอเมริกา (The United States Agency for Global Media: USAGM) ซึ่งเป็นองค์กรแม่ของสื่อหลายสำนัก เช่น วิทยุเอเชียเสรี (Radio Free Asia: RFA) และวิทยุยุโรปเสรี (Radio Free Europe: RFE) ที่มีบทบาทสำคัญในการรายงานข่าวที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชนและสภาพภูมิอากาศ ส่งผลต่อการนำเสนอข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและข้อเท็จจริง โดยเฉพาะในประเด็นที่รัฐบาลทรัมป์มีผลประโยชน์ทับซ้อน เช่น การรายงานข่าวเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การคัดค้านพลังงานฟอสซิล ทั้งก๊าซฟอสซิล ถ่านหิน หรือปิโตรเลียม

บรรยากาศทางการเมืองที่เป็นปรปักษ์ต่อสื่อ นักวิทยาศาสตร์ และนักรณรงค์ จึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการเมืองภายในประเทศ หากแต่ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อความเข้าใจของสาธารณชนทั่วโลก และทำลายรากฐานของประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่บนสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารอย่างอิสระและรอบด้าน อีกทั้งยังทำให้พื้นที่การใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องที่เป็นประโยชน์สาธารณะถูกปิดกั้นผ่านอำนาจที่ไม่ชอบธรรมและการโจมตีในรูปแบบการคุกคามออนไลน์ 

มีอุปสรรคในด้านการสนับสนุนเงินทุนและแหล่งทุน เพราะการลดงบประมาณสนับสนุนองคาพยพด้านสิ่งแวดล้อมของรัฐส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ต่อกันมาทำให้ทำงานลำบากมากขึ้น องค์กรสิ่งแวดล้อมที่เคยได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น National Wildlife Federation หรือ Sierra Club ต้องพึ่งพาเงินบริจาคเอกชนมากขึ้น ซึ่งไม่แน่นอนและมีข้อจำกัดในการใช้งาน

เมื่อทรัมป์เปิดทางให้กลุ่มทุนฟอสซิลมุ่งหน้าสู่การ “ฟอกเขียว” อย่างเต็มรูปแบบ

คำสั่งบริหารและการประกาศ “ภาวะฉุกเฉินด้านพลังงาน” ของเขาเป็นสัญญาณชัดเจนว่าสหรัฐฯ กำลังเร่งขยายนโยบายการดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Sequestration – CCS) ซึ่งเขาให้ความสำคัญมาตั้งแต่ช่วงดำรงตำแหน่งในสมัยแรก

ในวัน Earth Day ปี 2025 ทรัมป์ออกมาประกาศว่า เขาจะสร้างและส่งเสริมนวัตกรรมด้านพลังงานเพื่ออนาคตที่ “มีสุขภาพดี” ผ่านการสนับสนุนเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่าง CCS พลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานความร้อนใต้พิภพรุ่นใหม่ พร้อมอ้างว่ารัฐบาลของเขากำลังวางรากฐานให้สหรัฐฯ เป็นผู้นำด้านพลังงานสะอาดและนวัตกรรมสิ่งแวดล้อม

แต่คำถามคือนี่คือการพัฒนา หรือหายนะที่กำลังแฝงตัวมาในคราบของความก้าวหน้าหรือไม่? เพราะนโยบายเหล่านี้กำลังส่งต่อภาระจากวิกฤตสภาพภูมิอากาศไปยังคนที่ไม่ได้ก่อ แต่กลับต้องทนรับความสูญเสียจากน้ำท่วม ไฟป่า และภัยพิบัติที่ทวีความรุนแรงขึ้นทั่วโลก ในขณะที่ผู้ก่อมลพิษอย่างบรรษัทพลังงานฟอสซิลกลับลอยตัวพ้นผิดเสมอมา

เบื้องหลังคำพูดสวยหรูเรื่อง “เทคโนโลยีสีเขียว” อย่าง CCS คือกลลวงทางวิทยาศาสตร์ที่กำลังถูกใช้เป็นเครื่องมือชุบตัวให้กับธุรกิจสกปรกเหล่านี้สามารถเดินหน้าขุด เจาะ และเผาต่อไปได้โดยไม่ต้องรับผิดชอบต่อความหายนะที่ตัวเองก่อ ที่น่ากังวลยิ่งกว่าคือ CCS กลายเป็นข้ออ้างในการดูดงบประมาณจำนวนมหาศาลจากภาษีของประชาชน โดยที่ประโยชน์ต่อสภาพภูมิอากาศแทบไม่มีจริง สิ่งที่ควรเป็นนวัตกรรมเพื่อโลก กลับกลายเป็นเครื่องมือในการยืดอายุให้กับธุรกิจที่ควรจะเป็นอดีตไปแล้ว ในนามของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี เราอาจกำลังแลกอนาคตของโลกกับผลกำไรของคนกลุ่มหนึ่งโดยไม่รู้ตัว

หยุดยั้งอำนาจทุน! ถึงเวลาต่อสู้เพื่อสิทธิและเสรีภาพของเรา #TimetoResist

แม้ว่าจะต้องเจอกับความท้าทายมากมาย แต่เรายังมีความหวังและเราจะไม่ยอมแพ้ ! เพราะการมาถึงของนโยบายปฏิเสธภาวะโลกเดือดของทรัมป์ในระยะเวลาอันสั้นนั้น กลับสร้างแรงกระตุ้นและเพิ่มความแข็งแกร่งให้กับขบวนการเคลื่อนไหวด้านสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อมอีกมากมาย เช่น ประชาชนจำนวนมากรวมถึงนักกิจกรรมและภาคประชาสังคมในสหรัฐอเมริการวมตัวกันจำนวนหลายแสนคน เดินขบวนประท้วงต่อนโยบายทำลายสิ่งแวดล้อมของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ ในวัน Earth Day 2025 ที่ผ่านมา 

นอกจากนี้ยังมีข้อมูลการระดมทุนสนับสนุนงานรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเพิ่มสูงขึ้น โดยในช่วงการดำรงตำแหน่งของทรัมป์ในสมัยแรก องค์กร Earthjustice รายงานว่า มีผู้บริจาคออนไลน์เพิ่มขึ้นถึง 711% ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2560 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2558 ซึ่งสะท้อนถึงการตอบสนองของสาธารณชนต่อท่าทีของรัฐบาลที่ไม่สนับสนุนการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

Millions of people around the world are striking from school or work to demand urgent measures to stop the climate crisis. © Marcus Coblyn / Greenpeace

เช่นเดียวกับพวกเรา กรีนพีซ ในฐานะองค์กรที่ทำงานรณรงค์ปกป้องสภาพภูมิอากาศระดับโลก ยังคงเดินหน้าและร่วมยืนหยัดเป็นหนึ่งเดียวกับนักกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและองค์กรภาคีเครือข่าย ร่วมรณรงค์ยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เรียกร้องให้เหล่าผู้นำโลกจะต้องร่วมมือกันชะลอและรับมือกับวิกฤตสภาพภูมิอากาศเพื่อความเป็นธรรมต่อประชาชน และจะต้องหยุดสนับสนุน หยุดเอื้อให้อุตสาหกรรมฟอสซิลแสวงหาผลกำไรโดยทิ้งให้คนทั่วโลกต้องทนรับความสูญเสียและเสียหายจากวิกฤตโลกเดือด

สุดท้ายนี้เราอยากย้ำเตือนด้วยการพูดดัง ๆ ว่า ภาวะโลกเดือดเกิดขึ้นจริง และเกิดขึ้นแล้วและเราจะไม่ยอมถูกปิดปาก! 


ยืนหยัดเคียงข้างกรีนพีซ เพื่อสิทธิในการแสดงออกและการชุมนุมประท้วง

กรีนพีซ ประเทศไทย แสดงจุดยืนปกป้องสิทธิการรณรงค์ด้านสิ่งแวดล้อม ยืนหยัดเคียงข้างกรีนพีซ สากล และกรีนพีซ สหรัฐฯ  หลังจากมีคำตัดสินคดี SLAPP ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งภาคธุรกิจหรือผู้มีอำนาจพยายามปิดปากนักเคลื่อนไหวและองค์กรภาคประชาชนผ่านกระบวนการทางกฎหมาย