เมษานี้ ใครได้บิลค่าไฟแล้วบ้าง? แชร์ให้เราฟังหน่อยว่าคุณจ่ายค่าไฟไปเท่าไร !

ในทุกฤดูร้อนของประเทศไทย ความร้อนระอุมักมาเคียงคู่กับเสียงถอนหายใจของประชาชนเมื่อตัวเลขในบิลค่าไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ บ้านเรือนที่เคยพึ่งพาพัดลมธรรมดาก็เริ่มหันหาเครื่องปรับอากาศเพื่อบรรเทาความร้อน ในขณะที่บางครอบครัวไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องทนทุกข์กับอุณหภูมิที่พุ่งแตะ 40 องศาเซลเซียส ด้วยเหตุผลเดียวว่า “ค่าไฟแพงเกินไป”

แต่คำถามคือ เราจ่ายค่าไฟแพงเพราะเราใช้ไฟเยอะขึ้นเท่านั้นจริงหรือ? หรือโครงสร้างต้นทุนและกลไกราคาของระบบพลังงานในประเทศไทยมีความไม่เป็นธรรมซ่อนอยู่? จึงทำให้ฤดูร้อนร้อนกลายเป็นภาระจำยอมที่ประชาชนต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

บิลค่าไฟฟ้า มีโครงสร้างอะไรซ่อนอยู่ ?

ระบบโครงสร้างค่าไฟฟ้าของประเทศไทยถูกขับเคลื่อนโดยกลไกที่ซับซ้อน เชื่อมโยงระหว่างรัฐและกลุ่มทุนเอกชน ซึ่งมีหน่วยงานหลัก ได้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) รวมถึงผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) และรายเล็ก (SPP) ที่มีบทบาทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้กฟฝ.จะเป็นหน่วยงานรัฐ แต่ปัจจุบัน กำลังการผลิตไฟฟ้าของกฟผ. คิดเป็นสัดส่วนประมาณร้อยละ 31.21 ของระบบไฟฟ้าทั้งหมด ขณะที่สัดส่วนที่เหลือเป็นของภาคเอกชน ที่มีสัญญารับซื้อไฟฟ้าล่วงหน้า (PPA) กับรัฐในระยะยาว

โครงสร้างนี้ส่งผลให้การผลิตไฟฟ้าไม่ได้อยู่ในมือรัฐทั้งหมดอีกต่อไป ขณะที่ประชาชนยังคงมีสถานะเป็น “ผู้ซื้อจำเป็น” ที่ไม่มีทางเลือกทางตลาด ด้วยเหตุนี้จึงเกิดคำถามสำคัญว่า กลไกการแข่งขันที่ควรนำไปสู่ราคาที่เป็นธรรมหายไปไหน? เพราะในความเป็นจริงโครงสร้างนี้อาจกลายเป็นการ “ผูกขาด” โดยผู้เล่นเพียงไม่กี่ราย ภายใต้การสนับสนุนของรัฐเองผ่านนโยบายและสัญญาซื้อขายที่ไม่โปร่งใส 

ค่าไฟฟ้าฐาน + ค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) + ค่าบริการรายเดือน (แตกต่างตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า) + ภาษีมูลค่าเพิ่ม = บิลค่าไฟฟ้า

สูตรค่าไฟฟ้าที่ใช้กันมาอย่างยาวนาน อาจเปรียบได้กับปัญหาที่ถูกซ่อนไว้อยู่ใต้พรม กลไกรัฐหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่เคยเปิดเผยอย่างชัดเจน แต่ผลักภาระด้านต้นทุนมาให้ประชาชนเป็นผู้จำยอมต้องแบกรับไว้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

หนึ่งในต้นตอของภาระนี้คือ ค่าไฟฟ้าฐาน (Base Rate) ที่เป็นค่าใช้จ่ายที่ครอบคลุมต้นทุนการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ระบบสายส่ง และระบบการจำหน่ายของไฟฟ้า ตลอดจนค่าการผลิตที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งหมายความว่า หากรัฐหรือกลุ่มทุนที่จัดจำหน่ายไฟฟ้าให้กับรัฐสร้างโรงไฟฟ้ามากขึ้นเท่าไร ประชาชนต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต้นทุนนี้มากขึ้นเท่านั้น และถ้ารัฐมีการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่เกินจริง ค่าการผลิตก็จะเพิ่มขึ้นจากการสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นด้วยเช่นกัน 

สำรองมากเกินไป คือภาระที่คนไทยต้องจ่าย

ในปี 2567 สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงานได้ประมาณการความต้องการไฟฟ้าอยู่ที่ 43,068 เมกะวัตต์ แต่ตัวเลขความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจริงอยู่ที่ 36,792 เมกะวัตต์ หรือสูงกว่าที่เกิดขึ้นจริงประมาณร้อยละ 17 โดยตัวเลขเหล่านี้กลายมาเป็นแผนในการสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องเพื่อใช้งานจริง ในขณะที่กำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของไทยอยู่ที่ 55,024 เมกะวัตต์ เมื่อนำกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดปรียบเทียบความต้องการใช้สูงสุด จะพบว่ากำลังไฟฟ้าสำรองอยู่ที่ร้อยละ 49.6 ซึ่งสูงกว่าที่ควรจะเป็น หมายความว่า ประเทศไทยมีไฟฟ้าที่ล้นเกินความจำเป็นไปแบบสูญเปล่ามาตลอดระยะเวลาเกือบทศวรรษ

ดังนั้น การประมาณการความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เกินจริง ประกอบกับช่องว่างระหว่างความต้องการไฟฟ้าสูงสุดกับกำลังไฟฟ้าสำรองที่กว้างขึ้นเกินความจำเป็นนี้ไม่ใช่แค่ตัวเลข แต่คือ “ต้นทุน” ทั้งในอดีตและอนาคตอันสะท้อนผ่านค่าไฟฟ้าฐานที่ประชาชนต้องแบกรับ

ค่า FT กลไกผันแปร หรือการแบกภาระเพิ่ม

อีกหนึ่งภาระจำยอมที่ประชาชนจำเป็นต้องแบกรับ คือ ค่าไฟฟ้าผันแปรตามต้นทุนเชื้อเพลิงหรือค่า Ft (Fuel Adjustment Charge) ซึ่งถูกกำหนดโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) และเปลี่ยนแปลงทุก 4 เดือน โดยอ้างอิงจากปัจจัยภายนอก เช่น ราคาน้ำมัน ก๊าซฟอสซิลและถ่านหินในตลาดโลก รวมถึงต้นทุนการผลิตและอัตราแลกเปลี่ยน 

ในทางทฤษฎี ค่า Ft ควรเป็นกลไกที่ช่วยสะท้อนต้นทุนจริงให้เกิดความยืดหยุ่นของราคาไฟฟ้า แต่ในทางปฏิบัติ กลับกลายเป็นเครื่องมือที่รัฐใช้ผลักภาระต้นทุนทั้งหมดมายังประชาชนในฐานะของผู้บริโภค โดยไม่ต้องตรวจสอบหรือควบคุมต้นทุนที่แท้จริงของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนที่ขายไฟให้กับรัฐ ยิ่งไปกว่านั้น ต้นทุนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการคำนวณค่า Ft ไม่ได้มีเปิดเผยอย่างโปร่งใส เช่น สัญญาซื้อไฟ (Power Purchase Agreement: PPA) จากโรงไฟฟ้าเอกชนที่รัฐต้องรับซื้อในราคาสูงตามเงื่อนไข “Take or Pay ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย” ที่ผูกมัดให้รัฐต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่ายเต็มจำนวนตามกำลังการผลิตที่ตกลงไว้ แม้ไม่ใช้ไฟฟ้าจริงก็ตาม ส่งผลให้ภาระส่วนนี้ย้อนกลับมาซ้ำเติมประชาชน พร้อมทั้ง ค่าความพร้อมจ่าย (Capacity Payment) ประมาณร้อยละ 30 ของต้นทุนค่าไฟที่รัฐจ่ายให้แก่โรงไฟฟ้าเอกชน แม้โรงไฟฟ้าเหล่านั้นจะไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้า ปริมาณไฟฟ้าสำรองที่รัฐคาดการณ์จึงสูงเกินจำเป็นกว่ามาตรฐานสากลที่ร้อยละ 15 ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าพุ่งสูงขึ้น

นอกจากนี้ ค่า Ft ยังสะท้อน ปัญหาเชิงโครงสร้างของนโยบายพลังงานไทย ที่พึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย คือ ก๊าซฟอสซิลหรือก๊าซธรรมชาติ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 55.4 อันเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ต้นทุนไฟฟ้าเชื่อมโยงกับราคาก๊าซโลกที่ผันผวน ราคาก๊าซฟอสซิลยังเผชิญแรงกดดันและมักทำสถิติราคาพุ่งสูงในช่วงสถานการณ์วิกฤต ส่งผลให้ผู้บริโภคต้องรับภาระราคาค่าไฟที่สูงตามไปด้วย อีกทั้ง การวางแผนพัฒนากำลังการผลิตภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ 2567 (Power Development Plan : PDP2024) ที่คาดว่าจะถูกปรับเป็น PDP2025 เนื่องจากเกิดความล่าช้าในการปรับปรุงจนไม่สามารถออกเป็นแผนภายในปี 2567 ได้ ซึ่งภายในแผนยังต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) ในสัดส่วนสูงและผูกพันสัญญาระยะยาว ทำให้ประเทศไทยยังเผชิญราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลที่ผันผวนและไม่เป็นธรรมตามมา ในขณะที่ต้นทุนพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ เริ่มถูกลงเรื่อย ๆ รัฐยังคงผูกพันกับสัญญาเชื้อเพลิงและโรงไฟฟ้าแบบเดิมที่มีต้นทุนแฝงสูง

สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคือ ผู้บริโภคที่ได้รับผลกระทบจากค่า Ft สูง มักเป็นกลุ่มรายได้น้อยที่ไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีความสามารถในการติดโซลาร์เซลล์ หรือจัดการพลังงานของตนเอง การขึ้นค่า Ft จึงกลายเป็นการซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำทางพลังงาน และตอกย้ำว่าค่าไฟในไทยไม่ใช่แค่ “ราคา” แต่คือ ภาระที่ประชาชนต้องจ่ายเพื่อรักษากำไรของทุนพลังงานและนโยบายรัฐที่ไร้ความรับผิดชอบ

พลังงานจากก๊าซฟอสซิลเเพงแล้ว พลังงานหมุนเวียนแพงกันต่อ

เมื่อราคาค่าไฟฟ้าที่ผลิตจากก๊าซฟอสซิลสูงขึ้นเรื่อย ๆ แม้ว่ารัฐบาลมีแนวคิดลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย แต่การเซ็นสัญญาซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบแรกในเดือนเมษายน 2568 อาจเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายนี้ เนื่องจากสัญญารับซื้อไฟฟ้าที่ขาดความโปร่งใสและวิธีการกำหนดอัตรารับซื้อที่ไม่เอื้อต่อการลดต้นทุนในระยะยาว เพราะมีโครงสร้างราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ส่งผลให้ราคาที่รัฐต้องรับซื้อยังคงสูง และส่งผ่านไปยังค่าไฟที่ประชาชนต้องจ่ายในที่สุดประเด็นสำคัญอยู่ที่สัญญารับซื้อไฟฟ้าที่ไม่เอื้อประโยชน์ต่อประชาชน รูปแบบสัญญาที่ใช้อยู่ในปัจจุบันประกอบด้วย โครงการอุดหนุนส่วนต่างต้นทุน (Adder) มาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Feed-in Tariff หรือ FiT) และสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement หรือ PPA) ที่ทำให้รัฐเสียเปรียบ สัญญาเหล่านี้ไม่เพียงแต่สร้างภาระทางการเงินระยะยาวให้กับประเทศ แต่ยังส่งผลให้ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

โครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในปี 2565-2573 มีที่มาจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP2018) ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ซึ่งตั้งเป้าหมายให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 24.5 ของกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งหมดภายในปี 2580 โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่ร้อยละ 17.35 ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด (ข้อมูล ณ กันยายน 2567) 

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามแผนดังกล่าว คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) นำโดย พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มีมติในเดือนสิงหาคม 2564 มอบหมายให้คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) พิจารณาแนวทางเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในช่วงปี 2564-2573 โดยกำหนดอัตราการรับซื้อไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ พร้อมเงื่อนไขว่าสามารถปรับเปลี่ยนปริมาณและเงื่อนไขการรับซื้อได้ แต่ไม่สามารถเปลี่ยนอัตราการรับซื้อได้

จากนโยบายดังกล่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ออกประกาศและระเบียบว่าด้วยการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565–2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง รวม 5,203 เมกะวัตต์ โดยใช้หลักเกณฑ์การคัดเลือกที่พิจารณาความพร้อมทั้งด้านราคา คุณสมบัติ และเทคนิคร่วมกัน ที่น่าสังเกตคือ ไม่ได้ใช้วิธีการแข่งขันทางด้านราคา (Competitive Bidding) แต่ใช้รูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ที่กำหนดอัตรารับซื้อคงที่ตลอดอายุโครงการประมาณ 20 – 25 ปี ซึ่งหมายความว่าประชาชนอาจต้องแบกรับภาระค่าไฟที่อาจสูงกว่าความจำเป็นไปอีกสองทศวรรษ คนไทยอาจถูกล็อคราคาการจ่ายไฟ ไว้ในอัตราที่ไม่เป็นธรรมสุดท้ายคนที่แบกภาระค่าใช้จ่ายก็คือผู้ใช้ไฟ

การเซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโครงการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบแรก 5,200 เมกะวัตต์ ในวันที่ 19 เมษายน 2568 จะส่งผลโดยตรงต่อเป้าหมายการลดค่าไฟฟ้า ข้อมูลระบุชัดเจนว่า หากรัฐเซ็นสัญญาดังกล่าว ค่าไฟฟ้าจะไม่สามารถลดลงได้ตามที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย ทั้งนี้ เพราะสัญญาที่ลงนามนั้นจะเพิ่มภาระให้กับระบบค่าไฟฟ้าในระยะยาว โดยไม่มีกลไกที่จะปรับลดอัตรารับซื้อตามสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป แทนที่จะใช้วิธีการแข่งขันทางด้านราคา ทำให้รัฐไม่ได้ประโยชน์จากกลไกตลาดที่อาจช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ในระยะยาว ในขณะที่เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มต้นทุนลดลงอย่างต่อเนื่อง การกำหนดอัตรารับซื้อคงที่จึงทำให้รัฐและประชาชนเสียประโยชน์ที่ควรจะได้รับจากการลดลงของต้นทุนดังกล่าว

แล้วประชาชนจะรอดพ้นจากภาระแบบนี้อย่างไร?

ภาระที่ประชาชนต้องแบกรับค่าไฟฟ้าแพง มีปัจจัยสำคัญจากการพึ่งพาโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิล ซึ่งมีต้นทุนสูงและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามราคาตลาดโลก การแก้ไขปัญหานี้จึงควรเริ่มจากการยุติการอนุมัติสร้างหรือซื้อไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลทุกกรณี เนื่องจากปัจจุบันมีการผลิตไฟฟ้าที่ล้นเกินและการลงทุนในโรงไฟฟ้าฟอสซิลใหม่จะกลายเป็นภาระทางการเงินในระยะยาว (stranded assets) ที่ไม่สอดคล้องกับเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศและพันธกรณีในข้อตกลงปารีส

Make Polluters Pay Action at COP29 in Baku. © Marie Jacquemin / Greenpeace
© Marie Jacquemin / Greenpeace

การชะลอการก่อสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซฟอสซิลที่เป็นต้นทุนหลักของค่าไฟฟ้า เป็นมาตรการเร่งด่วนที่จำเป็น หากมีสัญญากับเอกชนไปแล้วแต่ยังไม่เริ่มลงทุน ควรเจรจาขอเลื่อนการก่อสร้างออกไปก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการเพิ่มภาระค่าไฟฟ้าและลดความเสี่ยงจากสินทรัพย์ที่อาจกลายเป็นภาระทางการเงินในอนาคต นอกจากนี้ การเจรจากับเอกชนเรื่องการลดค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment) ซึ่งเป็นต้นทุนสำหรับการก่อสร้างและบำรุงรักษาโรงไฟฟ้า โดยเฉพาะกรณีโรงไฟฟ้าที่ไม่ได้เดินเครื่องเป็นเวลานานหรือได้รับทุนคืนครบแล้ว เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าได้ หากภาครัฐสามารถเจรจาให้ลดค่าความพร้อมจ่ายเหล่านี้ได้ จะช่วยบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าของผู้บริโภคโดยตรง

ในขณะเดียวกัน การปฏิรูปโครงสร้างราคาค่าไฟฟ้าและการทบทวนสัญญาที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญา Adder และ FiT ในสัญญาการซื้อพลังงานหมุนเวียน ที่สร้างภาระทางการเงินให้กับประเทศในระยะยาว การทบทวนและปรับปรุงสัญญาเหล่านี้ควรคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชนเป็นหลัก โดยอาจพิจารณาการเจรจาต่อรองเพื่อปรับลดอัตรารับซื้อลงให้สอดคล้องกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ลดลงในปัจจุบัน พร้อมทั้ง ควรมีการปรับปรุงโครงสร้างค่าใช้จ่ายตามนโยบายรัฐ (Policy Expense) ที่รวมอยู่ในค่า Ft ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าสูงถึง 17 สตางค์ต่อหน่วย การปรับลดค่าใช้จ่ายในส่วนนี้จะช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องแบกรับลงได้อย่างมีนัยสำคัญ

ประชาธิปไตยทางพลังงานต้องเกิดขึ้นจริง

การแก้ไขปัญหาราคาค่าไฟฟ้า ต้องเริ่มจากการปฏิรูประบบพลังงานให้เป็นธรรมและเปิดกว้างให้ประชาชนสิทธิในการเข้าถึงและเลือกใช้พลังงานได้อย่างเสรี ประชาชนต้องมีอำนาจในการตัดสินใจเลือกใช้พลังงาน รวมถึงส่งเสริมให้ประชาชนสามารถผลิต พัฒนา และใช้พลังงานด้วยตนเอง ผ่านการส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียนที่สะอาดและกระจายศูนย์ (Decentralization) ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการลดต้นทุนและภาระค่าไฟฟ้า 

Solar Rooftop at Prapokklao Hospital in Thailand. © Roengchai  Kongmuang / Greenpeace
© Roengchai Kongmuang / Greenpeace

ระบบพลังงานที่กระจายศูนย์ช่วยให้มีผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยจำนวนมากที่ใช้พลังงานหมุนเวียน เช่น โซลาร์เซลล์บนหลังคา หรือโครงการพลังงานชุมชน ซึ่งนอกจากจะช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในภาพรวมแล้ว ยังช่วยลดการพึ่งพาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่มีต้นทุนสูงและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การสนับสนุนให้ประชาชนมีสิทธิผลิตไฟฟ้าและขายไฟฟ้าส่วนเกินเข้าสู่ระบบหรือระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติ (Net-Metering) รวมถึงการพัฒนาตลาดค้าปลีกไฟฟ้าที่เปิดกว้าง จะช่วยเพิ่มทางเลือกและแรงจูงใจในการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ตลอดจนการปฏิรูปกฎหมายและนโยบายพลังงานเพื่อความเป็นธรรม แม้ว่าพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 จะบัญญัติเรื่อง ความเป็นธรรมและสิทธิของผู้ใช้พลังงานไว้ แต่ยังขาดบทบัญญัติที่รองรับสิทธิในการเลือกซื้อไฟฟ้าและการมีส่วนร่วมของประชาชนในการตัดสินใจด้านพลังงานอย่างแท้จริง การพัฒนากฎหมายลำดับรองเพื่อขยายความในเรื่องนี้จึงเป็นสิ่งจำเป็น เช่น การกำหนดมาตรการให้มีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนอย่างจริงจังก่อนอนุญาตโครงการพลังงานขนาดใหญ่ และการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนชุมชนที่ได้รับผล
กระทบจากโรงไฟฟ้า รวมถึงการเยียวยาความเสียหายอย่างเป็นธรรม จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความยุติธรรมในระบบพลังงาน

และสุดท้าย คือ การเปิดเสรีตลาดพลังงาน (Liberalization) โดยให้มีผู้เสนอขายไฟฟ้าหลายรายและผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อไฟฟ้าจากผู้ให้บริการรายใดก็ได้ จะช่วยลดการผูกขาดและสร้างแรงกดดันให้ราคาพลังงานแข่งขันได้มากขึ้นตามกลไกมือที่มองไม่เห็น ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลงในระยะยาว นอกจากนี้ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีใหม่ เช่น ระบบกักเก็บพลังงาน (Battery Storage) และระบบบริหารจัดการพลังงาน จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้า รวมถึงช่วยให้ระบบไฟฟ้ามีความยืดหยุ่นและรองรับพลังงานหมุนเวียนได้มากขึ้น

การที่ต้องตัดสินใจเลือกระหว่าง “เปิดแอร์” หรือ “ประหยัดค่าใช้จ่ายจำเป็นอื่น” ไม่ใช่แค่เรื่องอุณภูมิที่ร้อนขึ้น แต่คือภาพสะท้อนให้เห็นความเหลื่อมล้ำทางพลังงาน อันเป็นผลมาจากโครงสร้างซับซ้อนและเต็มไปด้วยความไม่เป็นธรรม ทั้งการพยากรณ์ความต้องการไฟฟ้าที่เกินจริง การผูกขาดโดยผู้เล่นรายใหญ่ และสัญญาที่ไม่โปร่งใส ภาระเหล่านี้ถูกผลักมาให้ประชาชนโดยที่รัฐอาจมีส่วนร่วมผ่านนโยบายที่ไร้ความรับผิดชอบ คำถามสำคัญคือ รัฐบาลจะสร้างความมั่นใจได้อย่างไรว่า นโยบายพลังงานและสัญญาต่าง ๆ ที่ทำไปนั้น จะเป็นธรรมต่อประชาชนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เพียงแค่การรักษากำไรของกลุ่มทุนพลังงาน และจะสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางพลังงานที่ผลักให้ประชาชนต้องเลือกระหว่างความเป็นอยู่ที่ดี หรือภาระจำยอมที่ประชาชนไม่ได้เป็นคนเลือก?