ปริมาณขยะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เพียงแค่ภายในช่วงสิบปีที่ผ่านมาขยะในประเทศมีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 1 ล้านตัน นับจากปี พ.ศ. 2544 หรือสามารถบอกได้ว่า โดยเฉลี่ยแล้วแต่ละคนจะสร้างขยะเกือบ 1 กิโลกรัม ต่อวัน และในปริมาณดังกล่าวยังไม่รวมถึงขยะอันตราย ขยะจากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็คทรอนิคส์ ขยะอุตสาหกรรม ที่มีปริมาณมหาศาลและเพิ่มขึ้นทุกปี

คุณรู้หรือไม่ว่าขยะจากมือคุณหลังจากทิ้งลงถังแล้วมีการจัดการอย่างไรต่อไป

Samui Solid Waste Incineration Plant in Thailand. © Greenpeace / Yvan Cohen

โรงเผาขยะ เกาะสมุย

 

ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจระบุไว้ว่า ในปีพ.ศ. 2553 นั้น ขยะมูลฝอยชุมชนปริมาณ 15.6 ล้านตันของทั้งประเทศ มีเพียงร้อยละ 38 ที่มีการเก็บรวบรวมและได้รับการจัดการโดยระบบฝังกลบตามหลักสุขาภิบาล 94 แห่ง ระบบผสมผสาน 3 แห่ง และ ระบบเตาเผา 2 แห่ง คือ ที่เทศบาลนครภูเก็ต และเทศบาลตำบลเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี  มีเพียงแค่ร้อยละ 26 ของขยะทั้งหมด ได้ถูกนำไปรีไซเคิล ร้อยละ 15 คือขยะอินทรีย์ที่นำไปหมักทำปุ๋ยประเภทต่างๆ และมีส่วนน้อยเพียงร้อยละ 3 ที่ถูกนำไปผลิตไฟฟ้า และเชื้อเพลิงทดแทน

ตัวเลขข้างต้นบ่งชี้ให้เห็นว่าจากขยะจำนวนหลายล้านตัน มีเพียงแค่ไม่ถึงร้อยละ 50 ที่ได้รับการรวบรวมและจัดการ

ล่าสุดสำนักงานกรุงเทพมหานครมีโครงการจ้างเหมาเอกชนกำจัดมูลฝอย โดยระบบเตาเผามูลฝอย ขนาด 300 ตันต่อวันที่ศูนย์กำจัดมูลฝอยหนองแขม ซึ่งอ้างว่าเป็นการแก้ไขปัญหาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดมูลฝอย ลดปัญหาการขาดแคลนพื้นที่จากการฝังกลบ และเพื่อผลพลอยได้ในรูปแบบพลังงานไฟฟ้า แต่แท้ที่จริงแล้วการกำจัดขยะด้วยโรงงานเผาขยะนั้นไม่ใช่ทางออกที่แท้จริง แต่เป็นภาพลวงตาแห่งหายนะทางสิ่งแวดล้อม และตัวการก่อมะเร็งทำลายสุขภาพของชุมชน ไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาขยะได้อย่างที่ทางกรุงเทพมหานครเข้าใจ

ความเชื่อและข้อเท็จจริงของโรงงานเผาขยะ

ลดพื้นที่ฝังกลบ หรือใช้พื้นที่เพิ่มเท่าตัว?

ความเชื่อที่ว่า โรงงานเผาขยะช่วยลดพื้นที่การฝังกลบนั้น อันที่จริงแล้วถึงแม้จะมีการจัดการด้วยวิธีการเผาทำลาย แต่ก็ยังจำเป็นต้องใช้พื้นที่ทั้งในการสร้างโรงงานเผาขยะ และหลุมฝังกลบเพื่อกำจัดเถ้าและขยะที่ออกจากเตาเผา นอกจากนี้ยังต้องนำเอาเศษเหลือตกค้างที่ไม่สามารถเผาได้ไปฝังกลบด้วย เรียกได้ว่าต้องการพื้นที่ใช้สอยเพิ่มขึ้นทวีคูณ

เทคโนโลยีสะอาด แก้ปัญหากลิ่นเหม็น หรือเพิ่มมลพิษทางอากาศ และสารก่อมะเร็ง?

มีความเชื่อว่าการกำจัดขยะมูลฝอยด้วยพลังงานความร้อนสูงของโรงงานเผาขยะนั้นไม่เป็นการก่อมลพิษ เถ้าหนักที่เหลือจากการเผาไหม้สามารถนำไปแปรรูปเป็นวัสดุก่อสร้าง มีการดักเถ้าลอยด้วยระบบดักฝุ่น รวมถึงมีการบำบัดไอเสียและน้ำเสียที่เกิดจากกระบวนการเผา อันที่จริงแล้ว เถ้าหนักและน้ำเสียนั้นประกอบด้วยโลหะหนัก เช่น ตะกั่ว แคดเมียม ปรอท และสารอินทรีย์ฮาโลเจน ซึ่งมีผลคุกคามต่อน้ำใต้ดิน และตามหลักการแล้วต้องมีหลุมฝังกลบเฉพาะสำหรับสารอันตราย ไม่เหมาะกับการนำไปเป็นวัสดุก่อสร้าง และไม่ใช่เทคโนโลยีสะอาดอย่างที่คิด ซึ่งเถ้าลอย และไอเสียยังก่อมลพิษทางอากาศอีกด้วย

นอกจากจะแก้ปัญหาการส่งกลิ่นเหม็นรบกวนพื้นที่ในชุมชนไม่ได้เพราะยังคงต้องมีกลิ่นจากขยะที่รอการเผา และกลิ่นไหม้จากการเผาแล้ว สิ่งที่แถมมาคือ มลพิษในอากาศปริมาณมากที่มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพของคนในชุมชน โดยเฉพาะการเผาขยะที่ไม่มีการคัดแยกและเผาวัสดุที่มีส่วนประกอบของสารเคมีอันตรายที่แฝงอยู่ในขยะชุมชน เช่น พลาสติก PVC โดยจะก่อให้เกิดสารพิษต่างๆ คือ ไดออกซิน ตะกั่ว และโลหะหนักอื่นๆ รวมถึงมลพิษทั่วไปที่เกิดจากการเผาวัสดุแทบทุกชนิด เช่น คาร์บอนมอนออกไซด์ ออกไซด์ของซัลเฟอร์และไนโตรเจน ไฮโดรคาร์บอน และฝุ่นละอองจากเถ้าถ่าน   โดยสารพิษอย่างไดออกซินและตะกั่วนั้น จะเข้าทางลมหายใจและสะสมในกระแสเลือดยาวนานเป็นอันตรายถึงชีวิต เป็นสารก่อมะเร็ง และทำให้บุตรในครรภ์ หรือเด็กแรกเกิดที่รับประทานนมแม่ที่เจือปนสารพิษพิการได้

มีผลพลอยได้เป็นไฟฟ้า หรือความสิ้นเปลืองที่ได้ไม่คุ้มเสีย?

จากข้อมูลข้างต้นที่ระบุไว้ว่า มีเพียงร้อยละ 3 ที่ถูกนำไปผลิตไฟฟ้า และเชื้อเพลิงทดแทน ซึ่งหากเมื่อพิจารณาแล้วมีสัดส่วนน้อยกว่าร้อยละ 1 ของความต้องการพลังงานทั้งประเทศ นั่นหมายความว่าโรงงานเผาขยะต้องดำเนินการเผามลพิษ สร้างสารพิษ และทำลายสุขภาพประชาชนไปอีกหลายปีจนกว่าจะได้พลังงานไฟฟ้ามากพอทดแทนกับที่เสียไปในการก่อสร้าง ดำเนินการซ่อมบำรุง และรื้อถอนหลังจากหมดอายุการใช้งาน นอกจากนี้ยังมีรายงานว่า การนำขยะมารีไซเคิลจะช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่า 3-5 เท่า เมื่อเทียบกับที่ได้จากการเผาขยะ

โรงงานเผาขยะไม่ได้ทำให้ขยะหายไป แต่เป็นการทำลายขยะที่มีแต่ผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม สุขภาพ และสังคมที่ไม่สามารถประเมินค่าได้ การกำจัดขยะที่เหมาะสมคงจะไม่ใช่การพึ่งพาเทคโนโลยีที่ทำลายสุขภาพ สิ่งแวดล้อม และต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการก่อสร้างและการจัดการ แต่ทางออกของวิกฤติขยะที่แท้จริงต้องเริ่มจากการหันมาบูรณาการนโยบายและระบบบริหารจัดการขยะของรัฐบาลอย่างจริงจัง โดยคำนึงถึงสุขภาพของคนในชุมชน และสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ปลูกฝังจิตสำนึกในการแยกขยะแต่ละครัวเรือน ลดปริมาณและความเป็นพิษของวัสดุเหลือใช้ด้วยการรีไซเคิล การทำปุ๋ย และการใช้ซ้ำ เนื่องจากร้อยละ 40 ของขยะครัวเรือนนั้นโดยทั่วไปแล้วจะเป็นขยะอินทรีย์ที่สามารถย่อยสลาย ทำปุ๋ย หรือผลิตก๊าซชีวภาพได้ โดยการรีไซเคิลและทำปุ๋ยยังช่วยให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการจ้างงานในชุมชนซึ่งโรงงานเผาขยะไม่สามารถทำได้ สิ่งที่สำคัญ คือ ขั้นตอนการจัดการขยะของหน่วยงานรัฐหลังการเก็บขยะ เพราะหลายครัวเรือน หลายโรงเรียน และหลายพื้นที่ มีการคัดแยกขยะเป็นอย่างดี แต่หน่วยงานจัดการขยะกลับขาดขั้นตอนการจัดการที่เหมาะสมและนำขยะที่แยกประเภทแล้วมาผสมปะปนกัน เป็นการจัดการขยะที่ขาดประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม ขยะทุกชิ้นล้วนเกิดขึ้นมาจากผู้บริโภคอย่างเรา สิ่งของที่อยู่รอบตัวคุณในวันนี้ วันข้างหน้าอาจกลายเป็นขยะที่ต้องใช้เวลาย่อยสลายอีกนับร้อยนับพันปี เทคโนโลยีนำสมัยสามารถช่วยให้ขั้นตอนการผลิตสิ่งอุปโภคบริโภคจำนวนมากได้อย่างรวดเร็ว แต่ไม่มีเทคโนโลยีใดที่สามารถกำจัดขยะและมลพิษออกไปจากโลกได้ ถึงเวลาแล้วที่เราต้องมีจิตสำนึกในการลดการใช้ทรัพยากร ใช้ซ้ำ และรีไซเคิล ตั้งแต่ตัวเราเอง ซึ่งจะเป็นหนทางสู่การยุติโรงงานเผาขยะ และปัญหาขยะล้นเมืองอีกด้วย การลดภาระขยะเป็นภารกิจที่ยิ่งใหญ่ ต้องอาศัยความรับผิดชอบ และความร่วมมือจากรัฐบาลและประชาชน ขึ้นอยู่กับคุณแล้วว่าจะเลือกทางออกแห่งสารพิษด้วยโรงงานเผาขยะ หรืออนาคตสีเขียวที่ทุกคนต้องการ

Fundraising Team in Manila. © Geric Cruz / Greenpeace
ร่วมบริจาค

ด้วยความช่วยเหลือจากคุณ ทำให้เราสามารถใช้วิธีการที่สร้างสรรค์อย่างสันติ เปิดโปงการทำลายสิ่งแวดล้อม ช่วยให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการปกป้องมหาสมุทร ป่าไม้ แหล่งน้ำ อาหาร และสภาพภูมิอากาศ ซึ่งล้วนเป็นระบบพื้นฐานสำหรับทุกชีวิตบนโลกใบนี้

มีส่วนร่วม