เป็นที่ทราบกันดีว่า ปัญหามลพิษในทะเลที่เกิดจากขยะพลาสติก กำลังส่งผลกระทบที่เลวร้ายกับระบบนิเวศและสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลอย่างต่อเนื่องขึ้นเรื่อย ๆ คาดว่ามีขยะพลาสติกปนเปื้อนลงสู่มหาสมุทรทุกปีมากถึง 12 ล้านตัน หรือให้เรานึกภาพว่า ทุก ๆ 1 นาทีจะมีรถขยะมาทิ้งขยะลงทะเล อย่างไรก็ตาม ในบรรดาขยะทะเลหลากหลายชนิดนั้น มีขยะทะเลอยู่ประเภทหนึ่งซึ่งพัฒนาขึ้นมาเพื่อล่าและเอาชีวิตสัตว์ทะเลโดยเฉพาะ นั่นคือ เศษซากแหอวนที่ไม่ใช้แล้ว (Ghost Gear)  

Olive Ridley Turtle Trapped in a Net. © Sumer Verma / Greenpeace
ซากเต่าทะเลที่ติดอยู่ในซากอวนที่ถูกทิ้งโดยอุตสาหกรรมประมง © Sumer Verma / Greenpeace

จากรายงานล่าสุดของทางกรีนพีซ เรื่อง เศษอวน: มัจจุราชแห่งท้องทะเล (Ghost gear: the abandoned fishing nets haunting our oceans) ระบุว่า ทุก ๆ ปี มีขยะทะเลที่เป็นเศษอวนใช้แล้ว ถูกทิ้งลงมหาสมุทรมากถึง 640,000 ตัน หรือคิดเป็น 10% ของปริมาณขยะทะเลทั้งหมด และในแต่ละปีมีสัตว์ทะเลเสียชีวิตเพราะติดเศษอวนมากกว่า 100,000 ตัว ประเทศไทยเองในปีนี้ก็มีสัตว์ทะเลหลายชนิดที่ต้องจบชีวิตลง เพราะเป็นเหยื่อของเศษอวนเช่นกัน เช่น กรณีการเสียชีวิตของวาฬบรูด้าเพศเมียอายุราว 2 ปีที่เสียชีวิตในทะเลอ่าวไทย

เศษซากอวนเหล่านี้มีที่มาจากไหน และเพราะอะไรจึงถูกปล่อยทิ้งให้กลายเป็น “มัจจุราช” ที่คร่าชีวิตสัตว์ทะเลตัวแล้วตัวเล่า เรามาหาคำตอบไปด้วยกัน

เครื่องมือประมงในโลกยุคใหม่ สะดวก เบา และทนทาน

ในอดีต เครื่องมือประมงส่วนใหญ่จะทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ จากหลักฐาน ทางโบราณคดีพบว่า ตาข่ายจับปลาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกทำมาจากเส้นใยของไม้วิลโลว์ โดยพบที่เมืองอันเตรอา (Antrea) ซึ่งแต่เดิมอยู่ประเทศฟินแลนด์ และมีอายุย้อนไปถึง 8,300 ปีก่อนคริสตกาล เช่นเดียวกัน เครื่องมือประมงพื้นบ้านของประเทศไทยส่วนใหญ่ก็ทำมาจากไม้ไผ่นำมาถักเป็นรูปทรงต่างๆ ตามลักษณะการใช้งานและพื้นที่  แต่เมื่ออุตสาหกรรมประมงขยายตัวเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับความเจริญก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี เครื่องมือประมงก็มีรูปแบบที่เปลี่ยนไปเช่นเดียวกัน เพื่อให้สามารถจับปลาได้ในจำนวนที่มากขึ้น ตามความต้องการของตลาด โดยอวนแบบใหม่ที่ผลิตจากพลาสติก มีคุณสมบัติหลักคือ น้ำหนักเบาทำให้ลอยน้ำได้ดี ทนทาน และค่าดูแลรักษาไม่สูงมากเมื่อเทียบกับเครื่องมือประมงแบบเก่า ทำให้เป็นที่นิยมอย่าง แพร่หลายของชาวประมงทั่วโลก

เครื่องมือประมงที่นิยมใช้กันในปัจจุบันมีความแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับประเภท และขนาดของสัตว์น้ำ รวมไปถึงลักษณะของเรือประมงและแหล่งหาปลา นอกจากนี้ ยังไม่สำคัญอีกต่อไปแล้วว่าระยะทางจะห่างไกลแค่ไหน เพราะเรือประมงสมัยใหม่สามารถเดินทางไปได้ ทุกแห่งหนทั่วโลก และการทำประมงแบบเบ็ดราว (Longliners) และแบบอวนลาก (Trawls) ก็ช่วยให้สามารถจับสัตว์น้ำที่อาศัยอยู่ในทะเลลึกได้ง่ายขึ้น

ที่มาของ “ขยะ” มรณะในมหาสมุทร 

สาเหตุที่ทำให้มีขยะจากเศษอวนและเครื่องมือประมงถูกทิ้งจำนวนมากปนเปื้อนอยู่ใน มหาสมุทร มาจากหลายปัจจัยด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น ปัจจัยด้านกระแสน้ำที่รุนแรง พื้นที่เต็มไปด้วยหิน ซากปะการัง ทำให้อวนเกี่ยวขาด หรืออวนไม่อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน รวมไปถึงเรือประมงเอง ตั้งใจทิ้งอวนลงมหาสมุทร

Plastic Clean Up on Kaho'olawe. © Tim Aubry / Greenpeace
ขยะเศษซากอวนที่ถูกคลื่นพัดมาเกยตื้นบริเวณชายหาดในรัฐฮาวาย © Tim Aubry / Greenpeace

ปัญหาเศษอวนที่ถูกทิ้งในทะเลมีความเชื่อมโยงอย่างยิ่งกับการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported and Unregulated Fishing- IUU Fishing) เพราะเรือที่ทำประมงผิดกฎหมายมักจะเลือกทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่เอื้ออำนวยหรือใช้อุปกรณ์ประมงแบบทำลายล้าง และใช้วิธีตัดอวนทิ้งเพื่อหลีกเลี่ยงหรือหลบหนีการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่

เศษอวนจำนวนมากในมหาสมุทรสามารถล่องลอยไปได้ไกลหลายพันกิโลเมตร จากผลการสำรวจล่าสุด บริเวณแพขยะแห่งแปซิฟิก หรือวงวนขยะขนาดใหญ่  (Great Pacific Garbage Patch) บริเวณกลาง มหาสมุทรแปซิฟิกเหนือ พบว่า มีพลาสติกขนาดใหญ่ ปนเปื้อนอยู่ในทะเลมากถึง 42,000 ตัน โดย 86% เป็นขยะที่มาจากเศษอวนและเครื่องมือ ประมงที่ถูกทิ้ง อย่างไรก็ตาม แม้ว่าแพขยะแห่งแปซิฟิก จะมีขนาดใหญ่มากแต่ไม่อาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ต้องอาศัยแผนที่ดาวเทียมจึงจะมองเห็น เพราะขยะทั้งหมดอยู่ใต้หรือใกล้ผิวน้ำมาก

Ghosts Fishing Nets in the Great Pacific Garbage Patch. © Justin Hofman / Greenpeace
ขยะซากอวนและทุ่นลอยน้ำที่พบบริเวณแพขยะในมหาสมุทรแปซิฟิก © Justin Hofman / Greenpeace

นอกจากนี้ เศษอวนยังเป็นอันตรายกับเรือเดินทะเล เพราะมีโอกาสเข้าไปพันกับ ใบพัดหรือเครื่องยนต์เรือ เพิ่มต้นทุนค่าซ่อมแซม สูญเสียเวลา และเสี่ยงต่อความปลอดภัย

เปิดข้อเสนอที่ “ทำได้” และ “เป็นไปได้” เพื่อปกป้องมหาสมุทร

แม้ว่าหลายประเทศจะมีมาตรการและนโยบาย เพื่อแก้ไขปัญหาเศษอวนและอุปกรณ์ประมงที่ถูกทิ้ง หรือสูญหายในทะเล ทั้งในระดับชาติ ภูมิภาค และระดับนานาชาติ แต่ช่องโหว่ที่สำคัญของมาตรการและนโยบายเหล่านี้ คือ มีลักษณะกระจัดกระจาย ไม่มีแนวทางการแก้ไขที่ชัดเจน รวมถึงในหลายกรณี ไม่ได้เป็นข้อบังคับ แต่อาศัยขอความร่วมมือของแต่ละประเทศแทน  โดยเฉพาะในพื้นที่ทะเลหลวง (High Sea) ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของรัฐใดรัฐหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

Greenpeace Delegation at the IGC3 Negotiations in New York. © Alex Yallop / Greenpeace
เจ้าหน้าที่กรีนพีซและอาสาสมัครที่ได้เข้าร่วมประชุมประเด็นสนธิสัญญาทะเลหลวง ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ ที่กรุงนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงความเป็นไปได้ในการกำหนดเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทร ครั้งที่ 3 © Alex Yallop / Greenpeace

สนธิสัญญาทะเลหลวง (Global Ocean Treaty) เป็นประเด็นที่กรีนพีซ ร่วมกับนักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลกร่วมกันขับเคลื่อน เพื่อเสนอให้องค์การสหประชาชาติประกาศรับรองการกำหนดเขตปกป้องมหาสมุทรให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 30 จากพื้นที่มหาสมุทรทั้งหมด โดยตั้งเป้าหมายทำให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2573 เพื่อหยุดยั้งและปกป้องระบบนิเวศใต้ท้องทะเล และสัตว์ทะเลให้ไม่ต้องสังเวยชีวิตแล้วชีวิตเล่าไป กับเศษซากของความ “มักง่าย” ของมนุษย์

คุณก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนครั้งนี้ เพื่อเรียกร้องกับรัฐบาลทั่วโลกให้มาสนับสนุนการปกป้องมหาสมุทรและมรดกความหลากหลายทางชีวภาพของโลก  และสามารถอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่

Humpback Whale in the Indian Ocean. © Paul Hilton / Greenpeace
ร่วมผลักดันเขตคุ้มครองระบบนิเวศทางทะเลในมหาสมุทรโลก

ด้วยวิกฤตหลายๆด้านที่กำลังคุกคามมหาสมุทร เราจึงจำเป็นต้องปกป้องมหาสมุทรโลกอย่างน้อย 1 ใน 3 ส่วนภายในปี พ.ศ.2573 

มีส่วนร่วม